น้ำท่วม (รอระบาย)

Suchatvee Suwansawat
Suchatvee Suwansawat
2 min readMay 2, 2018
รูปจาก Nation

ปรากฏการณ์วันศุกร์ สิ้นเดือน ฝนตก มารวมกันคราใด ถึงคราวการจราจรต้องมีอันเป็นไปครานั้น และแม้ว่าคนกรุงเทพฯ ต้องทนมาจนชาชิน แต่ก็อดบ่นไม่ได้ เพราะมันทรมานที่ต้องอยู่บนถนนหลายชั่วโมง ปริมาณฝนก็คงไม่น้อยลง เพราะโลกร้อนขึ้น อากาศก็แปรปรวน อนาคตกรุงเทพฯ อาจจมน้ำหายไปก็เป็นได้ หากไม่คิดจะวางแผนแก้ไขอย่างจริงจัง

หลายท่านแชร์ประสบการณ์ความทุกข์แข่งกันว่าใครจะเจอหนักกว่ากัน บ้างก็บ่นว่าฝนตกแป๊บเดียวน้ำก็ท่วมซอยแล้ว มันเกิดอะไรขึ้น หรือทำไมถนนสายหลักทั้งวิภาวดี รัชดา ลาดพร้าว สุขุมวิท ทำไมปล่อยให้น้ำท่วมซ้ำซาก ทั้งที่มีคลองมากมาย ไม่ช่วยระบายน้ำเลยหรือ อุโมงค์ยักษ์ก็มีแล้วทำไมใช้ไม่ได้ มันเกิดอะไรขึ้นกับกรุงเทพมหานครของเรา

การจะมองปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ ให้ขาด ต้องเข้าใจภูมิประเทศ ว่ากรุงเทพฯ เป็นที่ราบลุ่มต่ำ เกิดจากการทับถมของดินปากแม่น้ำเจ้าพระยา ยิ่งในอดีตมีการสูบน้ำใต้ดินอย่างไร้การควบคุม ทำให้แผ่นดินทรุดหนัก ขึ้นอีก ทำให้พื้นที่บางจุดต่ำกว่าระดับน้ำทะเล หลายพื้นที่ก็ต่ำกว่าระดับคลอง และพื้นที่ส่วนใหญ่ เช่น ถนนสุขุมวิท ก็อยู่ต่ำกว่าระดับแม่น้ำเจ้าพระยาถึง 2 เมตร

รูปจาก Nation

นั่นหมายความว่า พอฝนตกน้ำก็จะขังเป็นแอ่ง ต้องใช้เครื่องสูบปั๊มน้ำจากถนนขึ้นสู่คลอง และจากคลองก็ปั๊มขึ้นปล่อยในแม่น้ำเจ้าพระยาตามลำดับ

แต่ปัญหาไม่ใช่แค่เท่านี้ เมื่อเมืองพัฒนาถนนก็ถมสูงขึ้น ท่อระบายน้ำ ของถนนก็สูงกว่าในซอยที่มีอยู่นับพันทั่วกรุง น้ำที่ท่วมซอยจึงไม่ใช่แค่น้ำฝนที่ตกลงมา

ที่หนักกว่าคือน้ำจากท่อระบายน้ำของถนนที่ไหลล้นเข้ามาในซอยที่อยู่ต่ำกว่า สำนักการระบายน้ำดูแลการระบายน้ำในถนน ขณะที่แต่ละเขตต้องดูแลระบายน้ำในซอย เพราะพื้นที่รับผิดชอบต่างกัน

หากฝนตกหนักจนท่วมถนนแล้ว ซอยจะเป็นคลองไปเลย ระบบสูบน้ำก็มักเป็นเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ สูบนิดเดียวน้ำก็ไม่มีสูบแล้ว เพราะน้ำที่อยู่ในซอยมันเป็นแอ่งยาว น้ำขาดช่วง ซอยก็จมน้ำต่อไป

ส่วนอุโมงค์ยักษ์ที่อยู่ในบึงพระรามเก้า น้ำก็มาไม่ถึง ส่วนใหญ่อุโมงค์แห้งน้ำ เพราะน้ำบริเวณรามคำแหงอยู่เป็นแอ่ง ส่งมาไม่ถึงอุโมงค์ก็ไร้ประโยชน์ หลักการดูดี แต่วิธีทำไม่ถูก สุดท้ายน้ำก็ท่วมรอระบายเหมือนเดิม

คลองในกรุงเทพฯ ก็เป็นคลองขุดใช้เพื่อการชลประทาน เพราะในอดีตเราต้องการเก็บน้ำไว้ให้นานที่สุดเพื่อหล่อเลี้ยงไร่นา คลองในกรุงเทพฯ จึงกว้างที่ต้นทางถึง 20 เมตร แต่พอมาชนกับแม่น้ำเจ้าพระยาก็เหลือกว้างไม่กี่เมตร ด้วยจุดประสงค์ให้น้ำอยู่ในคลองให้นานที่สุด ดังนั้นคลองในกรุงเทพฯ จึงไม่ใช่เกิดขึ้นมาเพื่อการระบายน้ำ

แล้วจะแก้ปัญหากันอย่างไร ก็ต้องบริหารเครื่องสูบน้ำกว่า 2,000 เครื่อง เปลี่ยนเป็นระบบอัตโนมัติให้ทำงานประสานกันได้ และการใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียวก็พิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล การจะสูบน้ำออกจากซอยและถนนให้มีประสิทธิภาพจะต้องใช้เครื่องสูบน้ำย่อยกระจายหลายเครื่อง จากท้ายซอยสูบส่งต่อมาเป็นทอดๆ จนถึงปากซอย แล้วทำบ่อพักหรือ “แก้มลิงประจำซอย” เพื่อพักน้ำและรองรับน้ำที่ทะลักจากถนนไม่ให้ไหลเข้าซอย พอฝนหยุดตกจึงสูบน้ำขึ้นสู่ระบบระบายน้ำต่อไป

การแก้ปัญหาน้ำท่วม (รอระบาย) อาจไม่ยากอย่างที่คิด เพราะกรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองเดียวที่ประสบปัญหา ทั้งโตเกียว กัวลาลัมเปอร์ และอัมสเตอร์ดัม ก็เจอหนักกว่าเรา อยู่ที่ว่าเรารู้หรือไม่ว่าจะเริ่มแก้ปัญหากันอย่างไร

คอลัมน์ มองอนาคตไทย: น้ำท่วม (รอระบาย) (มองอนาคตไทย)

โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2561

— จบ —

เขียนโดย
พี่เอ้ ศ.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ follow :
facebook/suchatvee

Professor/President of KMITL and Eng. Institute of Thailand. Eisenhower Fellow

--

--

Suchatvee Suwansawat
Suchatvee Suwansawat

Professor/President of KMITL and Engineer Institute of Thailand | Eisenhower Fellow