ความเป็นธรรมชาติ

จิตร์ทัศน์
Tech Text AW Archive
1 min readDec 16, 2018

นักดาบสมัยก่อน: กำให้กระชับและสัมผัสผิวของด้ามดาบ — — อุปกรณ์ชี้เป็นชี้ตายในเวลาสำคัญ — — ตำแหน่งของต้นกล้วยที่ฟาดฟันลงไปคือจุดที่ตั้งใจไว้

[บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548]

นักดาบสมัยก่อน: กำให้กระชับและสัมผัสผิวของด้ามดาบ — — อุปกรณ์ชี้เป็นชี้ตายในเวลาสำคัญ — — ตำแหน่งของต้นกล้วยที่ฟาดฟันลงไปคือจุดที่ตั้งใจไว้ ขาดสะบั้น เสียงสั้นดังฉับ เหงื่อที่ไหลนั้นหยดเข้าตา ทุกวินาทีสำคัญเท่าเทียม ความเจ็บที่เคยได้รับจากการกระพริบตาเมื่อครั้งก่อน ไอ้แดงมันไม่เคยยอมให้ ไม้ท่อนนั้นฟาดมาที่หน้า ตามด้วยตีนมากมายจนนับไม่ถ้วน ไม่อยากจะคิดถ้าเปลี่ยนจากไอ้แดงเป็นคนอื่น เปลี่ยนจากสันไม้กลายเป็นคมดาบ คงต้องฝึกมากขึ้นอีก ใจกับดาบ ดาบกับกาย แม้ขณะถือดาบก็มิได้รู้สึกว่าถือดาบ ดาบกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย

คนขับรถ: มีคนบอกว่าถ้าจะทำอะไรก็อย่าลืมให้ไฟสัญญาณ — — รถคันข้างๆ นั่น ดูซิ เบียดเข้ามาอีกแล้ว ช้าหน่อยดีกว่า ให้เขาแซงไปก่อน — — ข้างหลังมองแล้วดูว่างๆ รถคันถัดไปอยู่ไกลประมาณสองสามร้อยเมตร นี่ก็จะสิบโมงแล้วน่าจะไปไม่ทัน เดี๋ยวต้องไปสอนเพื่อนขับรถอีก จำไม่ได้เหมือนกันว่าตอนเร่งตอนเลี้ยวนี่ต้องเหยียบเท้าอะไรก่อนอะไรหลัง หรือว่าเวลาเปลี่ยนเลนต้องทำอะไรบ้าง แต่ถ้าอธิบายเป็นขั้นเป็นตอนมาขับจริงๆ มันจะจำได้อย่างไร — — นั่น, มีคนปาดมาอีก ข้างหน้าเบรก ต้องเปลี่ยนเลนหลบ ข้างหลังไม่มีใคร หันขวาดูไม่มีรถโผล่มา เบรกนิดนึง บิดพวงมาลัย โอ้! โล่งแล้ว — — แล้วจะไปสอนคนอื่นได้ยังไง เดี๋ยวให้ขับวนไปวนมาก่อนดีกว่า ขับไปขับมามันก็ชินไปเอง พอคล่องแล้วคิดจะให้รถไปทางไหนมันก็ไหลไปตามใจได้เอง

คนล้ำสมัยทั่วไป ใช้มือถือ ใช้ PDA: “นี่ตัดสินใจหน่อยว่จะเอายังไง ตารางฉันยุ่งนะเฟ้ย” กด PDA ดูตารางเวลาเปลี่ยนไปมา หูข้างซ้ายฟังเพลง MP3 ที่เล่นไปด้วยในเครื่อง PDA หูข้างขวาใช้คุยโทรศัพท์ ในหน้าจอเล็กนั้นมีสัญลักษณ์ e-mail กระพริบ เขากดเข้าไปอ่าน — — ส่งมาแล้ว รายการซีดีเพลงชุดใหม่ ไหนลองฟังหน่อย — — เสียงจากโทรศัพท์ “เอาเป็นศุกร์เช้าแล้วกัน” — “ได้ ได้” พร้อมกับบันทึกเวลานัดนั้นลงไป “ไว้เจอกัน” แล้วก็กดวางโทรศัพท์ ทางซ้ายมีคนมองมา ฟังเพลงอยู่เหมือนกันนี่ ท่าทางอยากจะ jack ยิ้มและพยักหน้า ก่อนเดินเข้าไปหา เอาแจ็กหูฟังที่รับมาเสียบลงในช่องและยื่นของตนเองไปให้เพื่อจะได้แลกกันฟัง อืม.. เพลงเพราะดี — “ขอ copy ไว้ได้ไหม” — “ไว้ส่งให้แล้วกัน” — “งั้นเอา e-mail มาสิ แล้วจะส่งไปหา” — “ได้” — — โทรศัพท์ดังขึ้นอีกครั้ง “เมื่อไหร่จะมาถึง?” — “เนี่ยะลงรถไฟฟ้าแล้ว” — — โบกมือให้กับเพื่อนใหม่ก่อนเดินออกจากรถไป

ถ้ามองดูให้รอบตัว เรามีอุปกรณ์เครื่องใช้แบบที่พกติดตัวอยู่มากมาย นับกันไปได้ตั้งแต่เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงรองเท้า แต่คงมีไม่กี่ชิ้นที่มีความสลับซับซ้อนในการใช้งานเทียบเท่ากับโทรศัพท์มือถือหรือเครื่อง PDA ในวันนี้ที่แนวโน้มในการพัฒนาอุปกรณ์คำนวณเปลี่ยนไป จากที่เมื่อก่อนเราเป็นฝ่ายที่ต้องเรียนรู้เพื่อจะได้ใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์คอมพิวเตอร์ได้อย่างถูกต้อง กลายเป็นว่าพวกมันกลับค่อยๆ คืบคลานเข้ามาในชีวิตของเราเอง โดยไร้ร่องรอย

อุปกรณ์เหล่านี้ในเบื้องต้นอาจทำให้เราอึดอัดและมีหลายๆ อย่างที่เราต้องเรียนรู้ แต่เมื่อมันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตแล้วทุกอย่างก็คงจะราบรื่น เราจะใช้งานพวกมันได้โดยไม่ต้องคิดอะไร เพราะว่ามันเป็นไปโดยอัตโนมัติ ในลักษณะเช่นเดียวกับนักเทนนิสฝีมือดีที่สามารถ “เลือก” ได้ว่าจะให้ลูกวิ่งไปในทิศทางใดโดยไม่ต้องมีการคิดคำนวณใดๆ เลย สิ่งที่เขาต้องมีในหัวก็คือ “เป้าหมาย” หรือความต้องการที่ชัดเจน จากนั้นมือ — สายตา — และกล้ามเนื้อต่างๆ ก็ขยับปรับตัวไปโดยธรรมชาติเพื่อกระทำสิ่งที่ต้องการให้สำเร็จ

ความเป็นธรรมชาตินี้เองที่เป็นสิ่งสำคัญในการจะบอกว่าเทคโนโลยีนั้นจะอยู่หรือจะไป ผู้ผลิตรายใดทำให้เกิดความเป็นธรรมชาติในการใช้งานสินค้าตนได้ก่อนก็ย่อมจะเป็นผู้ที่ได้เปรียบ อย่างไรก็ตามการที่เรียกลักษณะดังกล่าวว่าความเป็นธรรมชาตินั้นก็ไม่ถูกเท่าใดนัก เพราะว่ามันล้วนแต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมาทั้งนั้น

มีวิธีการสร้างความเป็นธรรมชาติที่ทำได้ไม่ยากนักก็คือ การทำให้คนจำนวนมากใช้อุปกรณ์นั้น ลองนึกถึงเด็กเดินไปรบเร้าพ่อแม่จะเอาของเล่นบางชิ้น ที่เพื่อนล้วนมีกันไปหมดแล้ว แนวคิดหลักของการใช้กลุ่มคนดึงดูดผู้ใช้ก็คงไม่แตกต่างกันนัก เพียงแต่คราวนี้ทั้งเด็กที่งอแงและผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลกลับกลายเป็นคนคนเดียวกัน ทำให้การทะเลาะและสั่งสอนจึงเกิดขึ้นภายในหัวของผู้ซื้อ (หรือกำลังจะซื้อ) เท่านั้น

อย่างไรก็ตามความเป็นธรรมชาติของกิจกรรมบางอย่างเป็นไปได้เพราะตัวของอุปกรณ์เองด้วย ยกตัวอย่างเช่นกิจกรรม “jacking” ที่ได้กล่าวถึงในบทบรรยายตอนต้น ที่ผู้ใช้เครื่องเล่นเพลงสองคนแลกเพลงกันฟัง เป็นเทรนใหม่สำหรับผู้ใช้เครื่องเล่นเพลง iPod ของ Apple พวกเขากล่าวว่าหูฟังสีขาวอันเป็นเอกลักษณ์ของ iPod ทำให้สังเกตได้ว่าใครเป็นผู้ใช้อุปกรณ์นี้ และช่วยทำให้การพบปะคบหาสมาคมกับคนที่ไม่รู้จัก เป็นไปได้ง่ายขึ้น

ถ้าเรามองกันแคบๆ แค่เรื่องประโยชน์ใช้สอยของอุปกรณ์ เรื่องดังกล่าวก็คงจะเห็นแค่ว่าเครื่องเล่นดนตรียุคใหม่ทำให้ผู้คนเชื่อมต่อกันง่ายขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากอุปกรณ์ดังกล่าวบอกรสนิยมของผู้ใช้ คนที่ใช้อุปกรณ์ของ Apple ในโลกที่ PC อื่นๆ ครองตลาด ย่อมเป็นคนที่ไม่เหมือนใคร และน่าจะเป็นคนที่คบหากันได้ อย่างไรก็ตามถ้าเรามองกันให้ลึกอีกนิด เราอาจเริ่มสงสัยว่า ทำไมการ jacking นั้นไม่เกิดกับอุปกรณ์เล่นเพลงพกพาประเภทอื่นๆ ที่มีขายกันเกลื่อน แต่ต้องเป็นเฉพาะ iPod สุดเท่เท่านั้น?

ถ้าเราลองไปดูราคาของเครื่อง iPod เราอาจพบคำตอบที่ดูแล้วไม่อบอุ่นอย่างที่หลายคนคาดเอาไว้คิด เครื่อง iPod นั้นมีราคาแพงมาก คนที่จะไปหาซื้อมาได้ คงไม่ใช่คนเดินดินธรรมดา ระดับหรือคลาสของผู้ใช้ที่สูงขึ้นนั้น รับประกันอะไรหลายๆ อย่าง เช่น ความปลอดภัยจากการโดนขโมย iPod หรือทรัพย์สินอื่นๆ และอาจรวมไปถึงความคุ้มค่าของเวลาที่จะทำความรู้จักกันด้วย

[ต้นฉบับบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548 ก่อนการแก้ไขจากกองบรรณาธิการ]

--

--