Human and Planet — EP.1 Carbon Credit

Pokotuz Art
TakoDigital
Published in
2 min readMay 22, 2024

โลกเดือด คำพูดที่ได้ยินกันหนาหูมากในปี 2024 นี้ เพราะมันเกินกว่าโลกร้อนไปมาก และยังคงร้อนต่อไปเรื่อย ๆ หากมนุษย์โลกยังไม่หยุดพฤติกรรม“สะสมความร้อน”อันเป็นสาเหตุไปสู่การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทุกอย่างให้เลวร้ายยิ่งขึ้น

หนึ่งในพฤติกรรมที่มนุษย์สะสมความร้อนให้กับโลกก็คือ“การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์”ออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นี้คิดเป็น 72% ของก๊าซเรือนกระจก (Green house Gas) ที่ลอยขึ้นไปก่อตัวเป็นหลังคาขัดขวางไม่ให้ความร้อนระบายออกไปยังชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกเดือดอีกด้วย

https://timeforchange.org/cause-and-effect-for-global-warming/

แต่จู่ ๆ จะให้หยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไปในทันทีคงไม่ได้ เพราะพฤติกรรมมนุษย์นั้นถูกกำหนดด้วยระบบทุนนิยมไปเรียบร้อยแล้ว มนุษย์จึงคิดแผนการต่าง ๆ ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ หนึ่งในนั้นคือการตั้งเป้าหมาย Net Zero โดยมีการสร้างระบบ Carbon Credit เป็นกลไกไปสู่เป้าหมาย

ซึ่งบทความนี้จะ focus ไปที่ Carbon Credit แต่ก่อนจะไปทำความเข้าใจระบบนี้ อยากให้เห็นภาพรวมกันก่อน ว่าระบบนี้มีอะไรบ้าง ที่เกี่ยวข้อง

  • หน่วยงานดำเนินการ TGO
  • โครงการดำเนินการ T-VER, Premium T-VER
  • ผลประโยชน์ที่ได้รับ Carbon Credit
  • การใช้ผลประโยชน์ Carbon Market

TGO

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. หรือ TGO จัดตั้งโดยรัฐบาลเมื่อปีพ.ศ. 2550 เพื่อเป็นหน่วยการดำเนินงาน กำกับดูแล ประสานงาน กิจกรรมหรือโครงการต่าง ๆ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย Net Zero ของประเทศและโลก

T-VER

T-VER, Premium T-VER คือโครงการของหน่วยงาน TGO ที่สร้างมาเพื่อให้ผู้ที่สนใจจะสร้าง Carbon Credit ด้วยการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือกักเก็บก๊าซคาร์บอน มาลงทะเบียนและดำเนินการให้ถูกต้อง จะได้วัดผลและประเมินผล จนถึงได้รับ Carbon Credit กลับไป ซึ่งการทำโครงการนั้นจะต้องประกอบไปด้วย 3 ส่วนคือ ผู้พัฒนาโครงการ เจ้าของโครงการ ผู้ตรวจสอบ และยังแบ่งประเภทโครงการได้อีก 14 ประเภท

คู่มือแนวทางการพัฒนาโครงการ T-VER

Carbon Credit

Carbon Credit คือปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ลดหรือกักเก็บได้จากการดำเนินการ จะต้องได้รับการรับรองและบันทึกจาก TGO ก็คือต้องทำโครงการ T-VER ก่อนนั่นเองถึงจะได้ Carbon Credit กลับมา ซึ่งตัวเลขนี้เองที่จะใช้ในการซื้อขายกันระหว่างธุรกิจ ใครที่สร้าง Carbon Credit ได้เยอะก็ขายต่อให้กับคนที่ยังมี Carbon Credit ต่ำกว่ากฎเกณฑ์กำหนดได้

Carbon Market

Carbon Market ตลาดคาร์บอน มีไว้ทำการซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ในการบรรลุเป้าหมายขององค์กรที่กำหนดไว้ หรือเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้ผ่านเกณฑ์ตามกฎหมาย แบ่งออกเป็น 2 ตลาด

  • ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) ผู้ที่เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ซึ่งแปลว่าถ้าไม่ถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็ต้องมีบทลงโทษ
  • ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของผู้ประกอบการหรือองค์กรเพื่อเข้าร่วมซื้อขาย Carbon Credit ในตลาดด้วยความสมัครใจ ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย

กลไก

เร่ิมจากต้องมีกฎเกณฑ์หรือกฎหมายออกมาก่อน แล้วธุรกิจก็ดูว่าตัวเองอยู่ในข้อบังคับกฎหมายหรือไม่ หากอยู่ในกฎหมายบังคับก็ต้องเลือกว่าจะซื้อ Carbon Credit มาทำให้ตัวเองผ่านเกณฑ์กฎหมาย หรือผลิต Carbon Credit ซะเองเลยด้วยการลงทะเบียนกับ TGO เพื่อทำโครงการ T-VER (ลด/กักเก็บก๊าซคาร์บอน) หรือโครงการอื่น ๆ เพื่อให้ได้ Carbon Credit กลับมา ได้ทั้งผ่านกฎหมาย ได้ทั้งผลประโยชน์จากการขาย Carbon Credit

หากไม่อยู่ในเกณฑ์กฎหมายบังคับ แต่อยากเข้าร่วมกลุ่มตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ อาจจะด้วยเป้าหมายองค์กร หรือเพื่อผลประโยชน์อื่นก็ตามแต่ ก็สามารถลงทะเบียนกับ TGO เพื่อทำโครงการ T-VER หรือโครงการอื่น ๆ ได้เช่นกัน แล้วก็นำ Carbon Credit มาซื้อขายกันในกลุ่มตลาด

สรุป

กลไกนี้ ณ ปัจจุบันตลาดคาร์บอนภาคบังคับเองยังออกกฎหมายมารองรับไม่เรียบร้อย แต่หากมีแล้วกฎหมายจะเป็นตัวบังคับว่าธุรกิจนั้นต้องสร้าง Carbon Credit หรือซื้อมาให้ผ่านเกณฑ์ตามกฎหมาย จากตรงนี้เมื่อมีความต้องการ Carbon Credit แล้วตลาดก็เริ่มทำงาน โดยมีธุรกิจที่สร้าง Carbon Credit ได้เยอะพอที่จะขายให้ธุรกิจที่ต้องการ ทำให้ทุกฝ่ายถูกบังคับให้ปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยลงได้

และในตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจเองก็เช่นกัน เมื่อกลุ่มตลาดได้ออกกฎเกณฑ์ขึ้นมา ก็จะเกิดการซื้อขาย Carbon Credit ขึ้น และส่งผลให้ทุกธุรกิจในกลุ่มลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้น้อยลง

เพิ่มเติม

Net Zero

Net Zero หรือการตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้เป็น 0 นั้นของโลกตั้งไว้ที่ ลดการปล่อยให้ได้ครึ่งหนึ่งของปี 2010 ให้ได้ภายในปี 2030 และลดเหลือ 0 ที่ปี 2050 ส่วนของไทยเรานั้นตั้งเป้าไว้ที่ระยะกลางลดลงเพียง 20–25% ที่ปี 2030 และลดเหลือ 0 ที่ปี 2065

ซึ่งถามว่าทันมั้ย? ใช่ ทันที่โลกจะยังอาศัยอยู่ได้ แต่จะอยู่ได้แบบไหนก็ต้องรอดูกันต่อไป เพราะขนาดสมมุติวินาทีนี้เลยทั้งโลกทำ Net Zero ได้แล้วโลกก็ยังคงเดือดต่อไปอีก 25 ปีเป็นอย่างต่ำ

ขอให้ทุกท่านโชคดี ช่วยโลกใบนี้ไว้กันครับ

--

--