ผู้นำที่ดี คือผู้นำที่รักษาไม่ให้เกิด 5 จุดบอดที่ทำให้ทีมทำงานด้วยกันไม่ได้

พฤติกรรมอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าทีมคุณกำลังมีจุดบอด?

พฤติกรรมแบบไหนที่ทำให้ทีมเกิดวัฒนธรรมองค์กรที่แย่?

และบางครั้งเป็นจุดบอดที่ฝังลึกลงในวิธีคิด ซึ่งแก้ไขยากมาก

“มันเหมือนกับการติดกระดุมเม็ดแรกผิด มันก็จะผิดไปหมด”

ถ้าไม่เริ่มแก้ตั้งแต่วันนี้มันจะพอกใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายอาจต้องเสียคนดีๆในทีมไปเพียงแค่ผู้นำไม่ใส่ใจหรือมองข้ามจุดบอดสำคัญไป

ความน่าสนใจของ 5 จุดบอดนี้มันเกี่ยวข้องกันเป็นขั้นๆ ถ้าคุณแก้ขั้นนึงได้ คุณก็ไปดูอีกขั้นต่อไปเรื่อยๆจนครบ 5

ซึ่งเจ้าของบล็อกมั่นใจว่าถ้าคุณไม่มี 5 จุดบอดนี้แล้ว คุณจะเป็นผู้นำที่สร้างทีมที่แข็งแกร่งได้ไม่ยาก

ตัวอย่างจุดบอดก่อนจะเข้าเรื่องกัน และถ้าหากทีมของคุณมี 1 ในจุดบอดพวกนี้ คุณควรอ่านบทความนี้ให้จบครับ 📖

  • ทีมคุณกำลังมีความสามัคคีจอมปลอม ในที่ประชุมเห็นด้วยทุกอย่าง แต่ออกมายังรู้สึกมีคำถามหรือข้อโต้แย้ง
  • ออกจากที่ประชุมแล้วคนในทีมยังไม่รู้เลยว่าต้องทำอะไรต่อกันแน่
  • ไม่มีใครในทีมรู้หน้าที่หลักของตัวเองเลยว่าคืออะไร
  • เกรงใจ ไม่กล้าถาม นั่งเงียบไม่ออกความคิดเห็น
  • ไม่กล้าถกเถียง เพราะกลัวคนในทีมมองว่าไม่มีฝีมือ กลัวเสียหน้ากับทีม
  • และอีกเยอะแยะมากมาย…..

จนส่งผลให้ทีมไม่มี “ผลลัพธ์” อะไรเลยในทีม

ทำให้ผู้นำหัวเสียโทษทีม โทษบุคคล แต่ไม่เคยโทษวัฒนธรรมองค์กรที่ตัวเองสร้างและเอื้อให้เกิด 5 จุดบอดเลย 😄

วันนี้เจ้าของบล็อกจะมาจี้เป็นจุดๆให้ดูกัน มาเริ่มด้วยจุดบอดแรกกันก่อน

1. ขาดความเชื่อใจ

ความเชื่อใจ จริงๆแล้วตีได้หลายความหมาย เราจึงต้องตกลงกันก่อนว่ามันเป็นความเชื่อใจในลักษณะแบบไหน

มันไม่ใช่ความเชื่อใจในลักษณะที่ว่า “เราเชื่อใจกับบุคคลนี้ว่าเขาจะทำงานได้ดี”

แต่มันคือความเชื่อใจในลักษณะที่คนในทีม “ปกปิด” อะไรบางอย่าง

  • “ปกปิดความอ่อนแอ” ของตัวเอง
  • “ปกปิดข้อผิดพลาด” ทำงานอะไรพลาดโทษคนอื่น ไม่ยอมรับ
  • “ปกปิดว่าตัวเองขาดทักษะ” จนทำให้ทีมทำงานช้า เพราะทุกคนคิดว่าทำงานได้

หรือ

  • “กลัวเสียหน้า” เพราะคิดว่าคนในทีมจะมองว่าตัวเองไร้ความสามารถ
  • “เกรงใจ” ซะเหลือเกินจนทำให้คนในทีมบางคนว่างงานมาก หรือบางคนงานหนักมาก

จุดบอดนี้สำคัญมากเพราะมันเกี่ยวข้องกันเป็นขั้นๆเหมือนพีระมิด ถ้าคุณไม่แก้ที่ฐพีระมิดนี้อีก 4 จุดบอดต่อไปคุณมีแน่นอนครับ

เพราะฉะนั้นหาวิธีแก้ไขให้ทีมคุณมี “ความเชื่อใจ” กันซะก่อน

🛠 วิธีการช่วยให้ทีมมีความเชื่อใจกัน

จริงๆมันมีหลายวิธีมากที่ทำให้ทีมมีความเชื่อใจกัน สำหรับของ EXISTING

• วิธีที่ใช้ได้ดีที่สุด แต่เสียเวลาที่สุดคือ จับทุกคนมาเล่าเรื่องของตัวเองตั้งแต่ อดีตที่จำความได้ — จนถึง → ปัจจุบัน เล่าทุกเรื่องโดยไม่ปิดบัง เคยผ่านอะไรมาบ้าง ทั้งเสียใจที่สุด และดีใจที่สุดคนละประมาณ 10–15 นาที

• ชวนกัน hangout แบบไม่ได้นัดหมาย อยู่ๆก็ชวนกันไป

• เล่นบอร์ดเกมอันนี้เป็นวิธีที่ดีเหมือนกัน เพราะการเล่นบอร์ดเกมบางครั้งเราจะเห็นนิสัยของคนนั้นหลุดออกมาโดยไม่รู้ตัว
เรามีทั้งบอร์ดเกม/โต๊ะพูล/โต๊ะปิงปอง/Nintendo Switch/เล่น ROV/มีอีกเยอะเลยครับ

• ในบริษัทคุณมี environment อะไรบ้างที่ทำให้คนในทีมทำกิจกรรมร่วมกันได้? หามาไว้เยอะๆครับ

2. กลัวความขัดแย้ง

จากจุดบอดที่ 1 ทำให้เกิดจุดบอดนี้ค่อนข้างตรงตัวนี้คือ

  • คนในทีมมีความสามัคคีจอมปลอม เพราะกลัวความขัดแย้ง เห็นด้วยทุกอย่างในที่ประชุม เออ…ออ… ไปกับคนในทีมโดยที่ไม่รู้อะไรเลย เพราะรู้สึกอยากให้มันจบๆไป
  • ไม่เคยถกเถียงกันอย่างเต็มที่ กั๊กกันตลอด เพราะกลัวคนในทีมเสียความรู้สึก แต่กลับกันการที่ทีมคุณไม่เถียงกันอย่างดุเดือด เราจะไม่มีทางได้ solution ที่ดีที่สุดได้
  • ไม่กล้าที่จะถาม / ไม่กล้าออกความคิดเห็น เพราะกลัวคนอื่นมองว่าตัวเองไร้ความสามารถ ซึ่งการที่ไม่ถามมันจะส่งผลให้ทีมคุณจะไม่มีวันมีความรู้ที่เท่ากันซักทีครับ ซึ่งมันสำคัญมากที่จะส่งผลให้การเถียงกันอย่างดุเดือดมันเกิดขึ้น

ถ้าทีมคุณยังมีจุดบอดพวกนี้ คุณควรกลับไปดูว่าทีมมี “ความเชื่อใจ” จริงๆหรือไม่?

.
🛠 วิธีการช่วยให้ทีมไม่กลัวความขัดแย้ง

สำหรับของ EXISTING เราจะมีกฎอยู่ 3 ข้อ เวลาอยู่ในที่ประชุม

กฎข้อที่ 1 → จับเวลาเสมอ เพราะทุกการประชุมมีเวลาจำกัดเพื่อไม่ให้กิน mandays

กฎข้อที่ 2 → ถกเถียงกัน โดยเอาข้อมูลอ้างอิงและประสบการณ์มาฟาดฟันกันอย่างดุเดือด + ต้องมีข้อสรุปเสมอ

กฎข้อที่ 3 → ต้องสรุปทุกอย่างออกเป็นงานที่ต้องทำเป็นข้อๆ เพื่อแบ่งงานอย่างชัดเจน

3. ไม่ผูกมัดตัวเอง

จากจุดบอดที่ 2 ทำให้เกิด Keyword สำคัญคือ “ความคลุมเครือ”

  • ออกจากห้องประชุมไปไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าตัวเองต้องทำอะไรเกิดเป็นความคลุมเครือ
  • ทีมไม่สามารถยึดใน direction เดียวกันได้ เพราะความเข้าใจคนละแบบ

ถ้าทีมคุณยังมีจุดบอดพวกนี้ คุณควรกลับไปดูว่าทีม “กลัวความขัดแย้ง” หรือไม่?

🛠 วิธีการช่วยให้ทีมผูกมัดตัวเอง

สำหรับของ EXISTING

• ต้องยึดการตัดสินใจของทีมหลังจากประชุมเสร็จทุกครั้ง และยอมรับการตัดสินใจของทีม เพื่อเราจะได้เข้าใจตรงกันและเดินหน้าต่อ

• “ไม่เห็นด้วยแต่ต้องผูกมัด” เป็นประโยคที่ต้องพูดในที่ประชุมบ่อยๆเวลาเราไม่เห็นด้วยกับใคร เพราะเหตุผลของคนอื่นดีกว่า

เป็นที่มาของคำว่า “ผูกมัดตัวเอง” ทุกคนต้องผูกมัดตัวเองกับขอสรุปของทีม ทั้งเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม

4. ไร้สำนึกรับผิดชอบ

จากจุดบอดที่ 3 ทำให้เกิด Keyword สำคัญคือ “ละเลยมาตรฐาน และระเบียบวินัย”

  • คนในทีมชอบแหกกฏ ระเบียบวินัย ที่สำคัญๆ เช่น เอาคอมเข้าที่ประชุม ทั้งที่บอกไว้ชัดเจนว่าเอามาแค่สมุดจด, เล่นมือถือ คุยกันจนหลุดประเด็น, ผิดนัดที่ประชุม และอีกมากมาย
  • ไม่ท้วงติงเพื่อนร่วมงานในเรื่องสำคัญ (Feedback) เพราะไม่อยากทำให้เกิดความอึดอัด

✱ อันนี้สำคัญมาก ✱

เราจะสร้าง Feedback environment อย่างไรให้เพื่อนร่วมงานไม่เหม็นหน้ากัน?

คำตอบคือ คุณต้องไม่มีจุดบอด 3 ข้อด้านบนก่อนครับ (ทุกอย่างมันเกี่ยวข้องกันหมด)

  • What’s your role? ทีมคุณคนใดคนหนึ่งยังมีหน้ารับผิดชอบไม่ชัดเจน ทำให้อาจไม่มีผลลัพธ์อะไรออกมาเลย

ถ้าทีมคุณยังมีจุดบอดพวกนี้ คุณควรกลับไปดูว่าทีม “ผูกมัดตัวเอง” หรือไม่?

🛠 วิธีการช่วยให้ทีมสำนึกรับผิดชอบ

สำหรับของ EXISTING

• เราสร้างพื้นที่ให้ทีมเผชิญหน้ากัน เป็นส่ิงหนึ่งที่แสดง “ความรับผิดชอบ” ด้วยเช่นกัน ต้องท้วงติง (Feedback) ถ้ามันไม่สมเหตุสมผล ต้องห้ามปรามถ้าพฤติกรรมไม่เหมาะสม

• ทุกครั้งที่เจอพฤติกรรมแย่ๆ เราจะตกลงกันว่าเราจะ Feedback กันตรงนั้นเดี๋ยวนั้นทันที

• เรามี Daily Task ที่ทุกคนต้องเขียนไม่เกิน 10 โมงเช้า

• One on one กับคนในทีมทุกคนเดือนละครั้งโดยประมาณ เพื่อรับ Feedback ในเชิงลึกและกลับไปพัฒนาทีม

5. ไม่ใส่ใจผลลัพธ์

จากจุดบอดที่ 4 ทำให้เกิดจุดบอดที่ “ร้ายแรงที่สุด”

  • ทีมไม่มีผลลัพธ์
  • ผลลัพธ์ทีมไม่เป็นไปตามคาดหวัง
  • ร้ายแรงที่สุดคือ งานออกมาเละไม่เป็นท่า

ถ้าทีมคุณยังมีจุดบอดพวกนี้ คุณควรกลับไปดูว่าทีมมี “สำนึกรับผิดชอบ” หรือไม่?

🛠 วิธีการช่วยให้ทีมผูกมัดตัวเอง

สำหรับของ EXISTING

  • เราให้รางวัลสำหรับผลลัพธ์ที่ดี เราให้กำลังใจสำหรับผลลัพธ์ที่ไม่ดี เพราะทุกคนสามารถทำพลาดกันได้
  • เราใช้ OKR เข้ามาเป็นส่วนช่วยเพื่อไม่ให้เกิดจุดบอดนี้

✱ อันนี้สำคัญมาก ✱

OKR มันเป็นแค่ “เครื่องมือ” ถ้าทีมคุณยังมีจุดบอดทั้ง 4 ข้อก่อนหน้า OKR คุณก็ช่วยอะไรไม่ได้ครับ

  • เรากำหนด Vision / Mission / Slogan ที่ชัดเจน แต่จำไว้อย่างหนึ่งว่าทีมจะไม่มีทางเข้าใจและอินไปกับคุณได้เลย ถ้าทีมยังมีจุดบอดทั้ง 4 ข้อก่อนหน้า

สรุป

แล้วใครต้องเป็นคนทำไม่ให้ทีมเกิด 5 จุดบอดนี้?

คำตอบคือ “ผู้นำ” สำคัญที่สุดครับ

บางคนอาจจะตอบว่าทุกคน ใช่เหมือนกันครับแต่ไม่ใช่หัวใจหลักของเรื่องนี้

ผู้นำต้องมองทีมให้ขาด และต้องเป็นคนที่ลงไปแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิด 5 จุดบอดนี้ด้วยตัวเอง

อย่าลืม 👏 (Claps) และ 🔖 (Bookmark) บทความนี้ไว้อ่านทีหลังด้วยหละ

--

--

Nonthawit 👨🏻‍🚀 (น้ำแข็ง)
THE EXISTING COMPANY

Tech CEO & Co-founder of The Existing Company┃Software Engineer┃Designer ┃Product Coach ┃Public Speaker ┃ Blogger┃Notion Expert