เมื่อไหร่จึงควรใช้แผนภูมิวงกลม (Pie chart)

Krist Wongsuphasawat
Skooldio
Published in
2 min readJun 3, 2015

Pie chart (แผนภูมิวงกลม) หรือวงกลมที่แตกเป็นเสี่ยงๆ (เหมือนการแบ่งพายหรือพิซซ่าเป็นชิ้นๆ) นั้นแสดงถึงส่วนประกอบหลายๆส่วนที่รวมกันเป็นหนึ่ง โดยขนาดของแต่ละชิ้นก็เป็นสัดส่วนกับปริมาณของส่วนประกอบนั้น

pie chart ถูกใช้อย่างแพร่หลาย หรือพูดกันแบบบ้านๆก็คือใช้กันจนเกร่อ จะเห็นได้บ่อยมากตาม infographics ต่างๆ

แต่น่าเสียดายที่ส่วนใหญ่แล้ว pie chart เหล่านี้มักจะถูกใช้กันผิดๆและได้ผลลัพธ์ออกมาไม่ค่อยมีประโยชน์ซะมากกว่า ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายๆคนจึงมักจะร้องยี้เมื่อเห็นการนำเสนอข้อมูลที่เต็มไปด้วย pie chart

แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า pie chart นั้นควรเลิกใช้ไปซะหรือใครใช้ pie chart ควรไปผูกคอตายซะเลยทีเดียว ในบางสถานการณ์ pie chart ก็นับว่าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสม

จุดเด่นของ pie chart คือการสื่อความหมายว่าแต่ละชิ้นเป็นสัดส่วนเท่าใดของทั้งหมด และความเป็นที่คุ้นเคยของคนส่วนมาก

จุดด้อยของ pie chart คือการเปรียบเทียบขนาดของแต่ละชิ้นส่วนทำได้ยาก เนื่องจากการเปรียบเทียบมุมหรือพื้นที่ด้วยตาเปล่าให้แม่นยำนั้นไม่ง่ายซักเท่าไหร่ (เคยมีงานวิจัยว่าคนเราเปรียบเทียบมุมหรือพื้นที่ได้ค่อนข้างแย่) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย และเมื่อชิ้นส่วนเล็กมากๆก็แทบจะหมดสิทธิ์

แล้วเมื่อไหร่ถึงควรใช้ pie chart

มีหลักง่ายๆอยู่ไม่กี่ข้อที่จะช่วยคุณตัดสินใจว่า pie chart เหมาะสมกับข้อมูลของคุณรึเปล่า

  1. แต่ละชิ้นส่วน (A,B,C) เป็นส่วนประกอบของสิ่งเดียวกัน (X) รึเปล่า พอเอามารวมกันแล้วมันดูเข้าท่ามั้ย ถ้าคุณเขียนสมการ X = A + B + C แล้ว X ไม่ได้สื่อความหมายอะไรหรือไม่เกิดประโยชน์อะไรกับคุณก็อย่าใช้ pie chart
    ตัวอย่างที่ 1 คุณกำลังจะเลือกซื้อระหว่างรถสามคันเลยพยายามวาด pie chart เปรียบเทียบราคา
    X = ราคารถ Honda + ราคารถ Toyota + ราคารถ Nissan
    X กลายเป็นราคารวมของรถสามคัน ซึ่งไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับการเลือกซื้อของคุณเลย
    ตัวอย่างที่ 2 คุณอยากรู้ว่าในบริษัทคุณมีคนขับรถสามยี่ห้อนี้เป็นสัดส่วนมากน้อยแค่ไหน
    X = จำนวนรถ Honda + จำนวนรถ Toyota + จำนวนรถ Nissan + จำนวนรถยี่ห้ออื่นๆ
    X กลายเป็นจำนวนรถทั้งหมด ซึ่งเหมาะสม
  2. แต่ละชิ้นแยกจากกันชัดเจนและไม่มีส่วนซ้อนทับกัน เช่น รายจ่ายแบ่งตามประเภท แบบนี้ใช้ได้ แต่ถ้าเป็นอะไรที่แต่ละชิ้นซ้อนทับกันได้ เช่น จำนวนนักเรียนในแต่ละชมรมของโรงเรียนมัธยม (โดยนักเรียนแต่ละคนอยู่ได้มากกว่า 1 ชมรม) แบบนี้ไม่ควรใช้ pie chart เพราะถ้าคุณเอาจำนวนนักเรียนในทุกชมรมบวกกันมันจะเกินจำนวนนักเรียนทั้งหมด
  3. จุดประสงค์หลักคือเพื่อเปรียบเทียบแต่ละชิ้นหรือเปล่า? ถ้าใช่ ใช้ chart แบบอื่นจะเปรียบเทียบได้ง่ายและแม่นยำกว่า
  4. มีกี่ชิ้น? ถ้ามีมากกว่า 5 ส่วนขึ้นไป ใช้ chart แบบอื่นดีกว่า ถ้า pie chart ถูกซอยย่อยมากๆมันจะอ่านลำบากเกินไปครับ จำนวนชิ้นใน pie ที่ดีที่สุดคือ 2!

ถ้าไม่ใช้ pie chart แล้วจะใช้อะไร

ทางเลือกที่มักจะใช้แทน pie chart ก็คือ bar chart (แผนภูมิแท่ง) เนื่องจากการเปรียบเทียบความสูงของแท่งนั้นทำได้ง่ายและแม่นยำกว่ามาก และเมื่อมีชิ้นส่วนเล็กๆจำนวนมากก็ยังเห็นว่ามีชิ้นส่วนเหล่านั้นอยู่

แต่ bar chart ก็ให้ความรู้สึกว่าแต่ละชิ้นส่วน (แท่ง) แยกจากกัน อารมณ์ตัวใครตัวมันซะมากกว่า ซึ่งความรู้สึกว่าแต่ละชิ้นเป็นสัดส่วนของทั้งหมดนี้ pie chart จะสื่อได้ดีกว่า

และได้โปรดอย่าทำแบบนี้กับ pie chart

ที่ผมแนะนำไปส่วนใหญ่ก็เป็นแนวทาง ไม่ได้เป็นกฏตายตัว พลิกแพลงกันได้ แต่ก็มีบางกรณีที่ผมรู้สึกว่าควรจะหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง และได้โปรดอย่าทำแบบนี้กับมันเลย

สามมิติ ปกติแค่สองมิติพื้นที่ก็เทียบลำบากอยู่แล้ว พอเป็น 3 มิตินี่ยิ่งจบกันเพราะสัดส่วนถูกบิดเบือนไปอีกจนเทียบไม่ได้ว่าชิ้นไหนใหญ่กว่า

ซอยซะเหลือจิ๋วนึง แบ่งไปสัก 10–20 ส่วนก็เริ่มตาลายแล้วครับ

เอกสารอ้างอิง

--

--

Krist Wongsuphasawat
Skooldio

Data Experience @airbnb / Prev: Turn data into pixels @twitter • Invent new vis @UofMaryland HCIL PhD • From @Thailand • http://kristw.yellowpigz.com