4 เรื่องที่ควรมองหาในการทำงาน นอกจากเรื่องเงินเดือน

Natthanun Chantanurak
Skooldio
Published in
4 min readMay 4, 2022
Photo by Jeff Sheldon on Unsplash

ช่วงนี้ หลายๆ คนจะเริ่มเห็นความดุเดือดของตลาดคนทำงานสาย Tech ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก มีการโฆษณา ทำแคมเปญออกมา เพื่อดึงดูดคนให้ไปทำงานด้วย ได้เห็นสีสันของการแย่งชิง Talent กันแบบไม่มีใครยอมใคร ไม่ว่าจะเป็นการประกวดแพคแกจ Welcome สำหรับพนักงานใหม่ของแต่ละที่ การมีค่า Refer ที่ยั่วยวน การไปออกบูทตามงาน Job Fair ต่างๆ การมีสวัสดิการที่คูลๆ ตั้งแต่ข้าวฟรี เหล้าเบียร์ฟรี ขนมฟรี ไปจนถึงงบที่เอาไปทำอะไรก็ได้กี่หมื่นบาทก็ว่าไป และแน่นอน เรื่องเงินเดือนก็เป็นสิ่งที่หลายๆ บริษัทต่างก็หยิบยกขึ้นมาแทบทุกที่

คำถามก็คือเงินเดือนสำคัญแค่ไหนในการมองหางานที่ใช่ คำตอบของผมคือ

“สำคัญมากครับ แต่ไม่ทั้งหมด”

วันที่ 4 พ.ค. 65 นี้ ผมก็จะทำงานที่ Start Up แห่งนี้มาครบ 4 ปีแล้ว หลังจากที่ย้ายจาก Corporate มา ด้วยเงินเดือนที่ลดลง ตอนนั้นผมก็ได้แบ่งปันไปว่า ผมได้ตัดสินใจผ่านคำถาม 3 ข้อ คือ

  • อะไรคือ Purpose ในชีวิต
  • อะไรคือ Passion ในการทำงาน
  • และสิ่งที่กำลังทำนี้มัน Impact ต่อโลกใบนี้อย่างไร

วันนี้เลยอยากจะมาเพิ่มเติม เรียกว่าเป็น Version Update 2022 หรือถ้าอยากให้เข้ากับโลกในยุคโควิด ก็ต้องบอกว่าบทความนี้ เป็นเข็ม Booster สำหรับการตัดสินใจเปลี่ยนงาน หรือหางานใหม่แล้วกัน

จริงๆ แล้ว 3 ข้อที่เคยเขียนไปนั้น เป็นสิ่งที่ผมให้ความสำคัญเวลาต้องหางานใหม่ แต่พอทำงานไปแล้ว ผ่านไปหลายปี 3–4 ปี สิ่งเหล่านี้ก็มีเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แน่นอนว่า หลายๆครั้งงานที่ทำอยู่ก็ไม่สามารถตอบสิ่งที่มองหาในงานตอนที่สมัครเข้ามาได้ครบทั้งหมดทุกงาน ด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่าง แต่ 4 ปีมานี้ ผมบอกตามตรงว่า ไม่เคยคิดเรื่องย้ายงานใหม่เลย เวลาใครทักมาชวน ก็มักจะตอบไปว่าไม่สนใจ แม้ว่าเงินเดือนจะมากขนาดไหน ไม่ใช่ว่าเราซื่อสัตย์อะไร หรือจงรักภักดีอะไรกับองค์กรหรอก แต่มันเป็นความรู้สึกว่าสิ่งที่ผมมองหาในการทำงาน ที่นี่ยังมีอยู่ครบ

เนื่องในโอกาสครบ 4 ปีของการทำงาน ผมก็เลยมานั่ง Reflect กับตัวเองว่า ไอ้ความรู้สึกนั้น มันคืออะไรนะ พยายามจะ Crack ออกมา ว่าอะไรที่เรามองหาในการทำงานอีก มีอย่างอื่นอีกไหม นอกจากสิ่งที่เราเคยเขียนไว้ แล้วอะไรที่ทำให้เรายังเลือกที่จะทำงานที่นี่ต่อ

วันนี้ก็เลยอยากจะมาเล่าว่า อะไรที่ -ตัวผมในวันนี้- มองหาในการทำงาน (นอกเหนือจากเงินเดือนอยู่ดี) แล้วก็อยากจะเชิญชวนทุกคนให้ลองสำรวจตัวเอง ว่างานที่เราทำมีสิ่งเหล่านี้แล้วหรือยัง

มีเพื่อนร่วมงานที่ดี

เพื่อนร่วมงาน เป็นสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศการทำงาน ที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับเราอยู่ทุกวัน จันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น ยันพระอาทิตย์ตก (เสาร์ อาทิตย์บ้าง สามสี่ทุ่มบ้าง แล้วแต่ทีม) เรียกได้ว่าการทำงานส่วนใหญ่ของเรา นอกเหนือจากงานที่เราต้องทำคนเดียว ก็คือทำงานกับเพื่อนร่วมงานนี่แหละครับ แน่นอนว่า พอเป็นความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ที่เราเรียนกันสมัยเด็กๆ ถ้าจำกันได้ ก็จะมีพวก ภาวะพึ่งพาอาศัยกัน หรือ ภาวะการได้ประโยชน์ร่วมกัน (ที่เหลืออ่านต่อได้ที่ ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิต) ไว้มีโอกาส จะมาเล่าเรื่อง ความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศของการทำงาน

ซึ่งการมีเพื่อนร่วมงานที่ดี และมีความสัมพันธ์ที่เป็น +/+ ทั้งคู่ นับเป็นความโชคดีมากๆ ในชีวิตการทำงาน อารมณ์ประมาณเดียวกับถูกหวยเลยครับ เพราะตอนที่เราหางาน หรือเราสัมภาษณ์ เราก็มักจะได้คุยกับ HR, Manager หรือ Team Lead เราไม่ค่อยได้มีโอกาสได้คุยกับเพื่อนร่วมงานกันเท่าไหร่ถ้าโชคดี ก็เลือกได้ว่าอยากทำงานทีมไหน งานลักษณะไหน แต่เมื่อเริ่มงานแล้ว เรามักไม่มีโอกาสได้เลือกเพื่อนร่วมงานมากนัก ถ้าใครมีเพื่อนร่วมงานที่ดีอยู่แล้ว ยินดีด้วยครับ คุณได้พบกับสิ่งมีชีวิตที่หายากมากๆ

เพื่อนร่วมงานที่ดี ผมว่าเป็น Comfort Zone อันใหญ่ของผมเลย เพราะทุกครั้งที่ผมถามตัวเองว่ายังอยากทำงานที่นี่อยู่ไหม เพื่อนร่วมงานที่ Skooldio ก็มักจะเป็นสิ่งแรกๆ ที่ผุดขึ้น ทั้งทีมดั้งเดิมที่อยู่กันมาตั้งแต่เรายังมีกันอยู่น้อยนิด และน้องใหม่ที่เข้ามาในทีม แต่ละคนล้วนมาช่วยเติมให้ทีมมีความเข้มแข็งมากขึ้น ในอดีตเราเคยมีสถาปนิกมาเป็น Dev ตอนนี้เราก็มีชาวนิเทศศาสตร์ คุณหมอ คุณครู และอีกหลายสายอาชีพที่ผันตัวมาเป็น Dev เช่นกัน เรามีวิศวคอมที่เป็น UX/UI แล้วก็มาเป็น PM, เรามีคนจบไม่ตรงสาย มาเป็น BD และทีม Marketing ที่เก่งกาจ สิ่งแวดล้อมที่มีแต่คนที่มีความสามารถหลากหลายแบบนี้ คือสิ่งที่ผมมองหาอยู่สำหรับผม

พบหัวหน้าที่ใส่ใจ

Photo by airfocus on Unsplash

ตัวเรากับหัวหน้า มักจะเป็นความสัมพันธ์คล้ายๆ กับคู่รัก คือเรามีโอกาสได้เลือก ได้พูดคุยกันประมาณนึง ก่อนที่จะตัดสินใจเริ่มความสัมพันธ์ครั้งนี้ ตอนที่เรา Date กันครั้งแรกตอนสัมภาษณ์ เราก็มักจะกังวล ว่าหัวหน้าคนนี้จะชอบเราหรือเปล่านะ เราจะได้ใช้ชีวิตด้วยกันในอนาคตหรือเปล่า ซึ่งช่วงจีบกันตอนสัมภาษณ์นั้น เราก็จะเห็นหัวหน้าแค่ช่วงเวลาหนึ่ง พอต้องมาทำงานด้วยกัน เป็นเดือน เป็นปี ตอนนี้แหละ จะเริ่มเหมือนคู่รักจริงๆ คือถ้าไม่อยู่ด้วยกันไปเรื่อยๆ วันหนึ่งก็ต้องเลิกกัน และแยกย้ายกันไป

มีผลสำรวจมากมายที่ออกมา ว่าสาเหตุอันดับต้นๆ ที่พนักงานมักจะออกจากองค์กรคือ หัวหน้า คำถามคือ หัวหน้าแบบไหนหล่ะ ที่ทำให้พนักงานไม่ลาออก เอาจริงอันนี้เป็นคำถามที่ยากมาก เพราะแต่ละองค์กร ก็จะมีความต้องการของหัวหน้าในแบบที่ต่างกัน สำหรับผม คุณสมบัติหนึ่งของหัวหน้าที่น่าทำงานด้วยคือ ความใส่ใจ

หัวหน้าที่ใส่ใจ มักจะถามเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ของเรา อุปสรรคในชีวิต ทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว แล้วก็มักคอยแนะนำ และหาวิธีช่วยเหลืออยู่เสมอ ทั้งที่บางเรื่องก็อาจจะไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ในเรื่องงาน ก็จะคอยหาลู่ทาง หาโอกาสให้เราได้เติมโต ด้วยความที่หัวหน้าที่ใส่ใจ จะรู้ว่าเราถนัดอะไร และอยากเป็นอะไร ก็จะพยายามหางานประเภทนั้นมาให้

และแม้กระทั่งบางโอกาสหัวหน้าที่เข้าใจเรามาก ก็มักจะเห็นในสิ่งที่ตัวเราเองไม่เคยคิดว่าเราจะทำได้ แล้วมอบหมายความท้าทายนั้นให้ ซึ่งหลังจากตรงนี้ก็อยู่ที่เราแล้ว ว่าจะตอบรับโอกาสนั้นไหม และที่สำคัญที่สุด หัวหน้าที่ใส่ใจเรามากพอที่จะเตือนเราด้วยความหวังดี ถ้าเห็นว่าเรากำลังจะก้าวพลาด

ชีวิตผมนี่ต้องนับว่าโชคดีมาก เพราะเจอแต่หัวหน้าที่ใส่ใจ ทั้งหัวหน้างานโดยตรง และหัวหน้าองค์กร ที่ผ่านมาคนเหล่านี้ มักจะมีส่วนช่วยเหลือและค้ำจุนเราในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะช่วยให้คำปรึกษาเรื่องงาน ช่วยแอ่นอกรับความผิดให้ เพราะรู้ว่าเราไม่ได้ตั้งใจทำผิด หัวหน้าที่คอยหาโอกาสในงานต่างๆ ให้ หัวหน้าที่คอยถามเรื่องครอบครัว ว่าช่วงนี้ที่บ้านเป็นยังไงบ้าง หัวหน้าที่ว่างๆ ก็ชวนกันไปทำ Hackathon จนเปิดเป็นธุรกิจใหม่ได้ หัวหน้าที่มาแชร์เรื่องการเตรียมตัวแต่งงานและการเลี้ยงลูก เพื่อให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ไปจนถึงหัวหน้าที่เปิดบริษัทให้ใหม่ เพราะมองเห็นความสามารถในตัวเรา

รู้ Impact ของงานที่ทำ

Photo by Luca Bravo on Unsplash

ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งต้นปี ผมได้มีโอกาสไปลองทำงานส่วนอื่น ตั้งแต่ไปออกแบบคอร์สเทคของ Skooldio ไปจนถึงเป็นคนสอนเอง หนึ่งในโครงการที่ได้ไปสอน ชื่อโครงการว่า Generation (ไว้จะมาเล่าประสบการณ์ในฟังอีกเมื่อมีโอกาส) ที่เราต้องไปสอนคนที่เปลี่ยนสาย จากสายอื่น มาเป็น Junior Software Developer ซึ่งสิ่งที่ได้จากโครงการนี้ นอกจากประสบการณ์การเป็นผู้สอนแล้ว ยังได้ความอิ่มใจ และภูมิใจที่เราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการที่ทำให้ชีวิตคนกว่า 60 ชีวิต เกิดความเปลี่ยนแปลง และมีโอกาสหลายๆ อย่างในชีวิตมากขึ้น

สิ่งที่เกิดขึ้น เป็น Impact ของงานที่ทำ ที่เราต้องคอยถามตัวเองอยู่เสมอว่า Code ของเราบรรทัดนี้ คอร์สๆ นี้ที่เราทำ หรืออย่างโครงการที่เราเข้าไปสอนนี้ มี Impact อย่างไร และต่อใครบ้าง Impact ที่ว่า มันไม่จำเป็นจะต้องใหญ่โตขนาดเปลี่ยนโลก หรือเปลี่ยนประเทศนี้ อย่างที่เคยเล่าไว้เมื่อ 4 ปีที่ก่อน แค่เราได้เห็นผลผลิตของสิ่งที่เราทำ ก็เป็นความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในการทำงานแล้ว

Impact ของงาน เอาจริงๆ เป็นสิ่งที่หลายๆ คน มักจะมองข้ามเวลาที่หางาน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เวลาคนมองหางาน ก็มักจะดูว่า เป็นงานที่ชอบหรือเปล่า เป็นงานที่ท้าทายแค่ไหน เราจะได้เรียนรู้อะไร และแน่นอน ค่าตอบแทนเป็นเท่าไหร่ เรามักไม่ค่อยถามตอนที่สัมภาษณ์ว่า “งานที่ผมจะไปทำ ใครเป็นคนใช้เหรอครับ” หรือ “ลูกค้าจะได้ประโยชน์อะไรจากสิ่งที่บริษัททำอยู่”

การที่เรารู้ว่า impact ของงานที่เราทำอยู่คืออะไร จะช่วยให้เราได้เห็นคุณค่าของตัวเองในงานนั้นๆ และสามารถพัฒนาความสามารถของตัวเอง เพื่อขยาย impact ในงานของเราให้โตขึ้น และแน่นอนว่า Value ของเราในองค์กรก็จะเพิ่มตามไปด้วย

เห็นโอกาสในการเติบโต

Photo by Jeremy Bishop on Unsplash

การเห็นโอกาสในการเติบโต ก็เหมือนกับเราเห็นเส้นทางว่าเราจะเดินไปทางไหนต่อ การทำงานไปวันต่อวัน วนๆ ไปโดยไม่รู้ว่าเราจะเดินไปจบที่ตรงไหน ก็เหมือนกับเราหลงอยู่กลาง Central World เดินไปทางไหนก็ไปโผล่ที่ลิฟท์แก้ว (ตลกไหมนะ)

ตอนเขียนบทความแรกเมื่อ 4 ปีก่อน ผมเคยเขียนไว้ว่า โอกาสในบริษัทเล็กๆ ก็เหมือนกับต้นไม้ที่โตไปแบบไม่มีกล่อง วันนี้ผมจะบอกว่า ต้นไม้จะโตได้ดี ก็ต้องมีทิศทาง และต้นไม้แต่ละต้นก็มีทิศทางโตไม่เหมือนกัน บางคนเป็นไม้ยืนต้น ก็โตตามแนวดิ่ง บางคนเป็นไม้เลื้อย ก็อาจจะโตตามแนวข้าง ไม่ได้มีถูกมีผิด แค่ต้องรู้ตัวเองว่าตัวเองเป็นไม้ประเภทไหน ที่สำคัญคือก็ต้องมีพื้นที่ให้โต และมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม

ในการทำงาน เราก็มักจะเห็นในหลายๆ กรณี ที่คนที่เก่งจากที่หนึ่ง พอย้ายไปอีกที่กลับไม่ได้แสดงความเก่งนั้นออกมา แล้วก็อาจจะจบด้วยการแยกย้ายกันไป ก็ต้องบอกว่าไม่มีอะไรผิด เค้าคนนั้นก็อาจจะเป็นแค่ต้นไม้ที่โตผิดดิน เลยไม่มีโอกาสได้เติบโต

ซึ่งส่วนนี้สำคัญมากเวลาทำงาน เราต้องดูว่าที่ๆ เราทำงานอยู่นั้น เป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เราเติบโตหรือไม่ มีพื้นที่ให้เราเติบโตแค่ไหน บริษัทเองก็ต้องเตรียมพื้นที่และสิ่งแวดล้อมตรงนี้ไว้ ไม่งั้นต้นไม้เมล็ดพันธุ์ดีหลายต้นก็อาจจะไม่มีโอกาสโต หรือต้นไม้ที่มีจำนวนมากและโตเร็วเกินกว่า Resource ที่มีให้ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ก็จะจบที่ต่างคนต่างมีความสัมพันธ์แบบภาวะการแข่งขัน

แต่ใช่ว่าเราเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ผิดดินแล้ว จะไม่สามารถโตได้ ธรรมชาติยังมีวิวัฒนาการเพื่อการอยู่รอด มนุษย์เงินเดือนก็เช่นกัน ถ้าเรามองไม่เห็นโอกาสในการเติบโต แล้วเราไม่อยากย้ายถิ่นฐาน (หรืออาจจะย้ายไม่ได้) เราก็ต้องสร้างโอกาสนั้นขึ้นมาเอง เช่นเดียวกับที่เมื่อ 2 ปีก่อน ผมเคยเขียนไว้ว่า โอกาสเป็นเรื่องของความน่าจะเป็น (ไปตามอ่านกันได้) แต่ปีนี้ผมอยากจะเสริมอีกอย่างหนึ่ง คือ “โอกาสไม่เคยรอความพร้อม”

ในหัวข้อที่เกี่ยวกับหัวหน้าที่ใส่ใจ ผมเล่าไปว่าผมได้เจอหัวหน้าที่เปิดบริษัทใหม่ให้กับลูกน้อง หัวหน้าคนนั้นก็คือพี่ต้า MD ของเรานี่เอง (ไม่ได้ตังมาอวยนะครับ แต่ต้องขอบคุณในโอกาสนี้จริงๆ)

เมื่อปลายปีที่แล้วตอนที่ประชุม Direction ของบริษัท สำหรับปี 2022 พี่ต้าได้กล่าวไว้ ความตอนหนึ่งว่า “และนี่คือ Structure ใหม่ของ Skooldio เดี๋ยวเราจะแยกขา Tech ออกมาเป็น Skooldio Tech แล้วให้นันท์กับเนียร์ไปเป็น GM (General Manager)” ผมก็อึ้งไปสักพัก ไม่ค่อยแน่ใจว่าเข้าใจถูก จากวันนั้นผ่านมาอีก 4 เดือน บริษัท สคูลดิโอ เทค จำกัด ก็ได้เปิดตัว และเริ่มดำเนินกิจการแล้ว ไปใช้บริการกันได้นะครับ

คำถามคือ

ในวันนั้นผมพร้อมรับตำแหน่งนี้ไหม บอกตรงๆเลยว่า

“ไม่พร้อมมมมมม”

ในวันนั้นผมกลัวไหมว่าจะทำออกมาได้ไม่ดี ตอบเลยว่า

“กลัวววววมากกกก”

แล้วสุดท้ายผมตอบรับโอกาสนั้นไหม ก็ต้องบอกเลยว่า

“ก็มาดิคร้าาบ”

เอาจริงๆ หลายๆ โอกาสในชีวิต ก็มักจะเข้ามาในเวลาที่เราไม่พร้อม แล้วเราก็มักจะกังวลด้วยว่า เราจะใช้โอกาสนั้นดีแค่ไหน แต่สุดท้ายสิ่งที่เราทำได้ก็มีแค่ จะคว้าโอกาสนั้นไว้ไหม หรือว่าจะปล่อยมันไปก่อน

เวลาผมเล่าเรื่องโอกาสไม่รอความพร้อมให้ใครฟัง ผมก็มักจะเล่าเรื่องสถานีรถไฟ ที่มีรถไฟที่เรารู้จุดหมายปลายทางเข้ามาจอดเรื่อยๆ ตรงเวลาบ้าง เลทบ้าง หรือบางรอบก็อาจจะรออยู่หลายวัน กว่ารถไฟสายที่เราต้องการไปจะมาถึง แล้ววันดีคืนดี ก็มีรถไฟมาจอด แต่ไม่ไปที่จุดหมายปลายทางของเราโดยตรง แค่ไปในทิศใกล้เคียงกัน คำถามคือ “เราจะขึ้นรถไฟขบวนนั้นไหม”

Photo by Florian van Duyn on Unsplash

ถ้าเราขึ้น ก็มีโอกาสที่มันอาจจะพาเราอ้อมไปหลายที่ ก่อนที่จะไปถึง หรือโชคดี อาจจะเป็นขบวนพิเศษที่มีเส้นทางลัด ไปถึงจุดหมายเราได้ไวขึ้น หรือเราอาจจะไปไม่ถึงจุดหมายของเราเลย แต่ไปจบที่ปลายทางใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่า ซึ่งเราไม่ได้ตั้งใจไว้ตั้งแต่แรก สุดท้าย ณ จุดที่เราตัดสินใจขึ้นรถไฟนั้น เราไม่มีทางรู้อย่างแน่นอน

แต่ที่เรารู้แน่ๆ อย่างหนึ่ง คือถ้าเราไม่ขึ้น เราจะยังอยู่ที่สถานีเดิม รอรถไฟที่เรารู้จุดหมาย แต่ไม่รู้ว่าจะมาจอดเมื่อไหร่ ซึ่งก็ไม่มีใครบอกได้ว่าแบบไหนถูกหรือผิด

ถ้าใครอ่านมาถึงตรงนี้ได้ ก็อยากจะบอกว่า เงินเดือนยังคงเป็นสิ่งสำคัญนะครับ ผมยังยืนยัน เพราะเราทำงานหาเงิน 5555 แต่สิ่งที่ผมเล่าไป ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน อย่าลืมว่าเราต้องเจอกับสิ่งเหล่านี้ ทั้งเรื่องของเพื่อนร่วมงาน, หัวหน้างาน, Impact ของงาน และโอกาสในการเติบโต อยู่ทุกๆ วันในวงจรการทำงาน (ส่วนเงินเดือน เราเจอกับเค้าทุกสิ้นเดือน แล้วเค้าก็มักจะอยู่กับเราไม่นาน หยอกๆ)

สุดท้ายก็อยู่ที่ว่า เรามองหาอะไรในการทำงาน ไปสำรวจตัวเองดูกันนะครับ ว่าสิ่งที่ผมเอามาแบ่งปันในวันนี้ เป็นสิ่งที่คุณมองหาในการทำงานหรือไม่ ถ้าใช่ ก็อยากให้ถามตัวเองต่อว่า งานที่เราทำอยู่ หรืองานที่เราจะไปทำ มีสิ่งที่เรามองหาอยู่หรือเปล่า

--

--

Natthanun Chantanurak
Skooldio

General Manager @ Skooldio Tech, Ex-Data Engineer at agoda, MSc and B.Eng from Com-Eng Chula