พาส่อง Insight อาชีพ Software Developer คืออะไร ทำไมไม่ควรมองข้ามในยุคดิจิทัล !

Pareena Pramool
THE EXISTING COMPANY
3 min readAug 18, 2022

ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีเสมือนเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้คนแล้ว ไม่ว่าไปทางไหนต่างก็ต้องมีแอปพลิเคชัน โปรแกรมต่างๆ เข้ามาช่วยในการทำงานส่วนต่างๆ แน่นอนโปรแกรมเหล่านี้ก็ต้องมีคนดูแลและจัดการระบบอยู่เบื้องหลัง Software Developer จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญในทุกๆภาคอุตสาหกรรม วันนี้พวกเราชาว Exister เลยจะพาทุกคนมารู้จักกับเส้นทางอาชีพของ Software Developer ว่าคืออะไร ดีอย่างไร มีอะไรบ้าง เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจให้กับทุกๆคนกันค่ะ

Software Developer คืออะไร?

Software Developer (นักพัฒนาซอฟต์แวร์) หรือที่เราชอบเรียกกันสั้นๆว่า Dev คือ ผู้เชี่ยวชาญในการใช้เทคนิคสร้างผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์ขึ้นมาให้ผู้ใช้สามารถทำงานด้านต่างๆได้อย่างเฉพาะเจาะจง โดยจะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการพัฒนาและทดสอบซอฟต์แวร์จนกว่าจะตอบสนองความต้องการของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น โปรแกรมต่างๆ แอพพลิเคชั่น ฐานข้อมูล เกม เป็นต้น นอกจากการสร้างผลิตภัณฑ์ซอฟต์แวร์แล้ว นักพัฒนาซอฟต์แวร์ยังต้องคอยอัพเดทตัวตัวผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ดำเนินการประกันคุณภาพซอฟต์แวร์ และสร้างเอกสารทางเทคนิคสำหรับระบบซอฟต์แวร์อีกด้วยค่ะ

ทำไมต้องเป็น Software Developer?

อาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์นั้นถือว่าเป็นอาชีพที่มีความท้าทายและความคุ้มค่าหลายประการเลยทีเดียวก็ว่าได้ค่ะ มาดูเหตุผลที่ควรพิจารณาการเลือกเป็นอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์กัน

  1. เป็นที่ต้องการสูง

นักพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นอาชีพที่มีความต้องการสูงมากในตลาดแรงงาน อย่างที่กล่าวในตอนแรกว่าโลกในปัจจุบัน ในขณะที่โลกนั้นแทบจะต้องมีเทคโนโลยีเป็นพื้นฐานปัจจัยสี่ของผู้คนแล้ว แทบทุกอุตสาหกรรมจึงต้องการซอฟต์แวร์ประเภทของตนเองด้วย และผู้ที่สามารถสร้างซอฟต์แวร์ได้ตามข้อกำหนดและความต้องการ ก็ยิ่งเป็นที่ต้องการ ดังนั้นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ก็มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นไปอีก หากคุณกำลังมองหาอาชีพที่ดูมีอนาคตสดใสในระยะยาว การเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

2. โอกาสและทางเลือกอาชีพที่มากมาย

แน่นอนเมื่อเป็นที่ต้องการสูงในแทบทุกอุตสาหกรรม ทางเลือกจึงมีจำนวนมากด้วย คุณจะมีตัวเลือกอาชีพมากมาย ตัวอย่างเช่น การเลือกทำงานในบริษัท e-commerce หรือเลือกทำใน corporate ทั่วไป หรือกระทั่ง คุณสามารถตัดสินใจที่จะทำงานในบริษัทขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงและความมั่นคง หรือเลือกทำบริษัทสตาร์ทอัพที่มีความยืดหยุ่นและตอบสนองไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ การมีตัวเลือกนี้จะทำให้คุณสามารถเลือกสภาพแวดล้อมการทำงานและไลฟ์สไตล์ที่เหมาะกับความต้องการของคุณได้

3. เงินเดือนสูง

เมื่อเป็นที่ต้องการสูง นอกจากโอกาสและทางเลือกอาชีพที่มากมาย เช่นกันว่าเงินเดือนก็ยิ่งสูงตามไปด้วย เงินเดือนเป็นเหตุผลที่น่าสนใจว่าทำไมผู้คนถึงกลายมาเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ยิ่งโดยเฉพาะสถานการณ์เศรษฐกิจและโรคระบาดที่ไม่แน่นอนอย่างนี้ หลายๆคนก็คงต้องการความมั่นคงในหน้าที่การงานและเงินเดือนอย่างแน่นอน โดยจ๊อบส์ดีบี (Jobs DB) แพลตฟอร์มหางานชั้นนำของเอเชีย เผยรายงานอัตราเงินเดือนของพนักงานไทยประจำปี 2564 ว่านักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทยมีเงินเดือนเฉลี่ยเริ่มต้นสูงถึงกว่า 30,000–40,000 บาทต่อเดือน ซึ่งเริ่มต้นสูงที่สุดในบรรดาสายงานอื่นๆ

4. เริ่มศึกษาได้ไม่ยาก

แม้หลายคนจะไม่ได้ศึกษาทางด้านนี้มาโดยเฉพาะ หรือเบื่อจากการทำงานสายอาชีพเดิม อยากลองเปลี่ยนมาทำทางนี้ก็ยังมีช่องทางและเครื่องมือต่างๆมากมายให้สามารถเรียนรู้พื้นฐานเพื่อเริ่มต้นการพัฒนาซอฟต์แวร์ได้หรือใช้งานภาษาโปรแกรมในสายที่คุณสนใจ เช่น หลักสูตรออนไลน์ และคลิปวิดีโอ ซึ่งมีตั้งแต่ไม่คิดค่าใช้จ่ายไปจนถึงระดับราคาต่างๆในหลักสูตรที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

5. ส่งเสริมการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆเสมอ

ส่วนสำคัญของการเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์คือการศึกษาต่อ มีเครื่องมือใหม่ๆอยู่เสมอในการได้มาซึ่งวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ดีขึ้น รวมถึงปัญหาใหม่ๆที่ยากในการแก้ ซึ่งเป็นความท้าทายในรูปแบบต่างๆให้คุณได้คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาที่แปลกใหม่ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ต้องใช้เวลาเป็นจำนวนมากในการติดตามข่าวสารล่าสุดและพัฒนาทักษะเพื่อใช้ในการพัฒนาโปรแกรมในอุตสาหกรรมของตน เพื่อที่พวกเขาจะได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ดีที่สุดออกมาสำหรับนายจ้างหรือลูกค้าของคุณ

6. Remote Working

การ Remote Working หรือทำงานทางระยะไกลถือเป็นอีกเรื่องที่สำคัญมากๆในปัจจุบันนี้ท่ามกลางโรคระบาดต่างๆที่หลายคนให้ความสนใจและเป็นปัจจัยหนึ่งในการตัดสินใจทำงาน แม้ในช่วงที่การแพร่ระบาดมีการลดน้อยลงแล้ว หลายบริษัทก็ยังคงนำนโยบาย Work from home หรือการทำงานแบบ Hybrid เข้าออฟฟิศสลับกับ WFH มาใช้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งตราบใดที่นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถสื่อสารกับทีมได้ก็มักจะสามารถทำงานจากที่อื่นได้ด้วย เช่น ร้านกาแฟ Co-working Space ความยืดหยุ่นนี้ทำให้การพัฒนาซอฟต์แวร์เป็นตัวเลือกทางอาชีพที่ดีสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเปลี่ยนบรรยากาศสถานที่ทำงานเป็นอย่างมาก

7. โอกาสการทำงานในต่างแดน

สำหรับคนที่ชอบการท่องเที่ยวไม่ว่าจะทั้งในไทยหรือต่างแดน โอกาสของคุณมาถึงแล้ว อย่างที่กล่าวไปในเหตุผลข้อ 2 ว่าอาชีพนักพัฒนาซอฟต์แวร์ยังมีโอกาสในเส้นทางอาชีพอีกมาก แทบทุกอุตสาหกรรมต้องการตัว โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ชอบที่จะส่งเสริมนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดของตน จึงมักตามล่าหาและรับสมัครนักพัฒนาซอฟต์แวร์จากคณะวิศวกรรมมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น Google Microsoft TCS Accenture HCL เป็นต้น นั่นแปลว่าในฐานะนักพัฒนาซอฟต์แวร์ หากคุณนั้นมีความสามารถที่มากพอ บริษัทใหญ่ในต่างประเทศก็อาจต้องการตัวคุณและยินดีที่จะจ่ายเงินให้คุณในราคาไม่น้อยเลยทีเดียวด้วย เป็นโอกาสที่ดีในการเติบโตทางอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อีกด้วย

มาถึงตรงนี้แล้ว การทำอาชีพ Sofware Developer นี่น่าสนใจกันพอสมควรเลยใช่ไหมคะ? ถ้าเริ่มสนใจกันแล้วมาดู 10 อาชีพที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาซอฟต์แวร์แบบคร่าวๆกันค่ะ

  • Front-End Developer คือ นักพัฒนาในส่วนของหน้าการทำงานแอปพลิเคชันหรือโปรแกรม ทางฝั่งผู้ใช้งาน หรือที่ทุกคนชอบเรียกว่าฝั่งหน้าบ้านนั่นเอง งานของ front-end คือช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน อาจจะปรับเลย์เอาต์หรือตรวจสอบให้แน่ใจว่าโปรแกรมใช้งานง่ายจากมุมมองของผู้ใช้ ออกแบบระบบที่ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ โดยจะต้องมีความสามารถเกี่ยวกับ HTML CSS JavaScript เป็นต้น
  • Back-End Developer จะเป็นฝั่งตรงข้ามของ Front-End หรือคือนักพัฒนาที่ทำในส่วนของการทำงานเบื้องหลังต่างๆ ปรับปรุงการทำงานของเซิร์ฟเวอร์ สร้างประสบการณ์การใช้งานที่ลื่นไหลและราบรื่นแก่ผู้ใช้งาน ดูแลระบบหลังบ้านนั่นเอง โดยฝั่ง Back-End ต้องมีความสามารถเกี่ยวกับภาษาโปรแกรมมิงที่หลากหลาย เช่น PHP Python และจะต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับวงจรการพัฒนาเว็บและเทคนิคต่างๆรวมถึงเครื่องมือในการเขียนโปรแกรม
  • Full Stack Developer คือนักพัฒนาที่เชี่ยวชาญในทั้งระบบหน้าบ้านและหลังบ้านแบบเต็มรูปแบบ โดยจะต้องมีทักษะบางอย่างในการเข้ารหัสที่หลากหลาย ตั้งแต่ฐานข้อมูลไปจนถึงการออกแบบกราฟิกและการจัดการ UI/UX เพื่อให้ทำงานได้ดี เป็นเสมือนคนที่สามารถซัพพอร์ท front-end และ back-end ได้ในเวลาเดียวกัน
  • Web developer นักพัฒนาเว็บคือคนที่ทำงานเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์สำหรับองค์กรและส่วนบุคคล โดยมักจะทำร่วมกับองค์ประกอบงานส่วนที่ front-end ทำไว้ ซึ่งเป็นส่วนที่ผู้ใช้เห็น หรือการเข้ารหัสจากหน้าเว็บที่ back-end ได้ทำไว้ ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการทำงานหลักของเว็บไซต์ โดยต้องพิจารณาถึงแง่มุมต่างๆของเว็บไซต์ เช่น เลย์เอาต์ การนำทางและการเข้าถึง เพื่อสร้างเว็บไซต์ที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าและทำงานได้ดีสำหรับผู้ใช้งาน ลื่นไหล ไม่ติดปัญหาอะไร
  • Game Developer คือคนที่นักพัฒนาวิดิโอเกมที่ต้องใช้ทักษะในการสร้างประสบการณ์เชิงโต้ตอบสำหรับผู้เล่น นักพัฒนาเกมอาจออกแบบและสร้างเกมบนมือถือ เกมคอมพิวเตอร์ หรือเกมสำหรับระบบปฏิบัติการหรือคอนโซลเฉพาะ ซึ่งก็ต้องมีทักษะความเชี่ยวชาญแตกต่างกันออกไปอีก เช่น เกมมือถือ ระบบ IOS หรือ Android เป็นต้น
  • Big data developer คือผู้ที่เชี่ยวชาญในการทำงานกับข้อมูลขนาดใหญ่ ข้อมูลปริมาณมากและหลากหลาย โดยปกติบริษัทระดับโลกหรือบริษัทขนาดใหญ่จะใช้ Big data โดยใช้ระบบจัดเก็บข้อมูลบนคลาวด์ นักพัฒนาอาจออกแบบ จัดเก็บและบำรุง หรือกระทั่งวิเคราะห์ระบบที่เก็บชุดข้อมูลขนาดใหญ่
  • Mobile Developer คือนักพัฒนาแอปพลิเคชันและโปรแกรมที่ทำงานบนมือถือโดยเฉพาะ โดยสร้างแอปพลิเคชันที่ปรับให้เหมาะสมสำหรับการใช้สมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต จะต้องเชี่ยวชาญในระบบปฏิบัติการมือถือและออกแบบแอพพลิเคชั่นโดยคำนึงถึงผู้ใช้มือถือเป็นหลัก การพัฒนาอุปกรณ์พกพาอาจต้องการความรู้เกี่ยวกับภาษาเฉพาะและข้อกำหนดในการเข้ารหัส อย่างเช่นที่แนะนำไปใน Game Developer ว่าหากเป็นเกมบนมือถือ ก็จะต้องแยกระบบ IOS กับ Android ด้วย ซึ่ง Mobile Developer ก็จะมีความเชี่ยวชาญตรงนี้โดยเฉพาะนั่นเอง
  • Embedded System Developers หรือนักพัฒนาเอ็มเบ็ดเด็ดคือวิศวกรซอฟต์แวร์ที่มีทักษะซึ่งออกแบบและเขียนโค้ดเพื่อควบคุมฮาร์ดแวร์จำพวกเครื่องจักรและอุปกรณ์ ต้องเชี่ยวชาญในการพัฒนาโปรแกรมสำหรับฮาร์ดแวร์เฉพาะที่ใช้ในเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ รถยนต์ โมเด็มและอุปกรณ์มือถือ เป็นต้น โดยจะต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการทั้งหมดของการพัฒนาระบบฝังตัว ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการรวมเข้าด้วยกัน
  • Operating Systems เป็นงานที่ค่อนข้างกว้างและหลากหลายค่ะ ประยุกต์ใช้ความรู้อย่างเต็มรูปแบบในตัวงาน โดยจะให้การสนับสนุนการดูแลระบบสำหรับแอปพลิเคชันคอมพิวเตอร์โดยทั่วไป ช่วยในการประเมิน ทดสอบ และแก้ไขปัญหาระบบปฏิบัติการหรือโปรแกรมนั้นๆ
  • DevOps ชื่อนี้ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในไทยเท่าไหร่นักเมื่อ 2–3 ปีก่อน แต่เป็นอีกหนึ่งงในอาชีพที่เป็นที่รู้จักดีในต่างชาติ โดยเป็นมืออาชีพที่ช่วยนักพัฒนาในการเข้ารหัสต่างๆ (Coding) ในขณะที่ก็ต้องเข้าใจแนวทางปฏิบัติงานด้านวิศวกรรม เช่น การออกแบบระบบปฏิบัติการหรือกระบวนการติดตั้งซอฟต์แวร์ระบบการจัดการฐานข้อมูล รวมถึงการปรับใช้การอัปเดตผลิตภัณฑ์ การระบุปัญหาด้านการผลิต และ DevOps จะต้องมีทักษะเชี่ยวชาญและคุ้นเคยกับ Ruby หรือ Python เช่นเดีดยวกับ back-end developer

เป็นไงกันบ้างคะกับทั้งหมด 10 อาชีพที่ว่ามา เห็นมั้ยคะว่าายงาน Software Developer นี่สามารถเลือกไปทำอะไรได้อีกเยอะเลย อนาคตไกลอีกด้วย หวังว่าบทความนี้จะช่วยเป็นส่วนเล็กๆในการตัดสินใจให้กับทุกคนได้นะคะ

นอกเหนือจากนี้ทาง The Existing Company ก็รับสมัครงานฝั่ง Dev หลายตำแหน่งอยู่ด้วยนะคะ ถ้าสนใจแล้วก็สามารถลองสมัครกันเข้ามาได้เลยค่า❤

--

--