ทิศทางของแสงแดดตามฤดูกาล

Anubis
TH Cacti & Succulents
2 min readJul 18, 2015

แนะนำเว็บไซต์ตรวจสอบทิศทางแดดครับ

เนื่องจากวันก่อนได้ไปเจอกระทู้ใน Pantip มาแนะนำเกี่ยวกับเว็บไซต์ ตรวจสอบทิศทางของแสงแดด เพื่อที่ใช้สำหรับเช็คทิศทางการวางตัวของที่อยู่อาศัย ว่าจะโดนแดดช่วงไหนมากน้อยอย่างไรบ้าง ดูๆ แล้วน่าจะมีประโยชน์ต่อการหาที่ทางเหมาะๆ สำหรับวางโรงเรือน หรือปลูกต้นกระบองเพชรไม่น้อย

ก่อนจะไปพูดถึงเรื่องทิศทางของแสงแดด มาทำความเข้าใจคร่าวๆ เกี่ยวกับฤดูกาลกันก่อนนะครับ โดยปกติ แกนโลกของเราที่วัดจากขั้วโลกเหนือ ไปยังขั้วโลกใต้นั้นไม่ได้ตั้งตรงเป้ะๆ แต่วางตัวในแนวเอียงประมาณ 23.5 องศา เทียบกับระนาบวงโคจรของโลก และตลอดเวลาที่โลกหมุนรอบดวงอาทิตย์นั้น แกนโลกจะเอียงเท่าเดิมเสมอ ทำให้มีช่วงเวลาที่โลกเอียงแกนข้างใดข้างหนึ่งเข้าหาดวงอาทิตย์มากกว่าอีกข้างหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้เกิดเป็นฤดูกาลขึ้นมานั่นเอง

โดยเราจะแบ่งการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ได้เป็น 4 ช่วงหลักๆ ตามนี้ครับ

  • Vernal Equinox ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปีโดยประมาณ จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากที่สุด ในวันนี้ดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกตรงกับทิศพอดี และจะเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนมีความยาวเท่ากัน หรือที่เรียกว่า Equinox (Equal Night) โดยประเทศที่อยู่ทางซีกโลกเหนือจะย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิครับ
  • Summer Solstice ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน ของทุกปีโดยประมาณ จะเป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเฉียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด โดยจะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน ของประเทศทางด้านซีกโลกเหนือ และจะเป็นฤดูหนาวของทางซีกโลกใต้ (เช่น ออสเตรเลีย)
  • Autumnal Equinox จะตรงกับวันที่ 23 กันยายน ของทุกปีโดยประมาณ โดยดวงอาทิตย์จะกลับมาขึ้นและตกตรงกับทิศพอดีอีกครั้งหนึ่ง แต่ในคราวนี้ประเทศทางซีกโลกเหนือกำลังจะย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ในขณะที่ประเทศทางซีกโลกใต้ก็กำลังจะเข้าสู่ฤดูร้อน
  • Winter Solstice ตรงกับวันที่ 22 ธันวาคมโดยประมาณ ทิศทางดวงอาทิตย์ขึ้นจะเฉียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด โดยทางซีกโลกเหนือจะเป็นฤดูหนาว

ไปไกลละ … กลับมาที่ประเทศไทยของเรา ที่ถือว่าตั้งอยู่เหนือแนวเส้นศูนย์สูตรนิดหน่อย ก็จะมีผลกระทบเรื่องทิศทางของแสง คล้ายๆ กับประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในซีกโลกเดียวกันครับ โดยแสงจะส่องเฉียงมาจากทางทิศใต้มากกว่า โดยจะเฉียงลงใต้มากที่สุดช่วงวันที่ 20–23 ธันวาคม ของทุกปี (ประมาณ 36 องศา) และจะค่อยๆ เฉียงกลับไปทางทิศเหนือ โดยจะทำมุมเฉียงทางทิศเหนือมากที่สุด ช่วงวันที่ 20–23 มิถุนายน (ประมาณ 9.5 องศา)

อาจจะยังนึกภาพตามลำบากนะครับ แนะนำให้ลองเข้าเว็บนี้เลยครับผม www.suncalc.net เข้าไปปุ้บ ให้กรอกที่อยู่ของเรา หรือจะให้ browser detect location ก็ได้ครับ โดยด้านบนจะเป็นช่วงเวลาของวันนั้นๆ โดยจะแสดงให้เห็นว่า วันนี้พระอาทิตย์ขึ้นกี่โมง และตกประมาณกี่โมงครับ หรือจะดูสรุปจากกล่องด้านขวาก็ได้เช่นกัน อย่างในรูปผมกดดูตอนเย็นพอดี จะมีรูปพระอาทิตย์อยู่บนเส้นเวลาด้านบนว่าตอนนี้ประมาณเกือบๆ ทุ่มนึงละ

มาลองดูรายละเอียดในแผนที่ด้านล่างกันต่อครับ ทิศทางพระอาทิตย์ขึ้น จะแสดงเป็นเส้นตรงสีส้มอ่อน และเส้นตรงสีส้มเข้ม (ไม่ใช่เส้นทางด่วนนะครับบบบ) จะเป็นเส้นแสดงแนวพระอาทิตย์ตกของวันนั้นๆ ครับ อย่างวันนี้พระอาทิตย์ขึ้นค่อนข้างเฉียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนพระอาทิตย์ตกจะค่อนไปทางตะวันตกเฉียงเหนือครับ ส่วนเส้นโค้งๆ ก็คือแนวโคจรของพระอาทิตย์ตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นไปจนตก ความเจ๋งประการแรกของเว็บนี้คือ เราสามารถเอาเมาส์คลิกที่รูปพระอาทิตย์แล้วลากดูได้ว่า ในแต่ละช่วงของวัน พระอาทิตย์ทำมุมอย่างไรกับจุดที่เราอ้างอิงบ้าง

ทีนี้ลองมาดูกันว่า ถ้าเป็นช่วงก่อนหน้านี้ วันที่ 21 มิถุนายน ที่เป็นวัน Summer Solstice ตามทฤษฎีด้านบน ดวงอาทิตย์จะอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด เราสามารถเลือกวันที่ต้องการดูได้จาก textbox ด้านบนครับ จะสังเกตได้ว่า ดวงอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้น โดยหลังจากวันนี้ดวงอาทิตย์จะค่อยๆ เปลี่ยนทิศอีกครั้งหนึ่ง

21 กันยายน ตามด้านบน ดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกตรงกับทิศพอดีครับ มาดูกันว่าจริงหรือเปล่า :-)

21 ธันวาคม ที่เป็นวัน Winter Solstice ดวงอาทิตย์จะเปลี่ยนทิศมาขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ก่อนจะค่อยๆ เฉียงกลับไปทางเหนือ และวนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ทุกปีครับ (รวมถึงช่วงกลางวันที่สั้นลงด้วยครับ กว่าจะเริ่มสว่างก็หกโมงครึ่ง หกโมงตรงก็เริ่มมืดละครับ)

ทิศทางของแสงแดดค่อนข้างมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะการวางตำแหน่งโรงเรือน เพราะลงทุนทำไปแล้วค่อนข้างเคลื่อนย้ายลำบาก หรือแม้กระทั่งโรงเรือนเล็กๆ จะย้ายหาแดดกันทุกฤดูกาลก็คงไม่สนุกเท่าไหร่ครับ ถ้าเป็นไปได้ เราควรวางแผนและศึกษาดูทิศทางแดดโดยรวมทั้งปีก่อนตัดสินใจ หรืออย่างน้อยจะได้รู้ว่าเดือนไหนเราต้องออกกำลังย้ายต้นไม้ตามแดดกันอีกครั้งครับ ฮ่าๆ

--

--

Anubis
TH Cacti & Succulents

Software Engineer / Photographer / Cactus lover / etc