คนเรายิ่งอยู่สูงยิ่งต้องโน้มตัวให้ต่ำ

Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
2 min readJan 31, 2021

“คนเรายิ่งอยู่สูง ยิ่งต้องโน้มตัวให้ต่ำ” อีกคำสอนหนึ่งที่ผมได้ยินจากผู้ใหญ่ที่เคารพมากที่สุดท่านหนึ่ง คำสอนนี้อยู่ในความคิดมากว่า 10 ปีแล้ว และมันยิ่งเด่นชัดขึ้นทุกวัน เลยอยากจะนำมาเล่าให้ฟังครับ :)

ในบริบทตอนนั้น หมายถึงว่า ถึงแม้ผู้ใหญ่ท่านนั้นจะอาวุโสมากแล้ว (ตอนนั้นท่านอายุ 80 กว่าแล้ว) แต่ท่านก็จะไม่ปิดกั้นตัวเอง เพื่อรับฟังเด็กๆ ที่อายุน้อยกว่า ในตอนนั้นท่านเริ่มทำโรงเรียนทางเลือกสำหรับเด็กๆ ชั้นประถม เด็กๆ อายุไม่ถึง 10 ขวบ เรียกท่านว่าคุณตาได้เลย แต่ท่านเองก็ชอบฟังไอเดียจากเด็กๆ ท่านบอกว่า หากผมไม่เปิดรับฟังไอเดียจากเด็กๆ เหล่านี้ ผมก็ต้องถือว่าผมโง่ล่ะ .. จากคนที่เคยประสบความสำเร็จมากๆ เป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรเอกชน มีคนล้อมหน้าล้อมหลังตลอดเวลา แต่ท่านสามารถละตัวตนและเปิดรับความคิดจากเด็กรุ่นหลาน (หรือเหลน) ได้ ผมฟังแล้วขนลุกมากในตอนนั้น แล้วก็ประทับใจมาจนถึงวันนี้

กาลเวลาผ่านไป ก็ได้ยินได้ฟัง และได้สังเกตเห็นผู้ใหญ่หลายท่านที่เราเคารพ พูดถึง และแสดงออกเกี่ยวกับวลีนี้ แต่ในบริบทที่แตกต่างกัน ผมเองก็ได้ยึดแนวทางนี้ในการปฏิบัติตัว และดำเนินชีวิตอยู่เสมอ เนื่องด้วยผมคิดว่าแนวทางนี้สอดคล้องกับคุณค่าในชีวิตของผมเอง

คุณค่าที่ว่าคืออะไร? อย่างที่เคยเล่าไปแล้วว่า ตามทฤษฎีของ McClelland คนเรามี Need อยู่สามอย่าง คือ Need for Power, Need for Achievement และ Need for Affiliation คนแต่ละคนจะมีความเข้มข้นของ Need แต่ละอย่างไม่เท่ากัน ตัวผมเองนั้นให้ความสำคัญกับ Need for Affiliation มากที่สุด กล่าวคือ เวลาทำงาน เราก็อยากให้เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า หรือ stakeholders ต่างๆ มีความสุขเป็นตัวนำ แน่นอนว่าเรือง achievement นั้นก็สำคัญ แต่ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องรอง หากคนทำงาน ลูกค้าและ stakeholders มีความสุข เดี๋ยว achievement ก็จะตามมาเอง มันเป็น achievement ที่ยั่งยืนกว่า ส่วนเรื่อง power นั้น จะใช้ก็ต่อเมื่อยามจำเป็นเท่านั้น หากไม่คับขันจริงๆ ก็จะเก็บไว้ลึกๆ เลย

กลับมาเรื่อง “คนเรายิ่งอยู่สูง ยิ่งต้องโน้มตัวให้ต่ำ”

คำว่า “สูง” ในที่นี้ มีความหมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สถานะทางสังคม สถานะในหน้าที่การงาน สถานะการเงิน การศึกษา อายุ ฯลฯ​

  • คน “ตำแหน่งสูง” ก็ไหว้คนตำแหน่งที่น้อยกว่าแต่อาวุโสกว่าได้ : การไหว้เป็นวัฒนธรรมของเรา ที่เราแสดงความเคารพคนที่อาวุโสกว่า บางครั้ง บางคนเป็นคนเก่ง ประสบความสำเร็จเร็ว ก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงๆ แซงหน้าผู้ที่อาวุโสกว่าไปได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ความเคารพรุ่นพี่ คนที่อาวุโสกว่า จะต้องหายไปด้วย พี่ A (นามสมมตินะครับ) เป็นผู้บริหารระดับสูงที่อายุน้อยมาก และแน่นอนว่าต้องมีลูกน้องที่อายุน้อยกว่าแกหลายคน แต่ผมสังเกตเห็นว่าแกเป็นคนมืออ่อนมาก ไม่ว่าจะไปที่ไหนก็มักจะยกมือไหว้คนอื่นก่อนเสมอ ไม่ว่าคนนั้นจะตำแหน่งน้อยกว่าแกก็ตาม บางครั้งหากแกไม่แน่ใจว่าคนๆ นั้นอาวุโสกว่าหรือเด็กกว่า แกก็ไหว้ไว้ก่อน น่าแปลกที่พี่คนนี้ใช้ชีวิตในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ แต่แกเองกลับไม่ลืมวัฒนธรรมเรา
  • คนที่ “ตำแหน่งสูง” เป็นหัวหน้า ก็ต้องเปิดหัว เปิดใจ ฟังไอเดียของลูกน้อง : ตัวอย่างนี้เห็นเยอะในองค์กรที่ผมทำงานอยู่ เพราะทุกคนไม่ได้รู้ดีไปในทุกเรื่อง น้องๆ พี่ๆ มักจะเปิดโอกาสให้น้องๆ เล่าไอเดียในการปรับปรุงงานของตัวเองอยู่เสมอ เพราะจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าพี่ๆ เองก็ใช่ว่าจะมีความรู้ ความเชี่ยวชาญเชิงลึกเท่ากับน้องๆ ที่อยู่หน้างาน บางครั้งบางคราวสั่งอะไรมั่วซั่วไปอาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ สู้รับฟังไอเดียจากน้องๆ ก่อนแล้วค่อยตัดสินใจ น่าจะตัดสินใจได้เฉียบคมกว่า แต่ผมก็เชื่อว่าคงมีอีกหลายที่เหมือนกันที่หัวหน้าเป็นใหญ่ เรียกว่าชี้สายหันขวาหันไม่ต้องเถียง ห้ามแสดงความคิดเห็น มันก็อาจจะเหมาะกับองค์กรบางประเภทที่ต้องการ alignment สูงๆ แต่องค์กรแบบนั้น ไม่มีทางสร้างเรื่อง innovation ให้เกิดขึ้นได้แน่นอน
  • คนที่ “การศึกษาสูง” จบจากเมืองนอกเมือง จบปริญญาโท หรือปริญญาเอก ก็ใช่ว่าจะฟังความเห็นจากคนที่ไม่จบสูงเท่าเขาได้ : ในหลายๆ บริษัท พนักงานที่รับเข้ามามีความหลากหลายมาก จบการศึกษาหลายระดับ ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ ปวช ปวส ปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอก บางคนเรียนเมืองนอก บางคนเรียนเมืองไทย แต่พอเอาเข้าจริงแล้ว เรื่องความสามารถในการทำงานนั้นมันไม่สามารถตัดสินกันได้ด้วยวุฒิการศึกษาจริงๆ บางครั้งคนที่จบปริญญาตรีจากเมืองไทย เก่งกว่าคนที่จบปริญญาโทจากเมืองนอก ก็มีเยอะแยะไป
  • คนที่ “อายุมาก” ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ เชื่อมั่นในประสบการณ์ ความรู้ของตัวเอง ก็ต้องไม่ลืมว่า โลกมันเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วขนาดไหน ความรู้ ประสบการณ์ที่เราเคยมีบางอย่างมันอาจจะ obsolete หรือใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้วในยุคสมัยนี้ มันจะดีกว่าหรือหากเราใจกว้างเปิดรับไอเดียจากคนรุ่นใหม่ๆ เป็นธรรมชาติของมนุษย์เมื่อได้เห็นอะไรใหม่ๆ ที่เราไม่เข้าใจ มักจะต่อต้านเอาไว้ก่อน มันเป็นสัญชาตญาณเอาตัวรอด แต่หากเรามีสัญชาญาณนี้มากเกินไป มันจะเหมือนการที่เราปิดหูปิดตา ไม่รับฟัง และสุดท้าย เราก็จะกลายเป็นคนที่ไม่ทันโลก อยู่ในโลกใบเดิมของเราต่อไป (แต่ถ้าหากคุณพอใจจะอยู่แบบนั้น มีความสุขแบบนั้น มันก็ไม่มีใครว่าอะไรนะ)
  • คนที่ “ego สูง” ก็ต้องพยายามทำตัวให้ humble (จริงๆ อันนี้ไม่ค่อยเกี่ยว แต่อยากเขียน 55) ไอ้เจ้า ego นี้อาจจะได้มาจาก track records ในอดีต ที่ทำอะไรก็สำเร็จไปหมด คนชื่นชม เติบโตเร็ว หรืออะไรก็แล้วแต่ มันสั่งสมให้เราทำนงตน และผยอง ว่ากรูนี่แหละเก่ง! พอเก่งแล้วก็ไม่ฟังใคร พี่ B (นามสมมติอีกแล้ว) เป็นพี่ที่สอนผมเรื่อง humble ผมฟังครั้งแรกก็ไม่เข้าใจว่าแปลว่าอะไร แต่ตอนนี้พอตีความได้แล้วว่าไอ้ความ humble นี่มันต้องอยู่ในทั้งความคิดและกริยา มันจะเป็นตัวช่วยลดทอน ego ของเราลง

ในฝั่งตะวันตกเอง concept ที่คล้ายๆ กันพอมีให้เห็นอยู่ แนวคิดหนึ่งที่มีมานานพอสมควรแล้วเรียกว่า Servant Leadership ผู้คิดคำนี้ขึ้นมา คือ Robert Greenleaf โดยตัว Robert เองตั้งข้อสงสัยว่า Leadership หรือ ภาวะผู้นำมันจำเป็นต้องมีรูปแบบเดียวหรือไม่ เพราะเขาเห็นแต่รูปแบบที่ผู้นำมีอำนาจสั่งการ ควบคุม บริหารจัดการกิจการต่างๆ ขององค์กร เป็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจมากกว่าการสร้างความสัมพันธ์อันดีในองค์กร คำว่า servant หากแปลตรงๆ แบบที่คนไทยเราคนคุ้นเคยกันดีก็คือ คนรับใช้ แต่จริงๆ แล้วมันหมายถึง คนที่มองคนอื่นก่อนเป็นหลัก ให้บริการคนอื่นก่อนที่จะมองตัวเอง ความหมายนี้น่าจะ make sense มากกว่าในบริบทนี้

ใน website ของ Robert K. Greenleaf Center of Servant Leadership (https://www.greenleaf.org/) กล่าวถึง Servant Leadership ไว้ว่า

“คนที่เป็น servant leader จะคิดว่าตัวเอง servant ก่อน มันเป็นความรู้สึกที่ต้องการจะ serve ก่อน แล้วค่อยมาคิดทีหลังว่าจะเป็นผู้นำอย่างไร ความคิดแบบนี้มันต่างจากคนที่คิดจะเป็นผู้นำ เป็นลำดับแรก ..”

“คนที่เป็น servant leader จะมุ่งไปที่การเติบโตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนในองค์กร พยายามสร้างสังคมการทำงานที่ดี ขณะที่ผู้นำแบบเดิมๆ มันจะพยายามสร้างและรวบอำนาจมาไว้ตัวเอง ให้ตัวเองกลายเป็นยอดของปิรามิด แต่ servant leader จะแบ่งปันอำนาจที่ตนมี (เราคุ้นเคยกับคำนี้ คือ empowerment) และมองเห็นความต้องการของผู้อื่นก่อน รวมถึงพยายามช่วยเหลือและผลักดันคนในองค์กรให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น”

บทความหนึ่งใน Harvard Business Review ชื่อว่า “How Humble Leadership Really Works” เขียนโดย Dan Cable ก็อธิบายแนวคิดใกล้ๆ กัน

Dan บอกว่า เมื่อคนไต่เต้าจนมาถึงในระดับหัวหน้า ได้เป็นผู้นำ หลายคนก็ลุแก่อำนาจ ประมาณว่า กว่าจะไต่เต้ามาได้ ก็ขอเบ่งซะหน่อย แต่การที่มุ่งไปที่การใช้อำนาจนี้ มันกลับสร้างให้เกิดความกลัวต่างๆ ภายในองค์กร กลัวว่าจะไม่เข้าเป้า กลัวว่าจะไม่ได้โบนัส กลัวว่าจะทำผิด ทำให้ผู้คนสะสมความรู้สึกนึกคิดลบๆ ไว้ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมต่างๆ ก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้กับองค์กรที่สะสมความกลัวไว้แบบนี้

Dan ให้คำแนะนำสั้นๆ สำหรับคนที่พยายามฝึกฝนการเป็น humble leader หรือ servant leader ไว้ดังนี้

  1. แทนที่จะบอก หรือสั่งให้ลูกน้องทำโน่นทำนี่ ให้ถามว่าเราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง ให้เขาทำงานได้ดีขึ้น
  2. สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกน้องได้มีโอกาสได้แสดงความคิดเห็น ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ๆ คำที่ฮิตตอนนี้ตามซีรีส์เกาหลีเรื่อง Start-Up ก็คือ พยายามสร้าง Sandbox ให้เกิดขึ้นในองค์กร
  3. Be humble หรือรู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน แสดงความเคารพ แสดงความชื่นชมคนอื่นๆ เหมือนกับที่เราเขียนไว้ข้างต้นบทความนี้

ยิ่งอยู่สูง ต้องยิ่งโน้มตัวให้ต่ำ อย่าบินอยู่บนฟ้า อย่าอยู่บนหอคอยงาช้างแต่เพียงอย่างเดียว ต้องพยายามรับรู้ให้ได้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง on the ground ผมเชื่อว่านี่คือผู้นำยุคใหม่ที่หลายๆ คนอยากทำงานด้วย :)

#KnowledgeSpiral #HumbleLeadership #ServantLeadership

--

--

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.