เคล็ดลับการทำธุรกิจแบบกวิ้นๆ

เก็บตกจากงาน Digital SME Conference 2020

Ta Virot Chiraphadhanakul
Skooldio
4 min readSep 29, 2020

--

ถ้าให้ทุกคนนึกถึงธุรกิจสักอัน ที่ปรับตัวได้เก่งมากและเอาตัวรอดได้อย่างสร้างสรรค์ในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา ผมมั่นใจว่า Penguin Eat Shabu จะเป็นชื่อแรกๆ ที่โผล่เข้ามาในหัวของคุณ ส่วนตัวผมประทับใจใน “ลีลา” การทำธุรกิจของร้านนี้มาก ถึงกับให้ทีมงานไปเชิญคุณต้น-ธนพันธ์ เจ้าของร้านมาร่วม Skooldio Live! กับเราไปแล้วครั้งหนึ่ง จนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้รับเกียรติให้ไปพูดที่งาน Digital SME Conference 2020 เลยไม่ลังเลที่จะแวะไปฟัง Talk ของคุณต่อ-ธนพงศ์ เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu อีกท่าน

คุณต่อเล่าให้พวกเราฟังถึงกลยุทธ์ในการทำธุรกิจสำหรับเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก 5 ข้อผ่านตัวอย่างน่ารักๆ ของ Penguin Eat Shabu เป็นหลัก น่าสนใจมากทีเดียว ผมนั่งฟังไปก็คิดตามไปว่า Skooldio ในฐานะ SME เราลองทำอะไรตามแนวทางนี้ไปแล้วบ้าง วันนี้ก็เลยจะขอหยิบเอากลยุทธ์ของคุณต่อมาเล่าให้ทุกคนฟัง ผ่านตัวอย่างของ Skooldio กันบ้าง

1. โฟกัสที่ “คุณค่า” ก่อนมูลค่า

คุณต่อชวนทุกคนคิดว่าสิ่งที่เราทำให้​ “คุณค่า” อะไรกับลูกค้าบ้าง หรือคิดถึงแต่ตัวเองจะขายของอย่างเดียว นอกจากธุรกิจจะทำกำไรแล้ว เราต้องคิดถึงคนรอบข้าง (ลูกน้อง, Supplier, ลูกค้า) และให้คุณค่ากับสังคมด้วย

ทำคอนเทนต์อย่าคิดแต่จะขายของ ให้คิดด้วยว่าลูกค้าได้อะไรจากคอนเทนต์นี้

ซึ่งพอย้อนกลับมาดูที่เพจของ Skooldio บ้าง ก็จะเห็นว่าโพสต์ที่ปังๆ หลักพันแชร์ล้วนเป็นโพสต์ที่ให้ความรู้ แนะนำสิ่งดีๆ ให้กับลูกเพจแบบไม่กั๊ก

ซึ่งต้องบอกว่าคอร์สฟรีหลายๆ อันที่เราแนะนำไป ก็ชนกับคอร์สที่เราสอนอยู่บน Skooldio.com เต็มๆ เหมือนกัน แต่ด้วยพฤติกรรมคนสมัยนี้ ก่อนจะกดซื้อคอร์สเรา ยังไงเค้าก็ต้อง Google ดูอยู่ดี ว่ามีที่ไหนให้เรียนอีกบ้าง มีอันไหนฟรีหรือเปล่า เราก็เอาของดีๆ ทั้งหมดมาอยู่ตรงหน้าให้เค้าเลือกได้ง่ายๆ ไปเลยดีกว่า และถ้าเราอยากปิดการขายได้ ก็ต้องทำสินค้าเราให้มีความแตกต่างและมีจุดขายที่น่าสนใจกว่าทางเลือกอื่นๆ ให้ได้ และต่อให้เค้าไม่ซื้อของเราวันนี้ อย่างน้อยแบรนด์เราก็จะเริ่มซึมเข้าไปอยู่ในหัวเค้า

คอนเทนต์ที่เน้นให้ “คุณค่า” กับลูกค้า ใครๆ ก็อยากกดแชร์ ซึ่งในโพสต์เหล่านี้ เราก็ขายของคอร์ส Skooldio พ่วงท้ายไปด้วยเสมอ ถ้าหากเราจะทำโพสต์ขายของตรงๆ และให้ได้ Reach เท่านี้ ก็คงต้องใช้เงินเยอะมากแน่นอน

2. “แตกต่าง” ตั้งแต่แรกเห็น

คุณต่อเอาตัวอย่างภาพก๋วยเตี๋ยวต้มยำจากร้านต่างๆ มาให้ทุกคนดู ไม่มีใครตอบได้ว่านี่คือต้มยำจากร้านไหน แต่พอคุณต่อเปิดรูปภาพมาม่าต้มยำเจ๊โอวขึ้นมา ทุกคนสามารถตอบได้ทันที เพราะอะไร? เพราะสินค้ามันมีความแตกต่าง และไปสร้างภาพจำอยู่ในหัวของเรา

แค่เห็นรูปก็รู้เลยว่าคือแบรนด์อะไร

ที่ Skooldio เราให้ความสำคัญกับงานออกแบบและภาพลักษณ์ของเรามากๆ เพราะเราไม่อยากให้การเรียนการศึกษาเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ เราอยากแตกต่าง! ใครมาเรียนกับเราต้องรู้สึกชิคๆ คูลๆ อยากให้คนเรียนหนังสือแล้วอยากจะคุยโม้ให้เพื่อนฟัง เหมือนได้ดูหนังสนุกๆ ได้กินของอร่อยๆ หรือได้ไปเที่ยวที่สวยๆ 😎

ทีมออกแบบพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อคุมสไตล์ในงานออกแบบและสร้างภาพจำของแบรนด์ให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่การวาง Design System (ฟอนต์ สี รูปทรงกราฟิก) ที่ชัดเจน

Skooldio Style Guide

มีการสร้าง Template ไว้ให้ทีมคอนเทนต์สามารถปั่น Social Content เร็วๆ หรือให้ผู้สอนทำสไลด์ประกอบการสอนได้อย่างสวยงาม ถูกต้องตามสไตล์โดยไม่ต้องพึ่งพา Designer มากนัก

Skooldio’s Square Post Template
Skooldio Slide Template

หรือแม้กระทั่งการเขียนโปรแกรมเพื่อ Generate ปกหนังสือเก๋ๆ ให้ไม่ซ้ำกัน นอกจากจะช่วยคุมโทนได้แล้ว ยังช่วยลดโหลดงาน Designer ได้มหาศาลอีกด้วย

Skooldio’s Book Covers

ที่ผ่านมาก็ถือว่าเราสร้างภาพจำของแบรนด์เราได้ดีในระดับหนึ่ง จนมีคนเอ่ยปากชมออกสื่อเลยทีเดียว 😀

นอกจากนี้เพื่อทำให้คนจำเราได้ เราได้ทำ Service Design กันมาอย่างดี ว่าเราจะสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้เรียนที่ touchpoint ไหนได้บ้าง สิ่งหนึ่งที่เราตั้งใจทำมากๆ คือการออกแบบเอกสารประกอบการเรียน ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ, โปสเตอร์, Flash cards, Booklet ฯลฯ ให้ดูดี ทำยังไงให้มัน “Instagramable” คนเห็นแล้วอยากจะถ่ายรูปลง Instagram ทันที

Skooldio’s Learning Materials (https://twitter.com/Skooldio/status/1253995414258192384)
Skooldio’s Learn from Home Kit

เวลาคนมาเรียนแล้วแฮปปี้ เนื้อหาดี คนสอนดี ถ้าเรามีอะไรสวยๆ ไปให้เค้าสร้างคอนเทนต์บนโลกโซเชียลได้ง่ายๆ ก็จะช่วย “สะกิด” ให้เค้าอยากช่วยเราขายของมากขึ้นแบบในตัวอย่างข้างล่างนี้

https://twitter.com/uisenice/status/1301910021345669121

สุดท้ายพอคนเริ่มได้เห็นเยอะๆ ก็เริ่มเกิดเป็นภาพจำ ตอนนี้ใครไปอบรมที่ไหน ได้ของแจกคล้ายๆ กัน คนก็จะเริ่มพูดว่า “เหมือนของ Skooldio เลย” 🤩

3. ใส่ “ชีวิตจิตใจ” ให้กับแบรนด์

คุณต่อเล่าว่าแบรนด์ก็เหมือนคน เราควรจะกำหนดนิสัย บุคลิก ความชอบ และสไตล์ให้กับแบรนด์ของเรา คอนเทนต์เดียวกันจับเข้าปากคนละแบรนด์ ก็ตะโกนออกมาไม่เหมือนกัน ถ้าอยากจะเล่าเรื่องให้ได้ดี บุคลิกของเราต้องชัดก่อน คุณต่อย้ำด้วยว่าบุคลิกนี้ ก็ต้องเลือกให้เหมาะกับของที่เราจะขาย ไม่ใช่เอาบุคลิกเจ้าของเป็นต้นแบบอย่างเดียว

ของ Skooldio เอง เราคุยกันไว้ตั้งแต่ Day 1 เลยว่าเราอยากจะเป็น Cool Nerd 😎🤓 มีความ Geekๆ กับทุกเรื่อง น่าเชื่อถือ สนุกสนาน แต่ก็ไม่ตลกโบ๊ะบ๊ะจนเกินไป คุยง่าย เข้าถึงได้ เป็นเพื่อนสนิทในกลุ่มที่เรามักจะขอลอกการบ้าน หรือให้มันติวให้ก่อนสอบ

คอนเทนต์ที่เป็นกระแสสังคม หรือ Pop Culture ต่างๆ เราก็ทำให้มัน Geek ด้วยการเล่าเรื่องผ่านข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล The Secret Sauce Podcast หรือ ช่วยทานตะวันตัดสินใจด้วยข้อมูลว่าควรจะเลือกน้องหมอหรือหมอเป้งในรักฉุดใจนายฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งเรื่องหวยเลขซ้ำ เราก็เอาสถิติรางวัลที่ 1 ที่มีเลขซ้ำติดกันมากางให้ทุกคนดู ในขณะที่สื่ออื่นๆ พุ่งไปที่เรื่องหวยล็อกหรือไม่ล็อก

เล่า Pop Culture ผ่านข้อมูล

หรือตอนภาพยนตร์ฮาวทูทิ้งเข้าฉาย เราก็โยงมาเล่าเรื่องการทำ Data Visualization ทิ้งอย่างไรให้กราฟน่ามอง และสื่อสารได้มีประสิทธิภาพ

ฮาวทูทิ้ง! ทิ้งอย่างไรให้กราฟน่ามอง

ขนาดโพสต์รับสมัครงานของเราก็ยังเนิร์ดมาก พยายามจะทำให้ทุกคนรู้จักองค์กรของเรามากขึ้นผ่านข้อมูลสถิติต่างๆ จากคนในทีม ปรากฏว่าคนแชร์กันต่อไปเกือบ 300 แชร์ ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรอะไรกับเค้า แต่เค้าชื่นชมในการเล่าเรื่องและ Culture ของบริษัทเรา ทำให้รอบนั้นเราได้ใบสมัครมารวมๆ กันหลายร้อยใบเลยทีเดียว

พอเราเริ่มชัดเจนในความเนิร์ด และความเป๊ะทางวิชาการของเรา ช่วงหลังๆ เวลาเราโพสต์แนะนำคอร์สหรือให้ความรู้อะไร คนก็จะให้ความสนใจโพสต์ของเรามากเป็นพิเศษ อย่างตัวอย่างด้านล่าง ทั้ง 3 โพสต์เป็นข่าวเดียวกัน โพสต์ของเรามีคนแชร์กว่า 6 พันครั้ง ในขณะที่เพจ Techsauce และ BrandInside ที่มีคนติดตามมากกว่าเพจเราประมาณ 5 เท่าและ 10 เท่าตามลำดับ ได้ยอดแชร์ไปน้อยกว่าเรามากๆ

4. คิด “ในกรอบ”

ตอนที่คุณต่อเปิดสไลด์ที่เขียนว่า คิด “ในกรอบ” ขึ้นมา แวบแรกในหัวคือ อ้าว! คุณหลอกดาว เมื่อกี้ยังบอกให้ “แตกต่าง” อยู่เลย แต่จริงๆ แล้วคำว่า “ในกรอบ” ในที่นี้คุณต่อหมายถึง ข้อจำกัดต่างๆ ในการทำธุรกิจ เช่น ทุนไม่หนา กำลังผลิตไม่เยอะ ฯลฯ เวลาที่เรามี Resource จำกัด มันจะเป็นตัวบังคับให้เราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการเอาตัวรอด โดยเฉพาะ SME ที่ไม่ได้มีทุกอย่างเหลือเฟือแบบองค์กรขนาดใหญ่ การคิด(นอกกรอบ)ในกรอบ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ในการทำธุรกิจ

สำหรับ Skooldio เอง อย่างที่เล่าไปในสองข้อก่อนหน้านี้แล้วว่า เราอยากทำตัวเองให้แตกต่าง อยากทำให้การเรียนเป็นเรื่องชิคๆ คูลๆ แต่ … เราเป็น SME งบน้อยทุนต่ำ อะไรประหยัดได้ก็ต้องประหยัด

ตัวอย่างที่ดีอันหนึ่งของ Skooldio ในเรื่องนี้ ก็คือ Packaging สื่อการสอนต่างๆ ของเรา ครั้งแรกสุดที่เราทำ Flash Cards แจกในคลาส ก็จัดเต็ม พิมพ์การ์ด 4 สี หน้า-หลัง (แค่นี้ก็ต้นทุนหลายร้อยละ) ใส่กล่องพลาสติกวัสดุดี สีสวย เปิดง่าย นำเข้าจากเกาหลี! ที่ทีม Designer ไปตระเวนหามาจนเจอ เพราะกล่องนามบัตรธรรมดาดูไม่พรีเมียมพอ แต่ปัญหาคือนอกจากจะราคาแพงแล้ว ยังหาซื้อยากมากอีกด้วย ถ้าจะสั่งตรงจากโรงงานในต่างประเทศก็ต้องสั่งทีละเยอะมากๆ เราก็เลยใช้ข้อจำกัดนี้ มาบังคับให้เราต้อง “สร้างสรรค์”​ สุดท้ายไปจบที่การใช้ซองใส่ขนม ที่เราทำให้ออกมาดูดีไม่แพ้กัน เน้นโชว์กราฟิกของการ์ดในซอง ตกราคาซองละไม่กี่บาท และสามารถสั่งออนไลน์ได้ของในไม่กี่ชั่วโมงอีกด้วย หลังจากนั้นทุกครั้งเวลาน้องๆ ในทีมเอาไอเดียอะไรมาเสนอก็มักจะโดนถามกลับไปว่า “มี Option อื่นที่ดูดีพอๆ กันแต่ต้นทุนถูกลงกว่านี้มากหรือเปล่า”

บน: Flash Cards ในกล่องพลาสติก | ล่าง: Flash Cards ในซองพลาสติกขุ่น

อีกตัวอย่างของการคิด “ในกรอบ” ของ Skooldio เป็นเรื่องของการทำ Content Marketing ใครที่เคยทำเพจน่าจะพอรู้กันดีว่า เดี๋ยวนี้ Reach ของแต่ละโพสต์บน Facebook มันน้อยขนาดไหน ถ้าจะยิงแอดก็ต้องใช้เงินค่อนข้างเยอะ หรือถ้าพลาดยิงไม่ตรงกลุ่มเป้าหมาย ก็จะได้คนแปลกๆ มากด Like ทำให้ Algorithm มันงง ว่าตกลงคนแบบไหนกันแน่ ที่ควรจะมาติดตามเพจของเรา

ในข้อ 1 เราได้พูดถึงกันไปแล้วในเรื่องของการสร้าง “คุณค่า” พอเราตั้งโจทย์ให้กับทีมว่าอยากจะให้เพจเราเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยไม่ต้องใช้เงิน เราก็เลย Growth Hack ด้วยการต่อยอดข้อ 1 โดยเน้นการสร้าง “คุณค่า” ให้กับเพจใหญ่ๆ หรือ Influencer เพื่อให้เค้า “อยาก” แชร์โพสต์ของเราต่อไป ซึ่งหมายความว่าโพสต์ของเราต้องมี “คุณค่า” กับคนที่ติดตามเค้าอยู่ อย่างในตัวอย่างข้างล่างนี้ โดยปกติ ถ้าเราจะให้เพจเหล่านี้ลงคอนเทนต์ให้ จะเป็นข่าวประชาสัมพันธ์ หรือ Advertorial ก็คงต้องใช้เงินหลักแสนกันเลยทีเดียว

นอกจากแนวคิดการสร้างคอนเทนต์ที่มี “คุณค่า” ให้กับทั้งลูกค้าของเรา และเพจใหญ่ๆ แล้ว การทำคอนเทนต์แต่ละทีก็ควรจะใช้ให้คุ้มที่สุด เอามา Reuse ได้หลายโอกาส โพสต์ได้หลายๆ ที อย่างโพสต์เจาะลึกข้อมูล The Secret Sauce (นี่พูดถึงเป็นรอบที่ 3 แล้วนะ!) ซึ่งผมมีส่วนช่วยดึงข้อมูลและวิเคราะห์ออกมา ไหนๆ ทำแล้วก็เลยเอามาใช้เป็นตัวอย่างในการอัด Tutorials สอน Google Sheets และก็เอาไปเป็นตัวอย่างใน Online Course สอนการดึงข้อมูลจากเว็บไซต์และการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น บน ​Skooldio อีกด้วย

ยังไม่จบแค่นั้น พอ Tutorial นี้ไปเตะตาเพจ เทพเอ็กเซล เข้า พอเห็นว่าเป็นตัวอย่างสนุกๆ แอดมินเค้าก็เลยจัด Tutorials ให้อีกชุดโดยเปลี่ยนจาก Google Sheets เป็น Excel มาให้ นอกจากเราจะได้คอนเทนต์เพิ่มบน Skooldio Tutorials แล้ว เราก็เอามาปั่น Social Content ได้อีกด้วยว่าเป็นศึกดวลกันระหว่าง Google Sheets และ Excel สุดท้ายเรื่องก็ไปถึงคุณเคน แห่ง The Secret Sauce อีกครั้งและก็ช่วยแชร์ Tutorial ให้กับพวกเรา

ตัวอย่างการปั่นรอบคอนเทนต์

มาถึงตัวอย่างสุดท้าย ยุคนี้ใครๆ ก็ Live ขายของ เราก็อยากทำบ้าง แต่จากหลักข้อ 2 ที่เราได้ตี “กรอบ” ขึ้นมาว่าบุคลิกของแบรนด์เราจะต้องมีความน่าเชื่อถือ ดังนั้นจะให้มาโช้งเช้งขายของก็ใช่เรื่อง เราก็เลยคิด “ในกรอบ” จัดเป็น Skooldio Live! ให้ความรู้ ทำตัวเนิร์ดๆ ในแบบที่เราถนัด 🤓😎 แต่เราก็ใช้โอกาสนี้ในการโปรโมตคอร์สเรียนที่ “เกี่ยวข้อง” กับเนื้อหาการพูดคุยใน Live ของเราไปด้วย และเพื่อให้มีผู้ชมเยอะๆ (ซึ่งยากมากๆ ในช่วงกักตัว Covid ที่คน Live เยอะกว่าคนดู) เราก็ให้คนช่วยแชร์โพสต์ลุ้นรับของรางวัล อย่างเซ็ตชาบูหมูจาก Penguin Eat Shabu! แคมเปญนี้ช่วยให้เราได้ยอดชมเยอะขึ้นมากๆ ในต้นทุนที่ต่ำกว่าการ Boost post บน Facebook โดยตรง!

5. เปลี่ยน Competition เป็น “Collaboration”

คุณต่อทิ้งท้ายด้วยกลยุทธ์ที่ชวนให้ทุกคนเปลี่ยน “การแข่งขัน” เป็น “ความร่วมมือ” แทนที่เราจะต้องแข่งกัน ทำไมเราถึงไม่มาทำอะไรร่วมกันแล้วทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกันหมด

Give more than you take

ในช่วงโควิดที่ผ่านมา อาจารย์มหาวิทยาลัยหลายๆ ท่านอาจจะกำลังปรับตัวกับการสอนออนไลน์ ทำให้การเรียนการสอนหลายๆ อย่างอาจจะไม่พร้อมเท่าที่ควร Skooldio ก็เปิดตัวบริการ Skooldio for U โดยให้อาจารย์มหาวิทยาลัยที่สอนในรายวิชาที่เรามีคอร์สออนไลน์อยู่ สามารถสมัครเข้ามาขอสิทธิ์ให้นักศึกษาในรายวิชาเรียนคอร์สของ Skooldio ได้ฟรี!

Skooldio for U

หรือแม้กระทั่งการจัด Live Workshop ในช่วงโควิด หลังจากที่ทีมงานได้ร่วมกันออกแบบ ค้นคว้า ทดลอง หาวิธีการจัดที่ลงตัวที่สุด เราก็ได้มีการเปิดคลาสสอนแบบไม่มีกั๊ก ให้กับ ทีม HRD ที่ดูแลการเรียนรู้ของพนักงานในองค์กรต่างๆ รวมไปถึงอาจารย์ และวิทยากรอิสระอีกเป็นจำนวนมาก

กว่าจะออกมาเป็น Live Workshop

และนี่ก็เป็นกลยุทธ์ธุรกิจ 5 ข้อสำหรับ SME ที่คุณต่อ เจ้าของ Penguin Eat Shabu ได้ฝากเอาไว้ ใครที่สนใจติดตามสาระแบบนี้ ไปติดตามคุณต่อได้ที่เพจ Torpenguin — ผู้ชายขายบริการ

ส่วนใครอยากรู้จัก Skooldio มากขึ้น หรือจะมาอัพสกิลกับเรา ติดตามพวกเราได้ที่เพจ Skooldio หรือ www.skooldio.com 🤓😎 แล้วเจอกันในคอร์สครับ

--

--

Ta Virot Chiraphadhanakul
Skooldio

Co-founder @ Skooldio. Google Developer Expert in Machine Learning. A data nerd. A design geek. A changemaker. — Chula Intania 87, MIT Alum, Ex-Facebooker