ทำไมเราถึงปากหนัก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในที่ทำงาน?

Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
2 min readDec 22, 2020

ผมเชื่อว่าหลายคนก็เคยเป็นเหมือนๆ กัน (รวมทั้งผมด้วย) ที่บางครั้งเราอยากจะพูด อยากจะแสดงความคิดเห็นอะไรในที่ทำงาน แต่เราก็ปากหนัก ไม่พูดออกไป หรือเรามีคำถามในหัว ประเภทที่เรียกว่าอยากถามใจจะขาด แต่ก็เก็บไว้กับตัวเองดีกว่า เพราะถามออกไปจะกลายเป็นคำถามโง่ๆ กลัวคนอื่นคิดว่า เรื่องแค่นี้ไม่รู้เหรอ (วะ)

เรื่องไม่กล้าพูด ไม่กล้าถามนี่เรียกว่าเป็นเรื่องสากลมาก ไม่ว่าชนชาติไหนก็มีอาการนี้เหมือนกันหมด อย่าคิดว่าเป็นแต่พี่น้องชาวไทยอย่างเดียว ตอนผมไปเรียนหนังสือที่อเมริกาใหม่ๆ อาจารย์ต้องคอยกระตุ้นให้นักศึกษาถามคำถามอยู่เรื่อยๆ และพยายามเน้นว่าไม่มี stupid questions หรือคำถามโง่ๆ หรอก ให้ถามออกมาเถอะ ไม่ต้องอาย

เรื่องอั้นไว้ในใจ ไม่พูดออกมานี้ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะมันขัดขวางความเจริญก้าวหน้าขององค์กรอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในองค์กรที่ต้องการจะผลักดันเรื่อง innovation มันใหญ่จนกระทั่งมีการศึกษาวิจัยการเป็นเรื่องเป็นราว โดยในหนังสือเรื่อง The Fearless Organization: Creating Psychological Safety in the Workplace for Learning, Innovation, and Growth ที่เขียนโดย Amy Edmondson ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ในส่วนหนึ่งของหนังสือ ในส่วนที่ชื่อว่า An Epidemic of Silence แปลเป็นไทยทื่อๆ ก็คือ โรคระบาดแห่งความเงียบ 555

จากงานวิจัยของทีมงานจาก New York University ที่ได้ไปถามพนักงานบริษัทจากหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นการเงิน ที่ปรึกษา บริษัทยา หรือบริษัทโฆษณา ก็พบว่าเหตุผลหลักๆ ที่คนไม่ยอมพูดความคิดเห็นของตัวเองออกมา ก็คือ ความกลัวที่จะถูกมองในแง่ลบ และกลัวว่าพอพูดออกไปแล้ว จะทำให้ความสัมพันธ์กับคนในทีมเสีย หรือบางคนก็คิดว่า พูดออกไปก็เท่านั้น แล้วจะพูดไปทำไม เจ็บตัวเปล่าๆ เหมือนกับที่เราชอบพูดกันเล่นๆ ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่คนที่พูดออกมาน่ะ ตายก่อน”

Amy Edmondson ได้สรุปมาว่ามันมีชุดความเชื่ออยู่ชุดหนึ่งที่ฝังลึกอยู่ในใจของพนักงานบริษัททั้งหลาย ที่ทำให้พวกเขาไม่กล้าที่จะแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างตรงไปตรงมา เรียกว่า Implicit Theories of Voice ชื่ออาจจะดูแฟนซีไปหน่อย ไม่ต้องไปสนใจ เราลองมาดูกันดีกว่าว่าชุดความเชื่อแบบนี้มันมีอะไรบ้าง แล้วคุณๆ มีกันบ้างหรือเปล่า

1. อย่าไปให้ความเห็นหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ตามที่เจ้านายเป็นคนคิดขึ้นมา เพราะมันเป็นลูกรักของเจ้านาย เจ้านายอาจจะมีความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ และผูกพันธ์กับลูกรักนี้ หากเราวิจารณ์ อาจซวยได้

2. อย่าพูด หากไม่มีข้อมูลพอ หากพูดไปโดยที่ไอเดียยังไม่ตกผลึก เดี๋ยวจะถูกมองว่าเราเป็นคนไม่รอบคอบ ควรจะไปหาหลักฐานแน่นๆ มา backup ก่อนดีกว่า ไม่งั้นโดนมองว่าพูดพล่อยๆ แน่ๆ

3. อย่าได้สะเออะพูดอะไรออกมา หากว่าเจ้านายของเจ้านายอยู่ด้วย ไม่งั้นเดี๋ยวเจ้านายจะมองว่าเราข้ามหัวเขาโดยไม่ได้ปรึกษากันก่อน

4. หากอยู่ในกลุ่มใหญ่ อย่าไปพูดอะไรลบๆ เกี่ยวกับงาน ไม่งั้นจะทำให้เจ้านายเสียหน้าได้ ไม่มีใครอยากเป็นเป้าสายตา หากมีอะไรที่ไม่ดี ก็ควรจะไปเคลียร์กับเจ้านายก่อน อย่าไปโพล่งต่อหน้าธารกำนัล

5. กล้าพูดเกินไป ให้ระวังตัว เดี๋ยวไม่รุ่ง คนพูดตรงเกินไป กล้าวิพากษ์ จะตกเป็นเป้าสายตาคน ทำให้คนหมั่นไส้

ชุดความเชื่อเหล่านี้ มันขัดขวาง innovation ไม่ส่งเสริม produtivity และที่สำคัญจะทำให้พนักงานไม่มี engagement และรู้สึกทำงานไปวันๆ รอคำสั่ง ไม่ต้องไปคิดอะไรใหม่ หรือแสดงความคิดเห็น ไม่งั้นโดนเล่น

เอาเข้าจริงเรื่องการพูดตรงนี่มันไม่ง่าย ในฐานะที่เราเป็นผู้ส่งสาร ก็ต้องดูผู้รับสารด้วย ไม่ใช่เฉพาะกับเจ้านายหรือคนที่ตำแหน่งสูงกว่าอย่างเดียว แต่คนที่อยู่ในระดับเดียวกัน หรือคนที่ junior กว่าก็ต้องระวังทั้งนั้น บางคนพูดกันตรงๆ ได้ ไม่โกรธกัน แต่บางคนหากพูดตรงไป อาจเก็บเอาไปคิด บางทีไม่คิดอย่างเดียว กลับแค้นด้วย เรียกว่าเกลียดขี้หน้าเราแบบลับๆ ไปเลย

นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของหนังสือ The Fearless Organization เท่านั้น แต่หนังสือเล่มนี้ยังพูดถึง Psychological Safety หรือพื้นที่ปลอดภัยในการพูด การแสดงความคิดเห็น ไว้อีกหลายประเด็น เช่น การที่องค์กรสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้พนักงานได้พูด จะช่วยให้องค์กรเกิดการเรียนรู้ร่วมกัน และมุ่งไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning organization นี่คือ buzzwords สุดฮิตในยุค 90s เลย 55) ให้พนักงานได้เรียนรู้จากความผิดพลาด ช่วยทำให้ performance ของพนักงานและบริษัทในภาพรวมดีขึ้น พนักงานมีความรัก ผูกพันธ์กับองค์กรมากขึ้น ฯลฯ

ย้ำอีกทีว่า การพูดตรง ไม่ได้แปลว่าพูดส่อเสียด พูดหยาบคาย หรือพูดทำร้ายใจใคร และที่สำคัญว่าหากเราเป็นคนพูดตรง เราก็ต้องยอมรับได้ด้วยหากคนอื่นพูดตรงกับเรา ไม่ใช่วิพากษ์คนอื่นไปทั่ว แต่พอมีคนมาวิพากษ์เรา เรากลับตั้งกำแพงซะสูง อันนี้เรียกว่าปากว่าตาขยิบ มนุษย์เราทุกคนล้วนแล้วแต่มี ego กันทั้งนั้น การลด ego นั้นไม่ได้ทำกันชั่วข้ามคืน ต้องอาศัยการฝึกฝน และเตือนสติตัวเองอยู่เรื่อยๆ

#KnowledgeSpiral #PsychologicalSafety #Openness

--

--

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.