ความปลอดภัยทางใจและผลงาน ต้องไปด้วยกัน

Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
Jan 12, 2024

ความปลอดภัยทางใจ หรือ Psychological Safety หลายคนน่าจะคุ้นเคยกับเรื่องนี้บ้างแล้ว ทาง Knowledge Spiral ก็เคยเอามาเล่าไว้ในโพสท์ก่อนๆ

ถ้าใครไม่คุ้น การที่คุณมีความปลอดภัยทางใจ หมายความว่าคุณสามารถแสดงความคิดเห็นในที่ทำงานได้อย่างอิสระ ถามคำถามได้ ไม่ต้องกลัวว่าจะเป็นคำถามโง่ๆ นำเสนอไอเดียได้ โดยไม่กังวลว่าใครจะว่าไอเดียคุณเห่ย คนในองค์กรสามารถยอมรับความผิดพลาดซึ่งกันและกันได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องโดนลงโทษ หรือทำให้อับอาย

หลายๆ คนเข้าใจผิดคิดว่า การจะทำให้คนมีความปลอดภัยทางใจ ควรจะสร้างบรรยากาศแบบชิลๆ ลดความคาดหวังในเรื่องของผลงานลง คนจะไม่เครียด ไม่กดดัน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันต้องไปด้วยกัน เพราะหากคนปลอดภัยทางใจ แต่ไมพูดถึงเรื่องผลงานเลย ไม่พูดถึงความท้าทายอะไรเลย องค์กรคงไม่ไปไหน

Amy Edmondson อธิบายเรื่องนี้ในรูปแบบของ 2x2 matrix ตามภาพ

แนวตั้ง คุณมีความปลอดภัยทางใจมากน้อยแค่ไหน

แนวนอน คุณได้รับความคาดหวังในเรื่องของผลงานมากน้อยแค่ไหน

====

Apathy Zone ความปลอดภัยทางใจ “ต่ำ” ความคาดหวังเรื่องผลงาน “ต่ำ”

หากคนอยู่ zone นี้ คนจะมาทำงานแต่ตัว ส่วนใจและสมองไปอยู่ที่อื่น เรียกว่าทำงานไปวันๆ จะพูดอะไรก็ไม่กล้าพูด ไม่แสดงความคิดเห็น แต่ก็ไม่มีใครมาคาดหวังเรื่องผลงานเช่นกัน จินตนาการแล้วนึกถึงคนที่เวลาประชุมแล้วชอบไปหลบอยู่มุมห้องเงียบๆ คนเดียว ไม่ต้องมายุ่งกับชั้น อะไรประมาณนั้น

Comfort Zone ความปลอดภัยทางใจ “สูง” ความคาดหวังเรื่องผลงาน “ต่ำ”

น่าจะเป็น zone ที่พนักงานอยากอยู่มากที่สุด ชิลๆ สบายๆ ทุกคน friendly หลั่นล้ากันหมด แถมผลงานก็ไม่ต้องเน้น พนักงานชอบ แต่บริษัทน่าจะไปไหนไม่ได้ไกล

Anxiety Zone ความปลอดภัยทางใจ “ต่ำ” ความคาดหวังเรื่องผลงาน “สูง”

zone นี้สยองขวัญ ไม่มีใครอยากอยู่ โดนบี้เช้ากลางวันเย็น แถมนำเสนอไอเดียอะไรก็ไม่ได้ ถามคำถามอะไรก็ไม่ได้ เดี๋ยวจะโดนเจ้านายด่าว่าโง่ ผู้คนเลื่อยขาเก้าอี้กันเป็นกิจวัตร องค์กรไหนมีคนอยู่ zone นี้เยอะๆ เตรียมถามหาความหายนะได้

Learning Zone ความปลอดภัยทางใจ “สูง” ความคาดหวังเรื่องผลงาน “สูง”

zone นี้ ดีทั้งกับตัวพนักงานและบริษัท คนทำงานก็มีความสนุกสนาน อยากไปทำงานทุกวัน มีอะไรท้าทายให้ทำ เพื่อนฝูงก็สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ ดีเบตกันได้ อย่างไม่ต้องกังวลว่าใครจะโกรธใคร ทุกคนร่วมกันผลักดันองค์กรไปข้างหน้า ไปสู่เป้าหมายที่ท้าทาย

====

คุณเองอยู่ใน zone ไหน?

คุณคิดว่าคนส่วนใหญ่ในองค์กรของคุณ อยู่ใน zone ไหน?

source: amycedmondson.com

#KnowledgeSpiral #PsyhcologicalSafety #AmyEdmondson

--

--

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.