กทม.กับฝุ่นพิษ PM2.5
สัปดาห์ที่ผ่านมาผมเลิกงานตอนเย็นออกมาวิ่งออกกำลังกาย หายใจรับฝุ่นเข้าไปเต็มคอเพราะต้องอยู่ท่ามกลางฝุ่นพิษของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่เรียกว่า PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ที่สามารถ เข้าสู่ร่างกายทางการหายใจได้ง่ายมาก อาจก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหลอดเลือด หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตก็เป็นได้ สงสารคน กทม.ที่ต้อง ทำมาหากินใช้ชีวิตกลางแจ้ง คงหลีกเลี่ยงการรับฝุ่นพิษได้ยาก จะใส่ผ้าปิดจมูกทุกวันก็คงไม่ค่อยสะดวก เรื่องนี้จึงเป็นหน้าที่ของ กทม.ที่ต้องจัดการแก้ปัญหาให้ได้
นอกจาก กทม.ยังมีหัวเมืองตามภูมิภาคที่มีปัญหามลพิษจากฝุ่นทางอากาศเช่นกัน จังหวัดที่ต้องประสบปัญหาแทบทุกปี คือ จ.เชียงใหม่ เพราะการเผาป่า แต่ที่น่าสนใจ คือ ขอนแก่น ที่เริ่มตรวจสอบพบฝุ่นอันตรายมากขึ้นทุกวัน ข้อมูลจากสถานีตรวจอากาศของ กทม.พบว่า ปริมาณมลพิษทางอากาศจะกระจุกตัวหนาแน่นในเขตที่มีการก่อสร้างโครงการของรัฐและเอกชนทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทั้งสร้างสะพาน สร้างถนน ขุดดินวางท่อ สร้างอาคาร ผนวกกับไอเสียจากสถานการณ์จราจรที่เลวร้ายลงทุกวัน กลายเป็นฝุ่นพิษที่น่ากลัว ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ที่ขอนแก่นที่กำลังมีการก่อสร้างหลายโครงการขึ้นพร้อมๆ กัน แสดงว่าการขยายงานก่อสร้างในเมืองใหญ่น่าจะเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาฝุ่นละออง
แม้ว่าปัจจุบัน กทม.จะมีสถานีตรวจวัดฝุ่นละอองอยู่หลายจุด ทั้งแบบอยู่กับที่ และแบบเคลื่อนที่ได้ แต่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ จึงควรหมั่นตรวจสอบ และรายงานผลเมื่อใกล้ถึงจุดอันตราย ไม่ควรปล่อยปละละเลย โดยเฉพาะควรติดตั้งเพิ่มเติมในพื้นที่เสี่ยง หรือพื้นที่ก่อสร้างหนาแน่น โดยสามารถแสดงผลปริมาณฝุ่นละอองขึ้นจอแอลอีดีขนาดใหญ่ ให้ชาวบ้านที่ต้องผ่านไปผ่านมาในบริเวณนั้นได้เห็นอย่างชัดเจนเพื่อเตือนภัย ทั้งยังเป็นการป้องปรามให้ผู้รับผิดชอบงานก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนได้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น
ขณะที่สวนสาธารณะที่คน กทม.ได้มาเดินเล่น หรือวิ่งออกกำลังกายยามเช้า ยามเย็น ทุกคนก็อยากสูดอากาศบริสุทธิ์ แต่สิ่งที่ได้คือฝุ่นละอองอันตราย ยิ่งออกกำลังกาย ก็ยิ่งสูดอากาศพิษเข้าไปมากขึ้นไปอีก วิธีบรรเทาที่ง่ายที่สุด คือ การฉีดละอองน้ำ ให้จับฝุ่นแล้วตกลงมา ซึ่งปัจจุบันมีพัดลมฉีดละอองน้ำที่สามารถติดตั้งตามทางเดินในสวนสาธารณะได้ง่าย อากาศก็ดีขึ้น อุณหภูมิก็เย็นลงเป็นของแถม อีกทั้งก็ต้องหมั่นฉีดน้ำล้างถนนให้บ่อยครั้งขึ้นเรื่องนี้เป็นการบรรเทาปัญหาให้ดีขึ้นแบบง่ายๆ กทม.ทำได้อยู่แล้ว
ตัวอย่างกรุงปักกิ่งที่เคยเป็นเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงมาก แต่ปัจจุบันยังสามารถลดปัญหานี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการจำกัดรถยนต์ และควบคุมความสะอาดของโครงการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด และยังใช้ฝนเทียมในกรณีที่มีฝุ่นละอองหนาแน่นมาก แต่ปัญหาฝุ่นอันตรายใน กทม.คงไม่ลดลง หากการจราจรยังวิกฤตเหมือนเดิม รถยนต์ก็มีมากขึ้น การก่อสร้างที่มักละเลยผล กระทบต่อสิ่งแวดล้อมก็มีเพิ่มขึ้น
ดังนั้น การบริหารจัดการเมืองด้วยความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ คง เป็นทางออกสุดท้ายที่พอมีอยู่ นอกเหนือจากกฎระเบียบที่เคร่งครัด และการร่วมด้วยช่วยกันของทุกฝ่าย
ชีวิตคนเมืองหนักหนาสาหัสอยู่แล้ว การเจอฝุ่นพิษแบบนี้ ก็เหมือนซ้ำเติมเข้าไปอีก น่าเป็นห่วงคน กทม.จริงๆ
— จบ —
เขียนโดย
พี่เอ้ ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ follow : facebook/suchatvee
Professor/President of KMITL and Eng. Institute of Thailand. Eisenhower Fellow