Web Designer ตัวจริงเป็นอย่างไร ?

Suranart Niamcome
SiamHTML
Published in
1 min readApr 10, 2014

ทีมของเราต่างดีใจกันยกใหญ่ที่ไปได้งานทำเว็บไซต์ให้กับบริษัทชื่อดังแห่งหนึ่ง แต่ด้วยขนาดของเว็บไซต์ที่ค่อนข้างใหญ่ และเวลาที่มีไม่มากนัก พวกเราจำเป็นต้องเร่งมือกันพอสมควร

ลูกค้าอยากมีเว็บขายของ

หลังจากที่บอสได้คุยกับลูกค้าเกี่ยวกับรายละเอียดของงาน ทีมจึงได้รู้ว่าลูกค้าต้องการจะทำเว็บขายของที่เน้นความน่าเชื่อถือ และยังสามารถรองรับสินค้าได้หลากหลายประเภทอีกด้วย หลังจากที่ร่วมมือกันสร้าง Wireframe ขึ้นมา บอสรีบให้ Web Designer ของทีม ลองออกแบบดู โดย Web Designer ของทีมจะมีอยู่ 2 คน ด้วยกัน เมื่อทั้งคู่ออกแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทั้งทีมจะช่วยกันดูว่างานของใครโอเคกว่ากัน

เมื่อทีมมี Designer ระดับเทพ

นายเก่งกาจ เป็น Designer ที่มีพรสวรรค์ เค้าใช้เวลาเพียงไม่กี่วันในการสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมขึ้นมา เมื่อทั้งทีมได้เห็นผลงานอันสวยสดงดงามของนายเก่งกาจ ต่างก็ปรบมือชื่นชมกันยกใหญ่ พร้อมกับถามถึงผลงานของนายขี้สงสัย Designer อีกคน ว่าถึงไหนแล้ว

แต่ Designer อีกคนกลับขี้สงสัย

“ยังไม่เสร็จครับ” นายขี้สงสัยตอบกับทีมอย่างตรงไปตรงมา แต่บอสก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะว่ายังไม่ถึงกำหนด deadline ของงานในส่วนออกแบบอยู่แล้ว เมื่อประชุมเสร็จ นายขี้สงสัยก็เดินออกจากบริษัทพร้อมกับกระดาษปึกใหญ่ เพื่อนๆ ในทีมต่างสงสัยว่าเค้าจะไปไหน บอสบอกได้แต่เพียงว่าเค้าได้ขอลางานในช่วงบ่าย

เมื่อถึงย่านใจกลางเมือง นายขี้สงสัยยื่นกระดาษที่เค้าหอบมาให้กับคนที่เดินผ่านไปมาทีละคนๆ มันคือแบบสอบถามนั่นเอง! ในการออกแบบอะไรก็ตามเค้ามองว่าเค้าจะต้องรู้จักสิ่งนั้นๆ ให้ถ่องแท้เสียก่อน เค้าจะต้องรู้ให้ได้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน แล้วเค้าจะต้องแก้มันให้ได้ ในแบบสอบถามนั้น เค้าได้รวบรวมคำถามที่ยังค้างคาใจอยู่ ซึ่งล้วนเกี่ยบกับพฤติกรรมการซื้อของออนไลน์ทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าตัวเค้าเองก็เคยใช้บริการเว็บประเภทนี้อยู่บ้าง แต่เค้าก็อยากรู้มุมมองของผู้ใช้งานคนอื่นๆ อยู่ดี เผื่อจะได้เห็นอะไรที่เค้าไม่เคยคิดมาก่อน

ค้นพบสิ่งใหม่ๆ

หลังจากที่เค้าได้นำผลที่ได้จากแบบสอบถามมาวิเคราะห์ เค้าก็ได้ความรู้ใหม่ กลุ่มคนที่กำลังสนใจจะซื้อเสื้อผ้า สิ่งที่เค้าสนใจอันดับต้นๆ มักจะเป็นรูปภาพสินค้าแล้วก็ราคา ในทางกลับกัน กลุ่มคนที่สนใจจะซื้อคอนโด สิ่งที่เค้าสนใจอันดับแรกๆ กลับเป็นสถานที่ตั้ง เค้าพบว่าสินค้าประเภทต่างกันสามารถมีลำดับของเนื้อหาที่แตกต่างกันได้ เพื่อที่จะทำให้ผู้ใช้งานพบกับเนื้อหาที่เค้าต้องการได้เร็วที่สุด และเค้ายังพบอีกว่า ชื่อของผู้ขายสินค้าก็เป็นเนื้อหาที่ผู้ใช้งานหลายๆ คนให้ความสำคัญ เพราะมันจะช่วยให้สินค้ามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น หากผู้ขายคนนั้นมีคนมารีวิวในแง่ดี

สวยงาม หรือ ใช้ง่าย ?

นายขี้สงสัยนำความรู้ที่ได้มาปรับงานออกแบบของเค้า ไม่กี่วันต่อมา นายขี้สงสัยได้นำเสนองานของเค้าให้ทีมลองช่วยกันดู ถึงแม้ว่าในแง่ของความสวยงาม งานของนายขี้สงสัยออกจะดูเป็นรองงานของนายเก่งกาจอยู่บ้าง แต่ทุกคนในทีมต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าชอบงานของนายขี้สงสัยมากกว่า ลูกทีมคนหนึ่งบอกว่า “งานของนายขี้สงสัยใช้งานง่าย หาอะไรก็เจอ ไม่มีอะไรที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิดเลย” ส่วนอีกคนก็บอกว่า “งานของนายขี้สงสัยเหมือนรู้ใจเราว่าเราต้องการอะไร นี่ขนาดลองเล่นครั้งแรก แต่กลับรู้สึกเหมือนเคยใช้มานาน”

Web Designer ตัวจริง

ในที่สุด ทีมก็ตัดสินใจเลือกใช้งานออกแบบของนายขี้สงสัยด้วยเหตุผลสั้นๆ ก็คือ “มันใช้ง่ายกว่า” หากเราสังเกตดีๆ แล้ว จะเห็นว่าการออกแบบนั้นไม่ได้ยากอะไรเลย เพราะทุกคนเกิดมาล้วนต้องเคยเป็น users อยู่แล้ว ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องเคยเจอกับปัญหาต่างๆ มากมาย เพียงแต่เราต้องพยายามอย่ามองข้ามมันไปเท่านั้นเอง เวลาเราเล่นเว็บแล้วเราเจออะไรที่ทำให้รู้สึกหงุดหงิด ให้เราลองคิดดูว่ามันสามารถทำให้ดีขึ้นได้มั้ย อย่างไร หากเราคิดว่าปัญหาที่เราเจอ อาจยังไม่ครอบคลุม ก็ให้เราลองถาม users คนอื่นๆ ดูว่าเค้าเคยเจอปัญหาอะไรบ้าง แล้วแก้เสีย เมื่อเราแก้ได้หมดแล้ว เมื่อนั้นงานของเราถึงจะเรียกได้ว่าเสร็จ นี่แหละ Web Designer ตัวจริง!

งาน Design จะเสร็จ
เมื่อไม่เหลือปัญหาอะไรให้แก้แล้ว

--

--