5 ผลกระทบ เมื่อเศรษฐกิจติดไวรัสมากว่า 3 เดือน

sawita atijanyanuruk
Sinwattana Equity Crowdfunding
2 min readMar 11, 2020

--

หลังจากการพบเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 ในผู้ป่วยครั้งแรงตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2019 ขณะนี้ก็ผ่านมามากกว่า 3 เดือนแล้ว ซึ่งปัจจุบันพบผู้ป่วยมากกว่า 98,000 รายและมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 3,300 คน ซึ่งยังไม่มีท่าทีว่าจะหยุดการระบาดได้ในเร็วๆนี้ ซึ่งระหว่างนั้นมีเกิดเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายทั้งในประเทศและในต่างประเทศ โดยส่งผลไปยังทุกภาคส่วนในโลก แต่ที่ผลลัพธ์ที่สำคัญและเห็นได้ชัดที่สุดคงเป็นภาพรวมเศรษฐกิจที่ดิ่งลงเหว ตั้งแต่ร้านค้ารายย่อยจนถึงตลาดทุน วันนี้จึงอยากมาอัพเดท 5 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญและเกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

สินวัฒนาในฐานะแพลตฟอร์มที่มุ่งเน้นการขจัดปัญหาต่างๆในประเทศไทยด้วยการระดมทุนจากมวลชน เล็งเห็นถึงปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในปัจจุบันที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆตามมามากมาย เช่น การขาดแคลนของสิ่งป้องกันอย่างหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ การปะปนของผู้ป่วยและไม่ป่วยในสังคมโดยไม่มีวิธีการจำแนกอย่างเด่นชัดโดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่อยู่ในช่วงภาวะแฝง เป็นต้น จึงได้ร่วมมือกับพันธมิตรของเราอย่าง ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELs) ซึ่งให้ความสำคัญกับปัญหานี้เช่นเดียวกันและกำลังคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ในการเปิดรับความช่วยเหลือจากคุณเร็วๆนี้ เพื่อทำให้นวัตกรรมต่างๆที่คิดขึ้นสามารถวิจัยได้สำเร็จ และสามารถออกมาสู่สังคมเพื่อทำบรรเทาปัญหาที่กำลังร้ายแรงขึ้นเรื่อยๆนี้

การควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่อยู่ ส่งผลทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกในช่วงปลายสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ ร่วงลงในอัตราที่มากที่สุดใน 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่วิกฤตทางการเงินในปี2008หรือเมื่อเทียบเป็นมูลค่า ตลาดได้ร่วงลงมากกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 150 ล้านล้านบาท

เมื่อลองมองแยกเป็นในแต่ละตลาด นอกจากตลาดหุ้นจีนที่ซึ่งได้รับผลกระทบไปก่อนหน้านี้จนต้องปิดตลาดไปช่วงหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กำลังฟื้นตัวแล้ว ตลาดหุ้นยุโรปและ STOXX 600 ปรับลดลงมากกว่า 12% และ 13% ตามลำดับ ดัชนีค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ในตลาดหุ้นนิวยอร์กของสหรัฐฯ ลดลง 1,191 จุด ในวันที่ 27 ก.พ. เพียงวันเดียว ถือเป็นการลดลงของจำนวนจุดใน 1 วันมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ส่วนดัชนี S&P 500 ลดลง 4.4% ถือเป็นการลดลงของเปอร์เซ็นต์ใน 1 วัน มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 2011 ซึ่งโดยรวมลดลงแล้วกว่า 10.8% จากมูลค่าปิดตลาดเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ซึ่งส่งผลต่อไปยังตลาดหุ้นให้ร่วงลงในประเทศอื่นๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย ตลาด SET ร่วงลงจาก 1580 จุด จนเหลือต่ำกว่า 1,350 จุดซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่ง

นอกจากนี้ยังกระทบไปถึงราคาน้ำมัน โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของราคาน้ำมันดิบเบรนต์ลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์กว่า 14%และราคากลางของสินทรัพย์อื่นๆ

ตราบใดที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าการระบาดของไวรัสอู่ฮั่นสามารถควบคุมได้ทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย มีแนวโน้มที่จะได้รับแรงหนุนต่อไป อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า จะกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกมากขึ้นไปที่เป็นอยู่ตอนนี้และทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนสูง เหตุนี้เองราคาทองคำแท่งโลก จึงปรับขึ้นจนถึงจุดสูงสุด (New high) ในรอบ 7 ปีที่ 1,688 ดอลลาร์/ออนซ์หรือประมาณ 26,000 บาทต่อทองคำน้ำหนัก 1 บาทในประเทศไทย

จากการหดตัวของเศรษฐกิจทั่วทุกแห่งในโลก ธนาคารกลางในแต่ละประเทศย่อมต้องออกมาตรการเพื่อบรรเทาสถานการณ์ที่ย่ำแย่ โดยการลดดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่เลือกใช้แล้วเห็นผลลัพธ์ได้อย่างชัดเจน นอกเหนือจากวิธีอื่นๆเช่น ลดภาษี หรือ แก้ไขนโยบายซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า

โดยธนาคารกลางสหรัฐฯหรือเฟด ได้ประชุมนัดฉุกเฉินเมื่อวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.50% มาที่กรอบ 1.00–1.25% สะท้อนว่าเฟดปรับมุมมองที่มีต่อเรื่องผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน-ภาคธุรกิจ และภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไปในเชิงลบมากขึ้น ถึงขนาดไม่สามารถรอให้ถึงการประชุมเชิงนโยบายในครั้งหน้า

สำหรับประเทศไทยรวมไปถึงประเทศอื่นๆทั่วโลกก็มีการเคลื่อนไหวเช่นกัน มีการคาดการณ์จากแหล่งวิจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ ปะเมินว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ในวันที่ 25 มี.ค.นี้ มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของไทย ลงอย่างน้อย 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.00% จากการปรับลงในต้นเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลต่อเนื่องให้อัตราดอกเบี้ยของตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ทยอยปรับลดลงตามอีกครั้ง

ซึ่งการออกมาตรการต่างๆ นี้ ได้ช่วยชะลอความเสียหายของเศรษฐกิจถึงแม้จะไม่มาก เห็นได้จากการชะลอการร่วงหล่นของตลาดหุ้น จนพลิกตัวกลับมาเป็นบวกในตลาดเกือบทุกประเทศ เป็นต้น

ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนากำลังขยายวงกว้างทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ซึ่งกำลังสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของแต่ละประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากตัวไวรัสโดยตรง แต่เพราะมีความพยายามในการยับยั้งและป้องกันการแพร่ระบาด เช่น มีการจำกัดเรื่องการเดินทาง เป็นต้น ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวและการเดินทางเป็นธุรกิจแรกที่ได้รับผลโดยตรงและส่งต่อไปยังธุรกิจอื่นๆเป็นลูกโซ่

เห็นได้อย่างชัดเจน ในธุรกิจสายการบิน ซึ่งทุกสายการบินต้องออกมาตรการเพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ไม่ว่าจะเป็น การขอความร่วมมือให้พนักงานหยุดงานโดยไม่รับเงินของหลายสายการบินทั้งในและต่างประเทศ หรือ การปรับเงินฐานเงินเดือนของพนักงานโดยเฉพาะผู้บริหาร เป็นต้น โดยการกลัวที่จะเดินทางและมาตรการห้ามในประเทศต่างๆส่งผลโดยตรงในธุรกิจทุกภาคส่วนโดยเฉพาะในประเทศท่องเที่ยว อย่างประเทศไทย เห็นได้โดยตรงการขาดทุนของร้านค้าในสถานที่ท่องเที่ยวที่มีความนิยมในหมู่ชาวต่างชาติ เช่น ห้างมาบุญครอง ซึ่งทางห้างต้องมีการปรับลดค่าเช่าเพื่อบรรเทา หรือ การที่ฐานการผลิตในหลากหลายอุตสาหกรรมต้องหยุดชะงัก

ยังไม่รวมไปถึงความกลัวต่อไวรัส ทำให้ผู้คนจำนวนมากหลีกเลี่ยงที่จะทำกิจกรรมหลายอย่างที่คิดว่าเป็นความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อ ดังนั้นร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ผู้ให้บริการขนส่ง โรงแรม ร้านค้าต่าง ๆ จึงได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว เช่นกัน

สถานการณ์ทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นการส่งผลโดยตรงต่อมวลค่า GDP ของประเทศต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะในจีนซึ่งมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆรวมถึงประเทศไทย แทบทุกด้านทางเศรษฐกิจของไทยมีความเกี่ยวข้องทั้งหมด โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวและส่งออก

ทำให้มีการประเมินจากนักเศรษฐศาสตร์หลากหลายท่านออกมาตรงกันว่า หากไม่สามารถหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้เร็วๆนี้ มันจะชะลอการเติบโตของ GDP ปี 63 ของไทยไปกว่า 1% นั่นหมายถึงการเติบโต GDPปี 63 จะต่ำลงจนถึง 1.5–2%ซึ่งนั่นยังไม่ได้รวมความวิตกกังวลของประชาชนไทยที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆน้อยลง และปัญหาจากการนำเข้าส่งออกที่กำลังจะตามมา

ซึ่งเมื่อไปประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ที่เกิดจากทั้งสังคมผู้สูงอายุ การผลิตสินค้าและการส่งออกที่หดตัวเนื่องจากความต้องการซื้อที่น้อยลง รวมไปถึงสงคราม ซึ่งทำให้มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยากที่จะฟื้นตัวในเวลาอันสั้น อาจต้องเผชิญปัญหาการติดลบทางเศรษฐกิจไปอีกไม่น้อยกว่าครึ่งปีกว่าทุกอย่างจะเริ่มฟื้นตัว ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันในเกือบทุกประเทศทั่วโลก

เรียบเรียงโดย: Thanut Siripoonkiatikul

--

--