อำนาจในการเลือก

จิตร์ทัศน์
Tech Text AW Archive
1 min readDec 17, 2018

เป็นเรื่องปกติในวันนี้ ถ้าเราขึ้นรถไฟฟ้าแล้วพบว่าผู้คนรอบๆ เราจำนวนหนึ่งต่างตกอยู่ในภวังค์

[บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548]

เป็นเรื่องปกติในวันนี้ ถ้าเราขึ้นรถไฟฟ้าแล้วพบว่าผู้คนรอบๆ เราจำนวนหนึ่งต่างตกอยู่ในภวังค์ สายตาของพวกเขามองออกมาแต่เหมือนไม่มีจุดหมาย แต่เราจะเห็นสายเส้นเล็กๆ สองเส้น สีขาวบ้าง สีดำบ้าง ห้อยลงมาจากหู ระหว่างการเดินทาง พวกเขาเลือกที่จะใช้เวลานั้นฟังดนตรีที่ชอบ คนเราสามารถที่จะปลีกกายหายไปจากสภาพรอบข้างได้ง่ายๆ เพียงแค่ปล่อยใจให้จดจ่อกับเรื่องอื่นๆ เช่นอ่านหนังสือ ฟังเพลง เล่นเกม หรือว่าจะเหมอลอย ในสภาพกิจวัตรประจำวันมากมายที่น่าเบื่อในเมืองใหญ่ ความสามารถในการไม่สนสิ่งรอบข้างหลายครั้งนับว่าเป็นสิ่งจำเป็น

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างให้เราสามารถมีโลกส่วนตัวท่ามกลางฝูงชนได้ง่ายขึ้น บนรถไฟที่ประเทศญี่ปุ่น การกดปุ่มส่งข้อความพูดคุยกับเพื่อนๆ ผ่านทางมือถือเป็นกิจกรรมพื้นฐานของคนสมัยใหม่ ผู้คนรอบข้างเป็นเพียงแค่ “ใครสักคนที่ฉันไม่สนใจ” สภาวะการมีตัวตนอยู่ของพวกเขาสลายไปเพราะว่าประสาทสัมผัสไม่สามารถจะรายงานการมีอยู่ของพวกเขาไปให้สมองที่ไม่ว่างจะเปิดรับได้

ความจริงข้อหนึ่งก็คือ ของยิ่ง “ตรงใจ” เราเท่าใด ก็ยิ่งมีแรง “ดูด” ให้เราลืมหรือเลิกสนใจสภาพรอบข้างมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเป็นของที่ไม่นิ่ง มีความสามารถในการเร้าอารมณ์ ก่อให้เกิดความอยากจะติดตาม หรือหลุดลอยเข้าไปในโลกเทียมของมันด้วยแล้ว ก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นไปอีก ในสภาพปัจจุบันที่ของมากมายมีลักษณะที่ปรับเปลี่ยน หรือเลือกได้ดั่งใจ เราก็ย่อมสรรหาสิ่งที่สร้างสภาวะที่ถูกใจของเราได้ง่ายขึ้นมาก

ถ้าผมไม่ชอบฟังเพลงดาดๆ ทั่วไป ผมสามารถเลือกคลื่นวิทยุที่เปิดเพลงแนวที่ผมชอบ หรือจะเลือกเก็บเพลงที่ชอบไว้นับพันๆ เพลง แล้วมาเปิดฟังด้วยเครื่องเล่น MP3 ที่มีก็ได้ ถ้าเครื่องมือถือสามารถต่อเชื่อมเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตผมก็จะเข้าไปอ่านข่าวได้ แม้ข่าวจะมีมากมาย ผมก็เลือกเข้าไปอ่านจากเวบไซต์ที่ผมชอบ ซึ่งปัจจุบันนี้แสดงข่าวเฉพาะตามรายการระบุความสนใจที่ผมได้ป้อนเอาไว้ หลังๆ นี่ผมยังเข้าไปอ่านข่าวรวมถึงการวิจารณ์จากหน้า blog ของคนที่ผมเชื่อวิธีการวิเคราะห์ของเขา แน่นอนเขามักเลือกข่าวที่ผมสนใจ และการวิเคราะห์ของเขาก็ถูกใจผมเสียเหลือเกิน

นิสัยของคนธรรมดาทั่วไปก็คือความต้องการจะอยู่ในกลุ่มคนที่ทำให้เราสบายใจมากที่สุด ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มคนที่เรารู้จักและคิดอะไรคล้ายๆ กัน แน่นอนการดำเนินชีวิตประจำวันยากจะเปิดโอกาสดังกล่าวให้เราตลอดเวลา สุดท้ายไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ขับรถส่วนตัวหรือจะเป็นผู้ที่ขึ้นรถประจำทางก็คงจะหนีไม่พ้นการพบปะ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมกับคนอื่นๆ ที่เราไม่รู้จัก ที่จะมีความคิดรวมถึงนิสัยใจคอเป็นอย่างใดก็ไม่รู้

อย่างไรก็ดี ความยากลำบากที่เมื่อก่อนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงแทบไม่ได้นี้ถูกลดทอนความรุนแรงลง เนื่องจากเครื่องช่วยเหลือทางเทคโนโลยีทำให้เราได้อำนาจในการเลือกมากขึ้น จนกระทั่งเราสามารถเลือกจะอยู่ในกลุ่มของสิ่งที่เราชอบ ความเห็นที่เราเชื่อ แม้ว่าสภาพรอบข้างจะเป็นอย่างไรก็ตาม

ทุกที่ทุกเวลา เราสามารถที่จะฟังเพลงที่เราชอบ ปล่อยตัวเองล่องลอยไปกับความเพลิดเพลินนั้น ภาพของคน-สภาพแวดล้อมที่อยู่รอบกายที่วิ่งเข้ามากระทบโสตประสาทอาจไม่มีความหมายเพราะเราไม่คิดจะสนใจและจมปลักอยู่กับเสียงดนตรีที่เราเลือกมาเอง ลักษณะเช่นนี้คงไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายอะไรนัก ถ้าไม่คิดต่อไปว่าเทคโนโลยีไม่ใช่แค่ช่วยให้เราเลือกฟังแต่เพลงที่เราชอบได้เท่านั้น แต่ยังช่วยกรองให้เราได้รับแต่ทัศนะความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ รอบตัวในแบบที่เราพอใจอยู่ตลอดเวลา — -ส่วนความคิดเห็นอื่นๆ ที่อาจจะบังเอิญได้ยินได้ฟังซึ่งมีทิศทางแตกต่างออกไปก็คงถูกกรองหายไป แต่อย่าลืมว่าสิ่งบังเอิญที่เราไม่ได้เลือกนั้นอาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการพาเรากระโดดออกจากกรอบความคิดแคบๆ ที่เรามีอยู่อย่างไม่รู้ตัวก็ได้

[ต้นฉบับบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548 ก่อนการแก้ไขจากกองบรรณาธิการ]

--

--