การแข่งขัน -> สิ่งที่ดีกว่า?

จิตร์ทัศน์
Tech Text AW Archive
1 min readDec 15, 2018

เมื่อเราไปตลาดหรือในบริเวณที่ขายของลักษณะเดียวกัน เรามักพบว่าร้านรวงต่างๆ นั้นต่างตั้งราคาสินค้าไว้ใกล้เคียงกันราวกับได้นัดแนะกันมา

[บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548]

เมื่อเราไปตลาดหรือในบริเวณที่ขายของลักษณะเดียวกัน เรามักพบว่าร้านรวงต่างๆ นั้นต่างตั้งราคาสินค้าไว้ใกล้เคียงกันราวกับได้นัดแนะกันมา ราคาที่ใกล้เคียงกันนี้มักเกิดมาจากสงครามแย่งลูกค้าซึ่งช่วยทำให้ราคาสินค้าในย่านนั้นถูกกว่าที่ขายกันในบริเวณอื่นๆ ด้วยสาเหตุนี้ คนที่นิยมความคุ้มค่าก็เลยมักจะถ่อไปซื้อของถึง “แหล่ง”

ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วินที่กล่าวว่า “ผู้แข็งแรงที่สุดย่อมเป็นผู้ที่อยู่รอด” นั้น มักถูกนำมาปรุงแต่งเสียใหม่ เพื่อใช้สร้างความชอบธรรมของการแข่งขันในตลาด ผู้บริโภคโดยทั่วไปเชื่อว่าระบบตลาดจะทำให้เขาได้สินค้าที่มีคุณภาพดีและราคาถูกที่สุด ทั้งนี้เนื่องจากความกดดันของการ “ต้องรอด” ทำให้ผู้ผลิตทั้งหลายต่างขวนขวายกันผลิตคิดค้นสินค้าและบริการใหม่ๆ ขึ้นมา พร้อมกับพยายามลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้มีราคาขายที่แข่งขันกับผู้ผลิตรายอื่นๆ ได้ ดังนั้นข้อสรุปที่จะได้ยินบ่อยๆ ก็คือผู้บริโภคอย่างเราควรจะนอนสบายใจได้ว่า ถ้าของที่ซื้อนั้นอยู่ในระบบตลาดที่มีการแข่งขันกันแล้ว “มือที่มองไม่เห็น” จะทำให้เราได้ของที่ดีที่สุดเสมอ

นั่นอาจเป็นเพราะว่าเราถือว่า “ผู้ผลิตที่แข็งแรงที่สุด = สินค้าที่ดีที่สุด” แม้ว่าผู้ครองตลาดรายเดิมเป็นใครก็ตาม ถ้าเกิดมีผู้ผลิตรายใหม่ที่ผลิตสินค้าได้มีคุณภาพมากกว่า ผู้ผลิตรายนั้นก็จะแย่งตลาดไปได้ในที่สุด แต่บางครั้งข้อสรุปนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเสมอไป การพิจารณารายละเอียดของต้นทุนที่ใช้ในการผลิตสินค้าอาจทำให้เราเห็นภาพที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกอ้างถึงบ่อยๆ ก็คือกรณีของการผลิตดินสอ วัตถุดิบในการผลิตดินสอแท่งหนึ่งอาจมีมูลค่าไม่เกิน 5 บาท แต่ถึงจะมีเงินเรา 100 บาท เราก็คงไม่สามารถผลิตดินสอออกมาได้สักแท่ง ทั้งนี้เพราะว่าต้นทุนการผลิตดินสอนั้นนอกจากจะมีต้นทุนจากวัตถุดิบที่ใช้ทำดินสอแต่ละแท่งแล้ว ยังมีส่วนที่เรียกว่าต้นทุนคงที่อยู่ เช่นค่าเครื่องจักรหรือค่าโฆษณา ต้นทุนคงที่นี้มีราคาสูงกว่าราคาดินสอแท่งหนึ่งมาก อย่างไรก็ตามถ้าเราผลิตดินสอจำนวนมากๆ ผู้ผลิตก็สามารถกระจายต้นทุนนี้ไปให้กับผู้ซื้อดินสอแต่ละแท่งแบกรับภาระได้

ลักษณะเช่นนี้ก็ไม่ต่างจากต้นทุนของบริษัทผลิตสินค้าล้ำสมัยทั้งหลาย รวมถึงผู้ผลิตซอฟต์แวร์ด้วยเช่นกัน ศูนย์วิจัยและพัฒนาของแต่ละบริษัทต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้มักเป็นหน้าที่ (ทางอ้อม) ของผู้ซื้อรายย่อยที่จะต้องช่วยๆ กันรับผิดชอบ จุดนี้นี่เองที่บริษัทใหญ่ที่มีลูกค้าเยอะได้เปรียบบริษัทเล็ก ลองคิดดูง่ายๆ ว่าถ้าต้นทุนในการวิจัยอยู่ที่หนึ่งล้านบาท บริษัทที่มีลูกค้าหนึ่งแสนคนสามารถแบ่งปันภาระให้ลูกค้าคนละสิบบาท ในขณะที่บริษัทที่มีลูกค้าหนึ่งพันคนจำเป็นต้องเรียกเก็บเงินลูกค้าถึงคนละหนึ่งพันบาท

ดังนั้นในตลาดที่แข่งขันกันด้วยราคา บริษัทที่ถือครองส่วนแบ่งตลาดที่มากกว่า จึงมักได้เปรียบบริษัทเล็กอย่างแน่นอนในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ นอกจากเงินที่ใช้ไปเพื่อเพิ่มคุณภาพของสินค้าแล้ว เงินจำนวนมากเช่นกันถูกใช้ในการประชาสัมพันธ์รวมถึงการลดแหลกแจกแถม ต้นทุนตรงนี้ก็นับว่าเป็นต้นทุนคงที่เช่นเดียวกัน ในขณะที่บริษัทใหญ่ๆ สามารถประโคมข่าวพร้อมกับแจกโปรโมชั่นกันโครมครามด้วยเศษเงินกำไรของแต่ละปี บริษัทเล็กๆ อาจต้องหาทางอื่นในการประชาสัมพันธ์สินค้าตนเองเพื่อพอให้เหลือไว้ใช้พัฒนาสินค้าบ้าง

ด้วยเม็ดเงินที่มากกว่าในการลงทุนวิจัยและพัฒนา จึงมีคนสรุปว่าบริษัทใหญ่ๆ นี่เองจะที่เป็นแกนนำในการพัฒนาด้านเทคโนโลยี และเงื่อนไขเบื้องต้นที่สำคัญก็คือต้องเป็นผู้ครองตลาดส่วนใหญ่ ถ้ายิ่งเป็นผู้ที่ผูกขาดตลาดไว้ได้ก็ยิ่งทำให้มีศักยภาพมากขึ้น ถ้าจะมองในแง่นี้ก็คล้ายกับว่าผู้ใช้ทุกคนรวมทุนกันเพื่อจ้างบริษัทยักษ์ใหญ่นี้เป็นผู้ที่พัฒนาสินค้าให้ การที่ทุกคนร่วมมือร่วมใจกันสนับสนุนบริษัทเดียวก็ทำให้เงินไม่กระจัดกระจายไปหลายๆ ที่ การที่มีผู้วิจัยและพัฒนาอยู่ที่เดียวก็เป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนด้วย

เราอาจไม่ชอบการผูกขาด แต่ถ้าเราได้มองย้อนกลับไปยังช่วงเวลาก่อนหน้าที่บริษัทใดๆ จะเข้ามาครองตลาดได้ แน่นอนบริษัทที่ได้ชัยชนะไปนั้น (ถ้าไม่ใช้อำนาจผ่านทางกฎหมายพวกสัมปทานแล้ว) ย่อมจะต้องอาศัยความสามารถในการผลิตคิดค้นอะไรแปลกใหม่ จึงจะทำให้ได้กลุ่มผู้ใช้จำนวนมากได้ ในแง่นี้การที่บริษัทจะมีสิทธิพิเศษอื่นๆ จากการผูกขาดบ้าง ก็น่าจะเป็นสิ่งที่ชอบด้วยเหตุผลแล้ว

อย่างไรก็ตามภาวะที่มีการผูกขาดมักไม่เป็นที่พึงประสงค์ ทั้งนี้เนื่องจากจะทำให้บริษัทมีอำนาจในตลาดมากเกินไปซึ่งทำให้บริษัทสามารถกำหนดราคาขายที่ทำให้บริษัทได้กำไรสูงที่สุดได้ โดยราคานี้จะไม่ขึ้นต่อต้นทุนจริงๆ เลย และในเชิงการแข่งขันแล้วนอกจากบริษัทจะได้ประโยชน์จากการกระจายต้นทุนคงที่แล้ว ผู้ที่ครอบครองตลาดยังสามารถสร้างกำแพงกีดกันคู่แข่งรายอื่นได้ไม่ยากนัก ความได้เปรียบดังกล่าวอาจทำให้การแข่งขันนั้น ให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคก็เป็นได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทอาจชะลอการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ถ้าเห็นว่าสินค้าตัวเก่ายังสามารถขายได้อยู่ เป็นต้น

ขอยกตัวอย่างในบางกลุ่มธุรกิจ เช่น ในกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์นั้น แม้ว่าลักษณะเฉพาะตัวของซอฟต์แวร์จะทำให้บริษัทไม่สามารถหยุดการพัฒนาสินค้าได้ (เนื่องจากจะขาดรายได้จากการขายซอฟต์แวร์รุ่นใหม่) แต่เราแน่ใจได้หรือว่าบริษัทนั้นส่งสิ่งที่ดีที่สุดมาให้กับเราในราคาที่คุ้มค่าที่สุด เราแทบจะไม่มีทางทราบได้เลย

คำถามที่เราต้องตอบก็คืออะไรคือขอบเขตที่เหมาะสมของอำนาจการผูกขาดและมีวิธีที่จะคานอำนาจนี้หรือไม่ หรือสุดท้ายแล้วเราคงจะต้องนอนนิ่งกินสิ่งที่เขาเลือกมาให้ เป็นไปไม่ได้เลยหรือที่จะมีระบบที่ช่วยให้บริษัทที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีกว่าสามารถเข้ามาแข่งขันในตลาดได้อย่างเสมอภาค หรือว่าปัญหาทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากระบบตลาดเสรี ถ้าเป็นเช่นนั้นเรามีทางเลือกอื่นเหลืออยู่หรือไม่?

[ต้นฉบับบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548 ก่อนการแก้ไขจากกองบรรณาธิการ]

--

--