Me in front of the main congress in Davos with Thai Flag

สรุป World Economic Forum 2024 ใน 4 นาที

Kid Parchariyanon
Superchai
Published in
4 min readJan 21, 2024

--

ผมได้มีโอกาสไปเยือนเมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่วันที่ 14 — 19 มกราคมที่ผ่านมา เลยขอสรุปที่สิ่งได้เรียนรู้มาฝากกัน

World Economic Forum หรือ WEF คืออะไร? WEF คือการประชุมผู้นำทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ก่อตั้งโดย Klaus Schwab เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร และ WEF ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 54 โดยเริ่มจัดประชุมครั้งแรกในปี 1971 ปัจจุบัน Klaus Schwab อายุ 85 ปีแล้ว แต่ก็ยังมาเปิดการประชุมและนำการเสวนาในหลายๆเวที

Klaus Schwab is still participating in multiple sessions in #wef24

สำหรับประเทศไทย นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาเข้าร่วมประชุมอย่างเป็นทางการกว่า 11 ปี ครั้งสุดท้ายคือในปี 2013 สมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

🪄ปีนี้ไฮไลท์คืออะไร? ธีมงานในปีนี้คือเรื่อง Rebuilding Trust ซึ่งครอบคลุมในหลายๆมิติ ทั้ง AI, สงคราม, เศรษฐกิจ, เทคโนโลยี, สภาพภูมิอากาศและความยั่งยืน ยังเป็นประเด็นที่ถูกหยิบมาถกกันอย่างกว้างขวาง

ขอเริ่มจากภาพใหญ่ด้านเศรษฐกิจโลก จากการตอบแบบสอบถามของ Chief Economist ทั่วโลก

56% คิดว่าปีนี้เศรษฐกิจแย่ลง 42% คิดว่าเสมอตัวหรือดีขึ้น ประเทศในแถบเอเชียไม่รวมจีนก็น่าจะโตต่อได้

50% คิดว่า AI จะเติบโตเป็นปีแห่งการ Scale ของ AI

C.S. Venkatakrishna, CEO ของ Barclays ออกมาให้มุมมองด้านมหภาคว่า ตลาดต้องการเห็นดอกเบี้ยที่ลดลง จะให้เค้าฟันธงเลยว่าไตรมาสนี้ ไตรมาสหน้าจะลดดอกเบี้ยมั้ย ลดเท่าไหร่ น่าจะยาก แต่เค้าของฟันธงว่า ปี 2024 ทั้งปีดอกเบี้ยจะลดลง 1%

ถาม Venkat ถึง Deal Making Landscape ในปีนี้ในฐานะวานิชธนกิจ (Investment Banker) เค้าตอบว่า จะทำให้ดีลเกิดได้ มี 3 ปัจจัย 1) สินทรัพย์มีคุณภาพ 2) มีเงินในมือ 3) ราคาต้องน่าสนใจที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ ไม่มีวานิชธนกิจไหนอยากเก็บเงินไว้เฉยๆ เพราะถ้าเงินเคลื่อนไหว เค้าก็มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย

เมื่อถูกถามเรื่อง AI 🤖 Venkat ให้ความสำคัญเรื่อง Productivity มาก และมั่นใจว่าความสำเร็จของ AI ในอนาคต อยู่ที่ AI สามารถเพิ่ม Productivity ให้กับชาวโลกได้มากแค่ไหน นักการตลาด ประหยัดเวลาในการสร้างสรรค์งาน โปรแกรมเมอร์ประหยัดเวลาในการเขียนโค้ดได้กี่ชั่วโมง นั่นคือ Productivity ที่เพิ่มขึ้น ต้องสามารถวัดได้ สอดคล้องกับ Satya Nadella, CEO Microsoft, เล่าว่า ตอนเค้าได้ลอง ChatGPT ครั้งแรก ไม่ได้ตื่นเต้นมาก แต่มาตื่นเต้นมากสุด และเชื่อว่า AI จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ตอนที่ใช้ GitHub Copilot ในการช่วยเขียนโค้ด

Satya Nadella, CEO, Microsoft

Satya บอกอีกว่า ปีที่แล้วถ้าเปรียบเทียบกับสตาร์ทอัพ AI ก็คือเพิ่งตั้งไข่ มี MVP — Minimum Viable Product ออกมาให้ลองใช้กัน แต่ปี 2024 นี้คือของจริง คือปีแห่งการ Scale ขยายมันให้ใหญ่ เค้าเชื่อว่า Copilot จะช่วยเพิ่ม GDP ซัก 2–3% หลักจากหักเงินเฟ้อไปแล้ว! และนั่นควรเป็นเป้าหมายของทุกคนที่ใช้ AI.

จากประสบการณ์ที่เค้าสั่งสมมา 32 ปีที่ Microsoft และ 10 ปีที่นั่งเป็น CEO ทำให้เค้าเห็นภาพการเปลี่ยนผ่านถึง 3 ครั้งใหญ่ คือจาก PC หรือคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ไปที่ Web / อินเตอร์เนต และเปลี่ยนต่อไปยัง มือถือและคลาวน์ และกำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคของ AI

สิ่งที่เค้าไม่ต้องการให้เกิดคือ Digital Divide คือในยุคนึงมีคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ใช้คอมพิวเตอร์ไม่ได้ และเค้าไม่อยากให้มีคนใช้ AI ไม่เป็น จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือ เรียก AI Divide

(middle) Sam Altman, CEO, OpenAI

ทาง Sam Altman, CEO OpenAI บอกว่า หลังจากเปิด GPT Stores ซึ่งเป็นความสามารถหนึ่งของ ChatGPT ที่ให้ใครก็ได้มาขาย Custom ChatGPT ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เทรน AI ไว้แล้ว

ตัวอย่างของ Sam คือเค้าเป็นคนชอบวิ่งเทรล ชอบไต่เขา เค้าก็เลยทำ ChatGPT ของเค้าเอาไว้ถามเฉพาะเรื่องนี้เลย ว่าช่วงนี้ถ้าไต่เขาไปที่ไหนนี้. ระยะทางเท่าไหร่ ทางยากมั้ย ใช้เวลากี่ชั่วโมง ต้องเตรียมตัวอะไรบ้าง ฯลฯ และก่อนเปิด GPT Stores เค้าเห็นคนมาทำ Custom ChatGPT กว่า 3 ล้านหัวข้อ เค้าปิดท้ายการให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg ในวันนั้นว่า ถ้าเค้าต้องเลือกลงทุนในเทคโนโลยีอะไรก็ได้ 2 อย่าง เค้าจะลงทุนใน 1) Computing Power เพราะ AI จะโตไปกว่านี้อีกเยอะ GPT-2 มา GPT-3 ใช้ Computing Power เพิ่ม 10 เท่า ถ้า GPT-3 ไป GPT-4 ใช้ 10 เท่าเหมือนกันก็คือ เพิ่ม 1 พันเท่าแล้ว 2)Energy คือ พลังงาน เพราะ การประมวลผล ที่จะเพิ่มขึ้น1 พันเท่า ต้องการพลังงานมหาศาลแค่ได้ Renewable Energy จากลมและพลังงานแสงอาทิตย์จะพอมั้ย แซมพูดออกมาคำเดียวเลยว่า คำตอบคือ Fusion Energy

(middle) Mustafa Suleyman, CEO, Inflection AI

แล้วความท้าทายของ AI มีอะไรบ้าง? Mustafa Suleyman, ผู้ก่อตั้ง Deepmind ซึ่งปัจจุบันถูก Google ซื้อไปเรียบร้อยในราคาเกือบ 2 หมื่นล้านบาท (650 ล้านเหรียญสหรัฐ) ปัจจุบันเป็น CEO ของ บริษัท AI ชื่อดัง Inflection AI เค้าร่วมก่อตั้งบริษัทกับ Reid Hoffman, Co-Founder, LinkedIn

Mustafa เล่าว่าปัญหาสำคัญคือ คนส่วนใหญ่เชื่อ AI มากกว่าที่ควรจะเป็น เค้าใช้คำว่า Overtrust และบอกว่า แต่ก่อนระบบ Software มันเป็น Database เหมือนระบบบัญชี หรือ ระบบเก็บข้อมูลลูกค้า คือ ใส่ข้อมูลอะไรเข้าไป มันก็เก็บ อยากได้ข้อมูลอะไรมันก็ดึงออกมาให้ แต่ AI มันต่างกัน มันเป็น Hallucination 🤣 คือถาม ChatGPT หรือ Bard ไปมันก็อาจตอบอะไรแปลกๆมาก็ได้ 🤣 นี่คือความท้าทายว่าเราจะไว้ใจ AI ได้แค่ไหน อย่าเชื่อ AI เกินความจำเป็น! Prof. จาก Harvard Business School สรุปว่า คนเราจะกลัว AI 4 เรื่องด้วยกัน 1) กลัวว่ามันจะมาแย่งงานเรา 2) การตัดสินของ AI จะลำเอียง หรือเที่ยงตรงแค่ไหน 3) ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล 4) ความมีอิสระโดยไร้ขอบเขต เช่นการทำ Deep Fake เอาหน้า เสียง ภาพคนอื่นมาปลอมแปลงได้โดยง่าย ซึ่งเรื่องเหล่านี้หลายๆเรื่อง ยังเกี่ยวข้องกับจริยธรรมอย่างแยกไม่ออก เช่น ถ้าคุณชื่นชอบดาราคนหนึ่งที่เสียชีวิตไปแล้ว แต่ญาติเค้ายอมให้สิทธิ์คุณมาทำหนังเรื่องใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี Deep Fake คุณมีสิทธิ์ทำได้หรือไม่? เรื่องนี้คุยกันได้ข้ามวันข้ามคืน

เรื่องสุดท้ายที่อยากมาสรุปให้ฟังถึงวาทะผู้นำระดับโลกที่ผมชื่นชอบ รวมไปถึงไฮไลท์

Ursula von der Leyen, President, European Commission

เริ่มต้นจาก Ursula von der Leyen ประธาน European Commission เป็นชาวเยอรมัน เป็นผู้หญิงเก่งแกร่ง ค้นประวัติพบว่าเธอจบแพทยศาสตร์ก่อนจะมาอยู่ในคณะรัฐมนตรีของ Angela Merkel ผู้นำประเทศเยอรมันนีคนก่อนหน้า ประโยคแรกนึกว่าเธอจะพูดเรื่องสงคราม แต่เธอพูดว่าสิ่งสำคัญสำหรับเธอในวันนี้ ”Not Conflict or Climate but disinformation and misinformation “ คืออะไรไม่กลัว กลัวไม่มีข้อมูลและข้อมูลผิด ถ้าพูดง่ายๆก็ตรงกับธีมงาน WEF ที่โลกทั้งโลกจำเป็นจะต้อง Rebuilding Trust ซึ่งเธอก็ภูมิใจถึงความสำเร็จของ EU ที่ 2 ปีก่อน ก่อนที่รัสเซียจะบุกยูเครนในปี 2021 พลังงาน 20% ของสหภาพยุโรปนำเข้าจากรัสเซีย!

เรียกว่าความมั่นคงทางพลังงานมีความเสี่ยงสูงมาก EU จึงร่วมมือกัน ใช้เวลา 2 ปี เพิ่มการลงทุนในพลังงานสะอาดตอนนี้เหลือนำเข้าพลังงานเพียง 5% เค้าสามารถเปลี่ยนวิกฤตจากปูติน เป็นโอกาสได้สำเร็จ 👏👏👏 อีกวรรคนึงที่ผมชอบคือ “In order to face risks, we need to take risks together” เข้าตามสุภาษิตบ้านเรา หนามยอกก็เอาหนามบ่ง ^^

ในเมื่อ EU เค้าพูดถึงปูตินขนาดนี้ ผมเลยอดไม่ได้ ขอตามไปฟังประธานาธิบดียูเครน Volodymyr Zelenskyy เค้าพูดเป็นภาษาฝรั่งเศสจับใจความได้ว่า ย้อนหลังไป 13 ปีก็มีเรื่องให้ด่าปูตินตลอด บอกว่า คนๆนี้คือคนเดียวที่เป็นสาเหตุสงครามทั่วโลก ที่อยู่ได้ทุกวันนี้เพราะอิหร่านและเกาหลีเหนือยังขายอาวุผธสงครามให้!

(second from left) Pham Minh Chinh, Prime Minister, Vietnam

มาฟังประเทศเพื่อนบ้านกันบ้าง อย่างเวียดนาม ท่านนายก Pham Minh Chinh เค้าขึ้นเวทีระดับโลกแต่พูดภาษาเวียดนามแล้วมีคนแปลแบบเรียลไทม์ วรรคทองคือ ประกาศเป้าชัดเจน ภายในปี 2030 จะนำพาประเทศจากประเทศกำลังพัฒนาสู่ประเทศรายได้ปานกลางและเป็นประเทศพัฒนาแล้วในปี 2050 ผ่าน 3 วิธี 1) Socialist Democracy 2) Rule of Law by the people for the people 3) Develop socialist-oriented market economy

Sretha Thavisin, Prime Minister, Thailand

มาปิดจบที่ประเทศไทยของเรา ท่านนายก เศรษฐา ทวีสิน มีขึ้นพูด 2 เวที ผมได้ฟังอันที่ท่านขึ้นพูดกับผู้นำใน ASEAN ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทยและตัวแทนจาก WTO — World Trade Organization วรรคทองของท่านคือ อาเซียนต้องร่วมมือกัน เราไม่ต้องการแข่งขันกันที่ต้นทุนค่าแรงที่ถูก แต่ต่างชาติต้องเข้ามาเพราะ เข้ามาแล้วทำงานที่ไหนในอาเซียนก็ได้ ทำธุรกิจก็ง่าย (ease of doing business) ภาษีก็เป็นธรรม ซึ่งตรงกับโฆษกรัฐบาลฟิลิปปินส์ที่ต้องการให้เกิด Seamless ASEAN ท่านนายกของเรายังไปชวนเพื่อนบ้านให้มาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วยกันเพราะ 10 ปีที่ผ่านมาของไทย ค่าแรง 300 บาท ตอนนี้ 340 บาท เพิ่มขึ้นแค่ 10% ใน 10 ปี ท่านว่ามันน้อยเกินไป

ถือเป็นการเริ่มต้นปีด้วย Fresh View ได้เติมมุมมองใหม่ๆ จากทั้งด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคมสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ กับ 400 Sessions ใน 1 สัปดาห์ ซึ่งไม่มีทางเข้าครบ แต่พยายามสรุป เอามาฝากกัน ขอบคุณทุกท่านที่ติดตาม ที่ช่วยแชร์ เป็นกำลังใจให้มือใหม่ WEF อย่างผม แล้วพบกันใหม่ปีหน้าครับ!!!

หมอคิด — นพ. ศุภชัย ปาจริยานนท์

CEO and Co-Founder, RISE

#RISEDavos #wef24 #WorldEconomicForum #Davos24 #Davos2024 #UnDavos

--

--

Kid Parchariyanon
Superchai

CEO and Co-Founder, RISE | Managing Partner, SeaX Ventures — Our mission is to drive 1% of GDP for Southeast and reduce 1% of Carbon Emissions for the world 🌎