ทำไม Steve Jobs ถึงไม่ให้ลูกเล่น iPad?

Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
2 min readAug 23, 2020

หลายๆ คนที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ Apple และ Steve Jobs คงจำซีนที่ Steve Jobs เปิดตัว iPad ในปี 2010 ได้ กว่า 50 นาทีบนเวที Steve Jobs บรรยายให้เห็นถึงความวิเศษของ iPad ว่าทำอะไรได้มากมายหลายอย่างจนหลายคนก็เคลิ้ม กระเป๋าตังค์สั่น

แต่รู้หรือไม่ว่าในปีเดียวกันนั้นเอง Steve Jobs บอกกับ New York Times (หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอเมริกา) ว่า เขาไม่ให้ลูกๆ ของเขาใช้ iPad ที่บ้าน เนื่องจากว่าเขาจำกัดการเข้าถึงเทคโนโลยีของเด็กๆ ที่บ้าน !!

นักข่าวของ New York Times ที่ชื่อว่า Nick Bilton ก็เจอพฤติกรรมประมาณเดียวกันนี้กับบรรดา CEO บริษัทเทคฯ ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Chris Anderson อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Wired หรือ Evan Williams ผู้ก่อตั้ง Blogger, Twitter และ Medium ที่จำกัด screen time ไม่ให้ลูกๆ ใช้เทคโนโลยีจนเกินไป การที่บรรดา tech CEO เหล่านี้ห้ามลูกไม่ให้ใช้เทคโนโลยี Adam Alter ผู้เขียนหนังสือ “Irresistible” ให้การเปรียบเทียบกับวลีที่ว่า “Never get high on your own supply” หมายถึง พ่อค้ายาก็จะไม่เมายาซะเอง

หนังสือ Irresistible และผู้เขียน Adam Alter

นอกจากรายชื่อเซเลบในโลกเทคที่กล่าวมาข้างต้น ยังมีการสำรวจว่านักออกแบบวิดีโอเกมส์ก็เลี่ยงที่จะไม่เล่นเกมส์อย่าง World of Warcraft นักจิตวิทยาที่ดูแลเรื่องการออกกำลังกายก็บอกว่าพวก fitness watch ที่คอย track โน่น track นี่ก็เป็นไอเดียที่แย่ที่สุดที่เคยได้ยินและบอกว่าจะไม่มีวันซื้อเป็นอันขาด

Greg Hochmuth วิศวกรคนแรกๆ ของ Instagram สารภาพภายหลังว่าเขาเองสร้าง engine for addiction ทำให้คนเสพย์ติด platform ที่เขาสร้าง Instagram กับ Facebook มีบางสิ่งที่เหมือนกันคือมันไม่มีจุดจบ หากเราเริ่มไถแล้วก็ไถต่อไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ เรื่อยๆ Netflix ก็สร้าง feature ที่เลื่อนไป episode ถัดไปเองโดยอัตโนมัติ Tinder ก็พยายามกระตุ้นให้ผู้ใช้คอย swipe เรื่อยๆ เพื่อหาตัวเลือกที่ดีกว่า ก็จริงที่ผู้ใช้แต่ประโยชน์จาก app เหล่านี้ แต่หลายคนก็เสพย์ติดและตกเป็นทาสโดยไม่รู้ตัว

จริงๆ แล้วความหมายของคำว่า “เสพย์ติด” ที่เราคุ้นเคยอาจจะแคบเกินไป เพราะเราจะพูดถึงแค่การเสพย์ติดสารเสพย์ติดอย่างเช่น ยาบ้า โคเคน เฮโรอีน ฯลฯ การเสพย์ติดบางสิ่งบางอย่างมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัว “สสาร” เพียงอย่างเดียว แต่มันยังมีสภาพแวดล้อมเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอีกด้วย มีงานวิจัยว่าผู้ที่ติดสารเสพย์ติดถึงแม้จะรักษาหายแล้ว มีโอกาสสูงมากที่จะกลับมาติดอีกครั้งหากกลับมาอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ที่มีสิ่งเร้าเดิม กระตุ้นให้หันไปสารเสพย์ติด

มองดูปัจจุบันนี้เป็นยุคที่มนุษย์มีสิ่งเร้ามากมาย เรียกได้ว่ามากที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์มนุษย์เคยมีมา

ในยุค 60s มนุษย์อาจจะติดเหล้า บุหรี การพนัน หรือยาเสพย์ติด แต่ยุคนี้ เรามีสารพันสิ่งให้ติด ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, email, video game, online shopping หรือแม้กระทั่งบางคนติด Pornhub แถมเทคโนโลยีในปัจจุบันยังช่วยเร่งช่วยเสริมให้เราติดง่ายขึ้นไปอีก เช่น ใน Facebook ก็มี notifications มี feeds ข่าว feeds เพื่อน ที่เด้งขึ้นมาให้เราดูตลอดเวลา เพลง เกมส์ ภาพยนตร์ ต่างๆ ก็ดาวโหลดได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลารอคอยยาวนานอีกต่อไป ยิ่งทำให้เราติดง่ายขึ้นไปอีก

โดยสรุป คือ พอพูดถึง addiction หรือการเสพย์ติด มนุษย์เราจะนึกถึง substance addiction หรือการเสพย์ติดสารต่างๆ เพราะเราคุ้นเคยกับมันและเห็นมานาน อาจจะมี behavioral addiction บ้าง เช่น การพนัน แต่ก็ยังไม่มากมายเท่าไหร่ จนกระทั่งการมาถึงของอินเตอร์เน็ต หรือเอาให้ชัด คือ การมาถึงของ Smartphone ทำให้ behavioral addiction (เรียนตรงๆ ไม่ทราบว่ามีศัพท์ทางการของคำนี้หรือยัง ผมแปลง่ายๆ ว่าเป็นการเสพย์ติดเชิงพฤติกรรมแล้วกันนะครับ) นั้นเด่นชัด และมากขึ้น จนเรียกได้ว่ามนุษย์แต่ละคนน่าจะมี behavioral addicion อย่างน้อยคนละหนึ่งอย่าง

ลองนึกถึงตัวเราเอง วันๆ หนึ่งเราหยิบ Smart phone ขึ้นมาดูวันละกี่ครั้ง เราไถ Facebook หรือ Instagram บ่อยแค่ไหนในหนึ่งวัน เราเข้าไป Shopee, Lazada บ่อยกว่าไปห้างสรรพสินค้าแค่ไหน หรือเราเล่มเกมส์ต่อเนื่องยาวนานที่สุดกี่ชั่วโมง? หรือแม้กระทั่งวันไหนที่เราลืม Smart phone ไว้ที่บ้าน มันจะเป็นวันที่เรากระวันกระวายใจมากที่สุด เรียกว่าสูญเสียความมั่นใจกันเลยทีเดียว

งานวิจัยบอกว่าเราไม่ควรใช้ Smartphone เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน แต่ความเป็นจริง 88 เปอร์เซ็นต์ของคนที่มี Smartphone ใช้เวลาเกินกว่านั้นเยอะ เกมส์อย่าง World of Warcarft ซึ่งถือว่าเป็น online game ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเกมหนึ่งของโลก ผู้เล่นจะต้อง log-in เข้าไปเล่นทุกวัน และมีรายงานว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของผู้เล่นยอมรับว่าติดเกม World of Warcraft

แล้วเราจะแก้ปัญหา Behavioral addiction หรือ Technology addiction นี้อย่างไร?

ในหนังสือ Irresistible แนะนำว่าการหยุดหรือการลดไปดื้อๆ ไม่ได้ช่วยอะไร แถมจะทำให้เราอยากมากขึ้นอีก มีตัวเลขว่าในรัฐบางรัฐของสหรัฐอเมริกาที่เข้มเรื่องศาสนา มีความเคร่งครัดในเรื่องเพศ กลับปรากฏว่ามีการเปิดชมเวปไซต์ดูเว็ปโป๊มากกว่ารัฐอื่นๆ ดังนั้น แทนที่จะลดหรือหยุดไปเฉยๆ ควรจะหาสิ่งอื่นมาทดแทน ค่อยๆ ทดแทนจนเราสามารถหยุดสิ่งที่เราติดได้ ในหนังสือ มี chapter ที่พูดถึงเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ หากมีโอกาสจะเอามาเล่าต่อในโอกาสหน้าครับ

เฉลย: ที่ Steve Jobs ไม่ให้ลูกเล่น iPad เพราะเขากลัวลูกจะติดนั่นเอง เขารู้ดีว่าทีมงาน Apple นั้นเก่งขนาดไหนที่จะออกแบบ iPad และบรรดา App ต่างๆ ให้ดึงดูดลูกค้าจมอยู่ iPad ได้

ยังไงวันนี้ขอให้ทุกคนห่างไกล Smartphone ได้บ้าง May the peace be with you :)

NOTE: เรียบเรียงจากบทนำของหนังสือ Irresistible โดย Adam Alter

#Irresistible #AdamAlter #KnowledgeSpiral #Addiction #TechnologyAddiction #BehavioralAddiction

--

--

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.