สรุปเนื้อหา The Cloud Camp Open House

จัดโดย Jumpbox

Ponggun
T. T. Software Solution
8 min readJun 10, 2024

--

วันนี้ผมมีความยินดีมากๆเลยครับที่โอกาสได้กลับมาร่วมกิจกรรมกับทาง Jumpbox อีกครั้ง หลังจากที่เคยจัดงาน Cloud Native ไทบ้านร่วมกันที่ขอนแก่นมาครั้งนึง แถมงานนี้ยังมี Sponsor สถานที่โดยสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทยครับ ดูแล Tech Community ได้ดีมากๆเลยครับผม

สิ่งนึงที่ผมชอบในทีมงาน Jumpbox ทุกๆท่านคือพลังบวกและความหวังดีที่อยากแบ่งปันส่งเสริมเรื่อง "การเรียนรู้ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น" ครับ ทำให้ได้เห็นเลยว่าทีมงานเตรียมการกันมาดีมากๆเพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับประโยชน์สูงสุดครับ บรรยากาศ Community ที่มาร่วมงานกันก็อบอุ่นมากๆตั้งแต่เริ่มจนจบงานเลยครับ (มีเกมส์ร่วมสนุกและสุ่มแจกของรางวัลด้วยน้า)

สติ้กเกอร์น่าร้ากกกก

โดยเนื้อหาในงานจะมีเรื่องของ

  • แนะนำโลกของ Cloud Native ที่ช่วยให้เข้าใจนิยามได้ชัดเจนขึ้นว่า Cloud Native คือการนำ Cloud มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
  • แนะนำ สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย และกิจกรรม Code Mania 1011
  • VMWare Tanzu
  • แนะนำบรรยากาศของ Last Year Camp (Sep 23 — Dec 23) ซึ่งเป็น Camp แรกที่จัดโดย Jumpbox ในปีที่แล้วครับ
  • เทคโนโลยีในเรื่องของ Network & Database on Hybrid Multi-Cloud
  • PaaS (Platfrom as a Service) ของคนไทยโดย PROEN Cloud ที่ช่วยเพิ่มศักยภาพและลดต้นทุนในการติดตั้งและดูแลรักษาระบบของเราได้มากขึ้นครับ
  • ปิดท้ายด้วย Alumni Interview ที่มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์การเรียนรู้ที่เข้มข้นจาก Camp และสามารถนำไปต่อยอดกับงานจริง ทำให้เติบโตในสายอาชีพมากขึ้นครับ

The World of Cloud Native

Cloud Native = การนำ Cloud มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ทำไม Post Social แล้วแสดงผลทันที? ทำไมเล่นเกมส์คนเยอะๆ เราก็เล่นได้ลื่นๆ?

หัวข้อนี้เริ่มต้นด้วยการอธิบายเหตุผลที่การโพสต์บนโซเชียลมีเดียแสดงผลได้ทันทีและการเล่นเกมที่มีผู้เล่นจำนวนมากยังสามารถเล่นได้อย่างราบรื่น นั่นเพราะโครงสร้างพื้นฐานของระบบที่ออกแบบมาให้รองรับการใช้งานแบบเรียลไทม์

Request & Response: สิ่งที่จำเป็นต้องมีในระบบ

  • ผู้เล่น -> ส่งคำขอข้อมูลไปยัง Server (Request)
  • Server -> ตอบกลับคำขอของผู้เล่น (Response)

Ping: การเช็คสัญญาณระหว่าง Server และ Client เพื่อตรวจสอบความเร็วในการรับส่งข้อมูล

Real Use Case: เมื่อมีผู้ใช้งานจำนวนมาก ทำให้เกิดปริมาณการรับส่งข้อมูล (Traffic) ที่สูงมากจน Server เดียวไม่สามารถรองรับได้

Load Balancer: ทำหน้าที่กระจายการใช้งานให้ผู้ใช้แต่ละคนได้ใช้ทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน

ปัญหาและการแก้ไข: บางครั้ง Container อาจหยุดทำงาน ทำให้ต้องมีคนมาคอย Monitor และ Restart ซึ่งหากมีปริมาณการใช้งานมากจะทำให้จัดการไม่ทัน

Kubernetes (K8S)

  • เข้ามาช่วยในเรื่องการ Restart Container อัตโนมัติและจัดการ Container ต่างๆ
  • ช่วยสร้าง Container และทำให้การรับส่งข้อมูลกลับมาเป็นปกติ (Stable State)

พื้นฐานของ Application ที่ใช้ในโลกปัจจุบัน เช่น Data Factory และ AI Model Training ล้วนใช้ประโยชน์จาก Cloud Native Technology ในการจัดการทรัพยากรและการทำงานของระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

Cloud Native ไม่ใช่ Cloud แต่คือการนำเอาคุณสมบัติของ Cloud Tech มาใช้ (คนใช้น้อยก็สร้างเครื่องน้อย คนใช้เยอะก็สร้างเครื่องเยอะขึ้นตามปริมาณการใช้งาน)

ตรงนี้ผมขอเสริมตามความเข้าใจของตัวเองไว้แบบนี้นะครับ

Cloud Native หมายถึงวิธีการสร้างและรันแอปพลิเคชันที่ใช้ประโยชน์จากการทำงานในระบบคลาวด์อย่างเต็มที่ ซึ่งมีลักษณะเด่นดังนี้:

  1. Microservices: แอปพลิเคชันถูกแบ่งเป็นบริการย่อยๆ ที่ทำงานอิสระต่อกัน
  2. Containers: การใช้คอนเทนเนอร์ (เช่น Docker) เพื่อบรรจุแอปพลิเคชันและการพึ่งพา ทำให้สามารถย้ายและปรับใช้ได้ง่าย
  3. Dynamic Orchestration: การจัดการและการทำงานของคอนเทนเนอร์อย่างอัตโนมัติโดยใช้เครื่องมืออย่าง Kubernetes
  4. DevOps and Continuous Delivery: กระบวนการพัฒนาและปรับใช้ที่รวดเร็วและสม่ำเสมอผ่านการใช้แนวทาง DevOps
  5. Scalability and Resilience: ความสามารถในการขยายตัวและทนทานต่อความล้มเหลวอย่างมีประสิทธิภาพ

Cloud Native ช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนา ปรับใช้ และจัดการแอปพลิเคชันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นในสภาพแวดล้อมของคลาวด์ครับ

Cloud Native Transformation ในองค์กร

“Cloud Native Transformation Stages”

“Cloud Native Transformation Stages” แสดงระยะการพัฒนาของการทำงานในองค์กรจาก “No Process” ไปจนถึง “Next” โดยระบุรายละเอียดในหลายๆ แง่มุม ได้แก่ วัฒนธรรม (Culture), การออกแบบผลิตภัณฑ์/บริการ (Prod/Service Design), ทีม (Team), กระบวนการ (Process), สถาปัตยกรรม (Architecture), การดูแลรักษา (Maintenance), การส่งมอบ (Delivery), การเตรียมทรัพยากร (Provisioning), และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure)

รายละเอียดเพิ่มเติมที่ส่งเสริมให้เกิด Cloud Native Transformation ในองค์กร

Blameless: การไม่โทษกันเมื่อเกิดปัญหา แต่เน้นการแก้ไขและปรับปรุงร่วมกัน

เจอปัญหางานใหญ่ -> แตกให้เล็กลงและทำงานร่วมกันกับทีม: การจัดการปัญหาขนาดใหญ่โดยการแบ่งเป็นปัญหาย่อยและทำงานร่วมกับทีม

แตกปัญหาให้เล็กลง และเอาวิธีที่แก้ไขได้มารวมกัน Happy

Cloud Native Transformation -> Internal Evangelism: การเผยแพร่ความรู้ Cloud Native ให้ทีมเข้าใจและเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงาน

นำพาองค์ความรู้และทไเป็นตัวอย่างให้ทีมดูครับ ถึงจะทำให้ Transform ได้

Side Project มา POC -> MVP -> Optimize: การทดลองทำโครงการขนาดเล็ก (Proof of Concept) แล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีฟังก์ชันขั้นต่ำ (Minimum Viable Product) และปรับปรุงต่อเนื่อง

POC ใหญ่เกิน 1 สัปดาห์ควรจำกัดไว้ 1–2 วัน: การทำ POC ควรจำกัดเวลาเพื่อความรวดเร็ว

Opensource Internal Project -> Grafana, K8S: การพัฒนาเครื่องมือภายในองค์กรแล้วทำให้เป็นโอเพนซอร์ส

SRE Team -> ควบคุมความเสี่ยง: ทีม SRE ไม่ใช่ทีม Platform แต่ทำหน้าที่ควบคุมความเสี่ยงและทำงานร่วมกับทีม Platform

Self Service: การบริการตนเองภายในทีม

Platform Team: ทีมที่พัฒนาแพลตฟอร์มภายในองค์กรเพื่อความสะดวกในการทำงาน

Domain Driven Design (DDD): คือ แนวคิดในการออกแบบซอฟต์แวร์ที่เน้นการจัดการกับความซับซ้อนของธุรกิจโดยการใช้โมเดลที่อิงจากโดเมนธุรกิจที่ชัดเจน โดยการสื่อสารกับผู้เชี่ยวชาญในโดเมนและนำความรู้เหล่านั้นมาสร้างแบบจำลองที่สอดคล้องกับความต้องการและกระบวนการของธุรกิจอย่างแท้จริง

Tech กับ Business ต้องไปด้วยกันถึงจะได้ระบบที่ตอบโจทย์ธุรกิจครับ DDD เลยเป็นเทคนิคนึงที่ช่วยได้ครับ

Microservice: การแบ่งบริการใหญ่เป็นบริการย่อย

Observability -> Logging, Metrics, Tracing, Alert: การเฝ้าระวังระบบด้วยการบันทึกข้อมูล การวัดค่า การติดตาม และการแจ้งเตือน

Continuous Integration: รวมโค้ดและตรวจสอบการทำงานร่วมกัน

Continuous Integration

Continuous Delivery: การส่งมอบที่ต้องได้รับการอนุมัติก่อน Deploy

Continuous Delivery

Continuous Deployment: Deploy โค้ดอัตโนมัติ

ArgoCD: เครื่องมือ GitOps สำหรับการดูแลโครงสร้างพื้นฐานผ่าน Source Code

argo-cd.readthedocs.io

Kube Con: การประชุมเกี่ยวกับ Kubernetes

Craftsmanship: ช่างที่มีความเชี่ยวชาญ

Jargon: คือคำศัพท์หรือภาษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับกลุ่มคนหรือวงการวิชาชีพหนึ่งๆ ซึ่งมักจะเข้าใจได้เฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มหรือวงการนั้น ตัวอย่างเช่น คำศัพท์ทางเทคนิคในวงการแพทย์ การเงิน หรือเทคโนโลยี เป็นต้น คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการหรือกลุ่มนั้นๆ อาจจะไม่เข้าใจคำศัพท์เหล่านี้

แนวทาง Cloud Native Kingdom จาก Jumpbox ครับ

สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย (Thai Programmer Association, TPA)

คุณเซฟ นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย
  • พันธกิจ: ทำหน้าที่เป็นแหล่งรวมข้อมูลสำหรับโปรแกรมเมอร์ในประเทศไทย (ขึ่นปีที่ 8 แล้วครับ ไวมากเลย)
  • กิจกรรม: จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรวมกลุ่มโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนา และผู้ใช้ รวมถึงการจัดการประชุมพัฒนาซอฟต์แวร์แบบเปิด

ผมอยากเชิญชวนมาศึกษารายละเอียเเพิ่มเติมที่ TPA Repository นะครับ

กิจกรรมหลักของ TPA

การพบปะรายเดือน (Monthly Meetup):

มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50–70 คนต่อกิจกรรม โดยหัวข้อการพูดคุยจะเปลี่ยนไปตามแนวโน้มเทคโนโลยีในปัจจุบัน บริษัทและชุมชนสามารถเข้าร่วมเพื่อสร้างเครือข่ายที่กว้างขวางช่วยส่งเสริมการทำงานในอุตสาหกรรม IT

โครงการฝึกงาน TPA (TPA Internship):

เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้ารับการฝึกงาน โดยเน้นที่คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและวิศวกรรมคอมพิวเตอร์

ทัวร์สำนักงาน (Life at Office Tour):

สำรวจวัฒนธรรมองค์กรผ่านการทัวร์และสัมภาษณ์พนักงาน

วันโค้ดดิ้งแห่งชาติ (National Coding Day):

งานเทคโนโลยีที่มีการแข่งขัน การพูดคุย และการแสดงสินค้าจากผู้เข้าร่วม เป็นงาน Tech Meetup ที่ใหญ่ที่สุดในแต่ละปีที่ผ่านมาครับ

ช่องทางหลักของ TPA

ความเชื่อมโยงของ TPA

ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและสมาคมต่าง ๆ

งานสำคัญ: Code Mania 1011

https://www.eventpop.me/e/34546/code-mania-1011
  • ธีมงาน: AI for Developers
  • สถานที่: SCBX Next Tech
  • วันที่: 29 มิถุนายน 2024
  • เวลา: 12:30–18:30
  • ราคาบัตร: 399 บาท
  • ขนาด: รับผู้เข้าร่วม 200 คน
  • รูปแบบ: งานออฟไลน์ และมีบันทึกวิดีโอให้เฉพาะผู้ซื้อบัตร
  • ผู้จัดงาน: สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย

VMWare Tanzu — Running Containers in vSphere

VMware Tanzu คือชุดโซลูชั่นจาก VMware ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยให้องค์กรสามารถพัฒนา ปรับใช้ และจัดการแอปพลิเคชันแบบ Cloud-Native ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยรวมถึงการจัดการ Container, Kubernetes, และการนำเสนอแพลตฟอร์มที่ช่วยในการทำงานแบบ DevOps

คุณสมบัติหลักของ VMware Tanzu

การจัดการ Kubernetes: Tanzu มีเครื่องมือที่ช่วยให้การจัดการ Kubernetes Cluster ง่ายขึ้น ทั้งการตั้งค่า การดูแลรักษา และการเพิ่มประสิทธิภาพ

การ Deploy K8S ผ่าน YAML File

Tanzu Kubernetes Grid (TKG): ให้บริการ Kubernetes ที่พร้อมใช้งานและสามารถขยายขีดความสามารถได้ในสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น vSphere, Public Cloud, และ Edge

Tanzu Mission Control: เป็นโซลูชั่นที่ช่วยในการจัดการและการดูแลรักษา Kubernetes Cluster หลายๆ ตัวจากจุดเดียว

Tanzu Mission Control

Tanzu Observability: ช่วยให้สามารถตรวจสอบและวิเคราะห์ประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันและโครงสร้างพื้นฐานแบบเรียลไทม์

Tanzu Build Service: ช่วยในการสร้างและจัดการ Container Image ที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ

Tanzu Kubernetes Grid (multicloud) — vSphere:

ประโยชน์ของการใช้ VMware Tanzu

  • เพิ่มความเร็วในการพัฒนาแอปพลิเคชัน: ด้วยเครื่องมือที่ช่วยในการปรับใช้และจัดการแอปพลิเคชัน
  • ลดความซับซ้อนในการจัดการ Kubernetes: ด้วยการจัดการจากศูนย์กลางและเครื่องมือที่ช่วยให้การดูแลรักษาง่ายขึ้น
  • เพิ่มความเสถียรและประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน: ด้วยการตรวจสอบและวิเคราะห์ประสิทธิภาพแบบเรียลไทม์
  • ความปลอดภัยและการควบคุม: ด้วยการสร้าง Container Image ที่ปลอดภัยและการจัดการ Kubernetes Cluster อย่างมีประสิทธิภาพ

Last Year Camp (Sep 23 — Dec 23)

ทีมงาน Jumpbox มีโอกาสได้ผลักดัน Tech Community มาตลอด ชุมชน Cloud Native ครับ จึงเกิดแนวคิดที่จะจัด Camp ที่สอนพื้นฐานในโลกของ Cloud Native ให้กับทุกคน โดยรูปแบบการสอนมีทั้ง Online และ Onsite โดยมีเป้าหมาย

  • กลุ่มผู้เรียน: นักพัฒนาที่มีประสบการณ์ในการเขียนซอฟต์แวร์ แต่ไม่เคยเห็นการทำงานแบบ End to End โดยเฉพาะส่วนของ Infrastructure
  • กลุ่มคนย้ายสายงาน: ผู้ที่สนใจอยากรู้ว่า Cloud Native คืออะไร

สถิติใน The Cloud Camp

  • มีผู้สมัครเข้าร่วม 800 คน
  • เรียนจริง 200 คน
  • ผ่านการคัดเลือกเข้าแคมป์ 30 กว่าคน

กิจกรรมในแคมป์

วันที่สอง: เริ่มต้นด้วยการออกแบบสถาปัตยกรรม Cloud Design ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองเล่นเป็นเกมส์จริงๆ
ฝึก Basic Coding และปฏิบัติจริงในมุมของ Infrastructure
กิจกรรมออกแบบพิซซ่า โดยใช้ AGILE Metodology และ SCRUM Framework

นอกจากนี้ ผู้ที่ผ่านการอบรมยังได้รับเซอร์ติฟิเคชัน Cloud Camp (Practioner) และมีโอกาสสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรระดับ Associate อีกด้วย

Network & Database on Hybrid Multi-Cloud

ข้อดีของ Hybrid Cloud

  • เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ
  • กระจายความเสี่ยงจากการที่ Cloud บางส่วนล่ม
  • ยืดหยุ่น
  • เพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI)

IPSec VPN (Internet Protocol Security Virtual Private Network)

IPSec VPN เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในการสร้างการเชื่อมต่อแบบเข้ารหัสระหว่างอุปกรณ์สองตัวผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อความปลอดภัย

  • IPSec เป็นชุดของโปรโตคอลที่ใช้ในการเข้ารหัสข้อมูลและการตรวจสอบสิทธิ์ระหว่างการสื่อสาร
  • VPN เป็นเครือข่ายส่วนตัวที่สร้างขึ้นผ่านเครือข่ายสาธารณะ เช่น อินเทอร์เน็ต เพื่อให้การสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ปลอดภัย

ข้อดี:

  • รองรับหลายแพลตฟอร์ม
  • ราคาไม่แพง

ข้อเสีย:

  • ความเร็วของอินเทอร์เน็ตอาจช้า
  • ระบบอาจไม่เสถียร
  • ไม่มีการรองรับการสำรองข้อมูล (Redundancy)
  • รองรับ Bandwidth ได้สูงสุดเพียง 1 GB

Cloud Connect (Direct Connect)

Cloud Connect หรือ Direct Connect เป็นการเชื่อมต่อแบบสายตรงระหว่างเครือข่ายขององค์กรและผู้ให้บริการคลาวด์โดยไม่ผ่านอินเทอร์เน็ตสาธารณะ ซึ่ง:

  • ใช้สายเคเบิลใต้น้ำหรือวิธีการเชื่อมต่อที่คล้ายกัน

ข้อดี:

  • เสถียร
  • รองรับ Bandwidth สูง

ข้อเสีย:

  • ราคาแพง
  • ใช้เวลาติดตั้งนาน

SD-WAN (Software-Defined Wide Area Network)

เทคโนโลยีที่ใช้ซอฟต์แวร์ในการบริหารจัดการเครือข่าย WAN (Wide Area Network) ทำให้การเชื่อมต่อเครือข่ายระหว่างสำนักงานหรือสาขาต่างๆ มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี WAN แบบดั้งเดิมที่ใช้ฮาร์ดแวร์เป็นหลัก

ความเกี่ยวข้องกับ IPSec VPN

  • การเชื่อมต่อที่ปลอดภัย: SD-WAN สามารถใช้ IPSec VPN เพื่อสร้างการเชื่อมต่อที่ปลอดภัยระหว่างสำนักงานหรือสาขาต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต การใช้ IPSec VPN ใน SD-WAN ช่วยให้การรับส่งข้อมูลมีความปลอดภัยผ่านการเข้ารหัสข้อมูลและการตรวจสอบสิทธิ์
  • การบริหารจัดการที่ง่ายขึ้น: ด้วย SD-WAN ผู้ใช้สามารถบริหารจัดการการเชื่อมต่อ IPSec VPN ได้ง่ายขึ้นผ่านหน้าจอควบคุมแบบกลาง ไม่ต้องจัดการกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์หลายตัว

ความเกี่ยวข้องกับ Cloud Connect

  • การเชื่อมต่อกับบริการคลาวด์: SD-WAN ช่วยให้การเชื่อมต่อกับบริการคลาวด์ (เช่น AWS, Microsoft Azure, Google Cloud) เป็นเรื่องง่ายและรวดเร็ว โดยสามารถเลือกเส้นทางการเชื่อมต่อที่เหมาะสมที่สุดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดเวลาในการตอบสนอง (latency)
  • การเพิ่มประสิทธิภาพ: SD-WAN ช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างสำนักงานและบริการคลาวด์มีความเสถียรและปลอดภัยมากขึ้น โดยสามารถใช้เทคนิคต่างๆ เช่น dynamic path selection, load balancing และการเข้ารหัสข้อมูล

ประโยชน์ของ SD-WAN

  • การเพิ่มประสิทธิภาพ: SD-WAN ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับส่งข้อมูลผ่านการเลือกเส้นทางที่ดีที่สุดและการบริหารจัดการแบนด์วิธ
  • การลดต้นทุน: ลดต้นทุนในการใช้ MPLS โดยใช้การเชื่อมต่อผ่านอินเทอร์เน็ตที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า
  • ความยืดหยุ่น: รองรับการเชื่อมต่อกับเครือข่ายและบริการต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว
  • ความปลอดภัย: มีฟีเจอร์การเข้ารหัสข้อมูลและการตรวจสอบสิทธิ์ที่ช่วยให้การเชื่อมต่อมีความปลอดภัย

สรุปการใช้งาน

  • IPSec VPN เหมาะสำหรับการเชื่อมต่อที่ต้องการความปลอดภัยในราคาที่ไม่แพง แต่ต้องระวังเรื่องความเร็วและความเสถียร
  • Cloud Connect เหมาะสำหรับการเชื่อมต่อที่ต้องการความเสถียรสูงและ Bandwidth สูง แต่มาพร้อมกับค่าใช้จ่ายที่สูงและเวลาติดตั้งที่ยาวนาน
  • SD-WAN ช่วยเพิ่มความเสถียรและประสิทธิภาพของเครือข่าย โดยสามารถใช้ร่วมกับ IPSec, Cloud Connect เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

PROEN Cloud — PaaS

PROEN Cloud PaaS เป็นบริการคลาวด์ที่เน้นความสะดวกและความยืดหยุ่นในการใช้งาน โดยมีคุณสมบัติและบริการที่หลากหลายสำหรับ Developer, System Admin และ Enterprise

proen.cloud

การใช้งาน

PROEN Cloud PaaS ออกแบบมาเพื่อให้การเริ่มต้นและการจัดการงานได้สะดวกมากๆครับ โดยมีขั้นตอนคร่าวๆดังนี้:

  • ติดตั้งแอปพลิเคชัน เช่น WordPress, Magento, Grafana, และอื่นๆ
  • สร้างและจัดการ Virtual Machine
  • ตั้งค่า Load Balancer
  • ติดตั้งระบบป้องกันและรักษาความปลอดภัย
  • ทำการตรวจสอบและแจ้งเตือนการทำงานของระบบ
สร้างระบบนึงขึ้นมาง่ายๆเลยครับ มาทั้ง Web Server พร้อม Load Balancer, Database Server, File Server เลือกขนาดกันตามสะดวกเลย

รายละเอียดเชิงลึก

รองรับหลายภาษาในการรันไทม์: รองรับภาษาโปรแกรมต่างๆ เช่น Java, PHP, Ruby, .NET, Node.js, Python, และ GO Lang สามารถเพิ่มลดขนาดการใช้งานได้ง่าย และมีการจัดการ Nginx ให้โดยอัตโนมัติ เปลี่ยนเวอร์ชันของโปรแกรมได้ตามต้องการ

การจัดการฐานข้อมูล:รองรับการทำ Cluster ฐานข้อมูลได้อย่างง่ายดาย

เทคโนโลยี Container-based: ใช้เทคโนโลยี Container สำหรับการจัดการและรันแอปพลิเคชัน มี Kubernetes ให้บริการ

Marketplace: มี Marketplace สำหรับติดตั้งและใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ เช่น WordPress, Magento, Grafana, OpenFaaS, GitLab, Jenkins และอื่นๆ อีกมากมาย สามารถเลือกใช้งานแอปพลิเคชันจาก Docker Hub และ Marketplace ได้ตามต้องการ

CI/CD Integration: รองรับการทำงาน CI/CD ผ่าน GIT และมี Jenkins ให้บริการ

ความปลอดภัยระดับสากล: ได้รับการรับรองความปลอดภัยระดับสากล (CSA-STAR Certified)

รองรับการใช้งานหลายภูมิภาค: มีบริการในหลาย Regions ทั่วโลก

บริการ DevSecOps: มีการผสานการทำงาน DevSecOps ผ่าน Prisma Cloud

การป้องกันและการรักษาความปลอดภัย:มีระบบป้องกัน DDoS และ Security Firewall มี Free SSL & Automate Renewal จาก Let’s Encrypt

การตรวจสอบและการแจ้งเตือน: มี Built-in monitoring ครอบคลุมทั้ง Memory, CPU, Disk และ Application Performance Monitoring

การคิดค่าใช้จ่าย: คิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานเป็นรายชั่วโมง สามารถประเมินค่าใช้จ่ายบนระบบได้ทันที

Alumni Interview

หัวข้อสุดท้ายนี้สนุกมากครับ ทำให้รู้สึกอินและอยากเข้าไปเรียนกับโครงการ The Cloud Camp ทันที

ศิษย์เก่าจาก The Cloud Camp รุ่นที่แล้วครับ

ท่านใดที่สนใจ สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี้นะครับ

รู้จัก The Cloud Camp ได้อย่างไร

  • รู้จักคุณโจโจ้ Jumpbox ผ่านงาน Meetup
  • เจอปัญหา Container ใหญ่เกินไป เลยต้องการเพิ่มความรู้
  • เป็น Dev แต่ขาดประสบการณ์ทางด้าน Infra และเจอประกาศจาก Jumpbox Page เลยต้องการ Upskill ทางด้านนี้

ช่วยสายงานธุรกิจโรงงานได้อย่างไร

  • Product ในโรงงานมีเยอะมากๆครับ มี Resources ของแต่ละโรงงานเอง Dev จัดการยาก เช่น บางเครื่องเป็น Windows, บางเครื่องเป็น Linux
  • ได้เรียนรู้การจัดการ Resource ให้ดีขึ้น เช่น นำ Container มาใช้ ลดเวลาในการทำงานจากครึ่งชั่วโมงเหลือเพียง 10 นาที
  • ความรู้ที่เรียนได้นำไปสอนคนอื่น กลายเป็น Instructor
  • Tech Stack ที่ดีขึ้น ลดเวลางาน ทำให้ Focus งานอื่นๆ ได้มากขึ้น

ช่วยสายงาน Software House ได้อย่างไร

  • เจอปัญหาลูกค้าใช้ Windows Server เก่า และไม่สามารถใช้ Linux Container ได้
  • ต้อง Challenge ลูกค้าให้เชื่อมั่นใจการเปลี่ยน OS

Career Path การเติบโต

  • รู้กว้างขึ้นในเครื่องของ Infrastructure
  • เข้าใจคำศัพท์ใหม่ๆ ทำให้คุยกับทีม DevOps เข้าใจมากขึ้น

ความท้าทายที่เจอในแค้มป์

  • สิ่งที่เรียนสามารถเอาไปใช้ได้จริง
  • เรียนเข้มข้นมาก สอนจนกว่าจะจบเนื้อหา
  • Server Health Check ต้องปรับการ Check เพิ่มเรื่องการ Check Database และ Observability
  • โรงงานมีกังวลเรื่อง Security และ Policy ภายใน เช่น ห้ามต่อ Internet ต้อง Build Image ที่หน้างาน
  • ความปลอดภัยของ Opensource และ Modern Stack กังวลว่าจะมีปัญหากับ Product เลยใช้ Distroless Image เพิ่มความปลอดภัย
  • Use Case และการใช้งานคือสิ่งสำคัญในแค้มป์ มีการทำตัวอย่าง ทำให้เลิกกลัวในสิ่งที่ไม่รู้
  • ได้ Hard Skills เรื่องออกแบบระบบรองรับการขยายได้ ระบบไม่ล่ม
  • ได้ Soft Skills จาก Workshop ทำให้การทำงานร่วมกับทีมและสื่อสารได้ดีขึ้น รวมถึง Community ดีๆ
  • Activity Time = Recap ความรู้ที่ได้เรียนและแชร์กลับมาให้เพื่อนๆ
  • อย่าให้ 4 ปีในมหาวิทยาลัย มาจำกัดชีวิตที่เหลือของคุณในการทำงาน
ปิดท้ายด้วย Quiz Game สนุกๆครับ

สรุป

วันนี้ได้รับทราบเรื่องการจัดการกับ Network ในองค์กร, การใช้ Tanzu ในการจัดการ Infrastructure, นิยามของ Cloud Native ที่ช่วยให้เราดูแลระบบงานของเราให้รองรับกับความเปลี่ยนแปลงของการใช้งานของลูกค้าได้ดีขึ้นครับ

ได้รู้จักสามาคมโปรแกรมเมอร์ไทยและกิจกรรม Code Mania ที่กำลังจะจัดสิ้นเดือนนี้

โครงการ The Cloud Camp น่าเรียกมากๆเลยครับได้ทั้ง Hard Skills ทางด้าน Cloud Native และได้ Soft Skills ที่ทำให้เราทำงานกับทีมงานได้อย่างสนุกมากขึ้นครับ

“การเรียนรู้จะทำให้ชีวิตคุณดีขึ้น”

วันนี้สวัสดีครับ บายย

นายป้องกัน

--

--