เครื่องจักรมนุษย์

จิตร์ทัศน์
Tech Text AW Archive
1 min readDec 17, 2018

หลายครั้งหลายคราในเวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ต เรามักจะเห็นการแพร่กระจายของกิจกรรมหรือรูปแบบบางอย่างแบบไฟลามทุ่ง

[บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548]

หลายครั้งหลายคราในเวลาที่ใช้อินเทอร์เน็ต เรามักจะเห็นการแพร่กระจายของกิจกรรมหรือรูปแบบบางอย่างแบบไฟลามทุ่ง จะเป็นการติดดอกไม้หน้าชื่อในโปรแกรมสนทนาเพื่อไว้อาลัย การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่กระจายเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อเชิญชวนให้สมัครสมาชิกของระบบบางอย่างในอินเทอร์เน็ต เพื่อเชิญชวนให้ทำบุญ/ช่วยเหลือ จดหมายตลก เรื่องซึ้งใจ ภาพน่าขัน หรือจะเป็นเรื่องราวเตือนภัยในรูปแบบต่างๆ

ในโลกภายนอกก็มีการระบาดของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กิ๊บเก๋แบบต่างๆ ตั้งแต่เครื่องเก็บข้อมูลพกพา เครื่องเล่น MP3 หูฟัง hand-free ของมือถือ เครื่อง PDA หรือจะเป็นโรคติดต่อของการชื่นชอบความสวยเรียบของทุกสิ่งทุกอย่างที่ผลิตโดยบริษัท Apple ที่เห็นครั้งเดียวก็ฝังประทับอยู่ในใจ เปลี่ยนแปลงนิยามของความงามของเครื่องใช้ไปโดยสิ้นเชิง นี่ยังไม่นับเรื่องแฟชั่นต่างๆ ที่เราพบเห็นในแต่ละวัน

สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานี้มีคุณสมบัติพิเศษคือสามารถเข้าไปตรึงอยู่ในกระแสความนึกคิดของเพียงแค่สัมผัสหรือพบเห็นชั่วแวบเดียว คุณสมบัติอีกข้อก็คือความสามารถในการติดต่อ หลายครั้งเมื่อเราทำอะไรบางอย่าง ความน่าทำนั้นมันมากเสียจนเราต้องบอกต่อ และเชื้อเชิญคนรอบข้างให้มาทำด้วย

นักคิดอย่าง ริชาร์ด โบรดี มองว่าสิ่งเหล่านี้คือไวรัสรูปแบบหนึ่ง ไม่ต่างอะไรกับไวรัสคอมพิวเตอร์ แต่คอมพิวเตอร์ในกรณีนี้ก็คือร่างกายกับความนึกคิดของเรานั่นเอง ถ้าจะเปรียบเทียบโครงสร้างการทำงานของมนุษย์เราเข้ากับโครงสร้างของคอมพิวเตอร์ เราคงจะมองว่าร่างกายรวมไปถึงสมองด้วยนั้น เป็นเสมือนกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ส่วนความนึกคิดรวมไปถึงความทรงจำนั้นเทียบได้กับซอฟต์แวร์ การเรียนรู้อะไรใหม่ๆ นั้นก็เปรียบได้กับการดาวน์โหลดข้อมูลใหม่เข้าไปในสมอง ที่ทำหน้าที่คล้ายหน่วยประมวลผลกลางและหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์

แนวคิดนี้เริ่มมาจากนักวิทยาศาสตร์เช่น ริชาร์ด ดอว์กินส์ ผู้ที่เชื่อว่ามนุษย์มีส่วนของซอฟต์แวร์บันทึกอยู่ในอีกระดับที่ฝังลึกและยากจะเปลี่ยนแปลง นั่นคือในระดับพันธุกรรม สายรหัสพันธุกรรมที่ประกอบไปด้วยเส้นโมเลกุลที่มองเป็นตัวอักษรได้ 4 แบบ ก็สามารถมองได้ว่าเป็นสายข้อมูลแบบดิจิตอลที่เก็บซอฟต์แวร์พื้นฐานของมนุษย์เอาไว้ โดยถ้าจะเทียบแล้วซอฟต์แวร์นี้ก็คงจะไม่ต่างจากระบบปฏิบัติการ เช่น ระบบวินโดวส์ หรือระบบลีนิกส์ นั่นเอง ความแตกต่างก็คือเราไม่สามารถจะดาวน์โหลดหรือปรับปรุงรุ่นมันได้ง่ายๆ ยกเว้นจะผ่านทางการสร้างอีกชีวิตขึ้นมาใหม่

ในสายตาของดอว์กินส์นั้น เราทุกคนมีลักษณะเป็นเครื่องจักร ถูกบังคับด้วยโปรแกรมที่บันทึกไว้ในรหัสพันธุกรรม เพื่อสืบทอดและปรับปรุงสายพันธุ์ให้ยืนยาวไปเรื่อยๆ

ถ้ามองในลักษณะนี้ โรคติดต่อทางวัฒนธรรมที่กล่าวมาข้างต้น ก็เหมือนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาในระดับของความนึกคิด หากแต่ว่ามันมาพร้อมวิธีกดปุ่มพิเศษชื่อ “บอกต่อ” ในเครื่องจักรมนุษย์ เมื่อเราได้สัมผัสมัน ปุ่มนี้จะถูกกดแล้วเราก็จะทำหน้าที่ตามที่ได้กำหนดไว้โดยทันทีโดยแทบจะไม่ต้องคิดอะไร

แม้ว่าดอว์กินส์จะเสนอแนวคิดดังกล่าวมาแต่ปีพ.ศ. 2519 ปัจจุบันก็ยังมีการถกเถียงถึงความถูกต้องและลักษณะของการมองมนุษย์ด้วยสายตาของนักลดทอนอย่างรุนแรงของแนวคิดนี้ อย่างไรก็ตามถ้าเราจะมองว่านี่เป็นการเปรียบเปรยแบบหนึ่ง แล้วลองมองกลับไปว่าเราเองโดนกดปุ่มพิเศษที่ว่ารวมถึงปุ่มอื่นๆ ได้ง่ายเพียงใดและเราเองเสียอำนาจในการควบคุมตนเองไปเพราะไวรัสพวกนี้มามากแค่ไหน ในตอนนั้นเราอาจจะกำลังสร้างโปรแกรมควบคุมไวรัสขึ้นมาด้วยตนเองก็ได้

[ต้นฉบับบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548 ก่อนการแก้ไขจากกองบรรณาธิการ]

--

--