อยากเป็น Systems Analyst ทำยังไงดี?

Bsalisa
THE EXISTING COMPANY
2 min readJan 31, 2020

--

ขอเกริ่นก่อนว่าเจ้าของบล็อกนั้นเป็นคนธรรมดาทั่วไปที่หลงไปเรียนสาย IT ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีการเรียนเขียนโปรแกรมอย่างแน่นอน แต่กว่าจะค้นพบว่าตัวเองไม่ได้ชอบ code ก็สายเกินกว่าจะกลับตัวแล้ว เจ้าของบล็อกก็เลยฝืนเรียนไปเรื่อยๆจนมาถึงช่วงที่จะต้องเลือกสายงานอย่างจริงจัง ถึงจะนึกขึ้นได้ว่าเคยเรียนวิชาที่ชื่อว่า System Analysis, Design, and Implementation แล้วรู้สึกว่าตัวเองชอบวิชานี้ที่สุด เจ้าของบล็อกจึงหางานในตำแหน่ง Systems Analyst

Systems Analyst หรือในภาษาไทยเรียกว่า นักวิเคราะห์ระบบ คือ ผู้ที่เข้าใจปัญหาและศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาของระบบ รวมถึงเข้าใจความต้องการของผู้ใช้ เพื่อแนะนำวิธีจัดการหรือปรับปรุง และพัฒนาระบบ ให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ

เจ้าของบล็อกขอแทนตำแหน่ง Systems Analyst ด้วยตัวย่อว่า SA ซึ่งในแต่ละบริษัท SA จะมีหน้าที่รับผิดชอบแตกต่างกัน

ต้องเข้าใจก่อนว่า SA ทำหน้าที่อะไรบ้าง?

  • รวบรวมข้อกำหนดความต้องการใช้งาน (Requirement)
  • ศึกษาระบบเดิมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหา และให้คำแนะนำเกี่ยวกับระบบ
  • วิเคราะห์และออกแบบระบบ ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งาน
  • วางแผนการดำเนินงานการพัฒนาระบบ
  • ติดต่อประสานงานระหว่าง เจ้าของระบบ ผู้ใช้งานระบบ โปรแกรมเมอร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค
  • ทดสอบระบบ ว่าสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานระบบหรือไม่
  • บำรุงรักษาระบบ ทั้งกรณีการใช้งานปกติและกรณีที่มีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น
  • จัดทำเอกสารคู่มือการพัฒนาระบบ คู่มือการติดตั้ง และคู่มือการใช้งานระบบ

ทำอย่างไรก็ได้ที่ทำให้ developer ทำงานง่ายที่สุด

2 สิ่งสำคัญที่ SA ต้องมีติดตัวเสมอ

SA ที่ดีนั้นต้องละเอียดรอบคอบ

มีทั้ง Hard skill (ทักษะด้านความรู้) ที่เป็นความสามารถด้านอาชีพ ซึ่งทำให้สามารถวิเคราะห์และเข้าใจระบบได้อย่างถูกต้อง และ Soft skill (ทักษะด้านอารมณ์) ซึ่งประกอบไปด้วย การใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร, การทำงานเป็นทีม, การเข้าสังคม, และ ทักษะการแก้ไขปัญหา เพราะ SA ต้องมีความสามารถในการคุยกับทีมและลูกค้า รวมถึงต้องรับมือกับปัญหาต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ

SA จำเป็นต้องมีความรู้ด้าน Technical

เพื่อเข้าใจการทำงานของระบบ และ สามารถออกแบบ diagram ต่างๆได้ เช่น Sequence Diagram, Use case Diagram เป็นต้น เมื่อ developer เห็น diagram แล้วจะต้องเข้าใจและเริ่มทำงานได้ทันที ยิ่งไปกว่านั้น SA ยังต้องรู้จักเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น draw.io หรือ Lucidchart ที่ใช้ในการทำ diagram รวมไปถึง Jira หรือ Trello ที่ใช้ในการระบุสิ่งที่ทีมต้องทำอีกด้วย

สรุป

SA เป็นคนกลางระหว่าง เจ้าของระบบ และ ทุกๆคนในทีม ที่ทำหน้าที่วิเคราะห์ ออกแบบ วางแผน และดูแลการพัฒนาระบบ ให้ตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด สุดท้ายนี้สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจในสายงานของตัวเอง เจ้าของบล็อกอยากแนะนำให้ลองค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ

“No one is too old to learn.”

ไม่มีใครแก่เกินเรียน เรียนรู้ไปเรื่อยๆแล้วเราจะเจอกับสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเอง 🙂

--

--