ความสัมพันธ์

จิตร์ทัศน์
Tech Text AW Archive
1 min readDec 17, 2018

ถ้ามองสังคมทั้งระบบแล้ว เราก็เป็นเพียงแค่ฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง หรือถ้าให้สังคมเป็นมนุษย์หนึ่งคน เราก็คงจะเป็นได้แค่เซลบางเซลเท่านั้นเอง

[บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548]

ถ้ามองสังคมทั้งระบบแล้ว เราก็เป็นเพียงแค่ฟันเฟืองชิ้นเล็กๆ ชิ้นหนึ่ง หรือถ้าให้สังคมเป็นมนุษย์หนึ่งคน เราก็คงจะเป็นได้แค่เซลบางเซลเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม สิ่งเล็กๆ เช่นฟันเฟืองหรือเซลในร่างกาย เมื่อมารวมกันแล้วกลับกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายและความสลับซับซ้อนมากขึ้นมาได้ ทั้งนี้อาจเนื่องมาจากความสัมพันธ์ระหว่างชิ้นส่วนเล็กๆ เหล่านั้น

ผู้คนทุกยุคทุกสมัยต่างต้องมีความเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยกับข้อมูลต่างๆ อย่างไรก็ตามรูปแบบที่ใช้ในการจัดระบบข้อมูลก็ทำให้ผู้คนมีมุมมองต่อข้อมูลข่าวสารที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น หลายคนกล่าวว่าการฟังวิทยุ หรือชมโทรทัศน์ที่เป็นการสื่อสารทางเดียวทำให้คนมีลักษณะเป็นผู้รับข่าวสารที่เฉื่อยชา การนำ SMS เข้ามาใช้เพื่อทำให้รายการโทรทัศน์มีการโต้ตอบกับผู้ใช้มากขึ้นก็น่าจะช่วยให้ผู้ชมนั้นมีความกระตือรือร้นในการรับรู้ข่าวสารมากขึ้น (แต่นั่นไม่จำเป็นต้องหมายความว่าผู้ชมจะต้องมีวิจารณญาณมากขึ้นเลย)

แล้วอะไรเป็นลักษณะที่โดดเด่นที่สุดของรูปแบบการรับข่าวสารผ่านทางอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน?

ในทะเลของตัวหนังสือที่เราอ่านบนเว็บ สิ่งที่แทรกอยู่ในนั้นก็คือลิ้งค์ หรือการเชื่อมโยง ที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเนื้อความที่เราอ่านอยู่ กับเนื้อความอื่นๆ จริงๆ แล้วการเชื่อมโยงเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ หากแต่เป็นสิ่งที่กระทำกันมานานแล้วในแวดวงวิชาการ ทั้งนี้เนื่องจากในบทความวิชาการต่างๆ ก็จะต้องมีการระบุบทความที่มีการอ้างอิงถึงอย่างชัดเจน แต่สิ่งที่ระบบคอมพิวเตอร์นำมาให้กับเราก็คือความสามารถในการเรียกเนื้อหาที่เกี่ยวข้องนั้นให้มาปรากฏบนจอได้ในทันที

“ความทันทีทันใด” นี่เองเป็นสิ่งที่ขับให้การเชื่อมโยงนั้นชัดเจนมากยิ่งขึ้นในความรู้สึกของผู้อ่าน ถ้าจะเปรียบเทียบกันแล้ว การอ้างอิงในบทความหรือหนังสือก็เหมือนกับการเอ่ยถึงสถานที่หนึ่งขึ้นมาลอยๆ ถ้าผู้อ่านไม่เคยไปสถานที่นั้นแล้ว ก็คงจะนึกภาพอะไรไม่ค่อยออก แต่การเชื่อมโยงในหน้าเว็บนั้น เหมือนกับการที่เราพูดถึงสถานที่ใดขึ้นมาพร้อมกับเปิดประตูพาเข้าไปเยี่ยมชมได้ในเวลานั้นเลย

ความสามารถในการเชื่อมโยงนี้ทำให้ในหลายๆ ครั้ง เมื่อค้นหาอะไรบางอย่างในอินเทอร์เน็ต เรามักได้ข้อมูลเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่คาดไว้แต่แรกเสมอๆ ยิ่งไปกว่านั้นเรายังพบว่าบางทีในการคลิ้กไปคลิ้กมาบนบราวเซอร์นั้น ข้อมูลหลักที่เรารับมาก็มีเพียงแค่การเชื่อมต่อกันไปมาของคำต่างๆ ในหน้าเว็บเท่านั้นเอง นั้นก็คือ ในโลกไซเบอร์ ความสัมพันธ์ระหว่างคำสำคัญในหน้าเว็บนั้นกลับมีความหมายมากกว่าเนื้อหาของแต่ละหน้า

แต่นี่ก็อาจไม่ใช่สิ่งแปลกประหลาดใดๆ ทั้งนี้เมื่อเราพิจารณาสิ่งต่างๆ รอบตัว เราจะพบว่าเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ทุกๆ มิติของการเชื่อมต่อในชีวิตประจำวันของเรานั้น เป็นไปได้สะดวกมากขึ้น เราสามารถติดต่อกับใครก็ได้ ในเวลาใดก็ได้ และในสถานที่ใดก็ได้ และหลายๆ ครั้งสิ่งเราจำได้ภายหลังการติดต่อเหล่านั้น ก็คือ “การได้ติดต่อ” เท่านั้น โดยที่เนื้อหาของการพูดคุยนั้นเป็นเพียงแค่ฉากหลัง

ลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับทิศทางบางอย่างในปัจจุบัน ที่บางครั้งมองว่า “ความสัมพันธ์” หรือ “การได้ติดต่อ” นั้นสำคัญกว่า “เนื้อหาเฉพาะด้าน” ทั้งในด้านการศึกษาที่เน้นให้ผู้เรียนมีความเข้าใจแบบเป็นองค์รวม หรือในการที่หลายคนเลิกต้องการผู้บริหารที่มีความสามารถเฉพาะด้านแต่กลับพุ่งความต้องการไปที่ผู้บริหารที่มีความสามารถในการเชื่อมต่อหรือประสานคนที่มีความชำนาญหลายๆ ด้านเข้าด้วยกันได้

นี่อาจเป็นความหมายของสังคมที่เรียกกันว่า “สังคมยุคการเชื่อมต่อ” ก็เป็นได้

[ต้นฉบับบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548 ก่อนการแก้ไขจากกองบรรณาธิการ]

--

--