รู้จัก Blockchain ผ่านกรณีศึกษา

Earthchie Thanarat
thaichainfoundation
5 min readApr 21, 2019

21 เมษายน 2562 ผม (เอิร์ธ) และพี่โดม ได้รับโอกาสจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไปบรรยายเรื่อง Blockchain ให้น้องๆ ที่เรียนบัญชีและการจัดการ ในโครงการ Blockchain เปลี่ยนโลกธุรกิจ พลิกโฉมธุรกรรมทางการเงิน ที่สำนักพัฒนาศักยภาพนิสิตและนวัตกรรม ร่วมกับชมรม Young Millionaires จัดขึ้น ก็เลยเตรียมเนื้อหา Blockchain ที่ค่อนข้างเป็นมิตรต่อน้องๆ ที่ไม่ใช่สาย IT ฟัง

ซึ่งน่าจะมีประโยชน์กับหลายๆ คนที่สนใจ Blockchain แต่ไม่อยากโดนอัดหน้าด้วยข้อมูลเชิงเทคนิคมาก แค่อยากรู้ไว้อ่านสนุกๆ เหมือนอ่านข่าวฟิสิกส์ดาราศาสตร์ ที่ไม่อยากรู้สมการ แต่อยากรู้ว่ามันแปลก มันตื่นตาอย่างไร

ก็เลยตัดสินใจ เอาเนื้อหามาลง Medium ให้เพื่อนๆ อ่านด้วยครับ หวังว่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อย

หากเนื้อหาผิดพลาดประการใด ท้วงติงได้เลย ผมจะรีบแก้ไขให้ครับ

Key concept

  • Blockchain คือฐานข้อมูลชนิดหนึ่ง (แต่ฐานข้อมูลไม่ใช่ Blockchain)
  • ข้อมูลคงกระพัน ไม่สูญหาย เนื่องจากมีสำเนากระจายหลายชุดมาก
  • ปลอดภัยสูง ตราบเท่าที่ Private Key ยังถูกเก็บรักษาไว้อย่างดี และระบบไม่โดน 51% attack
  • มีร่องรอยให้ตรวจสอบ (มี audit trail)

ก่อนอื่นเลย Blockchain ไม่ใช่ Bitcoin แต่ Bitcoin เกิดขึ้นมาจากเทคโนโลยี Blockchain

Blockchain คือเทคโนโลยีฐานข้อมูลชนิดหนึ่ง (ฐานข้อมูล คือระบบที่ใช้บันทึกข้อมูลต่างๆ) ซึ่งมีเสถียรภาพสูงมาก มีการสำเนาข้อมูลกระจายไปทั่วโลก ในบล็อกเชนของระบบที่ได้รับความนิยมสูง เช่น Ethereum มีการสำเนาไปทั่วโลกกว่า 6,200 ชุด ซึ่งมีจำนวนมากพอที่จะพูดได้ว่าข้อมูลนั้นไม่มีวันสูญหาย

การบันทึกข้อมูลบนบล็อกเชน ต้องได้รับการตรวจสอบจากเครือข่าย (เรียกกระบวนการตรวจสอบนี้ว่า Consensus Protocol) ทำให้ไม่สามารถแอบทำธุรกรรมโดยมิชอบได้ และถึงแม้จะโดนขโมยเงินในกระเป๋าไปได้ (จากการถูกขโมยกุญแจ Private Key) เราก็ยังสามารถตรวจสอบร่องรอยการเดินทางของเงินได้ ในลักษณะเดียวกับข้อมูลในสมุดบัญชี (มี audit trail)

ด้วยความสามารถสองข้อนี้ มันจึงถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในเทคโนโลยีการเงิน เนื่องจากสามารถเก็บบันทึกความเคลื่อนไหวของเงินได้อย่างสะดวก ปลอดภัย น่าเชื่อถือ ตรวจสอบย้อนหลังได้ และใช้ต้นทุนน้อยกว่าการพัฒนาระบบการเงินขึ้นด้วยวิธีอื่นๆ

โดยเงินตราที่อยู่บน Blockchain เรียกว่า Cryptocurrency และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ ที่ไม่ใช่เงินตรา เช่น หน่วยหุ้น เรียกว่า Token

กล่าวคือ Cryptocurrency และ Token คือสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากเทคโนโลยี Blockchain นั่นเอง

Case Studies

Bitcoin

คือคริปโทเคอร์เรนซีสกุลแรกของโลก เปิดตัวในปี 2009 โดยผู้ที่ใช้นามแฝงว่า ซาโตชิ นากาโมโต้ (ในปัจจุบันก็ยังไม่รู้ว่าคือใคร แต่ไม่น่าจะใช่คนญี่ปุ่น เพราะใช้ภาษาอังกฤษได้ดีมาก) โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ในการสร้าง ซึ่งการกำเนิดของ Bitcoin ก็นับเป็นการกำเนิดขึ้นของเทคโนโลยี Blockchain ด้วยเช่นกัน

(เนื้อหาต่อไปนี้คัดลอกจากบทความของนู๋เนย https://nuuneoi.com/blog/blog.php?read_id=900)

Bitcoin หากจะให้เข้าใจง่ายที่สุด ขอให้คิดว่า Bitcoin นั้นเปรียบเสมือน “เหรียญทองคำ” ครับ

Bitcoin ถือเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่งที่เราสามารถใช้เงินซื้อมาได้ และมีการขึ้นการลงของราคาตามตลาด ยกตัวอย่างเช่น ถ้าในขณะนั้น 1 Bitcoin มีมูลค่าเท่ากับ 28,000 บาท เราก็สามารถกำเงิน 28,000 บาท เข้าไปซื้อ Bitcoin จากเว็บที่เปิดให้เราสามารถซื้อได้ และเราก็จะได้ Bitcoin มาประดับกระเป๋าตังค์ (ที่จับต้องไม่ได้) ทันที

และถ้าปล่อยไปสักพักนึงราคา Bitcoin อาจจะขึ้นเป็น 30,000 บาท เราก็สามารถเอา Bitcoin ที่เราถือไว้ไปขายและได้เงินมา 30,000 บาทออกมาใช้ได้

เห็นมะ เหมือนทองคำป่ะ?

ดังนั้นเวลาเห็นมีคนบอกว่า ของชิ้นนี้ราคา 2 Bitcoin นะ ก็อารมณ์คล้าย ๆ กับมีป้ายราคาติดไว้ว่าคุณสามารถซื้อของชิ้นนี้ด้วยทอง 2 บาทนะ (แต่ไม่ได้แปลว่า 1 Bitcoin จะราคาเท่ากับทอง 1 บาทนะ อันนี้เทียบให้ดูเฉย ๆ ว่ามันอยู่ในรูปแบบลักษณะเดียวกัน)

พูดแบบนี้แล้วน่าจะเข้าใจถึงตัวตน Bitcoin ได้ง่ายมาก สรุปแบบเบื้องต้นเลย มันก็คือสกุลเงินแบบหนึ่งนี่แหละ เพียงแต่เงินในรูปแบบ Bitcoin จะไม่สามารถจับต้องได้ ไม่มีของชิ้น ๆ ให้เราถือ ทุกอย่างจะอยู่ในรูปแบบดิจิตอล

คราวนี้ก็น่าจะพอเข้าใจละว่า Bitcoin คืออะไร จริงๆมันก็แค่สินทรัพย์แบบนึงเท่านั้นเอง คำถามต่อไปคือแล้ว Blockchain หละ? มันคืออะไรและเกี่ยวข้องกับ Bitcoin ยังไง? คำตอบคือ Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังระบบ Bitcoin อีกทีครับ หรือถ้าพูดให้เข้าใจขึ้นก็ … มันก็เหมือนว่า “ปลั๊กไฟเป็นเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังหลอดไฟอีกที” เห็นมะว่ามันคนละอย่างกัน แต่หลอดไฟต้องใช้ปลั๊กไฟในการขับเคลื่อน เสียบปุ๊บไฟติด

แล้วเอ๊ะ ! เจ้า Bitcoin มันจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเบื้องหลังอะไรด้วยหรอ ? ต้องมีสิมี ลองคิดดูว่า ไอ้ Bitcoin ที่เรากำเงินหลายหมื่นไปซื้อมาแล้วดันจับต้องไม่ได้เนี่ยใครเป็นคนบันทึกไว้ว่าเรามีอยู่เท่าไหร่? เราจะไว้ใจได้หรอ? มันจะหายมั้ย? ใครจะขโมยมันได้มั้ย? รวมถึงถ้าเราจะโอน Bitcoin ให้คนอื่น เราจะโอนกันยังไง?

ก็นี่แหละครับ สังเกตว่า Bitcoin มันมีระบบเบื้องหลังอยู่ และส่วนสำคัญที่เป็นแกนหลักของระบบคือเจ้า Blockchain ที่เรากำลังจะพูดถึงนี่แหละ ซึ่ง Bitcoin กับ Blockchain จริงๆแล้วถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกัน แต่เผอิญเจ้า Blockchain นี่มันเป็นระบบที่มีแนวคิดยอดเยี่ยมมากจนมีคนแงะมันออกมาจาก Bitcoin และสร้างเป็นระบบต่าง ๆ จนเราได้ยินคำนี้บ่อยขึ้นมากในช่วงหลัง

ก็จะเห็นว่า Bitcoin กับ Blockchain นั้นเป็นสองสิ่งที่แยกขาดจากกัน โดยที่ Bitcoin ถูกสร้างมาโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain อีกที และเช่นเดียวกัน เราก็สามารถสร้างระบบต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับ Bitcoin โดยใช้ Blockchain ได้เช่นกัน

ถ้าให้เทียบกับเรื่องปลั๊กไฟด้านบนก็คือ เราสามารถเอาระบบปลั๊กไฟมาขับเคลื่อนเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เช่น สร้างพัดลมมาเสียบปลั๊กปุ๊บพัดลมก็ใช้งานได้ นี่แหละครับ Blockchain (ปลั๊กไฟ) สามารถใช้ทำอะไรได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะหลอดไฟเท่านั้น

ที่มา: บทความ “Blockchain คืออะไร? อธิบายแบบละเอียด แต่เข้าใจง่าย(มั้ง)” <https://nuuneoi.com/blog/blog.php?read_id=900>

Ethereum

Ethereum รู้จักกันดีในฐานะคริปโทเคอร์เรนซีที่มีมูลค่ามากเป็นอันดับที่ 2 รองจาก Bitcoin สร้างขึ้นในปี 2013 โดยอัจฉริยะชาวรัสเซีย Vitalik Buterin อดีตสมาชิกทีมพัฒนา Bitcoin ปัจจุบัน Vitalik Buterin พักอาศัยอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และเดินทางมาประเทศไทยบ่อยครั้ง เพื่อให้ความรู้ด้าน Blockchain แก่นักพัฒนาชาวไทย

Vitalik Buterin

Vitalik Buterin มองเห็นสิ่งที่ Bitcoin ขาดไป หลังจากที่พูดคุยกับสมาชิกทีมพัฒนา Bitcoin จนพบว่าไอเดียของเขา ขัดกับวิสัยทัศน์ของ Bitcoin เขาจึงลาออกมาพัฒนาคริปโทเคอร์เรนซีชนิดใหม่ และตั้งชื่อว่า Ethereum

Ethereum แตกต่างจาก Bitcoin ตรงที่ Ethereum นั้นมี “Smart Contract” แปลตรงตัวก็คือสัญญาอัจฉริยะ เจ้า Smart Contract คือฟีเจอร์สำคัญของ Ethereum ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจ สามารถเขียนโปรแกรม (สัญญา) ขึ้นมาทำงานบนเครือข่ายของ Ethreum ได้

ต่อมา Smart Contract ได้พัฒนาตามคำแนะนำลำดับที่ 20 (Ethereum Request for Comment #20 หรือ ERC-20) ซึ่งก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่บนโลก Blockchain ในทันที เนื่องจาก Smart Contract จะสามารถใช้สร้าง “Token” ได้ (เรียก Token ที่สร้างด้วย Smart Contract นี้ว่า ERC-20 Token) โดยเจ้า Token หรือนิยามตามราชบัณฑิตสถานว่า โทเคนดิจิทัล คือสินทรัพย์ดิจิทัลอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้อย่างแพร่หลายในภายหลัง ในฐานะของสิ่งแทนหน่วยลงทุน

การกำเนิดขึ้นของ Smart Contract และ Token จึงก่อให้เกิดการระดมทุนรูปแบบใหม่ ที่เรียกว่า ICO (Initial Coin Offering) ขึ้น โดยมีแนวคิดคล้ายๆ กับ IPO (Initial Public Offering) แตกต่างกันที่ ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับหุ้นส่วน แต่จะได้รับ Token ตอบแทน ซึ่งสามารถได้รับปันผล หรือนำไปเก็งกำไรตามกระดานแลกเปลี่ยนต่างๆ ได้

ในปัจจุบัน แนวคิดของการระดมทุนด้วยวิธี ICO ได้พัฒนาขึ้นไปอีกขั้น เรียกว่า STO (Security Token Offering) ใกล้เคียงกับ IPO มากขึ้น เช่น ผู้ถือ Token มีสิทธิ์โหวตเปลี่ยนกรรมการได้ แต่แนวคิดเรื่อง STO ยังไม่แพร่หลาย เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมายของแต่ละประเทศทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย นับเป็นประเทศที่มีกฎหมายด้านคริปโทเคอร์เรนซีก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก ได้รับคำชมเชยจากนักลงทุนทั่วโลกว่าข้อกฎหมายทันสมัย และมีความชัดเจนสูง เนื่องจากได้เริ่มมีนโยบายต่อการระดมทุนด้วยวิธี ICO และ STO แล้ว โดย STO แม้จะยังไม่ครอบคลุมเรื่องการให้สิทธิ์โหวตเปลี่ยนกรรมการ แต่ก็ครอบคลุมเรื่องการจ่ายปันผลแล้ว ทำให้ประเทศไทย เป็นที่สนใจของผู้ที่ต้องการเปิดระดมทุนด้วยวิธี ICO และ STO จากทั่วทุกมุมโลก

https://techcrunch.com/2018/08/31/thailand-blockchain/

Ripple

ในปี 2012 หลังจากการถือกำเนิดขึ้นของ Blockchain เพียง 3 ปี Ryan Fugger ก็ได้แนะนำให้โลกรู้จักกับคริปโทเคอร์เรนซีชนิดใหม่ที่ชื่อ Ripple โดยในปี 2004 หลังจากที่ Ryan Fugger ได้เข้าทำงานงานในบริษัทแลกเปลี่ยนสกุลเงิน เขาจึงมักจะใช้เวลาครุ่นคิดถึงการพัฒนาระบบการโอนและแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลมาตลอด และในที่สุดก็ได้เปิดตัวระบบดังกล่าวเป็นครั้งแรกในปี 2012 ในชื่อ RipplePay.com ย้อนไปในปี 2011 Jed McCaleb ก็กำลังพัฒนาระบบโอนและแลกเปลี่ยนสกุลเงินอยู่เช่นกัน โดยได้นำเอาแนวคิดเรื่อง Blockchain ของ Bitcoin มาวิเคราะห์หาปัญหาและพยายามพัฒนาให้มันดีขึ้น

Ryan Fugger
Jed McCaleb

Jed McCaleb มองเห็นปัญหาสำคัญของ Bitcoin — มันทำธุรกรรมได้ช้าเกินไป

Bitcoin นั้นมีความเร็วในการทำธุรกรรมอยู่ที่ 7 ธุรกรรมต่อวินาที ในขณะที่ VISA สามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้สูงถึง 1,700 ธุรกรรมต่อวินาที การโอนเงิน Bitcoin ในบางครั้ง จึงอาจต้องรอคิวนานถึง 6 ชั่วโมงเลยทีเดียว

ในที่สุด Ryan Fugger และ Jed McCaleb ก็ได้พบกันในเดือนสิงหาคม 2012 เนื่องจากทั้งคู่มีอุดมการณ์ที่คล้ายคลึงกัน จึงตัดสินใจก่อตั้ง Ripple ขึ้นในเดือนกันยายน 2012 เพียงหนึ่งเดือนหลังจากที่ได้รู้จักกัน

Ryan Fugger และ Jed McCaleb นำเอาเทคโนโลยี Blockchain มาพิจารณา โดยตั้งโจทย์ว่า จะพัฒนาระบบการโอนเงินที่ดีกว่า Bitcoin และพบว่า เขาสามารถตัดบางอย่างใน Bitcoin ที่ไม่จำเป็นกับระบบการโอนเงินออกไปได้ ซึ่งในภายหลัง เทคโนโลยีที่เกิดจากการนำเอา Blockchain มาตัดทอนเช่นนี้ ได้ถูกเรียกว่า DLT (Distributed Ledger Technology)

สิ่งที่ถูกตัดออกไป คือการขุดเหรียญนั่นเอง การขุดเหรียญ หรือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการ Proof of Work (PoW) คือ Consensus Protocol ประเภทหนึ่ง ของเทคโนโลยี Blockchain ถือกำเนิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่า อะไรที่ได้มายากๆ ย่อมมีค่าเสมอ (ความรักก็เช่นกัน >_<)

หากอยากได้ Bitcoin สิ่งที่คุณต้องทำก็คือการขุด ซึ่งกลไกลจริงๆ ของการขุด คือการเอาพลังประมวลผลของคอมพิวเตอร์ มาคำนวณหารหัสผ่านที่ถูกต้องของบล็อก ผู้ที่เจอรหัสผ่านที่ถูกต้อง จะได้ Block Reward พร้อมกับค่าธรรมเนียมของธุรกรรมที่ถูกนำบรรจุใส่บล็อกเป็นค่าตอบแทน Bitcoin มันจึงมีมูลค่า เนื่องจากการจะได้มันมาครอบครองนั้นต้องใช้ทุน ทั้งทุนด้านเวลา ค่าไฟฟ้า และค่าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์

Ryan Fugger วิเคราะห์แล้วว่า เจ้า PoW นี่แหละ ตัวการที่ทำให้ธุรกรรมนั้นเกิดได้ช้าเหลือเกิน เนื่องจากต้องเสียเวลารอการคำนวณจากคอมพิวเตอร์ทั่วโลก เขาจึงสร้าง Consensus Protocol ชนิดใหม่ขึ้น และเรียกมันว่า XRP Ledger Consensus Protocol ซึ่งภายหลังได้รับการนิยามจากนักพัฒนาบล็อกเชนว่าเป็น Proof of Authority (PoA) ชนิดหนึ่ง

XRP Ledger Consensus Protocol นั้นคิดง่ายมาก แทนที่จะให้คนทั่วโลกช่วยกันยืนยันธุรกรรมผ่านการขุด เราก็กำหนดไปเลยว่าใครที่น่าเชื่อถือบ้าง ไม่ต้องขุดอีกต่อไป ตราบเท่าที่คนหมู่มากที่เราเชื่อถือ ให้ข้อมูลตรงกัน ก็ให้ถือว่าข้อมูลนั้นถูกต้องโดยทันที

แนวคิดนี้ทำให้ Ripple สามารถทำธุรกรรมได้มากถึง 1,500 ธุรกรรมต่อวินาที จาก Validator เพียง 28 รายทั่วโลก ทัดเทียมกับความเร็วในการทำธุรกรรมของ VISA แต่มีต้นทุนในการบริหารที่ต่ำกว่า VISA มาก

Ripple ไม่มีการเปิดให้ใช้ในวงกว้าง ถูกจำกัดไว้ใช้ในเฉพาะธนาคารทั่วโลก เพื่อลดต้นทุนในการโอนเงินข้ามประเทศเท่านั้น

Stellar

Jed McCaleb หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Ripple ได้เปิดโครงการใหม่ที่ชื่อ Secret Bitcoin Project เพื่อรับผู้สนใจเข้าร่วมทดสอบระบบคริปโทเคอร์เรนซีชนิดใหม่ในปี 2014 (สองปีให้หลัง จากที่เปิดตัว Ripple ร่วมกับ Ryan Fugger) ซึ่งโครงการดังกล่าว ได้รับทุนจาก Stripe บริษัท Payment Gateway แนวหน้าของโลก เป็นจำนวนเงินกว่า 3 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ หรือประมาณ 100 ล้านบาท หลังจากได้รับทุนแล้วจึงเปิดตัวในชื่อ Stellar ใช้สกุลเงินชื่อ Lumens หรือ XLM โดย Stripe ได้รับเงินสกุลดังกล่าวตอบแทน เป็นจำนวน 2% หรือ 2 พันล้าน XLM จากจำนวน XLM ทั้งหมดที่มีในระบบ หรือมีมูลค่าสูงถึง 7.7 พันล้านบาทในปัจจุบัน (1 XLM = 3.847225 บาท เมษายน พ.ศ. 2562) ได้กำไรไปกว่า 77 เท่า

Stellar เลือกใช้ Consensus Protocol ที่พัฒนาขึ้นโดยศาสตราจารย์ David Mazières แห่งมหาวิทยาลัย Standford โดยได้ตั้งชื่อว่า SCP หรือ Stellar Concensus Protocol ซึ่งจัดเป็น PoA ประเภทหนึ่ง เช่นเดียวกับ Concensus Protocol ของ Ripple

เนื่องจากพัฒนาโดยผู้ร่วมก่อตั้ง Ripple ทำให้ Stellar นั้นมีความคล้ายคลึงกับ Ripple มาก แต่ไม่ได้จำกัดไว้ใช้แต่เพียงในแวดวงธนาคารเท่านั้น และเพื่อความโปร่งใส Stellar จึงได้ใช้ลิขสิทธิ์แบบ Opensource กับโครงการทั้งหมด นักพัฒนาที่สนใจ จึงสามารถนำ Stellar ไปติดตั้งเป็นระบบของตัวเองได้ ส่งผลให้ Stellar เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

Stellar มีจุดขายหลายข้อที่ Blockchain ชนิดอื่นไม่มี เช่น ใครๆ ก็สามารถออกเหรียญสกุลใหม่บน Stellar ได้ สามารถทำธุรกรรมได้ไว มี API ที่เรียกว่า Horizon ให้เขียนโปรแกรมมาเชื่อมต่อได้อย่างง่ายดาย ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมมีราคาถูกมาก โดยเงินเพียง 1 บาท สามารถนำมาใช้ชำระค่าธรรมเนียมการโอนได้มากถึง 26,000 ครั้ง (คำนวณที่ 1 XLM = 3.847225 บาท)

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ Stellar ได้มอบให้กับชาวโลก คือความสามารถในการทำกระดานแลกเปลี่ยน ก่อนหน้าที่ Stellar จะถือกำเนิด การสร้างกระดานแลกเปลี่ยน ทั้งกระดานแลกเปลี่ยนหุ้น กระดานแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ล้วนเป็นระบบที่พัฒนาได้ยากและใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่ด้วยแนวคิดที่เรียกว่า DEX (Decentralized Exchange) ที่ Stellar มีให้พร้อมใช้ ซึ่งเป็นวิธีการทำกระดานแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ด้วยเทคโนโลยี DLT ทำให้ใครๆ ก็สามารถมีกระดานแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ได้ ด้วยต้นทุนต่ำมาก แต่ปลอดภัยมาก เนื่องจากไม่จำเป็นต้องนำสินทรัพย์ไปฝากไว้กับกระดาน แต่เป็นการแลกเปลี่ยนโดยตรงระหว่างผู้ Bid และผู้ Offer โดยตรง

Stellar Term

หลังจากการกำเนิดของเทคโนโลยี DEX ก็ได้มีการก่อตั้งกระดานแลกเปลี่ยนมากมาย เช่น Mobius.network, Stronghold.co, Cryptomover.com ซึ่งล้วนทำงานอยู่บนเครือข่าย Stellar ทั้งหมด จึงมีการก่อตั้งเว็บไซต์ https://stellarterm.com/ ขึ้น โดยเว็บดังกล่าวเป็นศูนย์กลางกระดานแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลบนเทคโนโลยี DLT ที่รองรับเงินหลากหลายสกุล ทั้ง XLM ของ Stellar เอง ดอลล่าห์สหรัฐ หรือแม้แต่ Bitcoin และ Ethereum ที่เป็นสกุลเงินบนเครือข่าย Blockchain อื่นนอกเครือข่าย Stellar ก็สามารถแลกเปลี่ยนได้บนกระดานแห่งนี้

และในปี 2018 นั้นเอง Stellar Development Foundation ก็ได้ให้กำเนิด StellarX.com ขึ้นมาสำหรับทำการแลกเปลี่ยน token และยังสามารถแลกเป็น USD ได้อีกด้วย

โดยเหตุผลที่สามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ที่อยู่นอกเครือข่าย Stellar ได้นั้น ก็เป็นเพราะว่าสิ่งที่ถูกนำมาแลกเปลี่ยน ไม่ได้เป็นสินทรัพย์จริงๆ หากแต่เป็น Token ที่ใช้ชื่อเดียวกับสินทรัพย์ และเมื่อต้องการถอนสินทรัพย์ออกจากกระดาน กระดานก็จะนำ Token คืนกลับไป และโอนสินทรัพย์จริงให้ผู้ลงทุนแทนคล้ายคลึงกับการใช้คูปองแทนเงินสดในศูนย์อาหารตามห้างนั่นเอง

ภาพตัวอย่างการแลกเปลี่ยนเงินตรา ในสกุลดอลล่าห์สหรัฐเป็นสกุลเงินบาท ซึ่งสกุลเงินทั้งสองเป็นสกุลเงินจริง แต่กระดานแลกเปลี่ยนได้ทำการออก Token บนเครือข่าย Stellar ในชื่อ USD และ THB ให้ถือแทนเงินจริง ซึ่งสามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับผู้อื่นที่ใช้กระดานแลกเปลี่ยนนี้ได้ และเมื่อพอใจแล้ว สามารถนำ Token ดังกล่าว มาแลกเป็นเงินตราจริงๆ ได้ ในภายหลัง

ขอบคุณบรรดาเซียนๆ ที่ช่วยตรวจทานและเพิ่มเติมเนื้อหาครับ
https://fb.com/methuz
https://fb.com/katopz
https://fb.com/niawjunior.Official

อ้างอิง:
https://en.wikipedia.org/wiki/Ripple_(payment_protocol)
https://en.wikipedia.org/wiki/Stellar_(payment_network)

--

--