เปลี่ยนวินัยการใช้เงินด้วยทฤษฎีระดับโลก Six jars

เนื่องจากเราได้มีโอกาสศึกษาทฤษฎีนี้จากคนอื่นโดยบังเอิญ จึงลองนำกลับมาปรับใช้กับตัวเองดูทำให้ mindset การใช้เงินเลยเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย จากแต่ก่อนใช้เงินไม่เคยเป็นระบบมีเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้นแหละ และบางทีก็ใช้เงินแบบห่วงหน้าพะวงหลังซึ่งทำให้พลาดโอกาสดีๆหลายอย่างไป เลยอยากบอกต่อทฤษฎีนี้ 😇 มันเป็นทฤษฎีที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้และปรับใช้กับตัวคุณเองได้ง่ายมากบอกเลย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตมากมาย

แต่ก่อนจะลงทฤษฎี Six jar หรือ ทฤษฎีหกไห ขออธิบาย cash flow แบบง่ายๆกันก่อนเลย

จะเห็นว่า cash flow จะต้องมีทางเข้าและออกเสมอก็แหงหละไม่งั้นเงินเราคงไม่หมดหลอกเนาะ ฮาๆๆ 🤣 แต่คนส่วนใหญ่มักจะใช้เงินแบบภาพข้างบนกันคือทุกอย่างข้าพเจ้ารวมไว้เส้นเดียวเลยง่ายดี ซื้อของ ลงทุน ผ่อนมือถือ ผ่อนรถ กินเหล้ากับเพื่อน ซึ่งนี่คือกรณีของคนที่ยังไม่มีวินัยทางการใช้จ่ายเงินนะ (เจ้าของบล็อกเคยโดยว่ามา 😭)

เลยไม่แปลกใจว่าจะมีซักกี่คนที่มานั่งคิดวางแผนจัดการ cash in กับ cash out อย่างจริงจังให้เป็นระบบ เพราะส่วนหนึ่งเราก็ชินกับการใช้เงินแบบเดิมๆไปละ ทำให้เงินไม่เคยเหลือไปทำอะไรจริงๆจังๆให้กับชีวิตเลย

ซึ่งวันนี้เราจะจัดการให้มันเป็นระบบโดยทฤษฎีหกไหกัน

ทำไมต้องทฤษฎี “หก”ไห

ทฤษฎีนี้เราจะแบ่งเงินจากรายได้ไม่ว่าจะเป็น passive หรือ active ออกเป็นหกไห เพื่อไปใช้จ่ายตามหน้าที่ของแต่ละไห

ซึ่งแต่ละไหจะมีหน้าที่และกฎการใช้เงินที่แตกต่างกันออกไป เพื่อให้เราสามารถคุมการใช้เงินให้อยู่ในแต่ละไห และที่สำคัญห้ามไปกระทบไหอื่นเด็ดขาดดดดดด

พอเราแบ่งรายได้ออกเป็นหกไห การใช้เงินเราจะเป็นระบบมากขึ้นกว่าไอ้เส้นเดียวที่เราเคยพูดไปข้างบน และข้อดีต่างๆจะค่อยบอกไปเนาะ

มาเริ่มทำความเข้าใจที่ไหแรกกันก่อน

1. ไห Financial Freedom

FFA jar

เราขอเรียกสั้นๆว่า FFA

ไหนี้ถ้าใครไปอ่านหลายๆหนังสือ เขาจะชอบบอกว่าเป็นไหที่เก็บไว้เพื่อใช้ตอนเกษียณ แต่เราไม่ค่อยชอบซักเท่าไหร่เพราะเรามองว่าจริงๆแล้วมันเป็นไหที่ใช้เพื่อการลงทุนมากกว่า ฉะนั้น

หน้าที่: ใช้ในการลงทุนเพื่อให้งอกเงยเท่านั้น

กฎ: ไม่ว่ายังไงก็แล้วแต่ห้ามถอนออกมาเด็ดขาด เงินต้องหมุนอยู่ในไหนี้เท่านั้น

ตัวอย่าง: เทรดหุ้น, ลงกองทุน LTF/RMF, cryptocurrency (เช่น bitcoin), เปิดร้านขายของเพื่อสร้างกำไร หรือการลงทุนอะไรก็แล้วแต่ ส่วนที่เราลงไปแล้วได้รับผลตอบแทนกลับมาเราจะนำไปลงทุนต่อหรือถอนออกมาแล้วแต่แผนของแต่ละคนเลยครับ

NOTE 1: แต่จากที่เราสังเกตดูจริงๆผลตอบแทนของไหนี้มันสามารถเป็น passive income ของเราได้นะเดี๋ยวจะบอกตอนตัวอย่างการแบ่งเงินของเจ้าของบล็อกเนาะ

NOTE 2: อย่าให้เงินในบัญชีนี้อยู่นิ่งๆ 😎

2. ไห Long Term Saving for Spending

LTSS jar

เราขอเรียกสั้นๆว่า LTSS

ชื่อตรงตัวมากๆ เป็นไหเพื่อการใช้จ่ายในระยาว แต่จากประการณ์ส่วนตัวไหนี้ค่อนข้างปนกันอยู่พอสมควรเราจึงขอแบ่งอีกเป็น 2 ส่วนคือ

2.1 LTSS1

หน้าที่: เพื่อใช้จ่ายในส่วนค่าเสื่อมต่างๆ และอะไรที่ต้องเก็บเงินระยาวเพื่อซื้อ

ตัวอย่าง: ค่าเสื่อมต่างๆ เช่น สิ่งของชำรุด, รถพัง, มือถือตกหน้าจอแตก, การเจ็บป่วยต่างๆ และสิ่งของที่ต้องเก็บเงินระยาวเพื่อซื้อ เช่น มือถือ, มอเตอร์ไซค์, รถยนต์, บ้าน

กฎ: ใช้ตามที่บอกเท่านั้นคือ ค่าเสื่อมทั้งหลาย และอะไรที่ต้องเก็บระยาวเพื่อซื้อ

NOTE: พวกประกันต่างๆเรามองว่ามันเป็น LTSS1 ของเราก็ได้นะ เช่น ประกันสุขภาพ เพราะมันจ่ายให้เรายามเจ็บป่วย

2.2 LTSS2 (Emergency)

ไหนี้เป็นไหสำคัญมากนะเพราะมันจะเป็นเงินสำรองฉุกเฉินของเราจริงๆ เวลาเราเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในชีวิต เช่น ตกงานหรือ income ไม่มีเข้ามาเลยในช่วงเวลาหนึ่ง

หน้าที่: เพื่อใช้จ่ายให้อยู่รอดใน 6 เดือน (คำนวนมากจาก ไห NEC x 6 ครับ)

กฎ: ห้ามนำเงินจากไหนี้ออกเป็นอันขาดดดดดด จนกว่าเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในชีวิต

NOTE: 6 เดือน ที่ต้องใช้เพื่อให้อยู่รอด ต้องดูด้วยนะว่า แค่ตัวคุณ หรือ ทั้งครอบครัว ต้องพิจารณาครอบครัวตัวเองกันด้วยเนาะว่าอยู่ในสถานะไหน

3. ไห PLAY

PLAY jar

เป็นไหสำหรับคนชอบเปย์โดยเฉพาะ หลายคนน่าจะชอบเป็นไหที่ใช้ผลาญตามความความต้องการของตัวเองนั่นเอง

หน้าที่: ผลาญให้หมดเพื่อสนองความต้องการตัวเอง 😇

กฎ: ความสนุกของไหนี้คือห้ามเก็บเงินในไหนี้เกิน 3 เดือนต้องผลาญให้หมด

ตัวอย่าง: เที่ยว, นัดสังสรรค์กับเพื่อน, เดทกับแฟน, ซื้อของที่อยากได้, ซื้อเกมส์

ปล.เราจะชอบบอกเพื่อนว่า “เฮ้ยไหเปย์ตูหมดหวะคงไปกินเหล้าไม่ได้ละ” มันจะดูเท่ขึ้นมาทันที ฮาๆ 🤣

NOTE: ไหนี้มีเหตุผลอยู่ว่าทำไมต้องผลาญให้หมด เพราะคุณต้องให้รางวัลตัวเองบ้าง รางวัลที่คุณเหนื่อยในการหาเงินมาหรือ รางวัลที่คุณได้จากการไปถึง goal ที่ตั้งไว้

4. ไห Education

EDU jar

เราขอเรียกสั้นๆว่า EDU

หน้าที่: เป็นไหที่ใช้จ่ายเพื่อ “พัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ”

กฎ: ใช้จ่ายแต่ในส่วนพัฒนาตัวเองเท่านั้น

ตัวอย่าง: คอร์สออนไลน์ใน Udemy, เรียนภาษาอังกฤษ, เรียนเรื่องการลงทุน, การเรียนรู้ต่างๆที่ต้องใช้เงินแลกเปลี่ยน

NOTE: ส่วนตัวเรามองว่าไหนี้แอบสำคัญนะเพราะถ้าคุณไม่มีองค์ความรู้คุณก็ไม่สามารถสร้าง income ในทางใหม่ๆได้เลย

5. ไห GIVE

GIVE jar

หน้าที่: ไหนี้ใช้จ่ายเชิงบริจาคทั้งหมด

กฎ: ไม่มีอะไรมากใช้จ่ายตามหน้าที่เท่านั้น

ตัวอย่าง: ทำบุญ, บริจาคให้บ้านเด็กกำพร้า, งานแต่งเพื่อน, งานศพ, งานการกุศลต่างๆ

NOTE: ไหนี้จะเริ่มทำให้คุณเป็น“ผู้ให้”มากขึ้น แล้วคุณจะได้อะไรหลายๆอย่างกลับมา

6. ไห Necessities Account

NEC jar

เราขอเรียกสั้นๆว่า NEC

อันนี้เป็นไหหลักของทุกไหที่บอกมาเลย มันเป็นไหที่คุณต้องใช้จ่ายเป็นประจำในทุกๆวัน ชื่อก็บอกอยู่แล้ว Necessities = จำเป็น

หน้าที่: ใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันต่อเดือนให้พอ

กฎ: ต้องใช้จ่ายในการดำรงชีวิตประจำวันเท่านั้น อะไรไม่ใช่ให้ไปดูไหอื่นทันที

ตัวอย่าง: ค่าหอ, ค่ากิน, ค่าโทรศัพท์, ค่าไฟ/ค่าน้ำ, ค่าอินเทอร์เน็ต และพวกค่าใช้จ่ายรายเดือนทั้งหลาย

NOTE: ไหนี้จากประสบการณ์จะคงที่ในทุกเดือน แกว่งไปมานิดหน่อย เช่น ใช้จ่าย 10,000+-10% บาท/เดือน

ข้อดีของการแบ่ง income เป็นหกไห

พอคุณสามารถแบ่งเงินออกเป็นหกไห ส่ิงที่คุณจะได้คือ

  • ถ้าอยากจะลงทุน ก็ลงทุนแค่ในไห FFA เท่านั้นถ้าเสียก็แค่ในไห FFA เท่านั้นไม่กระทบกับส่วนอื่นๆ กล้าได้กล้าเสียมากขึ้นซึ่งเรามองว่ามันดีนะ ดีกว่ามานั่งพะวงปล่อยโอกาสการลงทุนให้มันหลุดมือเราไปเพราะไม่เคยกันเงินส่วนนี้ไว้เลย
  • คุณจะมีเงินสำรองที่มากพอในกรณีมีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในชีวิตคุณ LTSS1 และ LTSS2 จะช่วยคุณไว้
  • คุณจะไม่ต้องมาพะวงหน้าพะวงหลังในการตัดสินใจเรื่องธุรกิจ สมมุติคุณทำธุรกิจแล้วเจ๊งก็ยังมี LTSS2 มาช่วยให้คุณอยู่รอดอีก 6 เดือน และลุกขึ้นมาสู้ใหม่
  • mindset การใช้เงินคุณจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีมากขึ้นคุณจะเริ่มตระหนักกับ cash flow ตัวเองมากขึ้นซึ่งมันดีมาก

น่าจะเข้าใจหน้าที่และกฎของแต่ละไหละ ต่อไปเรามาลง

ตัวอย่างการใช้ทฤษฎีหกไหของเจ้าของบล็อก

โจทย์: สมมุติเราอยู่บ้านมี income เข้ามาเดือนละ 20,000 บาท ไม่ว่าทางไหนก็แล้วแต่ ซึ่งอยากจะทำให้เป็นระบบการใช้เงินแบบหกไห

1. คุณต้องหาไห NEC ให้ได้ก่อนเพราะเป็นไหที่สำคัญที่สุดในบรรดาไหทั้งหก

วิธีคือ คุณต้อง tracking การใช้จ่ายที่เราต้องใช้เป็นประจำเป็นเวลา 1 เดือนให้ได้เพื่อดูว่าค่าใช้จ่ายคงที่ใน 1 เดือนมันเท่าไหร่ อาจจะใช้ตัวช่วยอย่างเช่น แอปรายรับรายจ่ายบนมือถือ หรือ จะจดลงสมุดก็แล้วแต่คนสะดวก แต่ต้องทำให้ได้

ในที่นี้สมมุติเราได้ตัวเลขมาละคือ 10,000 บาท/เดือน มาจาก ค่ากิน, ค่าไฟ, ค่าน้ำ, ค่าBTS/MRT และ บลาๆ

แต่ๆ เราควร + อีก 5 ถึง 10% กันเหนียวไว้นะ เพราะฉะนั้น มันจะได้

10,000 + 10% = 11,000 บาท ต่อเดือน

NOTE: ต้องหาตัวเลขที่เซฟที่สุดนะที่เราคิดว่าจะไม่ใช้เกิน แต่ถ้าช่วยไม่ได้จริงๆมันทะลุมา คุณต้องดึงไห PLAY มาใช้นะ และบอกตัวเองไปเลยว่าเดือนนี้อดเที่ยวไปนะจ๊ะ โทษฐานที่คุณทำยอดไห NEC เกินจำเป็น 😜

ส่วนถ้าใช้ไม่ถึงให้ไปทบในเดือนถัดไป

2. แบ่ง income เป็นอัตราส่วนเข้า 5 ไหที่เหลือ

ต่อมาเราจะเอา 11,000 มาลบออกจาก income ทั้งหมดเพื่อให้ได้ตัวเลขมาคำนวนอัตราส่วน

20,000 - 11,000 = 9,000 บาท

9,000 จะเป็นตัวเลขที่เราต้องนำมาคิดอัตราส่วนนั่นเอง

NOTE: บางหนังสืออาจจะบอกว่าเอาทั้ง 6 ไหมาแบ่งอัตราส่วนเลยแต่จากที่เราลองมาจริงๆแล้วไห NEC มันค่อนข้างจะคงที่นะ อาจแกว่งนิดหน่อย เลยไม่จำเป็นต้องนำมาคิดแบบอัตราส่วน ถ้าจะเพิ่มก็ให้เพิ่มแบบคงที่จะดีกว่า

จึงเหลือแค่ 5 ไหที่เอามาคิดแบบอัตรส่วน

แล้วจะแบ่งอัตราส่วนไหนดีหละส่วนตัวเราแบ่งอย่างนี้

- FFA: 20% → 9000 x 0.2 = 1800 บาท- LTSS1: 20% → 9000 x 0.2 = 1800 บาท 
และ LTSS2: 20% → 9000 x 0.2 = 1800 บาท
- PLAY: 15% → 9000 x 0.15 = 1350 บาท- EDU: 20% → 9000 x 0.2 = 1800 บาท- GIVE: 5% → 9000 x 0.05 = 450 บาท(% ไม่จำเป็นต้องตามเจ้าของบล็อกนะ คิดกันเองได้ตามสบายเลยเราแค่เอาตัวอย่างมาบอก)

รวมทั้งหมดเป็น 100% พอดี

แนะนำ: ใช้แอปรายรับรายจ่ายในมือถือช่วยครับ เน้นว่าต้องทำนะ พอสิ้นเดือนเราจะมาคำนวนใส่แอปแล้วค่อยนำเงินจริงๆไปใส่ไห เราจะได้เห็นภาพรวมว่าแต่ละไหเราถือเงินอยู่เท่าไหร่บ้างแล้ว

NOTE: แบ่งอย่างนี้ทุกๆเดือนเงินแต่ละไหจะค่อยๆมากขึ้น ถ้าคุณพอใจสำหรับบางไหแล้วแล้วจะไม่ใส่เพิ่มก็ได้นะ เช่น LTSS2 เราคิดว่าอยู่ได้เกิน 6 เดือนละอาจจะหยุด แล้วไปเพิ่มไหอื่นแทน เช่น FFA เพราะฉะนั้นรูปแบบการนำเงินใส่ไหจึงปรับเปลี่ยนได้เสมอแล้วแต่ตัวบุคคล

3. สร้างไหจริงๆเพื่อเก็บเงิน

3 accounts

คุณจะนำแก้วเปล่า 6 แก้วมาใส่เงิน หรือ เปิดบัญชีเงินฝากก็ได้แล้วแต่สะดวกกันเลย แต่ในที่นี้เราเลือกวิธีเดินไปเปิดบัญที่แบงค์เพิ่มมากกว่า

เราจึงมีไว้ประมาณ 3 บัญชีก็เพียงพอคือ

1. บัญชีที่รับ income เช่น เงินเดือน และรายได้ทางอื่นๆ เพื่อสินเดือนจะไปแจกจ่ายให้บัญชีอื่นต่อไป พอแจกจ่ายเสร็จจะเหลือเป็นไห NEC ให้เรา

บัญชีนี้เราจะทำ ATM และ ผูกกับ I-banking/mobile banking จะได้โอนไปบัญชี HOT และ COLD ได้สะดวก

2. บัญชีเงินร้อน (HOT) ไว้ใส่ไห PLAY, EDU และ GIVE

ผูกกับ I-banking/mobile banking ไว้ด้วย ส่วน ATM ไม่ทำเพราะว่าบัตรเจ้าของ blog เยอะมากละ โอนออนไลน์ก็เพียงพอ

3. บัญชีเงินเย็น (COLD) ไว้ใส่ไห FFA, LTSS1 และ LTSS2

ไม่ต้องผูกกับ I-banking/mobile banking นะทำให้มันถอนยากๆเข้าไว้จะได้เตือนสติตัวเองถ้าจะถอนต้องเดินไปที่แบงค์เท่านั้น

ปล. แค่ 3 ข้อนี้ก็ทำให้ cash flow คุณเป็นหกไหได้ละ 😎

เสร็จแล้วคุณอาจจะใช้ application รายรับรายจ่ายช่วย track การเข้าออกของเงินในแต่ละไหด้วยก็ได้

TRICK ไห FFA เล็กๆน้อยๆ

จากที่เราเคยบอกว่า ผลตอบแทนของไหนี้มันสามารถเป็น income ของเราได้นะตามนั้นครับ คุณจะแบ่งมาเป็นในส่วนของ Passive income ของคุณได้แต่ไม่ใช่ทั้งหมดต้องเหลือไปลงทุน FFA ต่อด้วยเราจึงมีกฎอยู่ว่า

จะแบ่งมาเป็น passive income ได้ก็ต่อเมื่อเงินที่ลงทุนไปถึงจุดคุ้มทุนแล้วเท่านั้น

แถมเรื่องอิสระภาพทางการเงิน

จริงๆเราได้ยินคำนี้บ่อยมากในชีวิต แต่ไม่เคยรู้ว่าจริงๆมันมีหลักอะไรในการวัดว่าเรามีอิสระภาพทางการเงินจนมาเจอทฤษฎีนี้ถึงเข้าใจ มันก็แค่

passive income [มากกว่า] ไห NEC

เพราะฉะนั้นคนที่มี income เป็นแสนๆก็อาจจะไม่มีอิสระภาพทางการเงินก็ได้ถ้าเขายังมี passive income ที่น้อยกว่า ไห NEC

กลับกัน

บางคนมี income น้อยมาก แต่รู้จักหาโอกาสเพื่อเพิ่ม passive income ให้มีมากกว่า ไห NEC เขาก็มีอิสระภาพทางการเงินเรียบร้อยแล้วนะ

สรุป

เมื่อทุกคนอื่นมาถึงจุดนี้อาจจะสงสัยว่าทำไมเจ้าของบล็อกไม่ได้พูดถึงเรื่อง “ออมเงิน” เลย 😊

สำหรับเจ้าบล็อกมองว่าทฤษฎีนี้มันไม่ใช่การออมเงินที่เก็บเงินเป็นปีๆ หรือ 10ปี คุณเก็บแล้วยังไงต่อ? มันคงไม่สามารถงอกออกมาเป็นทวีคูณแน่นอนถ้าคุณเอาแต่เก็บๆ เพราะฉะนั้นสำหรับเจ้าบล็อกมองว่ามันเป็นทฤษฎีที่ทำให้เรา “มีวินัยทางการใช้เงิน” มากกว่า ว่าคุณควรใช้เงินจากไหไหนในโอกาสแบบใด ซึ่งแต่ละไหไม่ขึ้นต่อกัน ทำให้การใช้จ่ายมันชัดเจนและเป็นระบบตามหน้าที่และกฎของแต่ละไห

ณ ตอนที่เจ้าของบล็อกได้ยินทฤษฎีหกไหครั้งแรกแล้วกลับมามองตัวเองสิ่งแรกที่คิดคือวินัยทางการใช้จ่ายเงินเราแย่มาก อยากได้อะไรก็ผ่อนๆ ผ่อนมันให้หมดเป็นอะไรที่แย่มากนะ ถ้าใครอ่านมาถึงจุดๆนี้จะต้องรู้แล้วนะว่าจะต้องดึงเงินไหไหนมาใช้แทนการผ่อน ถ้ายังงงอยู่กลับไปอ่านใหม่นะจ๊ะ นั่นแหละครับประโยชน์ของมัน

และเจ้าของบล็อกไม่ใช่นักการเงินแต่อย่างไร เป็น developer เขียนโปรแกรมเนี่ยแหละดูไม่น่าจะเขียนบล็อกแบบนี้เลย แต่ทำไมถึงสนใจเรื่องนี้ เพราะมันเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีประโยชน์ต่อเรามากในอนาคต จึงอยากบอกว่า ไม่ว่าคุณจะทำอาชีพอะไร

คุณต้องเข้าใจแผนการใช้เงินของตัวคุณเอง และจัดการมันให้อยู่หมัด ก่อนที่มันจะเละเทะไปมากกว่านี้

ซึ่งเราเริ่มทำได้ตั้งแต่วันนี้เลยนะ

เราหวังว่าบล็อกนี้จะเป็นประโยชน์กับใครหลายๆคนที่มีปัญหาเรื่องวินัยทางการเงินอยู่

วันนี้ก็ไว้แค่นี้เจอกันบล็อกหน้าครับ

เข้าไปติดตามกันได้ https://www.facebook.com/productive.tools

อย่าลืมกด share ให้มนุษย์ที่ไม่มีวินัยทางการเงินคนอื่นด้วยหละ 😎

--

--

Nonthawit 👨🏻‍🚀 (น้ำแข็ง)
THE EXISTING COMPANY

Tech CEO & Co-founder of The Existing Company┃Software Engineer┃Designer ┃Product Coach ┃Public Speaker ┃ Blogger┃Notion Expert