เอนหลังหนังสือ : The Art of Thinking Clearly — 52 วิธีคิดให้ได้อย่างเฉียบคม

Nitipat Lowichakornthikun
Sloth Campus
Published in
1 min readSep 17, 2018

หนังสือเล่มนี้เป็นแนวของการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์โดยหลักการทางด้านจิตวิทยาเพื่อเข้าใจว่าเพราะอะไร มนุษย์ สิ่งมีชีวิตที่มีความล้ำที่สุดในโลกนี้บ่อยครั้งที่มีการตัดสินใจลงไปอย่างผิดพลาด ซึ่งหนังสือเล่มนี้จะอธิบายรูปแบบของ “ความผิดพลาดของกระบวนการทางความคิด” (Cognitive Error) โดยยกเป็นเรื่องสั้นประกอบกับหัวข้อของความผิดพลาดของความคิดเราจำนวน 52 เรื่อง แต่ละเรื่องใช้เวลาไม่นานอ่านจบได้ภาย 2–3 นาทีครับ ซึ่งโครงเรื่องของแต่ละบทจะเกริ่นนำมาด้วยเหตุการณ์จำลอง หรือ สถานการณ์จริงที่มีชื่อเสียง จากนั้นมีข้อมูลเชิงลึกของการทดสอบทางจิตวิทยาประกอบ และ การสรุปเนื้อหาในแต่ละตอน ดังนั้นผมเลยแนะนำว่าหนังสือเล่มนี้สามารถอ่านแบบไม่ต่อเนื่องก็ได้ หรือ อาจจะเอาไว้อ่านเล่น ไม่จำเป็นต้องอ่านรวดเดียวจบเพราะเนื้อหาไม่ได้มีความเกี่ยวโยงกันมากนักในแต่ละบท

ผมจะยกตัวอย่างเรื่องที่น่าสนใจภายในหนังสือเล่มนี้น่ะครับ

  • เรามักจะยอมลดความเชื่อของตัวเองลงและเลือกที่จะเชื่อความเห็นของคนหมู่มาก
    คุณจะยอมทำตามความคิดของกลุ่มคนหมู่มากเสมอ ซึ่งสิ่งนี้คือ ความกดดันทางสังคม (Social pressure) เป็นตัวการทำให้เราสามารถบิดเบือนความเชื่อของเราที่มีมาตั้งแต่ตอนแรกได้ ซึ่งมีการทดลองเพื่อพิสูจน์เรื่องนี้โดยให้ผู้ทดสอบเข้ามาในห้องที่มีภาพของเส้นตรง 3 เส้น และ มีเส้นตรง 1 เส้นเป็นต้นฉบับ ให้ผู้ทดสอบเลือกว่าเส้นไหนใน 3 เส้นมีขนาดเท่ากันกับเส้นตรงต้นฉบับนี้ ด้วยความยาวของเส้นที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทำให้เมื่อผู้ทดสอบอยู่เพียงลำพังในตอนแรกสามารถเลือกคำตอบได้ถูกต้องว่าเส้นไหนมีขนาดเท่ากันกับต้นฉบับ แต่จุดเปลี่ยนมันอยู่ตรงที่เมื่อมีการนำเอาหน้าม้าเข้ามาในห้องและหน้าม้าทุกคนต่างถูกเตี๊ยมให้เลือกคำตอบที่ผิด ผลที่ได้ออกมาก็คือผู้ทดสอบยอมที่จะบิดเบือนความเชื่อตนเอง แล้วยอมเลือกคำตอบที่ผิดนั้นไปด้วย นี่คือสิ่งที่ถ้าจะอธิบายก็คงต้องย้อนกลับไปในสมัยที่เรายังเป็นมนุษย์ถ้ำเพราะมันคือความสามารถของเราในการเอาชีวิตรอดเวลาเจอปัญหาตรงหน้า เช่น คุณจะต้องเริ่มวิ่งตามสมาชิกของกลุ่ม เมื่อเห็นทุกคนพยายามวิ่งโดยไม่รู้ว่าพวกเค้าหนีอะไรกัน ซึ่งนี้คือสิ่งที่ยังหลงเหลือมาเป็นตัวเราจนทุกวันนี้
  • ทำไมคนในทีมถึงขี้เกียจจัง
    น่าสนใจมากที่เรามักจะเชื่อว่ายิ่งคนเยอะเท่าไรงานมันต้องเสร็จเร็วแน่นอน แต่บ่อยครั้งจะพบว่าเราคิดผิด มันมีการทดลองมารองรับในเรื่องนี้นั่นก็คือ
    มีการทดลองให้ชาย 2 คนดึงเชือกเส้นนึงด้วยกันโดยลองวัดผลที่ชายทั้ง 2 ออกแรง พบว่าทั้งสองออกแรงเฉลี่ยนที่ 90% ทีนี้ก็ลองเอาคนมาเพิ่มเพื่อช่วยดึงเชือกอีก 1 คน ผลปรากฎว่าแรงที่แต่ละคนออกลดลงเหลือ 85% สุดท้ายเมื่อเพิ่มเป็น 8 คน แรงที่แต่ละคนออกตกอยู่ที่ 49% เท่านั้น เราจะพบว่ายิ่งคนเยอะเราก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะกินแรงทางสังคม (แบบไม่น่าเกลียด เพื่อไม่ให้ตัวเองเดือดร้อน)
    ความน่าสนใจคือมีการวิเคราะห์ว่าการทำงานเป็น “ทีม” มันเริ่มขึ้นได้ยังไงกัน ก็ย้อนกลับไป 30 ปีก่อน ที่โรงงานผลิตของทางฝั่ง ญี่ปุ่น สามารถทำผลผลิตออกมาได้ดีกว่าฝั่งตะวันตกอย่างมาก เหตุผลจากการทำงานเป็นทีม หลายที่นำเอามาใช้แต่ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่าเพราะสิ่งที่เราต่างคือคนญี่ปุ่นนั้นแทบไม่มีปัญหาการกินแรงทางสังคมเลยนั่นเอง ความน่ากลัวของการทำงานเป็นทีมยังมีอีกคือเรามีแนวโน้มจะกล้าทำอะไรเสี่ยง ๆ มากขึ้น เพราะ เวลารับผิดชอบก็มีหลายคนร่วมรับผิดชอบเป็นทีมด้วย

อันนี้คือ 2 เรื่องเท่านั้นที่ผมนำมาเล่าให้ฟัง ในเล่มนี้คุณจะได้พบเจอกับสถานการณ์ที่เราสามารถได้เจอในชีวิตประจำวัน อาทิ การตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า, การเลือกว่าจะลงมือช่วยไหมหรือนิ่งเฉยกับเหตุการณ์ตรงหน้า, การที่เราโกหกตัวเองว่ากำขี้ดีกว่าตดยังไง (แต่มันคือขี้น่ะ) และ อีกหลากหลายเรื่องราวที่นำเอาหลักของการทดลองทางจิตวิทยามาอธิบายหลายอย่างที่เรามองว่าคือสิ่งที่ผิดพลาดนั้น

ความดีงามของหนังสือนี้ก็ต้องขอบคุณผู้เขียนที่นำเอาเรื่องที่อยู่แต่ในงานวิชาการมาเล่าให้กับมุมของผู้อ่านทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ในส่วนของการนำเอาหนังสือเล่มนี้มาแปลเป็นภาษาไทยนั้น ภาษาที่ใช้ของผู้แปลสามารถอ่านได้กระชับ แต่หลายจุดผมอ่านเองแล้วก็ยังมีสะดุด คือรูปแบบของเนื้อหามันเสมือนการแปลแบบบรรทัดต่อบรรทัด ทำให้การอ่านบ้างทีไม่ราบลื่นนัก

สำหรับหนังสือเล่มนี้ผมก็แนะนำว่าให้ทุกคนหามาอ่านดูครับ มันเหมาะมากกับผู้ที่ชอบการได้ขบคิด พยายามที่จะมองหาเหตุผลว่าอะไรคือสาเหตุที่เรามักเลือกตัดสินใจแบบนั้นไป ซึ่งถ้าอ่านแล้วก็สามารถนำเอาเก็บไปไว้ใช้กับตัวเราในชีวิตประจำวันได้กับตนเองและอาชีพของเราได้ในอนาคตเลย ส่วนตัวผมก็ชอบที่ได้มีเรื่องเล่าสนุก ๆ ไว้ใช้ในการทำงานกับทีม

คุณจะไม่ตกหลุมพลางทางความคิดของตัวคุณเอง

--

--