เธอกับฉันและเครื่องมือนั่น

จิตร์ทัศน์
Tech Text AW Archive
1 min readDec 16, 2018

คนเดินสนทนาคนเดียวไปตามทาง มีหูฟังอันเล็กๆ คาดอยู่ที่ใบหู แตกต่างจากคนที่เดินฟังเพลงและฮัมเพลงในเครื่องเล่นเพลงพกพา

[บทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548]

คนเดินสนทนาคนเดียวไปตามทาง มีหูฟังอันเล็กๆ คาดอยู่ที่ใบหู แตกต่างจากคนที่เดินฟังเพลงและฮัมเพลงในเครื่องเล่นเพลงพกพา คนหลังอยู่ในโลกส่วนตัว ส่วนคนแรกแม้ว่าจะอยู่ในโลกส่วนตัวแต่ไม่ได้อยู่ลำพังคนเดียว เขาคงกำลังพูดคุยกับใครอีกสักคน ณ ขอบปลายสายสัญญาณที่ยื่นยาวออกไปจนมองไม่เห็น

ในโลกกลมๆ ใบนี้ มีคนกลุ่มหนึ่งที่พยายามจะผสานเทคโนโลยีเข้ากับชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ถ้าเราลองดู ‘ของเล่น’ ใหม่ๆ ที่มีวางขายอยู่ทั่วไป เราน่าจะเห็นทิศทางดังกล่าวได้ไม่ยากนัก ยิ่งในยุคที่ผู้ซื้ออ้าแขนรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามาอยู่ในใจได้ง่ายๆ โดยไม่มีอาการเกรงกลัวเหมือนเมื่อก่อน ความเร็วในการแพร่ของเทคโนโลยีเข้าสู่ชีวิตยิ่งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้น กำแพงเดียวที่พอจะกั้นไว้ได้ก็คงมีแค่เรื่องของราคา ที่นับวันยิ่งกลายเป็นอุปสรรคที่เล็กลงเรื่อยๆ

ทุกวันนี้คงไม่แปลกที่ใครสักคนจะใส่นาฬิกา ทั้งๆ ที่เมื่อก่อนอาจมีคนอ้างว่าการมองดูพระอาทิตย์ก็เพียงพอแล้วสำหรับการบอกช่วงเวลาของวัน แต่สุดท้ายเครื่องจักรชิ้นเล็กนี้ก็เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคน ปัจจุบันนาฬิกาเป็นทั้งเครื่องมือบอกเวลาและเป็นเครื่องประดับสำหรับประกาศตัวตนของผู้สวมใส่ ลักษณะการตอบรับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือก็คงไม่ต่างกันสักเท่าใด

อุปกรณ์เหล่านี้เข้ามาช่วยให้ชีวิตประจำวันเรานั้นง่ายขึ้น อีกไม่นานเราจะเรียกหาข้อมูลของทุกสิ่งทุกอย่างโดยใช้อุปกรณ์พกพา ที่จะรวมเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์จะมีหลากหลายรูปแบบสีสรร มีมากมายให้เลือกใช้ตามแฟชั่น: วันนี้ใช้เครื่องดูแลข้อมูลสีฟ้าเพื่อให้เข้ากับชุดทำงานสีเขียวอ่อน หยิบแว่นที่ผนวกเอาหน้าจอแสดงผลขนาดย่อมขึ้นมาใส่ ก่อนจะใส่เสื้อที่ผสานเอาอุปกรณ์รับคำสั่งถักทอเข้ากับเนื้อผ้า ขณะที่เดินไปบนทางเท้า ระบบจะติดต่อกับระบบสื่อสารของคนอื่นๆ ที่เดินผ่านไปมา การนิ่งอึ้งเมื่อนึกชื่อคนที่เดินสวนกันไม่ออกจะไม่มีอีกต่อไป เนื่องจากระบบค้นหาข้อมูลจะทำงานโดยอัตโนมัติแค่เพียงกระพริบตาบอกเท่านั้น ข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ถูกใช้และพานพบในชีวิตประจำวันจะถูกจัดการอย่างเป็นระบบ เรียกหาได้ทันทีเมื่อต้องการ

แน่นอนว่ามีคนอีกกลุ่มที่ไม่คิดว่าโลกอนาคตแบบนั้นจะเป็นสถานที่อันน่าอยู่เท่าใดนัก มนุษย์และเทคโนโลยีมีความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ค่อนข้างซับซ้อน ในทางหนึ่งมนุษย์เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีแต่ในอีกทางหนึ่งเทคโนโลยีก็เข้ามากำหนดชีวิตมนุษย์มากมาย มนุษย์แม้จะเป็นผู้ผลิตแต่ถ้ามองโดยรวมแล้วก็หาได้ดำรงสถานะเป็น “ผู้กำหนด” เทคโนโลยีไม่ คนเดินถนนขึ้นรถประจำทางจะมีบทบาทได้แค่ไหนกับการออกแบบระบบ PDA รุ่นใหม่?

การคุกคามของอุปกรณ์สมัยใหม่ต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตค่อนข้างจะรุนแรง ในสถานที่สาธารณะมีหลายคนบ่นเบื่อที่ต้องกล้ำกลืนฟังบทสนทนาเสียงดังของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคนข้างๆ เครื่องมือสื่อสารนี้ทำให้ผู้ใช้ ‘อยู่’ และ ‘ไม่อยู่’ ในสถานที่ต่างๆ ในลักษณะที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งทำให้คนอื่นที่ต้อง ‘อยู่’ ในบางที่อึดอัด

มีช่วงเวลาที่ผู้คนมองเทคโนโลยีว่าเป็นสิ่งจำเป็น แต่อย่างไรก็เป็นสิ่งที่แปลกปลอม และกังวลว่ามันจะทำลาย ‘ของดีๆ’ ที่เคยมีอยู่ ลองนึกถึงตำนานของมนุษย์บิน: เดดาลัสและลูกชายอิคารุส หนีจากการถูกจองจำบนเกาะ ด้วยปีกที่สร้างจากขนนกต่อกันด้วยขี้ผึ้ง ลูกชายอิคารุสตื่นเต้นกับอำนาจใหม่นี้ และพยายามบินสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ฟังคำทัดทานของเดดาลัสผู้เป็นพ่อ พระอาทิตย์ที่แผดเผาสุดท้ายทำให้เขาร่วงหล่น ในขณะที่ผู้เป็นพ่อสามารถไปถึงอีกฝั่งได้อย่างปลอดภัย เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีนั้นแม้จะเป็นสิ่งจำเป็นแต่ก็ไม่ใช่เครื่องชี้ทางการมีชีวิตที่ดี

และก็มีช่วงเวลาที่ผู้คนมองเทคโนโลยีว่าเป็นสิ่งที่จะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะเข้ามาแก้ปัญหาอะไรก็ได้ ผลิตสินค้าไม่ทันก็หาเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขาดแคลนน้ำก็สร้างเขื่อน มีน้ำเสียก็สร้างโรงงานบำบัดน้ำเสีย พืชไม่ทนทานก็ปรับปรุงพันธุ์ ดินไม่ดีก็ใส่ปุ๋ยวิทยาศาสตร์ที่พร้อมไปด้วยธาตุอาหารที่พืชต้องการ ร่างกายไม่แข็งแรงก็กินยา เวลาปกติก็กินอาหารเสริมให้ได้สารเคมีที่ครบครัน รถติดก็ใช้คอมพิวเตอร์วางแผนการเปิด-ปิดไฟจราจร สร้างถนนเพิ่ม ผู้คนกระโจนหาเทคโนโลยี — -เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์มีคำตอบ

จนกระทั่งถึงช่วงเวลาปัจจุบันที่มนุษย์เริ่มตั้งคำถามอย่างจริงจังกับเทคโนโลยี เป็นช่วงที่เรื่องราวของคนที่หนีจากโลกของเทคนิคไปอยู่กับโลกธรรมชาติมีให้ได้ยินอย่างต่อเนื่อง พลังจากหยาดเหงื่อ ความงอกงามที่เกิดจากดินที่ใช้ปุ๋ยธรรมชาติ ไร้ซึ่งเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความก้าวร้าว เกิดเป้าหมายในทิศทางอื่นที่ไม่ใช่การครอบครองและความยิ่งใหญ่ แต่เน้นความพอเพียง ความสมดุลย์ และครบถ้วนในมุมต่างๆ ของชีวิต

ส่วนบางคนที่ไม่สามารถจะปลีกตัวเองหนีออกไปจากสังคมได้ก็เริ่มมองปัญหาหลากหลายว่ามีผลมาจากเทคโนโลยี ทั้งในทางที่ผิดและในลักษณะที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ได้มีการขุดถอนรากจอมปลอมของ “ความจำเป็น” ของเทคโนโลยีบางอย่างมาเผยต่อสาธารณะ เช่นปัญหาในเรื่องการขาดแคลนอาหาร ที่ปัจจัยหลักไม่ได้มาจากความไม่พอเพียงในการผลิต แต่มาจากความล้มเหลวในการกระจายอาหาร

การเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เกิดจากเทคโนโลยีถูกชี้ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ เวลาเช่นนี้นี่เองที่คุณค่าของความเป็นมนุษย์ตามที่เชื่อกัน อาจถูกขับให้เข้มขึ้นหรืออาจจะถูกกลืนหายไปใต้กระแสต่างๆ ก็ได้

[ต้นฉบับบทความตีพิมพ์ในนิตยสาร Aday Weekly ระหว่างปีพ.ศ. 2547–2548 ก่อนการแก้ไขจากกองบรรณาธิการ]

--

--