AI กับหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ ที่พระจอมเกล้าลาดกระบัง

Thossakrai Nakkasem
Software Engineering KMITL
3 min readMar 18, 2019

บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับสาขา AI และการเรียน AI ที่พระจอมเกล้าลาดกระบัง

มารู้จักกับประวัติความเป็นมาของสาขา AI กันก่อน

สาขา AI (ย่อมาจาก Artificial Intelligence) เริ่มต้นมาจากการริเริ่มของเหล่าปรมาจารย์ทางด้านคอมพิวเตอร์ในยุคปี 60 ที่ไปร่วมประชุมกันที่ Dartmouth College ในช่วงฤดูร้อนในสหรัฐ ในปี ค.ศ. 1956 เพื่อเสนอแนวคิดใหม่ๆ ที่ทำให้คอมพิวเตอร์มีความสามารถในการแก้ปัญหาเลียนแบบมนุษย์ได้ เช่น การเล่นเกมส์หมากรุก การแก้สมการทางพีชคณิต การสั่งงานหุ่นยนต์ด้วยภาษามนุษย์ การคิดวิเคราะห์โดยอาศัยตรรกศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความสามารถแปลกใหม่และล้ำสมัยอย่างมากในยุคนั้น ซึ่งเรียกได้ว่าไม่มีศาสตร์ใดๆ เลยในยุคนั้นรองรับหรืออธิบายได้ ดังนั้นเหล่าปรมาจารย์ที่มาจากมหาวิทยาลัยและบริษัทชั้นนำในสหรัฐในยุคนั้น ซึ่งมีตั้งแต่ MIT, Stanford, Princeton, Carnegie Mellon, Dartmouth, IBM จึงเห็นพร้องต้องกันว่าควรจะได้มีการตั้งสาขาใหม่ขึ้นมาในศาสตร์ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) และ John McCarthy ก็ได้เสนอให้เรียกสาขาใหม่นี้ว่า “Artificial Intelligence” หรือที่เรารู้จักกันสั้นๆ ว่า “AI” นั่นเอง

แท้ที่จริงแล้วแนวคิดของเครื่องจักรที่สามารถทำงานเลียนแบบความชาญฉลาดของคนได้นั้น ไม่ได้เริ่มมีมาในปี 1956 ที่สหรัฐอเมริกาเป็นที่แรก แต่มีมาก่อนหน้านั้นแล้วที่เมือง Manchester ประเทศอังกฤษ คือในปี 1950 Alan Turing บิดาแห่งศาสตร์คอมพิวเตอร์ ผู้ที่เสนอแนวคิดต้นแบบของเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นคนแรกของโลกที่ได้เสนอแนวคิดที่ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ในอนาคตจะมีความฉลาดเลียนแบบมนุษย์ได้ และได้อธิบายถึงคุณลักษณะดังกล่าวโดยอาศัยการทดสอบที่ชื่อว่า Turing Test ซึ่งเป็นการทดสอบแบบง่ายๆ ที่พวกเราส่วนใหญ่รู้จักและคุ้นเคยกันดีก็คือ เป็นการทดสอบความฉลาดของเครื่องคอมพิวเตอร์โดยการ Chat กัน แบบที่พวกเราใช้กันผ่าน App เช่น Line, WhatsApp ในปัจจุบัน ในสมัยนั้นเขาให้ Chat กันแบบพิมพ์ผ่านทางจอมอนิเตอร์โดยให้มีห้องที่ปิดประตู 2 ห้อง ห้องหนึ่งมีคนอยู่ข้างใน ส่วนอีกห้องมีเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ ผู้ทดสอบอยู่ภายนอกห้องทั้งสอง โดยไม่รู้ว่ามีอะไรอยู่ในห้องไหนบ้าง แต่จะมีเครื่อง Terminal ประกอบด้วยจอภาพและคีย์บอร์ดภายนอกห้องทั้งสอง และผู้ทดสอบสามารถพิมพ์ Chat กับสิ่งที่อยู่ในห้องทั้งสองได้จนกระทั่งพอใจ ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่ผู้ทดสอบภายนอกหลังจาก Chat กับสิ่งที่อยู่ภายในทั้งสองห้องแล้ว ไม่สามารถแยกแยะได้เลยว่าห้องไหนเป็นคนอยู่ ห้องไหนเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่ เมื่อถึงขั้นนั้นแล้ว Turing จะถือว่าเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องนั้นมีความสามารถถึงขั้นเป็น “Machine Intelligence”

Turing Test

ถ้าจะเปรียบเทียบกับในยุคสมัยนี้ Turing Test ก็เปรียบได้กับ การที่เราใช้โปรแกรม Chat จำพวก Line, WhatsApp แล้ว เรา Chat อยู่กับใครสักคน แล้วเรานึกว่า Chat คุยอยู่กับคนๆหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วเราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าแท้จริงแล้ว ผู้ที่เรากำลัง Chat อยู่นั้น เป็นเพียงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตัวหนึ่งที่ปัจจุบันเรียกว่า Chat Bot ก็แสดงว่า Chat Bot ตัวนั้นก็คือ AI นั่นเอง

AI ไม่ใช่แค่เกมส์คอมพิวเตอร์

สาขา AI เป็นสาขาที่นักวิจัยด้านคอมพิวเตอร์ต้องการพัฒนาขีดความสามารถของคอมพิวเตอร์ปัจจุบันให้ถึงขั้นสามารถทำงานได้อย่างมนุษย์หรือเลียนแบบมนุษย์ คือสามารถแก้ไขปัญหายากๆ ที่มนุษย์เท่านั้นที่ทำได้ ดังนั้นจึงไม่ได้จำกัดเฉพาะเจาะจงที่เป็นแค่เกมส์คอมพิวเตอร์เท่านั้น หัวข้อขอบเขตต่างๆ ที่ศึกษาในสาขา AI ได้แก่ Machine Learning, Logical Reasoning, Natural Language Processing, Machine Translation, Computer Game, Expert System, Planning, Intelligent Control, Robotic, Computer Vision, Knowledge Representation, Semantic Web, Big Data Analysis ฯลฯ

แล้วถ้าสนใจ จะเรียน AI ได้ที่ไหนในประเทศไทย? เรียนจบมาแล้วจะทำงานอะไร?

สาขา AI เป็นแขนงย่อยในสาขา Computer Science ซึ่งในหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (หลักสูตรนานาชาติ) ที่พระจอมเกล้าลาดกระบัง เราได้มีการเรียนการสอนสาขา AI นี้ภายใต้ชื่อแขนง “Intelligent Systems” ในหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ที่เราได้ปรับปรุงใหม่และได้เปิดรับนักศึกษาปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้ว และแขนง AI นี้เป็นแขนงใหม่ในหลักสูตร เมื่อนักศึกษาเราเรียนจบในชั้นปี 2 จะขึ้นชั้นปีที่ 3 จะสามารถเลือกเรียนแขนง AI ได้

โดยวิชา AI ที่จะเรียนในชั้นปีที่ 3 ประกอบด้วยวิชาพื้นฐาน

  • Artificial Intelligence
  • Big Data
  • Machine Learning
  • Computational Intelligence
  • Knowledge Representation and Reasoning

และตอนชั้นปีที่ 4 สามารถเลือกเรียนวิชา AI เพิ่มเติมได้ดังนี้

  • Intelligent Agents
  • Semantic Web
  • Natural Language Processing
  • Applied Artificial Intelligence
  • AI Software Project

และที่พิเศษไปกว่านั้นคือ ในปีสุดท้ายน้องๆ จะได้พัฒนาโครงงาน AI สร้างซอฟต์แวร์ AI โดยตัวน้องๆ เองจากความรู้ที่ร่ำเรียนมาตลอด 3 ปี น้องๆ เองอาจจะมีคำถามถามว่า เรียน AI แล้ว จะนำความรู้ไปใช้ทำงานอะไรได้บ้าง ก็ขอตอบว่าความรู้ AI สามารถนำไปใช้พัฒนาซอฟต์แวร์ให้มีความชาญฉลาด และมีอาชีพในการพัฒนาซอฟต์แวร์ดังกล่าว ดังที่เห็นใน search engine ของ Google โปรแกรมพูดคุยกับคนจำพวก Chat Bot โทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ที่สั่งงานด้วยเสียงจำพวก Siri, Cortana, Alexa ระบบนำทางในรถยนต์, ระบบเรียกรถแท็กซี่ เช่น Uber, รถที่ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง, หุ่นยนต์ในโรงงาน, หุ่นยนต์กู้ภัย, Smart Home, เกมส์คอมพิวเตอร์ และอีกมากมาย ซึ่งถ้าใครได้ติดตามข่าวในปัจจุบัน ก็จะเห็นว่าบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ต่างๆ ได้แก่ Facebook, Samsung, Google, Apple, IBM, Microsoft ตอนนี้ต่างก็กำลังหันมาทุ่มทุนอุดหนุนสร้างงานวิจัย AI และซอฟต์แวร์ AI กันถ้วนหน้า ทำให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขั้นสูงในในปัจจุบันมีความต้องการบุคคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้าน AI เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันโดยเฉพาะในประเทศไทยเรา ยังมีผู้ที่เรียนจบมาทางด้านนี้จำนวนน้อยมากๆ

ซึ่งไม่นานจากนี้เราก็จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมการผลิตครั้งสำคัญ เหล่าประเทศอุตสาหกรรมชั้นสูงต่างตั้งเป้าหมายกันไว้ว่าในปี 2020 อุตสาหกรรมของโลกจะเข้าสู่ยุค Industry 4.0 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ในโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ จะปราศจากมนุษย์ จะมีเฉพาะ เครื่องจักร หุ่นยนต์ และ AI เท่านั้น ที่ทำงานทดแทนมนุษย์เกือบทั้งหมด นี่คือการปฏิวัติโลกอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์แห่งมวลมนุษยชาติ และน้องๆ ก็สามารถจะเป็น Disruptor ผู้หนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น

ผู้เขียน ผศ.ดร.วิศิษฏ์ หิรัญกิตติ (ประธานหลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ พระจอมเกล้าลาดกระบัง)

--

--