การผลิตข่าวสาร

จิตร์ทัศน์
Tech Text AW Archive
1 min readDec 17, 2018

ในแต่ละวันเวลาส่วนหนึ่งที่เราใช้หมดไปกับการบริโภคข่าวสาร

[บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548]

ในแต่ละวันเวลาส่วนหนึ่งที่เราใช้หมดไปกับการบริโภคข่าวสาร จะเป็นการรับชมโทรทัศน์ ฟังวิทยุ หรือจะเป็นการอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่เราจะสามารถเข้าถึงข่าวสารปริมาณมากมายได้ แต่ในทางกลับกัน อินเทอร์เน็ตยังเป็นสื่อกลางให้เราเปลี่ยนสถานะเป็นผู้ผลิตข่าวสารหรือความคิดเห็นเผยแพร่ให้กับสาธารณะได้เช่นเดียวกัน

การตั้งกระทู้ใน pantip.com หรือในกระดานข่าวสาธารณะเป็นรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยม อย่างไรก็ตามรูปแบบที่เน้นการสอบถามหรือสนทนาโต้ตอบเป็นหลักของกระดานข่าวก็สร้างข้อจำกัดบางอย่าง ซึ่งทำให้เกิดความลำบากในการการนำเสนอความคิดเห็นอย่างละเอียดโดยผ่านบทความที่มีความยาวมากกว่าปกติ

บันทึกบนเว็บ (Weblog) หรือเรียกสั้นๆ ว่า blog เป็นอีกรูปแบบหนึ่งกำลังเพิ่มความนิยมขึ้นเรื่อยๆ ลักษณะของ blog นั้นเป็นเหมือนสมุดบันทึกออนไลน์ของผู้ใช้คนใดคนหนึ่ง ที่ใครก็ได้สามารถเข้ามาอ่าน และแสดงความเห็น (ลองเข้าชม www.exteen.com หรือ www.bloggang.com) แม้รูปแบบของ blog อาจไม่ต่างจากไดอารีออนไลน์เท่าใดนัก แต่การฉีกกรอบของ “วันที่” และเรื่องราว “ส่วนตัว” ทิ้งไป ทำให้ blog แต่ละอันมีโอกาสเปลี่ยนสภาพไปเป็นคอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ได้ แน่นอน แนวโน้มที่ว่านี้ยังมีให้เห็นไม่มากนักสำหรับกลุ่มผู้ใช้หรือที่เรียกว่า blogger ในบ้านเราซึ่งยังคงใช้ blog ในการบันทึกเรื่องราวประจำวันส่วนตัวในลักษณะที่ไม่ต่างไปจากการใช้ไดอารี เช่นเรื่องการไปเที่ยวกับเพื่อน หรือการตกหลุมรัก-อกหัก หรือเรื่องราวกระทบกระทั่งกับเพื่อนร่วมงาน

อย่างไรก็ตาม หลายครั้งทีเดียวที่พบว่า blogger เหล่านี้ได้บันทึกเหตุการณ์สาธารณะที่เขาได้พบเจอหรือสิ่งที่สนใจไว้อย่างละเอียด ยิ่งในกรณีที่เป็นกิจกรรมที่ blogger หลายคนได้เข้าไปมีส่วนร่วม เนื้อหาที่แต่ละคนเขียนบันทึกไว้ก็แสดงให้เห็นแต่ละแง่มุมของสิ่งที่เกิดขึ้น รวมถึงความรู้สึกและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน สำหรับในกรณีนี้ blogger เองก็กำลังทำหน้าที่ไม่ต่างไปจากนักข่าวเท่าใดนัก แม้ว่าเนื้อหาที่พวกเขาสนใจนั้นอาจจะมิได้อยู่ในความสนใจของคนส่วนใหญ่ แต่เราก็น่าจะคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตถ้ากลุ่ม blogger ขยายตัวขึ้น ข่าวสารที่รายงานผ่านการบันทึกของ “นักข่าวบ้านๆ” เหล่านี้ น่าจะสร้างผลกระทบบางอย่างให้เกิดขึ้นในโลกภายนอกได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นมาบ้างแล้วในต่างประเทศ

นอกจากการเขียนบันทึกแล้ว ในอินเทอร์เน็ตยังมีโครงการสารานุกรมออนไลน์เช่น wikipedia (หรือ th.wikipedia.org สำหรับฉบับภาษาไทย) ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ได้เข้าไปเขียนหรือแก้ไขบทความ ในปัจจุบันฉบับภาษาอังกฤษมีบทความเกินกว่าหนึ่งแสนบทความ (ส่วนฉบับภาษาไทยนั้นจำนวนบทความเกือบจะถึงหนึ่งพันบทความแล้ว) เป้าหมายของโครงการนี้ก็เพื่อจะเป็นฐานความรู้แบบสาธารณะอย่างแท้จริง แน่นอนว่าความน่าเชื่อถือโดยรวมของบทความในสารานุกรมแบบใครเขียนก็ได้นั้น ในปัจจุบันนี้คงไม่สามารถเทียบเท่ากับสารานุกรมที่อาศัยความรู้จากนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ (ซึ่งอาจเข้ามาเขียนเนื้อหาใน wikipedia โดยตรงด้วยเช่นกัน) แต่นักสารานุกรมสมัครเล่นเหล่านี้หลายคนก็ทุ่มเทและมีเป้าหมายที่จะเขียน-ปรับปรุงเนื้อหาโดยพยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ที่พวกเขามีเสมอๆ ประกอบกับระบบที่พร้อมจะรับการตรวจสอบและแก้ไขตลอดเวลาจึงทำให้หลายคนเชื่อว่าข้อมูลที่มีใน wikipedia นั้นกลับจะมีข้อได้เปรียบในเรื่องของความทันสมัยและความถูกต้องมากกว่าสารานุกรมธรรมดา

โครงสร้างของอินเทอร์เน็ตนั้นเอื้อต่อกิจกรรมแบบมวลชน “นักข่าวสมัครเล่น” และ “นักวิชาการสมัครเล่น” ที่กล่าวมาก็อาจเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกิจกรรมในอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในอินเทอร์เน็ตซึ่งได้แสดงอำนาจทำลายล้าง “เส้นกั้น” หลายๆ รูปแบบมาแล้ว แน่นอนคำถามหลักต่อกิจกรรมเหล่านี้ก็คงไม่พ้นเรื่องความน่าเชื่อถือ แต่คำถามเหล่านี้เมื่อมองย้อนกลับไปเป็นคำถามที่ว่า “แล้วความเป็นนักข่าว หรือความเป็นนักวิชาการคืออะไร?” ก็กลายเป็นคำถามที่วิ่งเข้าใส่วิชาชีพต่างๆ เหล่านั้นด้วยเช่นเดียวกัน

[ต้นฉบับบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548 ก่อนการแก้ไขจากกองบรรณาธิการ]

--

--