บทสัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ที่เผชิญภาวะวิกฤตในช่วงที่ผ่านมา

Thanut Siripoonkiatikul
Sinwattana Equity Crowdfunding
2 min readMay 26, 2020

หลังจากที่โครงการ Food for Fighters ดำเนินไปกว่า 2 เดือน ได้มีผู้ร่วมสนับสนุนเข้ามามากกว่า 1.6 ล้านบาท ซึ่งสามารถนำไปบรรเทาร้านอาหารที่ขาดรายได้จากภาวะโควิด-19 กว่า 100 ร้านอาหาร และช่วยเหลือบุคลากรทางการแพทย์ในด้านอาหารไปมากกว่า 30,000 กล่อง โดยในวันนี้เราได้รับเกียรติจากบุคคลากรทางการแพทย์ 2 ท่าน ในการมาร่วมสัมภาษณ์กับเรา คือ

1.คุณสาวิตรี พยาบาลหอผู้ป่วยพิเศษที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยตรง จาก โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

2.คุณอรทัย นักวิชาการสาธารณสุข โรงพยาบาลปากช่องนานา

ในด้านสถานการณ์และการรับมือในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา และมุมมองต่อโครงการต่างๆที่ได้เข้ามาช่วยเหลือ มาแชร์ให้ทุกคนฟังกัน

Q: สถานการณ์ของโรงพยาบาลในขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง

คุณสาวิตรี: ค่อนข้างควบคุมจำนวนผู้ป่วยได้แล้วทั้งที่มีภาวะโควิด-19 หรือไม่มี เนื่องจากมีนโยบายเลื่อนนัดผู้ป่วยที่ไม่เร่งด่วนออกไป รับเฉพาะเคสฉุกเฉินเท่านั้น และโรงพยาบาลมีระบบและห้องตรวจเฉพาะโรคโควิด-19 แยกออกมาอย่างชัดเจนกับผู้ป่วยทั่วไป โดยพยาบาลของพระมงกุฏใช้คติประจำใจว่า “เข้มแข็งอย่างทหารอ่อนหวานอย่างพยาบาล” ในการทำงานและดูแลผู้ป่วยอยู่เสมอ จึงพร้อมรับทุกสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

คุณอรทัย: ช่วงนี้ทุกคนก็ทำงานเหมือนปกติ ยังคงมีการคัดกรองเพื่อเฝ้าระวัง สำหรับคนที่ผ่านเข้ามากักตัวเนื่องจากมีแนวโน้มติดเชื้อ ซึ่งในการดูแลเคสผู้ป่วยหนึ่งคน ใช้คนจำนวนเยอะมาก เพราะต้องดูแล 24 ชั่วโมง ยังทำงานเหมือนเดิม ทุกวันนี้ก็ไม่ได้หยุด ทำงานทุกวัน แม้จะมีการปลด Lockdown แต่มันยังน่าห่วง เพราะว่าวินัยของคนยังไม่ 100% ทำให้มีโอกาสที่จะกลับมาติดใหม่ได้ อยากให้ช่วยกันดูแลตนเองและคนรอบข้าง ซึ่งจะเป็นการช่วยบุคลากรทางการแพทย์ได้ดีที่สุด เพื่อไม่ให้พวกเขาซึ่งทำงานหนักมาโดยตลอดและมีความเหน็ดเหนื่อยมาก กลับไปอยู่จุดนั้นอีกครั้ง

Q: สถานการณ์ในช่วงวิกฤตที่เกิดขึ้นในระยะแรก เกิดอะไรขึ้นบ้างในโรงพยาบาล

คุณสาวิตรี: ในบางครั้งที่แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆที่เข้าปฏิบัติงาน แต่ต้องรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากที่อยู่ในอาการป่วยพร้อมกับการใส่ชุดและอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ ทำให้สร้างความเหนื่อยล้าที่ถาโถมเข้ามาแบบไม่ทันตั้งตัว โดยช่วงเวลาที่เข้าเวรต้องปฏิบัติตามขั้นตอนเองทั้งหมด เนื่องจากต้องจำกัดคนเข้าให้การช่วยเหลือผู้ป่วยและจำกัดอุปกรณ์ที่ใช้ บางครั้งต้องทนความร้อนเพราะชุดและหน้ากากที่ใส่ หัตถการที่ต้องช่วยเหลือคนไข้หายใจแทบไม่ออก มีเหงื่อไหลเต็มเสื้อแต่ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนทำให้ Face shield ขุ่นมัวไปด้วยไอเหงื่อ ส่วนที่ยากที่สุด คือการรักษาความสงบทางจิตใจ ทุกคนที่เข้ามาตรวจรักษาจะถามทุก 5–10 นาที ว่าผลออกรึยัง สรุปติดเชื้อรึไม่ และที่น่าหนักใจที่สุดคือ การบอกผลผู้ป่วยว่ามีการตรวจเจอเชื้อโควิด สรุปได้ว่าเป็นการเผชิญความเหนื่อยทั้งร่างกายและจิตใจอยู่ตลอดเวลา

คุณอรทัย: ก่อนหน้านี้ขาดแคลนทุกอย่าง เนื่องจากเป็นความต้องการของทั้งประเทศ ของที่ใช้แล้วไม่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ต้องทิ้งทั้งหมด แม้กระทั่งถ้วยชามช้อนทิ้งทั้งหมด ไม่สามารถเอามาใช้ร่วมกันได้ ทุกคนก็กลัวเหมือนกัน เพราะถ้าติดโรค มันหมายความว่ามีโอกาสที่จะทำให้ทุกคนในสถานพยาบาลติดโรคต่อสูง เพราะต้องทำงานร่วมกัน และติดต่อกับหลากหลายหน่วยงาน ทำให้ต้องเกิดการเฝ้าระวัง 100% ซึ่งทำให้หมอจะไม่ค่อยมีเวลาไปหาอะไรหาอาหารรับประทาน แม้กระทั่งปิ่นโตที่แต่ละวอร์ดจะมีการส่งตัวแทนมารับ เค้าก็มารับไม่ได้ ต้องเอาไปส่งที่หน้าวอร์ด แล้วก็ไม่ใช่ว่าจะมีเวลารับประทาน หน้าที่ต้องมาก่อน รวมถึงชุดต่างๆเมื่อใส่แล้วจะไม่สามารถถอดได้ มีเวลาว่างเมื่อไรถึงจะสามารถรับประทานได้

Q: แล้วมีวิธีการรับมือเมื่อเกิดปัญหาให้สามารถผ่านพ้นไปอย่างไรบ้าง

คุณสาวิตรี: การให้กำลังใจตัวเองที่ดีที่สุด คือ การได้ให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย บุคคลในครอบครัวและบุคคลภายนอก บุคคลที่เรารู้จัก ได้แนะนำให้ความรู้และวิธีการดูแลตัวเองที่ถูกต้องและปลอดภัย อย่างน้อยเมื่อเค้าไม่ตื่นตระหนก รับรู้เข้าใจและเลือกวิธีปฏิบัติป้องกันตนเองได้มากขึ้น ทำให้เราสบายใจในการดูแลรักษา ปลอดภัยมากขึ้น เมื่อประชาชนปลอดภัยบุคลากรทางการแพทย์ก็ย่อมปลอดภัยไปด้วย

Q: ในด้านการสนับสนุนโดยเฉพาะในด้านอาหาร ไม่ทราบว่าเป็นอย่างไร แล้วรู้สึกอย่างไรบ้าง

คุณสาวิตรี: รู้สึกว่าอย่างน้อยก็มีผู้คนที่เห็นการทำงานหนักของพวกเรา โดยมีผู้ใหญ่ใจดีหลายท่านได้มอบเสบียงอาหารให้ ทั้งของคาว ของหวาน และน้ำดื่ม โดยเราได้นำไปแพร่กระจายให้กับบุคคลอื่นๆที่ทำงานในโรงพยาบาลทุกภาคส่วน เพราะทุกคนมีความเดือดร้อนเหมือนกัน จึงได้นำสิ่งต่างๆเหล่านั้นร่วมกันทำบุญต่อไปค่ะ เพราะปากท้องคือปัญหาสำคัญอันดับหนึ่งเพื่อให้สามารถรับมือในทุกสถานการณ์ ซึ่งทุกคนรู้สึกทราบซึ้งและขอบคุณอย่างมาก ที่นึกถึงพวกเราเป็นอันดับต้นๆ ทำให้เราตะหนักได้ว่า ทุกๆวันมีคนที่คอยช่วยเหลือเราอยู่ด้านหลังและคนไทยไม่เคยทิ้งกัน เราอยู่ด่านหน้าก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถเพื่อช่วยเหลือประชาชนของเราต่อไป ขอแค่รอยยิ้ม ถ้อยคำให้กำลังใจ และเสบียงอาหารเสริมแรงกาย แค่นี้พวกเราก็พร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่

คุณอรทัย: ทุกครั้งที่เราเห็นอาหาร เราก็จะรู้สึกว่ายังมีคนเห็นว่าเรายังทำงานอยู่ บางทีอาจจะไม่ได้กิน แค่เดินผ่านแล้วเห็นปิ่นโตวางอยู่ ทุกคนก็แบบวันนี้มีปิ่นโตด้วย คือมันบอกไม่ถูกมันมากกว่าที่คิด มันเหนื่อยมากจริงๆ เสาร์อาทิตย์ยังไม่ได้หยุด โดยการสนับสนุนในครั้งนี้ ไม่ได้มีแค่หมอหรือพยาบาลที่ได้รับ แต่มันมีอีกหลายส่วน ตั้งแต่คนดูแลขยะติดเชื้อ แม่บ้าน ผู้ช่วยพยาบาล เพราะมันไม่ใช่แค่คนสองคนที่จะทำงานได้ ทุกคนเป็นตัวจักรขับเคลื่อน เป็นกำลังใจให้กัน ชั้นหันมาชั้นก็เห็นเธอ เธอหันมาเธอก็เห็นชั้น เรายังอยู่ด้วยกัน มากน้อยไม่ใช่ปัญหา แค่มีคนที่เห็นพวกเราทำงานทุกวัน

Q: มีอะไรอยากฝากถึงคนไทยทุกคนที่ล้วนเผชิญวิกฤตนี้บ้างไหม

คุณสาวิตรี: ทุกคน ทุกหน้าที่ คือบุคคลสำคัญด้วยกันทั้งนั้น เราไม่สามารถแบ่งแยกได้ว่าใครสำคัญกว่าใครหรือใครสมควรได้รับความคุ้มครองดูแลมากกว่าใคร แต่เราทุกคนจะต้องช่วยกันดูแลตนเองทั้งสุขภาพทางกายและสุขภาพทางใจ กินให้อิ่ม นอนให้หลับ ยิ้มและหัวเราะให้ได้ ให้กำลังใจตนเองและให้กำลังใจบุคคลรอบข้าง นั่นแหละค่ะ คือเครื่องหมายที่ตราตรึงได้ว่า คนไทยเราไม่เคยทิ้งกัน และเมืองไทยคือสยามเมืองยิ้ม ขอบพระคุณทุกๆคนจากใจจริงๆ ทุกท่านคือบุคคลสำคัญของเราและของประเทศไทยค่ะ

คุณอรทัย: ทุกคนเหมือนอยู่บนโลกใบเดียวกัน ประสบวิกฤตเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหารหรือประชาชนทั่วไป อย่ามองในมุมที่ตัวเองเดือดร้อนหรือเจ็บป่วยเพียงมุมเดียว อยากให้มองในภาพรวม ให้เอื้ออาทรต่อกัน มีมากเราก็แบ่งมาก มีน้อยเราก็แบ่งน้อย เช่นเดียวกับการส่งข้าวมันสามารถช่วยแบ่งเบาความรู้สึกที่มันเหนื่อยล้าจากงานของพวกเราได้ ถึงแม้ว่าเราไม่รู้ว่ามันจะจบลงเมื่อไหร่ แต่ว่าพอวันนึงมันมีกำลังใจมันไปต่อได้

ถึงแม้ในช่วงนี้จะสถานการณ์ดีขึ้นแล้ว แต่ก็ยังไว้วางใจไม่ได้ ทุกคนต้องดูแลตนเองและคนรอบข้างให้ดี เพื่อให้ความยากลำบากในการทำงานตลอดมาของบุคลากรทางการแพทย์ในแนวหน้าไม่สูญเปล่า แล้วเราจะฝ่าวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

ผู้ที่สนใจสามารถร่วมสนับสนุนโครงการ Food For Fighters ได้ที่ https://social.sinwattana.com/foodforfighters โดยโครงการจะสิ้นสุดการระดมเงินบริจาคในวันพฤหัสที่ 27 พฤษภาคม นี้แล้ว

สัมภาษณ์โดยคุณพิชชาพร ตั้งทรงศักดิ์

--

--