[Case Study] เผยแพร่สถิติผลข้างเคียงวัคซีนยังไงให้ดูน่ากลัวกว่าความเป็นจริง #DataVis

Tae Prasongpongchai
Thai Gov Design
Published in
2 min readMay 15, 2021

วันนี้ผมไปเจอภาพอินโฟกราฟิกเกี่ยวกับ “รายงานอาการข้างเคียงหลังได้รับวัคซีนโควิด-19 ในคนไทย” มาครับ ภาพอินโฟกราฟิกที่ว่า ทำโดยกระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) และนั่นก็คือภาพด้านซ้ายที่ท่านเห็นกันข้างบนนี้นั่นเอง

สิ่งแรกที่รู้สึกหลังจากที่เห็นคือ “ทำไมผลข้างเคียงเยอะจัง?” ซึ่งสาเหตุมาจาก Visual Design ที่ภาพนี้ให้น้ำหนักกับส่วนผลข้างเคียงเยอะมาก แทนที่ภาพนี้จะทำให้คนสบายใจว่าการฉีดวัคซีนปลอดภัย กลายเป็นว่า ตกลงจะภาครัฐอยากให้คนกลัวผลข้างเคียงหรืออยากให้คนสบายใจกันแน่

ในบทความนี้ เราจะมาลองวิเคราะห์กันดู ว่าของเดิมมันมีปัญหายังไง และผมก็จะลองเอาอินโฟกราฟิกชิ้นนี้ มาปรับ layout และ visualization เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ดูครับ ถือซะว่าเป็น exercise ให้ตัวเองไปในตัว

ของเดิมมีปัญหายังไง?

  1. ถ้าสิ่งที่ภาพนี้ต้องการจะสื่อคือ “ผลข้างเคียงมันไม่เยอะอย่างที่คิด” layout แบบนี้ไม่ตอบโจทย์ เพราะ “ขนาด” ของส่วนผลข้างเคียงมันกินที่ในภาพเยอะมาก
  2. คนทำอาจจะคิดว่าคำแรกที่เห็นคือ “ไม่พบผลข้างเคียง” แต่จริงๆ สิ่งแรกที่เราเห็นคือ “ปวดกล้ามเนื้อ”
  3. flow การอ่านเด้งไปเด้งมา ดูแล้วงงๆ ว่าอะไรมาก่อนหลัง visual hierarchy ไม่ชัด เจน ทำให้หลายอย่างแย่งความสนใจกัน
  4. ตัวเลข % ของอาการย่อยแต่ละอย่าง อ่านแล้วงงว่าคือ % ของอะไร ต้องเดาสองสามตลบถึงจะรู้ว่ามันคือ % ของคนรับวัคซีนทั้งหมด โดยที่คนนึงมีหลายอาการได้

มาลองแก้กัน

  1. ดัน message หลักขึ้นมาในจุดที่อยู่ตาม flow การอ่านมากที่สุด และปรับพาดหัวให้เป็นคำถาม เพื่อดึงความสนใจ
  2. ปรับ visual hierarchy เพื่อให้ลำดับการอ่านให้ตรงไปตรงมามากขึ้น
  3. ปรับชนิดของ visualization จาก pie เป็น แท่ง เพราะสมองคนเราเทียบความยาวได้แม่นยำกว่าเทียบมุม หรือขนาด
  4. ปรับ visualization เทียบผลข้างเคียงแต่ละชนิด ของเดิม message ที่ได้จากภาพคือ “มีผลข้างเคียงชนิดต่างๆ กันดังนี้” ของที่ปรับใหม่โดยให้แท่ง 100% เป็น reference เพื่อให้ message กลายเป็น “มีผลข้างเคียงแบบต่างๆ กันดังนี้ แต่ไม่ต้องห่วงเพราะอัตราการเกิดแต่ละแบบก็ไม่ได้เยอะขนาดนั้น”
  5. เพิ่มหมายเหตุเรื่อง 1 คนมีได้หลายอาการ (ทำให้รวมกันแล้วได้เกิน 10.2) และเพิ่มหมายเหตุว่า % คือ % เทียบกับอะไร
  6. ปรับ “7 ในล้าน” เป็น “7 ใน 1,000,000” เพื่อให้สเกลความต่างกันของตัวเลข เห็นชัดขึ้น
  7. ใช้สีน้ำเงินเน้นส่วน “ไม่มีผู้เสียชีวิต” เพื่อให้ดูไม่น่ากลัว ไว้ใจได้ (อ้างอิงจากทฤษฎีจิตวิทยาของสี) ส่วนอื่นๆ ก็พยายามหลีกเลี่ยงสีแดง เพื่อให้ไม่ดูน่ากลัวเกินไป

พัฒนาอย่างไรได้อีก?

จริงๆ ผมเองก็ยังไม่ได้พอใจ 100% กับที่ภาพแก้ออกมา จุดที่คิดว่าดีได้กว่านี้ก็เช่น

  • ตอนนี้รู้สึกว่ายังดูแน่นไป ที่หายใจน้อยไปหน่อย
  • คำว่า “7 ใน 1,000,000” น่าจะใช้เทคนิค visualization ให้เห็นภาพได้มากกว่านี้ (แต่ที่อาจไม่พอ)
  • ถ้าหาทางสื่อสาร “1 คนเป็นได้หลายอาการ” ออกมาเป็นภาพได้ น่าจะเข้าใจง่ายขึ้นโดยไม่ต้องอ่านหมายเหตุ
  • ส่วนข้างล่างดูขโมยซีนไปหน่อย แต่จริงๆ มันก็เป็น message สำคัญและเป็นสิ่งหลักที่คนสงสัย (แม้ข้อมูลจะน่ากังขานิดหน่อย)
  • เรื่อง graphic อื่นๆ เช่นรูปคนป่วยที่ต้นฉบับเอามาใส่ คิดว่าถ้าลงระดับ visual design จริงๆ ก็น่าจะใส่เข้าไปด้วยเช่นกัน เพราะมันช่วยให้คนจำได้มากขึ้น แต่การแก้รอบนี้นี้เน้นเรื่อง layout เป็นหลัก เลยไม่ได้ใส่เข้าไป

แต่ปัญหาเรื่องนี้ ไม่ได้จบแค่ที่ Visual Design

ใน exercise นี้ เราแก้เฉพาะ layout และ visualization เท่านั้น ในเชิงตัวข้อมูลจริงๆ ของกรมควบคุมโรค ผมก็ยังมีข้อกังขาอยู่อีกมาก เช่น

  • อาการแพ้รุนแรงนับยังไงกันแน่ (และทำไมจำนวนคนแพ้รุนแรงมันหยุดนิ่งไปตั้งแต่เมื่อฉีดได้ไม่ถึงล้านคน จนมาถึงตอนนี้ฉีดได้สองล้าน เลขก็แทบไม่ขึ้นเลย แปลก)
  • วันก่อนเจอตัวเลขเรื่องอาการชาจากจุฬาฯ พบอัตราที่ 1 ใน 40,000 (sinovac) แต่ตัวเลขที่อยู่ในรูปนี้บอกว่า 1 ใน 2,000,000
  • ไม่เห็นด้วยกับการตอบปัดว่า “ไม่มีผู้เสียชีวิต” ทั้งๆ ที่ก็มีหลายกรณีที่มีข่าวออกมา แต่ผลยังไม่ชัดว่าเกี่ยวกับวัคซีนมั้ย (หรือเปล่านะ?) ถ้าต้องการสร้างความเชื่อมั่น น่าจะออกมาเคลียร์ให้ชัดๆ ดีกว่าที่จะตอบปัดๆ ไป (ตัวอย่างที่ดีมากตัวอย่างหนึ่งคือ)
  • ข้อมูลที่เลือกออกมานำเสนอยังไม่ได้ตอบสิ่งที่คนกลัวโดยตรง เช่น เรื่อง stroke เรื่องลิ่มเลือด คือมันดีในแง่การเตรียมใจไปฉีด แต่ถ้าต้องการทำ graphic นี้มาตอบคนกลัวผลข้างเคียง คิดว่าข้อมูลที่เลือกมายังไม่เวิร์ค

เรื่องข้อมูลไม่ครบ ไม่ตอบคำถามที่คนสงสัย อันนี้ผมคงไม่โทษ อว. เพราะว่าข้อมูลมันมีแค่นี้ตั้งแต่ “รายงานสำหรับบุคลากรทางการแพทย์” ที่กรมควบคุมโรคทำออกมา ผมเองก็ติดตามดูรายงานตัวนั้นอยู่เรื่อยๆ แต่ก็ไม่เคยมีการอธิบายรายละเอียดหรือพูดถึงเคสต่างๆ ที่เป็นข่าว

สุดท้ายนี้ ผมอยากฝากไว้ให้ภาครัฐใส่ใจกับเรื่องการสื่อสารมากกว่านี้ เพราะการสื่อสารที่ดีจะสามารถช่วยแก้ปัญหาหลายอย่างที่เกิดขึ้นอยู่ ตั้งแต่เรื่องวัคซีน เรื่องข้อมูลของโรค และเรื่องอื่นๆ นอกจากเรื่อง COVID-19 ได้อีกมากครับ 🙏

taepras.com

--

--

Tae Prasongpongchai
Thai Gov Design

UX Designer by day, creative coder by night. Bangkok-based. Currently @ KBTG. Georgia Tech MS-HCI Alum. Former UX intern at Google Hardware.