TechNounia: Summarise my bachelor’s degree life

Suppawat Boonrach
TechNounia
Published in
5 min readJul 20, 2020

เกริ่นนำ

ชีวิตผมค่อนข้างไม่เป็นเส้นตรง คือก่อนจะมาเรียนมหาลัย สมัยมัธยมค่อนข้างทำตัวออกนอกลู่นอกทางบ้าง เล่นดนตรี ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ จนการเรียนในห้องไม่ค่อยโอเคเท่าไร เกรดเพียงสามต้น ๆ เท่านั้น

แต่จริง ๆ แล้วมันให้อะไรกว่าที่คิดเยอะเลยล่ะ…

พอมาเข้าเรียนป.ตรีครั้งแรกที่วิศวกรรมการบิน-อวกาศ ที่ มจพ. (KMUTNB) หลังจากจบ ม.6 ที่ รร.วิสุทธรังษี กาญจนบุรี การเรียนนั้นก็ไม่ได้ราบเรียบนัก ไม่ค่อยเข้าเรียน ไม่ค่อยมีเพื่อน(แต่เพื่อนที่มีอยู่ตอนนั้นโคตรดี) ไม่ค่อยอ่านหนังสือ ผลมันก็ตามนเกรดผมก็ไม่ดี สังคมก็แคบ และเป็นสาขาที่ผมไม่มี passion อยากเรียนแต่แรกขนาดนั้น ผมจึงตัดสินใจลาออก และหยุดไปหนึ่งปีเต็ม ๆ เพื่อเตรียมตัวใหม่อีกครั้ง ในการเข้าเรียนสาขาอื่น ๆ

แต่ทว่าชีวิตมันไม่ง่ายขนาดนั้น ผมต้องเผชิญกับความเครียด+สภาวะทางจิตใจที่ไม่ค่อยดีเท่าที่ควร และซ้ำร้ายไปกว่านั้น คุณยายของผมท่านก็ล้มป่วยหนัก ผมกับครอบครัวต้องเดินทางเพื่อไปดูแลท่าน จากกาญจนบุรี — ฉะเชิงเทรา และในบางครั้งต้องพาท่านมาที่รพ.รามาธิบดีในกทม. ภายในวันเดียวอีกด้วย ด้วยสาเหตุนี้เองผมไม่มีเวลาอ่านหนังสือมากเท่าที่ควร เลยมองหาสาขาที่รับแบบโควต้าน่าจะโอเคกว่า

Source: Google Maps

แต่ทางสว่างก็มาถึง ผมเห็นประกาศรับสมัครแบบโควต้าของวิศวกรรมวัสดุนาโน วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีฯ สจล. (KMITL) ผมเข้าไปดูว่าเรียนอะไรบ้าง พบว่า เออมันก็น่าสนใจดีนะ ทั้งวิชาเรียนที่ธีมมันไปทางแนว Natural science + Applied science ดูไม่น่าเบื่อว่ามันจะ engineering จ๋าไป มันยังมีความเป็น pure science มาบ้าง และงานวิจัยของอาจารย์แต่ละท่าน เลยรวบรวมผลงานที่เคยทำสมัยม.ปลาย และของป.ตรีบางส่วนที่ KMUTNB (ตอนเรียนที่นั่นผมเคยช่วยวิจัยทำดาวเทียมขนาดเล็ก หรือที่เรียกว่า CubeSat) มาเป็น Portfolio ยื่นที่นี่ และผมก็ได้สอบสัมภาษณ์กับอาจารย์ท่านหนึ่ง ผมดันไปบอกว่าผมสนใจควอนตัมคอมพิวเตอร์ ท่านเลยถามผมว่า ควอนตัมคอมพิวเตอร์ทำงานยังไง 555 ไม่น่าซ่าเลยเรา

ผลงงานเก่า ๆ สมัยเรียนที่ KMUTNB

https://grabcad.com/library/mock_up-camera-module-1

เพิ่มเติมดูได้ที่

ใครสนใจว่าควอนตัมคอมพิวเตอร์คืออะไร ลิ้งค์ด้านล่างมีคำตอบครับ

https://bit.ly/3fMlVGB

และเมื่อผลออก ผมก็ดีใจที่ได้รับเข้าศึกษาที่นี่ ได้พบเได้พบเพื่อนหลาย ๆ คน ที่มีความสนใจเหมือน ๆ กัน และค่อนข้างชอบที่นี่มากกว่าที่ KMUTNB แต่ก็ดีใจได้ไม่นาน ช่วงเรียนปรับพื้นฐานกับรุ่นพี่ คุณยายของผมก็จากไป ทำเอาผมซึมไปพักหนึ่งเลยในตอนนั้น

เกริ่นนำมาซะเยอะ มาเข้าเนื้อหากันดีกว่าครับ แบ่งออกเป็นสามส่วนด้วยกัน ดังนี้
1. ส่วนที่หนึ่ง: #ศุภวัทน์เรียนจบเสียที
2. ส่วนที่สอง: รีวิวชีวิตการเรียน
3. ส่วนที่สาม: แนะแนวทางหลังเรียนจบ(โดยเฉพาะการเรียนต่อ)

มาเริ่มกันที่ส่วนแรกกันก่อน

1. ส่วนที่หนึ่ง: #ศุภวัทน์เรียนจบเสียที
— — — — — — — — — — — — — — — — — —

Photo designed by freepik.com

(In brief)
กว่าจะถึงจุดนี้ได้ ต้องผ่านอะไรมากมาย เรียนที่เก่าก็ลาออกมาเรียนที่ใหม่ (จาก Aerospace@KMUTNB มา Nano@KMITL)
ถือว่าเป็นก้าวแรกที่ดี แม้จะทำทั้งกิจกรรมนอกห้องเรียน ไม่ว่าจะเป็นซ่อมคอม, ชมรมขับร้องประสานเสียง, Microsoft Student Partners(ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็น Microsoft Learn Student Ambassadors) และช่วยงานวิจัยตั้งแต่ปีหนึ่งยันเรียนจบ ไม่ได้เรียนแค่อย่างเดียว
ซึ่งก้าวต่อไปท้าทายยิ่งกว่านี้ ทั้งสอบภาษา การเรียนต่อ โลกการทำงานจริง และชีวิตที่ต้องบริหารเอง
ต้องขอขอบคุณทั้งครอบครับ คนรัก เพื่อนฝูง พี่น้องทั้งหลาย ที่ช่วยเหลือแนะให้กำลังใจกันตลอดมา และขาดไม่ได้เลยคือคณาจารย์ที่ให้ความรู้รวมถึงแนวคิดเพื่อไปต่อยอดได้ในอนาคต ทั้งจาก KMUTNB, KMITL รวมไปถึง CMKL University ที่เคยร่วมช่วยวิจัยด้วย

2. ส่วนที่สอง: รีวิวชีวิตการเรียน
— — — — — — — — — — — — — — — —

Photo designed by freepik.com

(Full review)
หลังจากจบการศึกษา ทุกคนก็มีเส้นทางของแต่ละคนก็เป็นตามทางที่ตัวเองเลือก ไม่ว่าจะเป็นเรียนต่อ ทำงาน หรือกิจการส่วนตัว รวมไปถึงการที่ยังไม่ทำงานเพื่อฟิตอ่านหนังสือสอบ ซึ่งผมอยู่ในส่วนหลังนี่แหละ และผมคงต้องเหนื่อยหน่อย เพราะเกรดไม่ได้สูงมากขนาดนั้น ต้องทำคะแนน GRE + IELTS ให้ได้เยอะ ๆ แล้วแหละ

เริ่มทีละส่วนเลยนะครับ

(1) วิทยาลัยนาโนเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง, สจล.

จัดตั้งขึ้นเพื่อนำเอานวัตกรรมนาโนมาแก้ไขปัญหาภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมต่างๆ รวมทั้ง อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ พลังงานทดแทน และสิ่งแวดล้อม

วิทยาลัยนาโนฯ น่ารักมาก ทั้งอาจารย์เจ้าหน้าที่ สอนดี งานวิจัยเด่น ดูแลเด็กดีมากเลยครับ เหอ ๆ
เพื่อนก็ช่วยกันเรียน ไม่มีกั๊ก ทำงานดี ทฤษฎีเด่น
ถ้าใครได้มาเรียนที่นี่ คุณจะได้อ่านเปเปอร์เยอะพอ ๆ กับ textbook และการทำแล๊ปขั้นเทพ

ตอนนี้เปิดสอนป.ตรีสองหลักสูตรนะครับ รวมไปถึงระดับปริญญาโทและเอก ก็มี ดังนี้
ป.ตรี

  • วศ.บ. วิศวกรรมวัสดุนาโน (BEng in Nanomaterial Engineering)
  • Dual degree Bachelor of Engineering in Robotics and AI Engineering, and Smart materials (International Program)

ป.โทและเอก

  • วท.บ. และ ปร.ด. นาโนวิทยาและนาโนเทคโนโลยี (MSc and PhD in Nanosciene and Nanotechnology)

ข้อมูลเพิ่มเติม
http://www.nano.kmitl.ac.th/

(2) โครงการ Microsoft Student Partners (ตอนนี้เปลี่ยนเป็น Microsoft Learn Student Ambassadors)
เป็นโครงการระดับ Global ที่ตัวแทนนักศึกษาจะไปเรียนรู้เทคโนโลยีจากไมโครซอฟท์ แล้วมาถ่ายทอดให้กับเพื่อน ๆ ใน community เรียนรู้ไปด้วยกัน ไปได้ไกล

ประสบการณ์ใน learning community นี้เจ๋งมาก ได้เจอคนเก่ง ๆ เมพ ๆ ครบเลย ตัวเรานั้นไม่ตรงสาย ไปคุยด้วยทีไรเขินทุกที เพราะส่วนใหญ่เด็ก IT, CS, Com eng, Software eng ทั้งนั้น
ได้ทำงานร่วมกับเพื่อน ๆ ต่างสาขา ต่างมหาลัย รวมไปถึงพนักงานจากไมโครซอฟท์ มันเจ๋งมากเลยนะ งานก็ใหญ่ ๆ ระดับประเทศ ไม่ก็จัดกันเองซะเลย สอนทำเอไอบ้าง แอพเล็ก ๆ บ้าง สนุกดีครับ

ติดตามข่าวสารในไทย ได้จากแฟนเพจ Microsoft Student Partners Thailand https://web.facebook.com/MSPThailand
ข้อมูลเพิ่มเติม
https://studentambassadors.microsoft.com/

(3) CMKL University (Carnegie Mellon-KMITL university)
เป็นมหาวิทยาลัยที่ก่อตั้งขึ้นจากการร่วมมือกันระหว่าง Carnegie Mellon University สหรัฐอเมริกา กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง(สจล.) มีสาขาที่เปิดสอน ดังนี้
-M.S. and Ph.D. in Electrical and Computer Engineering
-M.S. in Entertainment Innovation

อันนี้จะค่อนข้าง academic หน่อยครับ จารย์ที่นี่เป็น alumni จาก CMU และเราก็เคยได้คุยกับอาจารย์ CMU เลยด้วย แต่การทำงานจะทำงานร่วมกับ Research assistants ที่เป็นเด็ก Postgrad จากภาค Computer engineering ที่ KMITL นี่เอง โดยทำงานงานวิจัยร่วมกับบริษัท ซึ่งผมสหกิจศึกษาอยู่ที่ไทยเบฟ และต้องมาทำงานกับทาง CMKL ด้วย

ขอรีวิวไทยเบฟด้วยเลย ตอนผมสหกิจศึกษาอยู่ที่สำนักสารสนเทศ ไทยเบฟ เป็นหลัก และไป ๆ มา ๆ ลาดกระบัง เพื่อมาใช้แล๊ปทำอุปกรณ์ที่นาโน และมาคุยงานที่ CMKL บ่อย ๆ โปรเจคที่ผมทำมันกึ่ง ๆ engineering กับ computer science ต้องทำงานร่วมกับ developers และ engineers อยู่บ่อย ๆ โดยรวมสนุกดีครับ งานท้าทายมาก ทุกวันนี้ยังช่วยทำโปรเจคอยู่เลยฮะ
พี่เลี้ยง และพี่ที่ทำงานด้วยจากหลายบ.ในเครือ น่ารักมาก ซึ่งการทำงานร่วมกันหลายภาคส่วนนี้ ทำให้ตระหนักได้ว่า soft skills เป็นสิ่งสำคัญ

ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.cmkl.ac.th/

3. ส่วนที่สาม: แนะแนวทางหลังเรียนจบ (โดยเฉพาะการเรียนต่อ)
— — — — — — — — — — — — — — — — — — — — — — —

Photo designed by freepik.com

เนื่องจากทางเดินชีวิตผมจะเลือกโฟกัสไปที่การเรียนต่อ postgraduated study เนอะ จะเน้นที่ ปริญญาโทเป็นหลัก เพราะผมสมัครเรียนป.โทเป็นหลัก และเคยสมัครป.เอกที่เดียว ติดด้วย แต่สละสิทธิ์ไปแล้ว เลยขอหยิบยกการสมัครเรียนต่อมาให้ได้รับฟังครับ

(1) Planning
วางแผน
ก่อนอื่น เราควรวางแผนก่อน ว่าเราอยากเรียนอะไร สาขาไหน แล้วการเรียนในระดับบัณฑิตศึกษาเนี่ยจะช่วยให้เรามีความรู้เพิ่มตรงไหนบ้าง เอาไปใช้งานในการทำงานหรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปอีกได้อย่างไรบ้าง

***กรณีศึกษาจากผมเอง ผมต้องการศึกษาต่อในทางด้านระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์อุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะผมต้องการนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาระบบการผลิตที่เพิ่มผลผลิตและประสิทธิภาพการทำงานของมนุษย์ เป็นต้น***

(2) Essential things
สิ่งที่ควรมี
เมื่อเราวางแผนได้แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือการเรียนเราต้องใช้เอกสารอะไรในการสมัครบ้าง ซึ่งผมจะยกตัวอย่างในการสมัครเรียนต่อในโปรแกรมนานาชาติหรือที่ต่างประเทศนะครับ ได้แก่

  • CV/Resume
    จะเป็นข้อมูลเบื้องต้นของเรา ไม่ว่าจะเป็นทักษะ ความชำนาญ การศึกษา ประสบการณ์ และมีคนกล่าวไว้ว่า resume คือ trailer ที่นำไปสู่ SoP ของเรานั่นเอง
  • Transcript
    (บางที่ใช้ unofficial บางที่ก็ใช้ official ดูดี ๆ) ส่วนมากระดับ postgrad จะเอาตั้งแต่ 2.75 ขึ้นไป หรือบางที่ก็ 3.00 และหากเกรดเกียรตินิยมหรือมีตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารชั้นนำ สามารถสมัครระดับปริญญาเอกได้เลย

***แต่ถ้าทำงานเกิน 2–3 ปี บางที่เขา waive เรื่อง GPA ในกรณีไม่ถึง criteria ให้ครับ เพราะดู work experience(s) แทน***

  • Statement of Purpose (SoP)
    เรียงความที่เขียนบรรยายเกี่ยวกับความสามารถและความสนใจที่มีต่อสาขานั้น อยากทำสร้างนวัตกรรมในสาขาที่เราอยากเรียนยังไง อยากบรรลุวัตถุประสงค์อะไรระหว่างเรียนและหลังเรียนจบ ในความยาวไม่เกิน 500 คำ (โดยส่วนใหญ่)

***เอกสารนี้สำคัญมาก ควรตั้งใจเขียนให้เห็นถึง passion ของเรา และทำการ proofread เพื่อตรวจสอบให้ grammatically correct ด้วยอย่างละเอียดถี่ถ้วนครับ***

  • คะแนนสอบภาษา
    เช่น TOEFL (Test of English as a Foreign Language) และ IELTS (International English Language Testing System) อันที่จริงแล้ว มีอีกหลายตัว เช่น CU-TEP, TU-GET ที่นิยมในไทย หรือพวกแปลก ๆ อย่าง CAE (Cambridge Assessment English), Pearson, Duolingo แต่สองตัวแรกนั้นนี้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลรวมถึงในไทยด้วย ซึ่งจะวัดทักษะทางภาษาอังกฤษ ทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน

***กรณีที่สมัครที่ UK บางยู อันนี้ยื่นหลังติดแล้วได้ และมีบางมหาวิทยาลัย waive พวก English proficiency test ให้ students ที่จบจากสาขาที่เป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษครับ***

  • Recommendation letters 1–3 ฉบับ
    แล้วแต่ที่ ให้เจ้านายหรืออาจารย์เขียนบรรยายเกี่ยวกับตัวเรา ว่าทำไมเราถึงเหมาะกับการเรียนต่อหรือทำวิจัย ณ สาขานั้น ๆ

***คนที่เขียน recommendations ไม่จำเป็นต้องเป็น alumni ของสถาบันที่เราจะสมัครเรียนเสมอไป ขอให้เป็นคนที่รู้จักและคุ้นเคยกับเราจะดีที่สุดครับ***

  • Research proposal
    คือเราต้องเขียนแผนเสนองานวิจัย โดยระบุเนื้อหาของงานวิจัยของเราจะทำ และคาดว่าจะมีผลเป็นอย่างไรบ้าง

***การสมัครเรียนในแบบ coursework ไม่ต้องมี research proposal แบบ research ครับ***

หมายเหตุ:

กรณีจะศึกษาต่อในสหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ หรือยุโรปบางประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ต้องใช้คะแนน GRE (Graduate Record Examinations) สำหรับสายวิทย์ และ GMAT (Graduate Management Admission Test) สำหรับสายบริหาร ซึ่งเป็นข้อสอบวัดการใช้ภาษาอังกฤษเชิงวิชาการ คณิตศาสตร์ และการเขียนเรียงความ ในการสมัครเรียนด้วย (จากที่ศึกษาและค้นคว้าข้อมูลมา หลายคนให้ความเห็นว่า GMAT ยากกว่า GRE ครับ)

(3) Prepare your foreign language(s) skill, especially English
เตรียมตัวเรื่องภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษให้พร้อม
ไม่ว่าคุณจะเรียนต่อหรือทำงาน โดยเฉพาะการเรียนต่อ ถึงแม้คุณไม่ได้จะเรียนในหลักสูตรนานาชาติหรือที่ต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน ต้องยอมรับเลยว่าภาษาอังกฤษเป็นสิ่งสำคัญค่อการเรียนระดับบัณฑิตศึกษา ทั้ง materials ในการเรียน การนำเสนอ การทำงานวิจัย การประชุมสัมมนาทางวิชาการ และการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารชั้นนำในต่างประเทศ ล้วนใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลาง นอกจากหลักไวยากรณ์ที่แม่นยำแล้ว ทักษะทั้งการฟัง พูด อ่าน เขียน สำคัญมากครับ

***ทั้งนี้ ในการเรียนหลักสูตรนานาชาติและในต่างประเทศต้องใช้คะแนนภาษาอังกฤษในการสมัครเรียนอีกด้วย ภาษาอื่นก็เช่นกัน เช่น จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฝรั่งเศส เป็นต้น***

แม้ว่าผมอาจจะยังไม่ได้เริ่มเรียนในระดับดังกล่าว แต่ขออนุญาตแชร์ให้เป็นประโยชน์ต่อบัณทิตจบใหม่หรือผู้ที่สนใจเรียนต่อในระดับบัณฑิตศึกษาได้ทราบข้อมูลเบื้องต้น

หากมีอะไรผิดพลาด สามารถให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ ขอบคุณครับ

ใครอยากรู้ผมติดป.เอกที่ไหน เชิญลิ้งค์ด้านล่างครับ
“PhD in Information Science and Technology at VISTEC Interview: Review by TechNounia” by Suppawat Boonrach https://link.medium.com/Z4Jl3MyMf8

ข้อความทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตามขอบคุณทุกท่านที่ผมร่วมเส้นทางนี้มานะ ทั้งอาจารย์และเจ้าหน้าที่ ที่คณะวิศวะ ภาคเครื่องกลและการบิน-อวกาศที่มจพ. 2 ปี และ ที่วิทยาลัยนาโนฯ สจล. ที่เรียนอยู่ 4 ปี รวมไปถึงวิทยาลัยนวัตกรรมฯ ที่ได้เรียนรู้ระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ, พี่น้องพ้องเพื่อนที่น่ารักทั้งหลาย, แหล่งเรียนรู้ออนไลน์อย่าง Youtube (โดยเฉพาะเอาไว้เรียนทวน Quantum mechanics) รวมไปถึง Coursera และ edX, MSPs และ Microsoft employees, อาจารย์+ผู้ช่วยนักวิจัยที่ CMKL University, พี่ ๆ ที่ไทยเบฟ, และขาดไม่ได้เลยคือครอบครัว คนรัก และพี่น้องพ้องเพื่อน ที่ช่วยให้ได้เดินมายังมายังจุดนี้ได้

จงอย่าหยุดที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง!

ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จและมีความสุขมาก ๆ นะครับ! ป้องกันตัวเองจาก Coronavirus ด้วยล่ะ กินร้อน ช้อนเรา ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ไปสถานที่เสี่ยงกักตัว 14 วันนะครับ!

บทความจบแล้ว ไปติดตามเพจของเราไว้ได้เลย!

เทคไปเรื่อย-TechNounia

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะครับ และหากมีข้อผิดพลาดประการใด ขออภัย ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ทั้งนี้ผู้อ่านสามารถติชมได้เสมอ ผมจะได้นำข้อผิดพลาดไปแก้ไขด้วยครับ ขอบคุณครับ :)

--

--

Suppawat Boonrach
TechNounia

A hybrid Robotic/Chemical Engineer with Nano Engineering Degree