Localization — การออกแบบ UI อย่างเข้าใจผู้ใช้งานจริง

Alin Saenchaichana
THE EXISTING COMPANY
3 min readJan 24, 2020

ถ้าใครเคยดูหนังเรื่อง Inside Out อาจจะพอรู้มาว่ามีหลายฉากของเรื่องที่ถูกเปลี่ยนในบางประเทศที่เข้าฉาย แล้ว Pixar ทำแบบนั้นทำไมกัน?

ฉากที่ Riley แสดงออกว่าไม่ชอบกินผักถูกเปลี่ยนจาก “บล็อคโคลี่” เป็น “พริกหยวก” ในญี่ปุ่น

ผู้กำกับ Pete Docter ออกมาให้คำตอบกับเรื่องนี้ว่า เขาต้องการมั่นใจว่าอารมณ์ของตัวละครในเรื่องถูกสื่อสารออกไปถึงผู้ชมทั้งใน และนอกอเมริกาได้เป็นอย่างดี

เพราะฉะนั้นมันคงจะไม่สมเหตุสมผลนัก และอาจจะสร้างความสับสนได้ ถ้า Pixar ใช้ “บล็อคโคลี่” ที่เด็กๆ ญี่ปุ่นชื่นชอบ เพื่อสื่อสารว่าตัวละครไม่ชอบทานผักในหนังเวอร์ชั่นที่เข้าฉายในญี่ปุ่น

การเปลี่ยนฉากใน Inside Out เป็นหนึ่งตัวอย่างของการ Localization ซึ่งเป็นการปรับสิ่งต่างๆให้เข้ากับกลุ่มผู้ใช้ ในสื่อภาพยนตร์เพื่อการสื่อสารที่ถูกต้อง

มาพูดถึง Localization ในบริบทของการออกแบบ UI กันบ้าง

ใครคือ End user ของเรา?

การออกแบบอะไรก็ตามต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อนเสมอ ผู้ใช้ที่มาจากต่างภาษา ต่างวัฒนธรรม ย่อมมีความเข้าใจ และความต้องการไม่เหมือนกัน

เพื่อตอบโจทย์ความแตกต่างนี้ Localization จึงเป็นกระบวนการที่ครอบคลุมตั้งแต่การแปลภาษา ไปจนถึงการปรับ UI components ต่างๆ

Localization ≠ Translation

จริงอยู่ว่าการแปลเป็นส่วนหนึ่งของ Localization แต่นอกจากการแปลจากภาษาหนึ่งไปเป็นอีกภาษาหนึ่งจะต้องใช้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเพื่อป้องกันความผิดพลาดแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ต้องคำนึงถึงเพื่อที่จะสื่อสารออกมาให้ได้ดีที่สุด

ทิศทางการอ่าน

เราอาจจะชินกับการอ่าน ซ้ายไปขวา ในขณะที่บางภาษาอ่านจาก ขวาไปซ้าย ภาษา CJK (Chinese, Japanese, Korean) ยังสามารถเขียนจาก บนลงล่าง ได้อีกด้วย ซึ่งทิศทางส่งผลต่อทั้ง layout และสัญลักษณ์ต่างๆอย่างเช่น ลูกศร

volume with slider ซ้ายไปขวา vs. ขวาไปซ้าย

Format ต่างๆ

  • วันที่ US เขียนแบบ MM/DD/YY ส่วน UK เขียนแบบ DD/MM/YY
  • ตัวเลข 23,400.50 มีค่าเท่ากับ 23 400.50 ในแบบฝรั่งเศส หรือ 23.400,50 ในแบบเยอรมันนี
  • ประเทศไทยนิยมรูปแบบ เล็กไปใหญ่ ส่วนเกาหลีใต้นิยม ใหญ่ไปเล็ก เห็นได้จากชื่อ ซึ่งเราเขียนชื่อขึ้นก่อนนามสกุล ส่วนคนเกาหลีเขียนนามสกุลก่อนชื่อ หรือที่อยู่ เราเขียนจากบ้านเลขที่ ถนน แขวง เขต ไล่ไปถึงจังหวัด ส่วนคนเกาหลีนั้นเขียนกลับกัน
Error เพราะว่าใช้ comma แบ่งทศนิยมไม่ได้

สกุลเงิน และหน่วยต่างๆ

ตัวอย่างเรื่องนี้เห็นได้จากเว็บ booking ที่แสดงเงินในสกุลเงินท้องถิ่นที่ผู้ใช้งานใช้อยู่ เช่น ถ้าเราจองโรงแรมจากประเทศไทยก็จะแสดงเป็นบาท แต่ถ้าเราจองที่ญี่ปุ่นก็แสดงเป็นเยนโดย default รวมไปถึงการเลือกใช้หน่วย metric หรือ imperial อีกด้วย

สี และไอคอน

การเลือกใช้ไอคอน และสีต้องใช้ความระมัดระวัง สิ่งที่เราเลือกอาจจะไม่ได้สื่อถึงสิ่งเดียวกันในแต่ละประเทศ สำหรับคนจีน สีแดงแสดงถึงความโชคดี แต่ในต่างที่สีแดงมีความหมายในด้านลบ Methaphorical icon ที่อ้างอิงจากวัตถุในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน เพราะวัตถุในแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกันเสมอไป

ปลั๊กไฟในแต่ละประเทศ

จากการที่เราได้มีโอกาสไป SparkLabs Demoday 13 ที่โซล เราอยากยกตัวอย่างสตาร์ทอัพหนึ่งที่จับ Pain point ในเรื่องนี้มาสร้างเป็นโอกาสได้อย่างน่าสนใจ

ภาพจากงาน SparkLabs Demoday 13

AbuHakim เป็นสตาร์ทอัพที่ตั้งใจจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสินค้าเกาหลี และลูกค้าในประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยการเป็น optimized commerce platform ที่เข้าใจลูกค้าอย่างแท้จริง

อย่างที่เราทราบว่าประเทศในแถบตะวันออกกลางเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อมาก และพวกเขาให้ความสนใจเครื่องสำอางเกาหลีมากขึ้น เห็นได้จากยอดขาย offline ที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

แต่ในทางกลับกันยอดขายเครื่องสำอางเกาหลี online ในตะวันออกกลางของ e-commerce platform หลายเจ้ากลับแทบจะเป็นศูนย์ ทั้งที่สินค้ามีราคาถูกกว่า

Douglas Yoo (CEO ของ AbuHakim) พบว่าปัญหาคือ platform เหล่านั้น “ขาดการ Localization” ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในตะวันออกกลางได้ เนื่องจาก

  1. ภาษาและทิศทางการอ่าน
    นอกจากการแปลตรงๆ อาจสื่อสารผิดพลาดได้แล้ว ในแถบตะวันออกกลางนั้นยังอ่านจากขวาไปซ้าย AbuHakim จึงออกแบบ UI ที่เหมาะกับทิศทางภาษาของพวกเขา รวมไปถึงทำการย้ายตระกร้าสินค้าจากบนขวาไปบนซ้าย
  2. การระบุที่อยู่มีความซับซ้อน
    คนที่นี่ไม่มีรูปแบบตายตัวในการระบุที่อยู่ และนิยมระบุที่อยู่แบบบรรยาย (เช่น อยู่ตรงข้ามกับสำนักงาน A) ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะกรอกข้อมูล เช่น รหัสไปรษณีย์ ในแบบฟอร์มที่อยู่จัดส่งของ e-commerce platform หลายเจ้าให้ครบทุก Text field
  3. การจ่ายเงิน
    ถึงแม้ว่าคนแถบนี้จะใช้บัตรเครดิต แต่ Douglas Yoo พบว่าพวกเขาพอใจที่จะจ่ายเงินสดเมื่อรับของมากกว่า AbuHakim จึงทำการออกแบบ UX ส่วนนี้ใหม่ และให้บริการ COD

สรุป

Localization เป็นสิ่งสำคัญมากในการตอบโจทย์ความต้องการที่ความแตกต่างของผู้ใช้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ

  • การแปลให้ถูกบริบทในภาษานั้นๆ
  • ทิศทางการอ่าน
  • Format ต่างๆ
  • สกุลเงิน และหน่วย
  • สี และไอคอน

แต่ก่อนที่เราจะเริ่มออกแบบอะไรนั้น เราควรตอบให้ได้ก่อนเสมอว่า “ใครคือ End user?” และทำความเข้าใจพวกเขา เพราะเราไม่ใช่ผู้ใช้ อย่างที่ Jakon Nielsen เคยกล่าวไว้ว่า

“One of usability’s most hard-earned lessons is that ‘you are not the user.’ ”

--

--