Scrum Master จะต้องโด๊ปยาให้ Developers หรือเปล่า

Amarit Ria
te<h @TDG
Published in
2 min readDec 20, 2021

ได้ชื่อว่าเป็น Scrum Master ก็ต้องอยากเห็นน้อง ๆ Developers ส่งมอบคุณค่าของผลิตภัณฑ์ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งให้น้อง ๆ มีความสุขในการทำงาน Scrum Master จึงต้องลงทุนลงแรง ควานหาสรรพวิชาที่จะทำให้น้อง ๆ เป็นคนใหม่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม

วันนี้มีโอกาสดี ได้ฟังหัวข้อ Secret Hormone to Motivate Your Agile Team (& Yourself) ในงาน Agile Tour Bangkok 2021 โดยคุณแมว Soontarin Wongsirikul Agile Coach ธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่ง

ตอนแรก คุณแมวถามผู้ฟังว่า สามสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราในที่ทำงานคืออะไร ผมตอบไปว่า ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และทำงานได้สำเร็จลุล่วง แต่ผลโหวตของคนทั้งห้อง อันดับแรกคือ ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตามมาด้วย ได้งานที่ท้าทายในระดับความยากง่ายเหมาะสม และสุดท้ายคือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ก็ยังถือว่าผมมีความคิดคล้าย ๆ คนส่วนมากในห้อง

แล้วคุณแมวก็ถามว่าระดับความง่ายในการสร้างแรงบันดาลใจให้ตนเอง กับสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมเป็นอย่างไรบ้าง คราวนี้ผลโหวตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมทำได้ยากกว่า

สอดคล้องกับหลักการข้อที่ห้าของ Agile Manifesto 2001 ที่ว่า

“Build projects around motivated individuals. Give them the environment and support they need, and trust them to get the job done.”

dopamine เป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง ที่เซลล์ประสาทไว้ใช้สื่อสารกัน ซึ่งสารนี้จะหลั่งถ้าสมองได้รับรางวัล

แล้วคุณแมวก็ให้ดูคลิปของหนูทดลองสองตัวที่ถูกดูด dopamine ออกไป ปรากฏว่ามันเฉื่อยชา ชักช้า ขนาดเอาอาหารมาจ่อใต้จมูกก็ยังไม่ค่อยอยากจะกิน ขณะที่เอาเจ้าสองตัวนี้ไปเติม dopamine มาใหม่ เทียบกับตัวที่ถูกดูด dopamine ออกไป พบว่าแตกต่างกันอย่างชัดเจน ตัวที่ถูกดูด dopamine ยังคงนอนเป็นผักอยู่ แม้ว่าตัวที่เติม dopamine มาแล้วจะพยายามเซ้าซี้ชักชวนยังไงก็ตาม ตัวที่ถูกดูด dopamine ยังคงนอนนิ่งไม่สนโลกต่อไป

ฟังแบบนี้ ทุกท่านอาจจะคิดว่าผมมาสัมมนาทางการแพทย์หรือเปล่า ต้องติดตามต่อไปครับ

หนูที่นอนเป็นผัก (ซ้าย) กับหนูที่ร่าเริงแจ่มใส (ได้รับ dopamine)

เมื่อเรารู้ถึงความสำคัญของ dopamine ขนาดนี้แล้วเราต้องหา dopamine มาฉีดให้ทีมเรากระนั้นหรือ ?

คุณแมวบอกว่า จริง ๆ มันมีวิธีการหลายอย่างที่กระตุ้น dopamine เช่น การหยุด แล้วหายใจเข้าลึก ๆ และกล่าววัตถุประสงค์ของการทำกิจกรรมนั้น ๆ ออกมา จะช่วยให้เราหลั่ง dopamine

อีกวิธีหนึ่งคือการที่เราเห็นงานสำเร็จ เช่น ตอนที่เราเลื่อนการ์ดไปไว้ที่ done นั่นเอง ดังนั้น ใครทำ ใครก็ได้ (dopamine) ไปนะครับ

การติด Thank You Sticker ให้เพื่อนร่วมงานก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ ถึงตอนนี้มีผู้ฟังท่านหนึ่งสงสัยว่า มันจะไม่ทำให้คนที่ไม่ได้ sticker รู้สึกแย่หรือ ทาง staff ก็เสนอวิธีคิดในมุมกลับว่า ถ้ามองว่ามันเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่ไม่ได้ sticker ปรับปรุงตัวเองขึ้นล่ะ ก็น่าคิดนะครับ

หรือการทำให้อยากรู้อยากเห็น แข่งขันกันหน่อย ๆ ก็กระตุ้น dopamine เช่นกัน (แน่นอนว่า ถ้ามากไป ฮอร์โมนความเครียดจะมาแทน)

Workshop ที่เราลองรับส่งลูกบอลกันในห้อง กระตุ้น dopamine เล็ก ๆ เพลงเร้าใจมาก

แต่สุดท้าย ทุกอย่างมีทั้งข้อดีข้อเสีย หากกระตุ้นมากจนเกินไป มันก็จะกลายเป็นอาการเสพติด และต้องเพิ่มขนาดขึ้นเรื่อย ๆ เพราะโดสเดิม ๆ เอาไม่อยู่ ดังนั้นพิจารณาความถี่ในการใช้งานให้เหมาะสมนะครับ

คุณแมวแนะนำว่าให้ลองทำหลาย ๆ วิธีกับทีม แล้วสังเกตว่าทีมเราต้องใช้แบบไหนถึงจะได้ผล ตรงนี้ผมคิดเอาเองว่าเหมือนกับ Empiricism ใน Scrum คือเน้นผลจากการทดลองปฏิบัติ ถ้า Scrum Master หรือคนที่ต้องนำทีม จะลองนำแนวคิดนี้ไปใช้ดูก็ได้ครับ แล้วมาบอกกันบ้างว่าเป็นอย่างไร

--

--