ทำไมเราจึงเสนอแนวทางการออกแบบ 2 แนวทาง?

Dittita
SUFFIX.WORKS
Published in
Dec 9, 2021

เสนองานออกแบบอย่างไรก็ไม่ตอบโจทย์แบรนด์เกิดจากอะไร? เรื่องนี้เรามักจะเจอได้กับการทำงานออกแบบทุกประเภทตั้งแต่แคมเปญไปจนถึงการพัฒนาเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ซึ่งปัญหานี้อาจจะเกิดจากความผิดพลาดของนักออกแบบที่ไม่สามารถออกแบบมาให้ตรงตามมาตรฐานของแบรนด์ได้ ไม่สามารถอธิบายได้ว่าการออกแบบนี้แก้ไขปัญหาอะไร หรือกระทั่งการมองเห็นโจทย์ที่ไม่เหมือนกัน

เราสามารถแก้ไขได้โดยการทำความเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร สิ่งที่ออกแบบจะแก้ปัญหาธุรกิจได้อย่างไร และสร้างทางเลือกและแนวทางให้เหมาะสม

สื่อสารเพื่อให้เข้าใจปัญหาและสร้างแนวทางในการออกแบบ

แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่เองก็รู้ว่าทุกการทำงาน เราจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาเราถึงจะออกแบบเพื่อแก้ปัญหาได้ ซึ่งการทำความเข้าใจปัญหา เราจำเป็นต้องได้ข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อประเมิน วางแผน และหาวิธีหรือแนวทางการแก้ปัญหา

ซึ่งแนวทางการทำงานของ SUFFIX จึงพยายามที่จะสื่อสารและสอบถามข้อมูลกับลูกค้าให้มากที่สุดเพื่อรับรู้ข้อมูล ปัญหา โจทย์ ให้ครบทุกมุมมองเพื่อลดความไม่เข้าใจในการทำงาน

หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ทีมออกแบบจะนำข้อมูลมาต่อยอดในการวิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ในแนวทางการออกแบบต่างๆ ที่ทางแบรนด์หรือธุรกิจสามารถทำได้ทั้งในด้านระบบ (Technical) และการตลาด (Marketing)

การกำหนดแนวทางการออกแบบ (Design Direction) จะช่วยให้การพัฒนางานออกแบบง่ายขึ้นสำหรับแบรนด์หรือธุรกิจที่มีทีมงาน หน่วยงาน และขั้นตอนซับซ้อน เช่น งานหนึ่งงานต้องใช้การตัดสินใจร่วมกันหลายหน่วยงาน

ทำไมเราจึงไม่นำเสนองานออกแบบ 1 แนวทาง หรือ 3 แนวทาง

การเสนองานออกแบบ 1 แนวทางแล้วปรับไปเรื่อยๆ บางครั้งทำให้รูปแบบงานที่ออกมาเป็นผลลัพธ์อาจไม่ตรงกับแนวทางที่วางแผนไว้ตั้งแต่ต้น

และการเสนองานออกแบบ 3 แนวทางส่วนใหญ่แล้วจะเป็นแนวทางที่ทำตามโจทย์ของแบรนด์หรือธุรกิจ แนวทางที่เป็นไปได้ และแนวทางที่มีทัศนคติส่วนตัวของนักออกแบบ ซึ่งอาจจะเกินความจำเป็นและทำให้เกิดความสับสนได้

การเสนอแนวทางการออกแบบ 2 แนวทาง

SUFFIX เลือกการนำเสนองานออกแบบเป็น 2 ทางคือ

  1. แนวทางการออกแบบที่เป็นไปตามมาตรฐานของอุตสาหกรรมของแบรนด์หรือธุรกิจนั้นๆ
  2. แนวทางการออกแบบที่เป็นไปได้ และสร้างความแตกต่างให้แบรนด์หรือธุรกิจนั้นๆ

ในส่วนของการทำงานออกแบบ สิ่งที่ท้าทายนอกจากวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับมาคือการเลือกแนวทางออกแบบ ถึงแม้ว่าแบรนด์หรือธุรกิจจะมีการกำหนดแนวทางการออกแบบ ไม่ว่าจะเป็น Corporate Identity Guideline หรือ Brand Bible แต่การออกแบบจะต้องพัฒนาจากพื้นฐานของแบรนด์หรือธุรกิจนั้นๆ และต้องสามารถปรับใช้ได้กับสื่อต่างๆ รวมถึงสื่อสารเนื้อหาได้ครบถ้วน โดยยังคงมีองค์ประกอบสำคัญไม่ว่าจะเป็น เรื่องของสี ตัวอักษร รูปภาพ หรือกระทั่งกราฟฟิกที่เป็นองค์ประกอบของแบรนด์หรือธุรกิจนั้น

เมื่อแนวทางของการออกแบบชัดเจนแล้ว การพัฒนาต่อยอดในอนาคตสำหรับแบรนด์หรือธุรกิจก็จะทำได้ง่ายขึ้น

--

--