Long-form Content สำคัญอย่างไรกับธุรกิจของคุณ

Jarupong Jarana
SUFFIX.WORKS
Published in
2 min readOct 29, 2021

ในการทำการตลาดหากแบรนด์หรือธุรกิจต้องการจะสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายด้วยวัตถุประสงค์ต่างๆ เนื้อหาหรือคอนเทนต์ถือเป็นสิ่งสำคัญในการทำการตลาด โดยหลายคนอาจจะเคยได้ยินวลีที่ว่า “Content is King” กันบ่อยครั้ง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคอนเทนต์เป็นหัวใจสำคัญในการทำการตลาด แต่คอนเทนต์รูปแบบไหนที่มีประสิทธิภาพและสร้างผลลัพธ์ที่ดี วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับพลังและความสำคัญของ Long-form Content พร้อมกับคำตอบว่าเครื่องมือทางการตลาดนี้เหมาะกับธุรกิจประเภทไหนมากที่สุด

Long-form Content คืออะไร?

ถ้าให้นิยามในแบบสั้นๆ คือ เนื้อหาที่มีความยาว มีการนำเสนอข้อมูลจำนวนมากหรือข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้ผู้รับสารหรือผู้อ่านได้ทำความเข้าใจได้อย่างครบถ้วน ซึ่งความยาวของเนื้อหาจะอยู่ที่ 700–2,000 คำขึ้นไป แต่จากประสบการณ์ของ SUFFIX พบว่าเนื้อหาในรูปแบบบทความที่ได้ผลดีมักจะมีความยาวอยู่ที่ 800–1,200 คำขึ้นไป (เหมือนบทความนี้ที่คุณอ่านอยู่) ซึ่งถึงแม้ว่า Long-form Content จะไม่ได้หมายถึงบทความเพียงอย่างเดียว แต่เราอยากโฟกัสไปที่การสร้างสรรค์เนื้อหาในรูปแบบตัวอักษรเพื่อให้เข้าใจง่าย เพราะสมมติหากคุณอยากจะสร้างเนื้อหาวิดีโอในรูปแบบ Long-form ที่เป็นการอธิบายเชิงแนะนำหรือ tutorial ก็ต้องเริ่มจากการเขียนเนื้อหาหรือสคริปต์ในรูปแบบตัวอักษรก่อนนำไปผลิตเป็นเนื้อหารูปแบบวิดีโอ

Long-form vs. Short-form Content ต่างกันอย่างไร?

อาจเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า Long-form Content คือการทานอาหารมื้อหลัก ส่วน Short-form Content คือการทานขนมหรือของว่าง ซึ่งหากวัดกันที่ความยาวของเนื้อหา Short-form Content จะอยู่ที่ 400–600 คำ โดยส่วนมากจะมาพร้อมกับข้อความเพียงประเด็นเดียว และสามารถอ่านคร่าวๆ ได้ ซึ่งเนื้อหามักจะอยู่ในรูปแบบของ Infographic, ข่าว, คอนเทนต์บน Social Media ต่างๆ

โดยทั้ง Short-form และ Long-form Content จะให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการสร้างสรรค์เนื้อหาที่สอดคล้องกับรูปแบบนั้นๆ หรือช่องทางในการนำเสนอเนื้อหา แต่ Long-form Content จะมีประสิทธิภาพดีกว่าในด้านเหล่านี้

เว็บไซต์ของคุณจะหาเจอง่ายเพราะ Search Engines ถูกใจ Long-form Content

ข้อดีของ Long-form Content คือมีผลสำคัญต่อการทำ SEO (Search Engine Marketing) เพราะจำนวนของคำในบทความจะส่งผลให้เว็บไซต์ของคุณติดอันดับการค้นหา หรือ SERPs (Search Engine Results) ได้ง่ายขึ้น เพราะ Search Engines เช่น Google จะให้ความสำคัญกับบริบทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเป็นต้นฉบับ, ลิงก์จากเว็บไซต์อื่นที่เชื่อมต่อกลับมายังเว็บไซต์ของเรา (Backlinks) ที่อาจหมายความว่าเนื้อหานั้นมีประโยชน์, การเชื่อมโยงไปยังเนื้อหาอื่นๆ บนเว็บไซต์ของเรา ซึ่งก็คือการมีโครงสร้างเว็บไซต์ที่ดี, การใช้ Keywords ที่สอดคล้องกับเนื้อหาของบทความ และการประเมินระยะเวลาที่ผู้เข้ามาอ่านเว็บไซต์ในหน้านั้น ถ้าใช้เวลาอ่านนานอาจหมายความว่าเนื้อหานั้นดี โดยทั้งหมดนี้เป็นบริบทที่ Search Engines ใช้เป็นจุดวัดคุณภาพของเว็บไซต์ ซึ่งต้องประกอบด้วยหลายองค์ประกอบทั้งการออกแบบและการพัฒนาเว็บไซต์ แต่ถ้าหากพูดถึงเฉพาะในแง่ของการสร้างเนื้อหา Long-form Content สามารถทำได้ดีกว่า Short-form Content

ยกตัวอย่างเช่น
ลูกค้าในอุตสาหกรรมแฟชั่นต้องการให้คนที่ค้นหาสินค้าประเภทเสื้อยืดแล้วเจอเว็บไซต์ของแบรนด์ (E-commerce Website) ในกรณีนี้เราจึงแนะนำให้สร้างบล็อกบนเว็บไซต์และผลิต Long-form Content โดยใช้ Keywords จากคำว่า “เสื้อยืด” และคำใกล้เคียงที่มีจำนวนค้นหาค่อนข้างสูงบน Search Engines มีการวางกลยุทธ์โดยใช้หัวข้อที่เชื่อมโยงกับเรื่องของแฟชั่น, ไอเดียสไตล์การแต่งตัว และเคล็ดลับการดูแลรักษาเสื้อผ้า รวมถึงมี Call-to-action ให้สามารถสั่งซื้อสินค้าที่เกี่ยวข้องได้ทันทีในส่วนท้ายของบทความ ซึ่งผลลัพธ์ในแง่ของสถิติการเข้าชมเว็บไซต์และอันดับการค้นหาบน Search Engines ออกมาค่อนข้างดี

สร้างความน่าเชื่อถือและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น

Long-form Content จะช่วยให้แบรนด์หรือธุรกิจของคุณมีความเป็นมืออาชีพและดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น ด้วยการนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจและข้อมูลเชิงลึกโดยเฉพาะการนำเสนอหัวข้อที่แสดงความเป็นผู้นำทางความคิด (Thought Leadership) จะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น และอาจเปลี่ยนให้กลุ่มคนเหล่านั้นมาสนใจและติดตามแบรนด์หรือธุรกิจของคุณได้

Long-form Content ทำให้เนื้อหาสร้างประโยชน์เหนือกาลเวลา

“ไม่ใช่แค่ Long-form แต่ต้องเป็น Content ที่มีคุณภาพ”

แน่นอนว่าความยาวของเนื้อหามีผลแต่ต้องมีคุณภาพด้วย โดยต้องนำเสนอข้อมูลที่มีประโยชน์ มีความถูกต้อง ซึ่งการสร้างสรรค์เนื้อหาในรูปแบบยาวที่มีคุณภาพจะทำให้บทความนั้นๆ อยู่ได้นานไม่ว่าจะเผยแพร่ตอนไหน ยิ่งถ้าอยู่บนแพลตฟอร์มที่รองรับ Search Engines เช่น เว็บไซต์ ยิ่งทำให้เนื้อหานั้นสร้างประโยชน์ได้ยาวนานกว่า เทียบกับเนื้อหาบน Social Media ที่มีอายุค่อนข้างสั้น และจมหายไปอย่างรวดเร็วด้วยเนื้อหาใหม่ๆ ที่เพิ่มเข้ามาในแต่ละวัน

ข้อเสียของ Long-form Content

พูดถึงข้อดีกันมาพอสมควรแล้ว ลองมาดูข้อเสียของ Long-form Content กันดูบ้าง โดยข้อเสียหลักๆ เลยก็คือ ใช้เวลานานและเห็นผลช้า เพราะต้องใช้เวลาและทรัพยากรมากขึ้นในการสร้างสรรค์ Long-form Content ไม่ว่าจะเป็นการ Research, การวางกลยุทธ์, การสร้างวัตถุดิบต่างๆ และการวัดผล
ในอีกกรณีอาจส่งผลในเรื่องของอัตรา Conversion ในกลุ่มเป้าหมายบางกลุ่มที่รู้สึกว่าข้อมูลใน Long-form Content ไม่ตรงกับความเข้าใจเดิมที่มีต่อสินค้าหรือบริการนั้นๆ ทำให้ไม่อยากทดลองใช้หรือเลิกสนใจไป

อย่างไรก็ตามหากมีการวางแผนและวางกลยุทธ์ที่แข็งแรง มีความสอดคล้องกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ Long-form Content จะถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าและให้ผลลัพธ์ที่ดีแน่นอน

Long-form Content เหมาะกับธุรกิจประเภทไหน?

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า Long-form Content เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือสำหรับการทำการตลาดด้วยเนื้อหา (Content Marketing) ซึ่งมีความสำคัญกับธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า Long-form Content นั้นค่อนข้างเป็นเครื่องมือที่เหมาะกับการทำการตลาดแบบดึงดูดหรือ Inbound Marketing ที่เน้นให้กลุ่มเป้าหมายค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ ซึ่งหากธุรกิจของคุณเป็นรูปแบบ B2B (Business to Business) ที่ต้องใช้ทั้งเวลาและเหตุผลในการตัดสินใจ การนำเสนอ Long-form Content จะสามารถช่วยในเรื่องความสัมพันธ์กับลูกค้าและความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจของคุณได้ดี

แต่จากประสบการณ์ของเราในบางกรณีธุรกิจประเภท B2C (Business to Customer) ก็มีผลลัพธ์ที่ดีได้จากการทำ Long-form Content หากมีการวางแผนและการวางกลยุทธ์ที่ดี และสอดคล้องกับ Customer Jouney ที่ถูกช่วงเวลา เช่น ธุรกิจประเภทอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงและไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที ต้องมีการเยี่ยมชมโครงการหรือเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียกับที่อื่นๆ การทำ Long-form Content อาจเป็นบทวิเคราะห์โครงการหรือให้ความรู้ด้านการเงินเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ ก็อาจช่วยเปลี่ยนจากผู้ที่สนใจให้กลายเป็นลูกค้าได้

ธุรกิจที่กำลังมองหากลยุทธ์เพื่อทำการตลาดด้วยวิธีที่ต่างออกไป อาจจะต้องให้ความสำคัญกับ Long-form Content เพราะธุรกิจของคุณอาจกำลังต้องการเครื่องมือทางการตลาดรูปแบบนี้อยู่ก็ได้

--

--