ทำไมคนธรรมดาถึงกลายเป็นคนชั่วร้าย?

Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
2 min readFeb 9, 2020

ไม่มีคนเกิดมาเลว ไม่มีใครชั่วร้ายมาตั้งแต่กำเนิด แต่ด้วยสถานการณ์บางอย่างที่พาเราไปถึงจุดหักเหที่ทำให้ความชั่วร้ายมาครอบงำเรา มันขึ้นอยู่กับเราเองว่าเข้มแข็งพอที่จะต้านความชั่วร้ายนั้นได้หรือไม่

Philip Zimbardo นักจิตวิทยาชื่อดังจากมหาวิทยาลับ Stanford ได้ศึกษาเรื่องนี้ และนำมาเขียนเป็นหนังสือเรื่อง The Lucifer Effect : Understand How Good People Turn Evil

หนังสือ The Lucifer Effect โดย Philip Zimbardo

ในหนังสือเล่มนี้ Zimbardo ยกตัวอย่างเหตุการณ์หลายเหตุการณ์ที่คนปรกติลุกขึ้นมาทำเรื่องเลวร้าย เช่น ที่คุก Abu Ghraib ในอิรักที่ทหารอเมริกัน Ivan Frederick ทรมานนักโทษในค่าย เหตุการณ์ฆ่าตัวตายหมู่ Jonestown Cult Massacre และอ้างถึงการทดลองหลายอย่าง เช่น Milgram experiment และ Stanford prison experiment (การทดลองนี้ดังมาก จนมีการไปสร้างเป็นภาพยนตร์)

ภาพยนตร์เรื่อง The Stanford Prison Experiment

ผมไม่ขอลงรายละเอียดในแต่ละการทดลอง หรือแต่ละตัวอย่าง แต่ขอสรุปประเด็นสาเหตุว่า ทำไมคนธรรมดาถึงกลายเป็นคนชั่วร้ายได้

  • บุคลิก ลักษณะนิสัย หรือพฤติกรรมของมนุษย์นั้นไม่ได้คงที่ แต่เปลี่ยนไปตามสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับบริบททางสังคม ขึ้นกับว่าเราอยู่กับใคร ให้ลองนึกถึงตัวเราเองว่าตอนเราอยู่กับเพื่อน อยู่กับเด็กเล็กๆ อยู่กับเจ้านาย อยู่กับลูกน้อง อยู่กับแฟน อยู่กับพ่อแม่ เราคนเดิม แต่เรากลับมีบุคลิกและพฤติกรรมที่แตกต่างออกไป วิธีการมองมนุษย์แบบนี้เรียกว่า “Situational Approach” กล่าวคือ คนที่เราเห็น เรารู้จักดีในบริบทหนึ่ง ถ้าเขาได้รับแรงกระตุ้น ถ้าเขาอยู่สถานการณ์ที่เอื้อ เขาก็อาจจะเป็นคนอีกคน ที่เราไม่เคยรู้จักเลยก็เป็นได้
  • การที่เราเชื่อฟัง และยอมทำตามอำนาจที่เหนือกว่า (“Obedience to Authority”) ทำให้เรามองข้ามความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือมองข้ามศีลธรรมจรรยาไปได้ อำนาจที่ว่านี้ อาจเป็นอำนาจที่มาจากลำดับขั้นที่เป็นทางการ เช่น ตำแหน่งที่สูงกว่า หรืออำนาจที่มาจากความเชื่อความศรัทธา เช่น เหตุการณ์ Jonestown Massacre เกิดจากการที่ Jim Jones ผู้นำลัทธิหว่านล้อมให้ผู้ร่วมลัทธิ 900 ชีวิต ดื่มยาพิษ ฆ่าตัวตายไปพร้อมกัน เพราะเห็นว่าลัทธิของเขา Utopia ที่เขาพยายามสร้างน่าจะไปไม่รอดแล้ว เนื่องจากดันไปฆ่า Congressman Leo Ryan และนักข่าวที่มาสืบเรื่องลัทธิของเขา ดูสกู๊ปสั้นๆ เกี่ยวกับ Jim Jones และ Jonestown Massacre จาก YouTube Video ด้านล่างนี้ครับ
TODAY’s Cults & Crimes ของช่อง NBC ในอเมริกาย้อนอดีตเรื่อง Jonestown Massacre ให้เราดู
  • ถ้าเราสามารถกระทำการได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบ โดยไม่มีใครรู้ว่าเราทำ เราก็มีแนวโน้มที่จะทำสิ่งที่เลวร้ายได้ พฤติกรรมแบบนี้เรียกว่า “Deindividuation” หรือสภาวะไร้ตัวตน มีสองวิธีที่ทำให้เกิด deindividaution คือ 1) ปลอมตัวเป็นคนอื่น หรือหาสิ่งมาปิดบังตัวตนที่แท้จริงของเรา และ 2) หาโอกาสกระทำการในสถานที่ ในเวลา ในโอกาส ที่ไม่มีใครรู้ว่าคือเรา ข้อหนึ่ง ลองคิดเล่นๆ ว่าหากเรากลายเป็นมนุษย์ล่องหน ไม่มีใครเห็นเราได้สักสองชั่วโมง เราอยากทำอะไร? ข้อสอง หากเราไปในที่ๆ เราไม่มีใครรู้จักเรา แล้วเรามีอำนาจบางอย่างที่จะทำการใดๆ เราจะทำอะไร ? ลองตอบตัวเองในใจอย่างซื่อสัตย์นะครับ
  • เราจะกลายเป็นคนชั่วร้ายอย่างง่ายดาย หากเรามองผู้อื่นว่าเลวร้าย ว่าต่ำต้อยกว่า ว่าเขาไม่ใช่มนุษย์ ความคิดแบบนี้เรียกว่า “Dehumanization” เราเห็นแนวคิดแบบนี้เข้มข้นมากในอดีต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเหยียดผิว เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ เหยียดศาสนา ฯลฯ เหตุการณ์ที่ Zimbado ยกตัวอย่างในหนังสือ คือ Rape of Nanking ที่ทหารญี่ปุ่นบุกไปจีน และฆ่าคนจีนไปมากมาย เพราะมองคนจีนเป็นเพียงสิ่งของ ไม่ใช่มนุษย์ที่ศิวิไลซ์เหมือนพวกเขา ความคิดเหล่านี้ ถึงแม้จะเหมือนจางไปเยอะแล้ว แต่ก็ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อยในสังคม แต่มันแปรรูปไปเป็นเรื่อง ฐานะทางการเงิน การศึกษา หน้าที่การงาน ฯลฯ
  • นอกจาก Obedience, Deindividuation และ Dehumanization แล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การที่เรายึดถือ ideology อะไร แล้วยกมันเป็นเหตุผลให้เรากระทำชั่วโดยมิผิด สิ่งที่เราอ้างว่า เราจำเป็นต้องทำ เพื่อให้โลกนี้ดีขึ้น หรืออะไรก็แล้วแต่ ยกตัวอย่าง Thanos เลย ดีดนิ้วให้ประชากรจักรวาลหายไปครึ่งหนึ่งเพื่อให้จักรวาลนี้ดีขึ้น หรือการที่ทหารอเมริกันบุกไปอิรัก โดยใช้เหตุผลว่าเพื่อปราบปรามผู้ก่อการร้าย แล้วก็มีช่องโหว่ให้ Ivan Frederick ใช้เหตุผลนี้เป็น cover story ว่าการที่เขาทรมานนักโทษนั้น มันถูกต้องแล้ว เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการปราบผู้ก่อการร้าย

เห็นได้ว่าบางทีคนเราก็ไม่รู้ตัวเหมือนกันว่าเราได้ถูกความชั่วร้ายครอบงำไปเสียแล้ว แล้วเราจะทำอย่างไรให้ห่างไกลจากความชั่วร้าย Zimbado แนะนำไว้สามข้อ ดังนี้

  1. คิดเสมอว่าทุกการตัดสินใจ ทุกการกระทำมันเป็นความรับผิดชอบของเรา หาใช่ของคนอื่นใหม่ ถึงแม้เราจะซ่อนตัวอยู่ที่ลับเพียงใด แต่เมื่อเราทำสิ่งที่เลวร้าย มันก็คือเราทำ ไม่ใช่ใครคนไหน
  2. ถ้าเราเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ผู้มีอำนาจเหนือกว่าสั่งให้เราทำ มันไม่ชอบมาพากล หมิ่นเหม่จะผิดกฏหมาย ผิดศีลธรรม ผิดความเชื่ออันดีงามของเรา เราก็ควรเลิกทำเสีย มันอาจจะต้องแลกมากับบางสิ่งบางอย่าง เช่น เงินทอง อำนาจวาสนา ฯลฯ แต่กลับไปข้อหนึ่ง เราเป็นเจ้าของการกระทำนั้นๆ และเราต้องรับผิดชอบกับมัน
  3. หากไปเจอ ideology อะไรแปลกๆ ที่จะนำไปสู่การกระทำอันชั่วร้าย ให้ตั้งคำถามหนักๆ เช่น หากบอกว่าการบุกไปโจมตีประเทศหนึ่ง ฆ่าแกงผู้คนในประเทศนั้น จะช่วยนำพาประชาธิปไตยให้เกิดขึ้น จริงหรือ ?? ได้ยิน ได้เห็นอะไรที่มีลักษณะเป็นลัทธิ ที่ชวนให้เชื่อ โดยไม่มีเหตุ มีผล ใช้อารมณ์นำล้วนๆ ก็น่าจะเริ่มตั้งข้อสังเกตว่ามันไม่ปรกติแล้ว อยู่ห่างๆ ไว้ดีกว่า

ท้ายสุดนี้ สิ่งที่ตรงข้ามกับอธรรม ความชั่วร้าย ก็คือ ฮีโร่ คงไม่มีใครอยากเป็นคนชั่วร้าย ทุกคนอยากเป็นฮีโร่กันทั้งนั้น สิ่งที่ทำให้มนุษย์ทุกคนเป็นฮีโร่ได้นั้น แสนจะง่ายดาย แสนจะธรรมดา นั่นคือ 1) ลงมือทำ ลงมือแก้ไข ในขณะในที่คนอื่นนิ่งเฉย และ 2) ให้ความสำคัญกับผู้อื่นมากกว่าตัวเองเสมอ

เราทุกคนล้วนมีโอกาสจะแปรผันไปเป็นปีศาจหรือฮีโร่ได้เสมอเมื่อโอกาสและจังหวะมันพาไป แต่หากเราหมั่นทบทวนตัวเอง มองตัวเองในกระจก อย่ามองแต่เพียงรูปกาย ให้มองไปถึงการกระทำ พฤติกรรม ความคิดของเราด้วย

เราได้ลงมือทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้างหรือยังในวันนี้

#KnowledgeSpiral #LuciferEffect #PhilipZimbardo

--

--

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.