Chilling effect — การทำให้เกิดความหนาวเหน็บ

จิตร์ทัศน์
Tech Text
Published in
1 min readDec 31, 2016

ปรากฏการณ์ที่ตามมาหลังการบังคับใช้กฎหมาย หรือการลงโทษที่เข้มงวดก็คือความกลัวของทั้งสื่อและผู้คนทั่วไปในการสื่อสาร สิ่งที่ถูกคาดการณ์ว่าจะมีตามมาแน่ ๆ ก็คือการเซ็นเซอร์ตัวเอง (self-censorship)

Cross post จาก: facebook

คิดว่าหลายคนน่าจะเคยสัมผัสความรู้สึกนี้ได้ เมื่อใช้งาน social media หลายครั้งเรามีอะไรอยากจะเขียนไป แต่เปลี่ยนใจไม่เขียนล่ะ ทั้ง ๆ ที่พอมาคิดดูแล้วก็น่าจะไม่มีปัญหา แต่ยอมเงียบไว้ดีกว่า เพื่อความปลอดภัย (ยอมที่จะผิดพลาดไปในทางที่เงียบเกินไป ดีกว่าผิดพลาดไปในทางที่พูดมากหรือตรงเกินไป)

นี่คือ chilling effect ของการบังคับใช้กฎหมายนั่นเอง

บนอินเทอร์เน็ต มีการพูดถึงการบังคับใช้กฎหมายและ chilling effect ตั้งแต่ยุคเริ่มแรก สมัยที่เริ่มมีการพยายามควบคุมเนื้อหาในอินเทอร์เน็ตด้วยกฎหมาย Communication Decency Act (CDA) เมื่อปี 1996 กฎหมายดังกล่าวได้ถูกศาลสูงสหรัฐอเมริกาพิจารณาว่าขัดกับ 1st Amendment (ในคดีที่ ACLU ร่วมกับ EFF และองค์กรอื่นฟ้อง) เพราะว่าความกว้างในการตีความกฎหมายอาจจะทำให้เกิด chilling effect ได้

แต่โดยมาก ถ้าไม่ได้สัมผัสด้วยตนเองแล้ว ผลของ chilling effect มักจะมองไม่ค่อยเห็น

หลายคนคงเคยเห็นคนที่ออกมาถามหาว่าใครได้รับผลกระทบจากพรบ. คอม บ้าง (ทั้งฉบับเดิม และฉบับที่กำลังจะประกาศใช้) แน่นอนว่าคนที่ได้รับผลจาก chilling effect นี้ คงไม่ได้ออกมาตอบ หรือเป็นคนที่ได้รับผลกระทบที่คนมองไม่ค่อยเห็นเท่าใดนัก (เพราะว่าเป็นผลที่ก่อให้เกิดการไม่กระทำ)

ผมเลยเกิดสงสัยว่ามีคนพยายามพิสูจน์ว่า chilling effect นี้มันมีจริงหรือเปล่า หรือว่าเป็นอะไรที่เรารู้สึกได้ แต่ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์อะไรมากมาย

ค้นไปค้นมาก็ไปเจอบทความนี้จากเว็บ TechDirt ครับ

เป็นบทความที่พูดถึงงานวิจัยของ Jonathon W. Penney ตีพิมพ์ใน Berkeley Technology Law Journal เมื่อกลางปีนี้เองครับ (ลิงก์งานวิจัย http://btlj.org/2016/05/5075/ โหลดได้ตอนท้าย ๆ ของหน้าครับ)

Penny ได้ตั้งข้อสมมติฐานว่า ภายหลังข่าว NSA/PRISM ที่ระบุว่ารัฐได้มีการพัฒนาระบบเพื่อสอดส่องผู้ใช้งานเน็ต โดยมีความร่วมมือกับบริษัทใหญ่ ๆ ด้วย การเข้าถึงบทความที่อาจจะมีผลกระทบเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวบนวิกิพีเดียจะลดลง (เพราะคนกลัวว่าเข้าบทความเหล่านี้แล้วจะถูกเพ่งเล็ง) บทความที่ใช้พิจารณา เช่น terrorism, Al Qaeda, attack, dirty bomb, biological weapon เป็นต้น

เขาได้พบว่าหลังมิ.ย. 2013 ที่มีข่าว จำนวนการเข้าถึงโดยเฉลี่ยของหน้าวิกิเหล่านี้ลดลงจาก 2.7 ล้านวิวต่อเดือน เหลือ 2.2 ล้านวิว และเมื่อพิจารณาเทรนด์การเข้าถึงหน้าเหล่านี้ (หลังการลบ outliers ออกแล้ว) จะเห็นผลกระทบแบบระยะยาวของ chilling effect (ดูรูปประกอบที่ผมตัดมาจากงานวิจัยด้านล่างครับ)

ผมยังไม่ได้อ่านบทความละเอียด แต่น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบคำถามของหลายคนได้ดี และอาจจะเป็นอีกแนวทางการทำวิจัยบนอินเทอร์เน็ตที่น่าสนใจครับ (ในบทความวิจัยได้มีการทบทวนวรรณกรรมที่เยอะพอสมควร น่าจะอ่านไม่ยาก ผมคงจะไปอ่านแบบละเอียดเหมือนกันครับ)

บทความอ้างอิงและที่มาของรูปกราฟ: Jonathon W. Penney, Chilling Effects: Online Surveillance and Wikipedia Use, 31 Berkeley Tech. L.J. (June 2016). โหลดงานฉบับเต็มได้ที่ http://btlj.org/2016/05/5075/

--

--