Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
Nov 16, 2020

คนต้นทุนสูง

“อย่าทำตัวเป็นคนต้นทุนสูง” เป็นคำแนะนำจากผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ตอนแรกฟังแล้วก็ไม่ค่อยเข้าใจว่าแปลว่าอะไร แต่พอเวลาผ่านไปค่อยๆ ตกผลึกค่อยๆ ตีความ ก็เข้าใจมากขึ้น จากที่งง ก็กลายเป็นเห็นด้วยมากๆ และผมก็ยึดเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต

:::::

ต้นทุนแรก ตามที่ผมเข้าใจ ก็คือ “ต้นทุนทางวัตถุ”

จะว่าไป คนเราเกิดมาก็ไม่ได้มีอะไรติดตัวมา ก็แก้ผ้าเกิดมากันทุกคน ยามเด็ก ก็มีพ่อมีแม่ ปู่ย่าตายาย มาคอยเติมต้นทุนทางวัตถุให้ ซื้อของเล่นดีๆ เสื้อผ้าดีๆ ไปโรงเรียนแพงๆ คนไหนครอบครัวมีตังค์อยู่แล้ว ก็อาจจะผลักดันให้ต้นทุนเขาสูงกว่าคนอื่น

เกิดมานั้น baseline ของต้นทุนเราเท่ากัน แต่ปัจจัยภายนอก หรือคนรอบๆ ข้างเป็นตัวช่วยกันผลักดันให้ baseline ต้นทุนเราสูงต่ำไม่เท่ากัน

เรื่อง baseline หรือต้นทุนทางวัตถุของแต่ละคนที่ได้มาไม่เท่ากัน อันนี้มันว่ากันไม่ได้ ก็แล้วแต่บุญแต่กรรมที่ทำกันมาแต่ชาติไหน

เพียงแต่พอเราโตขึ้น หากไม่ซวย แบบ baseline เดิมร่วงไปซะก่อน มนุษย์ทุกคนก็พยายามจะ “raise the bar” หรือขยับ baseline ตัวเองให้สูงขึ้น ปรับชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น จากเดิมไม่มีรถ ก็อยากจะมีรถ จากเดิมที่บ้านใช้ Toyota ก็อยากมาขับ Mercedes Benz จากเดิมที่บ้านขับ Mercedes Benz ก็อยากจะขับ Ferrari ก็ว่ากันไป

การเป็นคนต้นทุนสูง หรือการยึดติดมูลค่าทางวัตถุ มันทำให้เราเป็นคนจมไม่ลง ไขว่คว้าหาสิ่งใหม่ไปเรื่อยๆ และหาความสุขไม่เจอสักที

:::::

การที่เราทำงานในบริษัทเอกชน หรืออยู่ในระบบองค์กรที่ทำให้เราก้าวหน้าไปเรื่อยๆ จะช้าหรือเร็วก็แล้วแต่จังหวะจะโคนของแต่ละคน แต่การที่เราเห็นกราฟตัวเอง ว่ามันขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง บางครั้งก็ทำให้เราหลงลืมไปว่าชีวิตจริง สักวัน … กราฟมันก็จะต้องร่วง .. เหมือนเราเสพติดการทำตัวเองให้ดีขึ้นในเชิงวัตถุทุกวันๆ

สำหรับคนหน้าที่การงาน ตำแหน่งใหญ่โต ทุกวันมีคนมาล้อมหน้าล้อมหลัง นี่ก็เป็นต้นทุนแบบหนึ่ง มันเป็น “ต้นทุนทางสังคม”

ต้นทุนทางสังคมนี้ หลายคนก็พยายามดิ้นรนสร้างมันขึ้นมา แต่หลายคนก็ได้มันมาเองเรื่อยๆ ค่อยสะสมมา จนบางทีก็ไม่รู้ตัว กลายเป็นต้นทุนสูงไปมาก มารู้ตัวอีกที อ้าวเฮ้ย มันสูงไปเกินที่จะจัดการได้หรือเปล่าล่ะเนี่ย

ผมเห็นผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่าน ที่ตอนทำงานอยู่ ก่อนเกษียณมีตำแหน่งสูงในองค์กร เดินไปไหนก็มีคนทัก ก็มีคนไหว้ แต่พอเกษียณไป กลับมาเยี่ยมเยียนองค์กรเดิมอีกครั้ง กลับไม่มีใครรู้จักอีกต่อไป เด็กๆ รุ่นใหม่ๆ เขาก็ไม่ได้ทักได้ทายอะไร เพราะไม่เคยรู้ว่าผู้ใหญ่ท่านนี้เป็นใคร หากเป็นคนที่ยึดติดกับบั้ง กับต้นทุนทางสังคมเดิม ก็คงรู้สึกโหวงเหวงไปพอสมควร แต่หากปรับตัวได้ ลดต้นทุนตัวเองลงมาได้ ก็คงชิลๆ ไม่คิดอะไร และเข้าใจโลกว่ามันก็เป็นอย่างนี้นี่เอง

วันนี้ you are somebody แต่ you will be nobody somedays ฝรั่งเขาว่าไว้

:::::

ท้ายสุด ผมพึ่งได้ดู YouTube เรื่องราวของ Sam Berns ซึ่งป่วยเป็นโรค Progeria คือโรคที่เซลส์ในร่างกายผิดปรกติและทำให้ร่างการเสื่อมถอยเร็วเกินวัย ตอนนี้แซมไม่อยู่แล้ว เขาเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2014 ตอนอายุได้เพียง 17 ปี

เรียกว่าต้นทุนทางชีวิตแทบจะทุกอย่างของแซม น้อยกว่าคนปรกติอย่างพวกเรามากๆ แต่สิ่งที่แซมมาบอกกับทุกคนใน TED Talk วันนั้น ก็คือ ถึงแม้เขาจะป่วยเป็น Progeria และบางครั้งผู้คนก็ล้อเลียนในรูปร่างหน้าตาของเขา แต่ “I have a very happy life.” .. ผมมีชีวิตที่มีความสุขมากๆ

ปรัชญาการใช้ชีวิตของ Sam มีสามข้อ คือ

หนึ่ง. Be ok with what you ultimately can’t do.

ในโลกนี้มีหลายอย่างที่เราเองอาจจะไม่สามารถทำได้ แต่ก็มีอีกตั้งหลายอย่างที่เราสามารถทำได้ หรือลองมองให้ดีว่า ไอ้สิ่งที่เราทำไม่ได้ หากปรับมันสักนิด เราอาจจะโยกมันมาใส่ในลิสต์ CAN DO ได้ แซมเล่าเรื่องของตัวเองที่เล่น snare drum ในวงมาร์ชไม่ได้เพราะมันหนักเกินไป แต่ครอบครัวของแซมก็ช่วยปรับให้เจ้า snare drum นี่มันเบาพอที่แซมจะเล่นได้ และสุดท้ายเขาก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของวงมาร์ชตามที่เขาฝัน

สอง. Surround yourself with people you want to be around.

มองไปรอบตัว ไม่ต้องมองไปไหนไกล มีความสุขอยู่กับครอบครัว เพื่อนฝูง ครูบาอาจารย์ คนที่เรารัก คนที่รักเรา นี่แหละคือแหล่งความสุขที่แท้จริง

สาม. Stay in a forward-thinking state of mind.

มองไปข้างหน้าเสมอ อย่ามัวแต่มานั่งเสียใจกับตัวเอง กับสิ่งที่มันผ่านไปแล้ว ชีวิตมีอะไรอีกเยอะแยะ ก็แค่ move on.

ดูคลิปนี้จบ ผมก็แอบคิดว่า บางทีเราก็มีชีวิตยืดยาวเกินไปหรือไม่ ทำให้เราคิดเยอะ หรือชีวิตเราอาจจะไม่ได้ยืดยาว แต่เราต่างหากที่คิดยาวเกินไป ไม่มองความสุขที่อยู่ตรงนี้ อยู่ข้างหน้านี้ ไขว่คว้าหาสิ่งที่ยังไม่มาถึงอยู่ร่ำไป แต่พอมันมาถึง หลายๆ ครั้ง เราก็รู้สึกว่า “มันก็แค่นี้เอง” ..

:::::

ปรับตัวเองให้ต้นทุนต่ำ มีความสุขง่ายๆ กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าในทุกวัน .. มาลองทำสิ่งที่ Sam สอนกันดีกว่า 🙂

#KnowledgeSpiral #SamBerns

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.