สรุปเรียนรู้เรื่องนวัตกรรมความยั่งยืนของประเทศสวีเดนใน 1 สัปดาห์

Kid Parchariyanon
Superchai
Published in
4 min readNov 27, 2023
เป็นโชคดีคณะของเราได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของเมือง Mariestad

จุดเริ่มต้นที่ทำให้เมืองหลวงของประเทศอย่างสตอกโฮล์ม หันมาสนใจเรื่องความยั่งยืนอย่างจริงจังคือ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในปี 2004 แต่ไม่ใช่แค่เมืองหลวงที่ลงมือทำเรื่องนี้ เพราะการปลูกฝังเรื่องความยั่งยืนเค้าเริ่มสอนกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล

“ลูกสาวอายุ 2 ขวบกลับมาบอกฉันที่บ้านว่า แม่แยกขยะไม่ถูกต้องนะ มันต้องแยกแบบนี้” คุณแม่ชาวไทยที่แต่งงานกับสามีชาวสวีเดนเล่าให้พวกเราฟัง

นอกจากการปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็ก แม้ผู้ใหญ่อย่างเราก็ยังสัมผัสได้ถึงความจริงจังนั้น ตัวอย่างเช่น ขวดพลาสติก ที่ขวดจะเขียนเลยว่า ถ้าเอาชวดมารีไซเคิล เอาเงินคืนไปเลย 1 KR (ประมาณ 3 บาทกว่าๆ) สามารถคืนได้ที่ ซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน เอาขวดพลาสติกใช้แล้วไปหย่อนใส่ตู้จะได้เงินสด หรือ คูปองเอาไปซื้อสินค้าในร้าน

ขวดพลาสติก ที่ขวดจะเขียนเลยว่า ถ้าเอาชวดมารีไซเคิล เอาเงินคืนไปเลย 1 KR (ประมาณ 3 บาทกว่าๆ) สามารถคืนได้ที่ ซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้าน

🇸🇪 เรียนรู้ระบบการจัดการเมืองแบบยั่งยืนจาก Stockholmstad

เราได้ไปเยี่ยมชมหน่วยงานของรัฐที่ชื่อว่า Stockholmstad หรือ Stockholm City เทียบเท่ากับ Bangkok Metropolitan Authority

เยี่ยมชมหน่วยงานของรัฐที่ชื่อว่า Stockholmstad หรือ Stockholm City เทียบเท่ากับ Bangkok Metropolitan Authority

สวีเดนเป็นประเทศที่ขนาดพื้นที่ไม่เล็ก คือใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่มีประชากรทั้งประเทศเพียง 10 ล้านคน พอๆกับกรุงเทพมหานคร และสตอกโฮล์มเป็นเมืองหลวงที่มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน

ผมประทับใจการตั้งเป้าหมายรวมไปถึงการลงมือทำของเค้าที่ผ่านการคิดและวางแผนมาดีมาก เค้าตั้งเป้าจะเป็นเมือง Fossil-Free City ภายในปี 2040 ซึ่งดูแล้วมีความเป็นไปได้สูงมากที่เค้าจะทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ภายในเมืองไม่มีการใช้ไฟฟ้าที่มาจากถ่านหินตั้งแต่ปี 2011 แล้ว ไฟฟ้าที่ใช้กันทั้งประเทศสวีเดนมาจากพลังงานน้ำเป็นส่วนใหญ่ บริเวณด้านเหนือของประเทศมีเขื่อนเยอะ รองลงมาเป็นพลังงานทางเลือก เช่นพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลม แต่จะต่างกับบ้านเราตรงที่ พลังงานแสงอาทิตย์จะน้อยหน่อย เค้ามีแสงแดดเยอะแค่ปีละ 6 เดือนเท่านั้น ทำแล้วไม่ค่อยคุ้มเมื่อเทียบกับวิธีการอื่นๆ อย่างช่วงพฤศจิกายนที่ผมเดินทางมานี้พระอาทิตย์ขึ้น 8 โมงเช้า บ่าย 3 โมงพระอาทิตย์ตกดินแล้ว

อีกเหตุผลนึงที่ทำให้เค้าวางแผนอะไรแล้วทำได้ด้วย น่าจะมาจากโครงสร้างของประเทศที่มีความเป็นรัฐสวัสดิการสูง คือ เก็บภาษีสูง เริ่มต้นที่ 38% แต่ถ้าเงินเดือนเกิน 50,000 KR หรือประมาณ 175,000 บาท (คิดที่อัตราแลกเปลี่ยน 3.5 บาทต่อ 1 KR) ภาษีจะเพิ่มเป็น 50% ตัวอย่างนึงที่เจ้าหน้าที่เค้าเล่าให้ฟัง น่าสนใจเลยขอมาเล่าต่อ “ที่ดินในเมืองสตอกโฮล์ม 70% จะเป็นของรัฐ ดังนั้นเวลาที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์จะสร้างบ้านเดี่ยวหรือคอนโด จะต้องมีการซื้อ หรือ เช่าที่ระยะยาวกับรัฐ ซึ่งรัฐก็จะสามารถตั้งเงื่อนไขด้านความยั่งยืนได้เช่น จะต้องประหยัดพลังงานเท่าไหร่ ปล่อยก๊าซเทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไหร่ หรือ แม้กระทั่งจะมีระบบแยกขยะอย่างไร และไม่ใช่แค่ตั้งเงื่อนไข แต่มีการติดตามด้วย คือหลังจาก 1 ปี และ 2 ปี จากส่งมอบที่พักอาศัยไปแล้ว บริษัทอสังหาริมทรัพย์จะต้องนำส่งข้อมูลเชิงสถิติว่าที่ได้วางแผนไปว่าจะใช้พลังงานเท่านั้น ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่านี้ ทำได้จริงหรือไม่ ไม่ได้เพราะอะไร เอาตัวเลขมาวิเคราะห์กัน เพื่อที่คราวถัดไปจะได้แม่นขึ้น มั่วไม่ได้ อื้อฮือ! ฟังแบบนี้แล้วรู้เลยว่าประชากรเค้านี่ต้องคุณภาพมากๆ มีการศึกษา และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ คือตั้งสมมติฐานและทดสอบสมมุติฐานเหล่านั้น

อีกตัวอย่างที่ชอบมากๆคือ ระบบจัดการขยะมูลฝอย ของที่นี่ ที่ผมอยากพากรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดมาดูกัน

ENVAC

เค้าเรียกระบบนี้ว่า Envac คือหลังจากที่เราแยกขยะเสร็จแล้ว ว่าอันนี้พลาสติก อันนี้ฝังกลบ เราก็นำขยะมาโยนใส่ท่อดังภาพ แต่ละท่อก็แยกกันไปสำหรับขยะแต่ละประเภท เมื่อขยะเต็มท่อนั้นๆ เค้าจะใช้แรงดูดจากส่วนกลาง ดูดขยะไปในท่อใต้ดิน ด้วยความเร็วประมาณ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กลับไปที่สถานีเก็บขยะ ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในระยะยาวในการใช้รถเก็บขยะแบบเดิมๆ และลดมลภาวะกลิ่นเหม็น ลดการจราจร นั่นเอง

🇸🇪 ไม่ใช่แค่เมืองใหญ่แต่เมืองเล็กเค้าก็ทำได้ดีมาก

หลังจากดูเมืองใหญ่ 1 ล้านคนไปแล้ว นั่งรถบัสไปประมาณ 3 ชั่วโมงจากสตอกโฮล์ม ก็จะถึงเมือง Mariestad ซึ่งมีประชากรเพียงหมื่นกว่าคน พื้นที่รวมเพียง 11 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น (กรุงเทพฯ ประมาณ 1,500 ตารางกิโลเมตร)

โครงการสำคัญของเมืองนี้คือ ElectriVillage ที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อน

โรงเรียนเด็กเล็กที่ด้านบนเป็น Solar Roof ส่วนพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในโรงเรียนเป็น Fossil-Free, Green Hydrogen

เอาพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่ได้ไปใช้ทำ electrolysis แยก hydrogen จากน้ำ เอา hydrogen ไปเก็บไว้ใน fuel cell เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายหลัง ซึ่งนอกจากจะได้ไฟฟ้าแล้วยังได้ความร้อนออกมาทำให้ตัวตึกอุ่นตลอดช่วงหน้าหนาวอีกด้วย

เครื่องรับไฟจาก Solar Panel ส่งต่อไปที่ Inverter เปลี่ยนไฟฟ้ากระแสตรง (DC) ไปเป็น ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC)
จุดเก็บ hydrogen จะแยกจากตัวอาคารโรงเรียน ห่างออกไป 100 เมตร ตามกฎหมายเพื่อความปลอดภัย จุดที่ว่านี้เป็นตึกขาวๆอยู่หลังจากเรือนไม้ซี่ๆที่เห็นอยู่กลางภาพ

ที่พีคสุดคือคนที่พาเราเยี่ยมชมทุกจุดในเมืองคือ ผู้ว่าราชการเมือง Mariestad ชื่อคุณ Johan Abramhamsson น่ารักมากๆ ประทับใจสุดๆ เค้าตื่นเต้นที่จะได้ต้อนรับคณะของเรา โดยมีนักข่าวท้องถิ่นมาสัมภาษณ์ และวันรุ่งขึ้นพวกเราได้ลงหนังสือพิมพ์กันด้วย

คณะเราได้ลงหนังสือพิมพ์กันด้วย แปะคำแปลให้ในเม้นท์

🇸🇪 ความยั่งยืนกับนวัตกรรมเป็นเรื่องเดียวกัน

ทริปนี้จะไม่สมบูรณ์เลยถ้าเราไม่ได้มาเจอระบบนิเวศน์ที่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนความยั่งยืน อาทิเช่น The New Division (TND) บริษัทซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น Communication Strategist ที่ทำให้การสื่อสารเรื่องยากๆเป็นเรื่องง่าย อย่าง UN SDG — Sustainability Development Goals ทั้ง 17 ข้อ ที่ในช่วงแรก มีแต่ตัวอักษรยาวๆ แต่เค้าก็ทำให้มันสั้นกระชับ อย่างคำว่า Life Below Water ซึ่งเป็น Goal ข้อ 14 ก็เป็นผลงานของ TND ใส่มาให้ดูอีก นิดว่ากว่าที่จะมาเป็นรูปง่ายๆ 17 รูปแสดงถึง 17 Goals นั้น กว่าจะได้มาไม่ง่ายเลย (ดูรูปประกอบ)

กว่าจะได้มาเป็น SDG ข้อ 14 ต้องย่อยข้อมูลออกมาให้ง่ายสุดๆ
แบบเก่า (ซ้าย) แบบใหม่ (ขวา)

และแน่นอนการจะผลักดันนวัตกรรมควบคู่ไปกับความยั่งยืนจะขนาด Venture Capital ไปไม่ได้ เราได้ไปเจอ ByFounders กองทุนสตาร์ทอัพชื่อดังของประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย มีสินทรัพย์ภายใต้การบริษัทรวมกว่า 8 พันล้านบาท (210 ล้านยูโร) ผมโชคดีได้เป็น Co-investor กับเค้าเมื่อหลายปีก่อนเลยติดต่อไป เค้าก็ตอบรับทันที เค้าเล่าให้ฟังว่า สวีเดนถือเป็นผู้นำด้านสตาร์ทอัพในแถบสแกนดิเนเวีย ทั้งในแง่เม็ดเงินและจำนวนของสตาร์ทอัพ

ถ่ายกับ Magnus Hambleton, Investor ของ ByFounders
สวีเดนถือเป็นผู้นำด้านสตาร์ทอัพในแถบสแกนดิเนเวีย ทั้งในแง่เม็ดเงินและจำนวนของสตาร์ทอัพ

ที่น่าสนใจคือ กองทุนสตาร์ทอัพของเค้าจำเป็นจะต้องเปิดเผยรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทที่เค้าไปลงทุนด้วย! ความเชื่องโยงของเงินทุนไม่ได้มีเฉพาะแต่ Green Loan จากฝากธนาคาร แต่ในฝั่งสตาร์ทอัพก็ไม่น้อยหน้า ทำให้ผมยิ่งเชื่อมั่นว่าความยั่งยืนกับนวัตกรรมเป็นเรื่องเดียวกันจริงๆ การจะสร้างนวัตกรรมให้สำเร็จในปัจจุบันจะมองข้ามเรื่องความยั่งยืนไปไม่ได้

🇸🇪 กระทบไหล่ตัวพ่อด้าน Carbon Accounting

วันสุดท้ายก่อนกลับ เราได้เจอกับ Kristian Rönn, CEO และ Co-Founder ของ Normative สตาร์ทอัพด้าน Climate Tech ชื่อดัง ผู้อยู่เบื้องหลัง Carbon Accounting SaaS — Software-as-a-Service ที่แม้แต่ตัวผมเองก็เคยลองใช้คำนวน Carbon Emission ของ RISE มาก่อน

Normative CEO and Co-Founder, Kristian Rönn

Normative ยังขับเคลื่อนด้านนโยบายและอีกหลากหลายมาตรฐานระดับโลก GHG Protocol ทำงานร่วมกับหลายองค์กร ISSB, IFRS ที่เกี่ยวข้องกับ Carbon Accounting

ประทับใจสุดก็คือ เค้ามีระบบให้บริษัทที่พนักงานน้อยกว่า 50 คนมาใช้ฟรี ส่วนบริษัทขนาดใหญ่ ถ้าใช้แบบจ่ายเงิน ก็จะสามารถชวนคู่ค้า Scope 3 upstream และ downstream มาใช้บริการฟรีได้เช่นกัน

จริงๆยังมีอีกหลายบริษัทที่เราไปเยี่ยมแต่เล่าเยอะไม่ได้ เพราะมันจะยาวมาก เช่น Spotify, Volvo Venture Capital, Volvo’s CAMPX Venture Builder, Accelrlerator & Incubator, Impact Hub & Innovationsledanar, Cake- EV Bike ที่เพิ่งมาเปิดตัวในเมืองไทยถ้าอยากอ่านก็มาเม้นท์ไว้นะฮะ

🇸🇪 กระทรวงต่างประเทศโดยสถานฑูตไทย ตั้ง TNIU สนับสนุนการเชื่อมโยงข้ามประเทศ

เยือนสถานทูตไทยประจำกรุงสวีเดน

ปิดจบทริปด้วยการเยือนสถานทูตไทยประจำกรุงสวีเดน ได้เห็นความตั้งใจของสถานทูตที่ต้องการจะผลักดันให้เกิดความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างบริษัทไทยและองค์กรต่างๆในสแกนดิเนเวีย ทางนี้จะเรียกว่า “นอร์ดิค” เลยตั้งหน่วยงานอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากสถานฑูตขึ้นมาชื่อ TNIU — Thai Nordic Innovation Unit เพิ่งครบรอบเปิดดำเนินการครบ 1 ปีเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่าน โดยมีกำลังสำคัญคือสองสาว คุณนุ่น และคุณแพร์ ผมขออนุญาตปรบมือดังๆให้กับท่านทูตคนก่อนและคนปัจจุบัน รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ และกระทรวงการต่างประเทศมากๆครับ ผมชอบที่ท่านคิดนอกกรอบและเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง น่าจะมีคนเคยตั้งคำถามว่า หน้าที่เรื่องนวัตกรรมเป็นของกระทรวงต่างประเทศหรือไม่ ผมขออนุญาตตอบแทนประชาชน เลยว่านี่คือสิ่งที่ประชาชนรอคอยจากภาครัฐ คือไม่ต้องร้องขอ แต่ทำล่วงหน้าไปเลย ขออย่างเดียวให้ไว ผิดพลาดอะไรก็เรียนรู้ และมาปรับปรุงกัน

คอยติดตามโครงการดีๆจาก TNIU และ RISE เร็วๆนี้ครับ

สุดท้ายจริงๆ ผมดีใจมากๆในการนำคณะมาเรียนรู้แบบเจาะลึก รอบนี้มากับไดเอิ๊ก Theethat Rangkasiri ผู้อำนวยการหลักสูตร STX — Sustainability Transformation Xponential พามาเจอจากตัวจริง ตามสไตล์ Alpha Trip ที่เป็นเอกลักษณ์ขอบ RISE ตั้งแต่ปี 2017 สำหรับผู้บริหารเจ้าของกิจการ และผู้ที่สนใจ เรื่องนวัตกรรมและความยั่งยืน ในเมืองชั้นนำของโลก อาทิ Silicon Valley, สหรัฐอเมริกา, อิสราเอล, จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, อังกฤษ, สแกนดิเนเวีย, สิงคโปร์, ฮ่องกง และอีกหลากหลายประเทศทั่วโลก สนใจร่วมทริปถัดไป ลงชื่อไว้ได้เลย 😊 bit.ly/JoinDrKidCircle

#STXbyRISE #RISEAlpha

--

--

Kid Parchariyanon
Superchai

CEO and Co-Founder, RISE | Managing Partner, SeaX Ventures — Our mission is to drive 1% of GDP for Southeast and reduce 1% of Carbon Emissions for the world 🌎