AI ในอนิเมะ/หนัง จะเป็นจริงได้มั้ยนะ?

Ananya Kuasakunrungroj (Ice)
Super AI Engineer
Published in
3 min readJan 24, 2021
เมืองแห่งอนาคตที่ถูกควบคุมด้วยAI จากเรื่อง psycho pass

ภาพความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จินตนาการ ความคาดหวังหรือแม้กระทั่งความกังวลต่อนวัตกรรมต่างๆในอนาคตต่างๆเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับอุตสาหกรรมความบันเทิงทั่วโลกมาโดยตลอด ไม่ว่าจะในภาพยนตร์ ละคร อนิเมชั่น หรือ แม้กระทั่งวรรณกรรมต่างๆ เมื่อเรื่องราวในนั้นเกี่ยวข้องกับโลกอนาคต เรื่องของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก็แทบจะกลายเป็นมาตรฐานที่ต้องมีอยู่ในแทบทุกเรื่อง

“Artificial Intelligent” หรือที่เราเรียกกันสั้นๆจนคุ้นหูว่า “AI” ก็เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เป็นพื้นฐานการดำเนินเรื่องในเรื่องราวต่างๆมากมาย มาในรูปแบบ และ ชื่อเรียกที่หลากหลายต่างกันไปตามจินตนาการของผู้เขียน

ด้วยความที่ส่วนตัวกำลังเข้าร่วมโครงการที่ร่วมผู้สนใจด้านการพัฒนาAI อย่างโครการ “Super AI Engineer” เลยอยากลองวิเคราะห์เรื่องความเป็นไปได้ของAIในสื่อต่างๆเหล่านี้ที่เราเห็นมาตั้งแต่เด็กดูค่ะ ในบทความนี้จะขอไม่พูดถึงเรื่องข้อถกเถียงอย่างAIมีจิตใจมั้ย AIจะทำร้ายมนุษย์มั้ย หรือ สิ่งนี้ใช้ AI มั้ยหรือเป็นสิ่งมีชีวิต แต่วันนี้เราจะมาพูดถึงมุมมองในฝั่งของการพัฒนาว่า AI ต่างๆในหนังในอนิเมะมันจะพอที่จะสร้างขึ้นมาจริงๆได้มั้ยนะ และถ้าจะสร้างจริงๆเราต้องพัฒนาเทคโนโลยีใดขึ้นมาบ้าง กันค่ะ

รวมรูปตัวละครAIยอดนิยม

รูปแบบของของAIในอนิเมะ/ภาพยนตร์ มีด้วยกันหลายรูปแบบมากก็จริงแต่ถ้าเราลองจัดกลุ่มดูจะพบว่า จะมีอยู่ทั้งหมด 4 ประเภทหลักๆ เรียงตามสเกลความใหญ่ของระบบ คือ

  1. CHARACTER AI
  2. ROBOT AI
  3. PRIVATE SYSTEM AI
  4. PUBLIC AI

ซึ่งแต่ละรูปแบบก็จะมีเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อการพัฒนาให้เกิดขึ้นจริงได้ต่างกันไปค่ะ

CHARACTER AI

เป็นรูปแบบที่พบบ่อยในหนังหรืออนิเมะที่พูดถึงเกมล้ำยุคต่างๆมักมาพร้อมกับข้อถกเถียงว่าตัวละครเหล่านี้เป็นสิ่งมีชีวิตในต่างโลกหรือเป็นเพียงกลุ่มข้อมูล เป็นเพียง AI เท่านั้น

AI ในกลุ่มนี้เป็นรูปแบบที่ต่อยอดมาจากกลุ่ม game AI อย่าง NPC ในเกมต่างๆรวมถึงบอทในเกม ถ้าพูดในเชิงความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่พอจะทำให้เกิดขึ้นจริงได้มากที่สุดด้วยเทคโนโลยี NPC สามมิติในเกมต่างๆที่นับวันยิ่งสมจริงขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าจะทำให้เป็นธรรมชาติเหมือนมีชีวิตจริงๆจัดว่าเป็นกลุ่มที่เป็นจริงได้ยากที่สุดต้องใช้ความรู้เรื่อง Habit intelligence สูงที่สุด หากจะให้มีรูปแบบการสนทนาและการแสดงออกใกล้เคียงกับมนุษย์ นอกจากความรู้เรื่อง control และ computer graphic ที่ต้องพัฒนาต่อยอดจากตัว game AIเดิมแล้ว ยังต้องการความรู้ทางเทคโลยีด้าน Natural language processing (NLP) ในภาษาต่างๆ ด้าน Screen/Situation understanding และ ด้าน Habit intelligence สูงที่สุด เพราะหากขาดเรื่องใดเรื่องนึงไปคนจะรู้สึกได้อย่างรวดเร็วว่าบทสนทนานั้นมันไม่สมเหตุสมผลนั้นเอง ในสามด้านข้างต้นส่วนที่ยากที่สุดน่าจะเป็น Habit intelligence ถึงขนาดที่มีคนกล่าวกันว่าเรื่องนี้จะเป็น AI winter ครั้งต่อไปในวงการพัฒนาเรื่องAI กันเลยทีเดียว อย่างไรก็ตามหากใครสนใจอ่านเรื่องHabit Intelligenceก็มี Paperทางวิชาการที่น่าสนใจและพึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคม ปี 2020 อยู่ชื่อว่า Agents of Habit: Refining the Artificial Life Route to Artificial Intelligence เขียนโดย Susana Ramírez-Vizcaya จัดว่าเป็นเรื่องที่ใหม่และน่าสนใจมากทีเดียวค่ะ

ภาพจากเรื่อง Itai no wa Iya nano de น้องโล่สายแทงค์ แกร่งเกินร้อย ตอนที่7 ตัวเอกของเรื่องพบว่าAIในเกมพูดไม่สอดคล้องกับสถานการ์ณที่เจอเนื่องจากAIไม่มีทักษะด้านsituation understanding แม้จะหน้าตาใกล้เคียงมนุษย์มากก็ตาม

ROBOT AI

ถ้าพูดถึงเทคโนโลยีล้ำยุคหุ่นยนต์คงจัดได้ว่าเป็นส่วนนึงที่ขาดไม่ได้เลยทีเดียว ตั้งแต่เด็กมาเราก็โตมากับภาพของหุ่นยนต์แมวไม่มีหูสีฟ้าจากโลกอนาคต โตขึ้นมาหน่อยก็เจอกับหุ่นยนต์สุดโหดที่จะมาตามล่าคนในภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Terminator ก็ดี X-men ก็ดี หรือหนุ่มๆบางคนอาจจะเคยฝันถึงการมีหุ่นยนต์คอมพิวเตอร์สาวสักคนแบบในเรื่องchobitsมาเป็น personal computer ของตัวเอง

แน่นอนว่าหุ่นยนต์ธรรมดาอาจจะไม่ได้มีส่วนของ AI ในการควบคุมแต่เมื่อพูดถึงหุ่นยนต์จากโลกอนาคตเรามักจะคาดหวังให้มันเป็น Artificially Intelligent Robots ที่ถูกควบคุมโดย AI อีกที ในส่วนของการ control ให้การขยับต่างๆเป็นธรรมชาติเรายังต้องศึกษาการ control ให้ละเอียดขึ้น และนั้นก็เป็นหัวข้อที่มีการวิจัยอยู่ทั่วโลกทั้งจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานรัฐ หรือแม้กระทั่งบริษัทเอกชนอย่าง Boston dynamic หรือ เจ้าของหุ่นยต์ชื่อดังอาซิโม่ หุ่นยนต์ฮิวมานอยด์อัตโนมัติตัวแรกที่สามารถเดินและขึ้นบันไดได้ด้วยตัวเอง ( ปิดตัวโครงการแล้วในปี 2018 ) อย่างฮอนด้า แต่นอกจากเรื่อง control แล้ว หุ่นยนต์ในระดับนี้ยังต้องมีการพัฒนา AI ที่เป็น Operating Systemในการเรียกใช้ระบบอื่นๆรวมถึงการบูรณาการกับ AI ด้านอื่นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้หุ่นยนต์อย่างเช่น Image processing ที่จะกลายมาเป็นตาของหุ่นยนต์ และ Natural language processing (NLP) ที่จะทำให้หุ่นยนต์รับคำสั่งหรือพูดคุยกับมนุษย์ได้โดยตรงนั้นเอง

แม้จะยังมีจุดที่ต้องพัฒนาอีกมากแต่ในเชิงความเป็นไปได้แล้วการพัฒนา AI ประเภทนี้ยังคงพัฒนาขึ้นเรื่อยๆและใกล้ความจริงขึ้นทุกวันนับจากอาซิโมเมื่อหลายปีก่อน
ทุกวันนี้เจ้าหุ่นยนต์ต้อนรับอย่าง pepper ก็ปรากฎตัวตามห้างร้านต่างๆมากขึ้นเรื่อยๆ หุ่นยนต์ที่ฉลาดขึ้น ใกล้เคียงมนุษย์มากขึ้นถูกพัฒนากันขึ้นมาอย่างต่อเนื่องและเข้ามาชีวิตเรามากขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งโรงแรมแห่งนึงในญี่ปุ่นสามารถใช้หุ่นยนต์เป็นพนักงานต้อนรับในโรงแรมได้แล้ว ความฝันถึงหุ่นยนต์ในภาพยนตร์/อนิเมะ คงจะเป็นไปได้ในอนาคตอันใกล้นี้ถ้านักพัฒนายังได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐและเอกชนเช่นนี้ต่อไป

หุ่นยนต์จริงที่มนุษย์สามารถพัฒนาขึ้นมาได้แล้วในปัจจุบัน

PRIVATE SYSTEM AI

ตั้งแต่ภาพยนตร์ดังจาก Marvel comic อย่าง Iron man ออกฉายไม่มากก็น้อยหลายคนก็คงจะมีความคิดอย่าง อยากมี J.A.R.V.I.S เป็นของตัวเองจังเลย

J.A.R.V.I.S จัดเป็นตัวอย่างที่ดีของAIในกลุ่มนี้คือจะทำหน้าที่เป็น personal assistant สำหรับผู้ใช้งานเป็นหลักมีแค่คนที่ได้รับสิทธิ์ถึงจะสามารถ AI ส่วนบุคคลนั้นๆได้ ตัวตนของ AI รูปแบบนี้จะทำตัวเป็นเหมือน user interface หรือ operating system ที่จะช่วยในการเรียกใช้ระบบอื่นๆหรือสั่งงานอุปกรณ์/หุ่นยนตร์ในระบบต่อไป ส่วนสำคัญที่สุดที่ขาดไม่ได้เลยคงหนีไม้พ้น AI ทาง Natural language processing (NLP) ที่จะเป็นส่วนหลักในการทำงานเพื่อรับคำสั่งไปเรียกใช้ sub system อื่นๆ ควบคุมสิ่งของต่างๆใน network หรือหา/เก็บข้อมูลร่วมกับ network ต่อไป แน่นอนว่าเนื่องจากการทำตัวเป็นตัวกลางนี้เองเรื่องของ network ก็เป็นอีกส่วนที่สำคัญที่จะทำให้ AI รูปแบบนี้สามารถพัฒนาขึ้นได้

อีกส่วนคือรูปแบบการเรียนรู้ AI ในกลุ่มนี้จะเต็มไปด้วยข้อจำกัดหากเราพัฒนาด้วยวิธีการ supervised หรือ unsupervised เพียงอย่างเดียวหรือพัฒนาจากข้อมูลที่ไม่มากพอ reinforcement learning และข้อมูลสถานการ์ณที่มากพอส่งผลอย่างยิ่งถึงประสิทธิภาพการทำงานของ AI ในรูปแบบนี้ที่เราจะพัฒนาได้ แต่เมื่อพูดถึงความเป็นไปได้แล้ว AI ในกลุ่มนี้ก็จัดว่าพัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อย่าง microsoft , amazon , apple , google และ facebook ต่างแข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบนี้มาขายแข่งกันและพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆจากการแข่งขันทางการค้านี้และคงเติบโตต่อไปมากขึ้นเรื่อยๆในอนาคต

PUBLIC AI

สมองกลคุมเมืองคงเป็นคำที่อธิบายภาพลักษณ์ของAIในกลุ่มนี้ได้ชัดเจนที่สุด ระบบนี้จะมีความใกล้เคียงกับ AI กลุ่ม Private system AI ก่อนหน้านี้คือจะทำตัวเป็น operating system คอนโทรล sub-system ต่างๆต่อไปแต่ต่างกันตรงที่ PUBLIC AI จะสเกลใหญ่กว่ามากควบคุมทุกส่วนรวมถึงอาจมี Private system AI หลายๆตัว เป็น sub-systemของตัวเองอีกทีก็ได้

AI กลุ่มนี้จะไม่เน้นการปฎฺิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานหรือสิ่งแวดล้อมแต่จะทำหน้าที่ประมวลผลข้อมูลภาพรวมที่ได้จาก sub-system ต่างๆ ส่งต่อผลการตัดสินใจหรือส่งต่อข้อมูลจาก sub-system ต่างๆ หากัน ในสายตามนุษย์ส่วนใหญ่ AI กลุ่มนี้น่ากลัวที่สุดแต่ก็มีประโยชน์สูงน่าสนใจจนน่ากลัวเช่นกัน มันคือการสร้าง Smart city ที่จะเข้ามาช่วยในจัดการภาพรวมของเมืองได้ทั้งเมือง ทั้งประเทศ หรือแม้กระทั่งทั้งโลก แต่ด้วยความที่อำนาจการจัดการของมันจะเด็ดขาดมากๆหากมีข้อผิดพลาดมันหมายถึงการที่มันจะกลายเป็นความโหดร้ายในรูปแบบของเผด็จการจากระบบได้เลยทีเดียว

AI กลุ่มนี้ในแง่ของทั้งทางเทคโนโลยีที่ต้องใช้และการยอมรับจากมนุษย์ที่จะต้องให้ privacy ของตัวเองให้ AI กลายมาเป็นผู้ควบคุม มีความเป็นไปได้ต่ำมากที่จะสามารถพัฒนาขึ้นมาใช้ในโลกแห่งความจริง แต่ก็มีการพัฒนาที่น่าสนใจในบางแง่มุมเช่นกัน อาธิ การเชื่อมต่อโครงข่าย internet of things ภายในเมืองเพื่อช่วยจัดการการจราจรหรือขนส่งสาธารณะ ที่จัดเป็น sub-system ตัวนึง ของ AI ในกลุ่มนี้ก็มีการศึกษาอย่างกว้างขว้างทั่วโลก

ประเทศที่ในปัจจุบันเข้าใกล้การพัฒนาAIกลุ่มนี้มากที่สุดในปัจจุบันคือประเทศจีน อ้างอิงจากข่าวของ www.iflscience.com เมืองหางโจว ประเทศจีน กำลังร่วมกับทางบริษัท Alibaba และบริษัท Foxconn ในการทดลองระบบ “City Brain” project ซึ่งจะทำการติดตามทุกคนในเมืองทั้งการใช้งาน social network การใช้จ่าย รูปแบบการเคลื่อนไหวและรูปแบบการเดินทาง แล้วส่งข้อมูลไปประมวลผลใน online database แบบ real time พร้อมกันนั้น AI ตัวนี้จะทำการจัดการระบบจัดการน้ำ และ การจราจรภายในเมือง นอกจากนี้ระบบยังเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือของคนในเมืองและสามารถแจ้งข้อมูลทั้งเรื่องของการจราจร และสภาพอากาศรวมถึงประกาศแจ้งเตือนต่างๆจากทางเมืองแบบ realtime อีกด้วย ซึ่งจากผลการทดลองที่สามารถลดทั้งอัตราการเกิดปัญหาทางจราจร อัตราการเกิดอุบัติเหตุ และอัตราการเกิดอาชญากรรมในเมืองลงได้ ทำให้คาดการ์ณกันว่าอาจจะมีการนำระบบนี้ไปใช้กับที่อื่นๆในจีนต่อไป ซึ่งส่วนตัวคาดว่ามีความเป็นไปได้ที่ทางการจีนอาจนำ Social credit system ที่ใช้ดูแลความประพฤติของคนในประเทศมาประยุกต์กับระบบนี้ต่อไปในอนาคตก็เป็นได้ ซึ่งก็คงมีทั้งข้อดีข้อเสียที่คงต้องทำการศึกษากันต่อไปในอนาคต

ภาพ เมืองหางโจวที่เป็นสถานที่ทดลองระบบ “City Brain” project รูปจาก https://www.goodtime-edu.com/hangzhou-362736343591365035923623.html

สุดท้ายไม่ว่าจะAIในหนัง/อนิเมะรูปแบบใดล้วนเกิดจากจินตนาการของผู้คน จะเป็นจริงได้หรือไม่ได้ก็มีแต่ผู้คนจะต้องเป็นคนสร้างมันขึ้นมา ศึกษามัน พัฒนามัน เลือกจะใช้หรือไม่ใช้มันโลกในอนาคตจะเป็นแบบไหนเราทุกคนเป็นคนตัดสิน ขอบคุณทุกคนที่ให้ความสนใจอ่านบทความนี้จนจบ นี้คือบทความแรกที่ได้ลองเขียนเลยค่ะ หากมีข้อมูลใดผิดพลาดหรือตกหล่นไปก็ขออภัยมา ณ.ที่นี้ด้วยค่ะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและศึกษากับทุกคนในเรื่องนี้ต่อไป เรามาสร้างอนาคตของโลกใบนี้ไปด้วยกันนะคะ

ยินดีที่ได้รู้จัก ขอบคุณ และ สวัสดีค่ะ

อนัญญา เกื้อสกุลรุ่งโรจน์ ( Ice)

--

--