คุณเป็นผู้นำที่สร้าง Trust ได้ดีแค่ไหน?

อยากให้คน “เชื่อใจ” ต้อง “ใส่ใจ”

Ta Virot Chiraphadhanakul
Skooldio
2 min readFeb 25, 2021

--

💬 “คุณรู้ตัวหรือไม่ ว่าคุณกำลังทำลาย Trust ของเพื่อนร่วมงานและลูกน้องของคุณในทุกๆ Meeting อยู่!”

ประโยคนี้ทำให้ผมนั่งอึ้งไปหลายวินาที ระหว่างที่นั่งฟัง Professor Frances Frei ในคลาส Off the Shelf Series โดย HBS Online ที่เชิญอาจารย์จาก Harvard Business School มาเล่าหนังสือเล่มใหม่ของพวกเขา พร้อมชวนผู้เรียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหัวข้อนั้นๆ กัน เป็น Executive Book Club ที่มีอะไรมาสะกิดความคิดของเราอยู่ตลอดเวลา

ใน Session นั้น Prof. Frei ได้ชวนพวกเราคุยเกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเธอ Unleashed: The Unapologetic Leader’s Guide to Empowering Everyone Around You ซึ่งพูดถึงการเป็นผู้นำที่ Empower ทุกคนที่อยู่รอบตัว และช่วยให้พวกเขาตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดในตัว แต่การเป็นผู้นำแบบนี้ จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลย หากทุกคนในองค์กรไม่มี “Trust” ไม่มีความเชื่อใจหรือไว้วางใจกัน ลูกน้องต้องเชื่อใจว่าหัวหน้ากำลังพาองค์กรไปในทิศทางที่ถูก เชื่อใจว่าหัวหน้าอยากเห็นเราเติบโตประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และในขณะเดียวกัน หัวหน้าก็ต้องเชื่อใจลูกน้องว่าพวกเขาจะทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กรโดยไม่ต้องมาคอยบอก

Prof. Frei เล่าว่า “Trust” มีองค์ประกอบหลักอยู่ 3 ส่วนด้วยกัน คนๆ หนึ่งจะเชื่อใจเรามากขึ้น ถ้าหาก

  1. เขาสัมผัสได้ถึงตัวตนที่แท้จริงของเรา (Authenticity) ไม่รู้สึกว่าเรา “เฟค”
  2. เขาเชื่อในความสามารถและการตัดสินใจของเรา (Logic)
  3. เขารู้สึกได้ถึงความเอาใจใส่และปรารถนาดีจากเรา (Empathy)

จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไปไม่ได้

แต่ละคนจะมีองค์ประกอบที่ “สั่นคลอน” (Wobble) ได้ง่ายที่สุด และ “ยึดเหนี่ยว” (Anchor) ได้มากที่สุด ถ้าหากเราเข้าใจว่าจุดแข็งจุดอ่อนของเราคือเรื่องไหน ก็จะสามารถควบคุมตัวเอง และสร้าง Trust ได้ดียิ่งขึ้น

Prof. Frei ให้ทุกคนในคลาสสำรวจตัวเอง 🙋🏻‍♂️ ผลปรากฏว่า กว่าครึ่งคลาส รวมทั้งตัวผมเองด้วย เป็นคนที่มี Logic ที่มั่นคงเป็นที่ยึดเหนี่ยวได้ แต่มี Empathy ที่พร้อมจะสั่นคลอนตลอดเวลา คนกลุ่มนี้ (Empathy Wobbler) มักจะคิดเร็วตัดสินใจเร็ว และจะรู้สึกหงุดหงิดได้ง่ายเมื่อคนอื่นคิดตามไม่ทัน ทำให้ผู้คนรอบข้างไม่รู้สึกถึงความ “ใส่ใจ” และไม่ “เชื่อใจ” เราในที่สุด ถึงตรงนี้ผมก็เริ่มนั่งไม่ค่อยติดละ แต่ข่าวดีก็คือ ผมไม่ได้เป็นแค่คนเดียว Prof. Frei บอกว่าผู้นำที่ประสบความสำเร็จส่วนใหญ่มักจะมีปัญหาแบบเดียวกัน (จริงๆ น่าจะต้องบอกว่า นี่คือข่าวร้าย)

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น Prof. Frei ชวนให้พวกเราลองจินตนาการการประชุมในที่ทำงาน คนที่เป็น Empathy Wobbler มักจะมีส่วนร่วมสูงมากในช่วงต้นของการประชุม ใช้ Logic ทำงานอย่างหนักหน่วง พยายามเก็บข้อมูลมาคิดวิเคราะห์ แต่ทันทีที่เข้าใจและได้ออกความเห็นอะไรเสร็จเรียบร้อยแล้ว คนกลุ่มนี้ก็จะหมดความสนใจ เริ่มทำงานอื่น เช็คโทรศัพท์มือถือ แสดงอาการเบื่อหน่ายว่าทำไมประชุมยืดเยื้อไม่จบสักที ซึ่ง Prof. Frei เรียกอาการนี้ว่า Agony of Super Smart (ASS) ในระหว่างที่คุณกำลังทรมานรอว่าเมื่อไหร่การประชุมจะจบเสียที คนอื่นในห้องอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้น ไม่มีใครอยากจะเชื่อใจ คนที่ให้ความสำคัญกับตนเองเหนือผู้อื่น

“คุณรู้ตัวหรือไม่ ว่าคุณกำลังทำลาย Trust ของเพื่อนร่วมงานและลูกน้องของคุณในทุกๆ Meeting อยู่!”

และนี่คือประโยคที่ทำให้ผมนั่งอึ้งไปหลายวินาที คิดใจว่า ฉิบหายละ…อาการนี้ออกบ่อยมาก โดยเฉพาะช่วงไหนที่เครียดๆ งานเยอะๆ มีอะไรต้องรีบคิดรีบตัดสินใจ ผมก็มักจะประชุมไปแอบทำงานอื่นไปทุกที

Prof. Frei แนะนำให้ Empathy Wobbler พยายามมากขึ้นในการสร้างบทสนทนา สร้างความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการประชุมจนกว่าจะช่วยให้ทุกคนเข้าใจในแบบที่คุณเข้าใจได้ ถ้าสิ่งนี้ยังยากเกินไป อยากให้เริ่มง่ายๆ โดยการเอาโทรศัพท์มือถือไปไว้ไกลตัวให้ได้มากที่สุด และเมื่อคุณเริ่ม “ใส่ใจ” ความ “เชื่อใจ” จะตามมาเอง

หวังว่าเรื่องเล่าในวันนี้ จะเป็นเครื่องเตือนสติให้กับ Empathy Wobbler คนอื่นๆ ได้ไม่มากก็น้อย ใครที่เริ่มสนใจเนื้อหาในบทความนี้ อยากแนะนำให้ลองฟัง TED Talk อันนี้ของ Prof. Frances Frei กันดูครับ

--

--

Ta Virot Chiraphadhanakul
Skooldio

Co-founder @ Skooldio. Google Developer Expert in Machine Learning. A data nerd. A design geek. A changemaker. — Chula Intania 87, MIT Alum, Ex-Facebooker