Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
2 min readJan 1, 2020

--

บทเรียนของชีวิตการทำงานของมนุษย์เงินเดือนวัยกลางคนคนหนึ่ง

จริงๆ เขียน memo นี้ไว้ตอนทำงานครบ 19 ปี กลับมานั่งอ่านเองแล้วผมว่ามันก็ยังจริงอยู่

(รูปประกอบจริงๆ ไม่เกี่ยว แต่เผอิญเพิ่งไปไหว้พระที่ วัด Osu-Kanon ใน Nagoya มา คิดว่าเป็นการเริ่มต้นปีที่ดี เลยอยากเอามาแปะไว้เผื่อจะได้แผ่ความสุขไปได้ครับ)

  • Extrinsic vs. Intrinsic Movitvation | ช่วงแรกๆ ของการทำงาน เราจะถูกดึงดูดด้วย Extrinsic motivation หรือแรงจูงใจภายนอกมากๆ เช่น เงินเดือน ตำแหน่ง คำชื่นชมจากเจ้านาย ฯลฯ​ แต่เมื่อทำงานไปถึงจุดๆ หนึ่งแล้วความสำคัญของ Extrinsic motivation มันจะลดลงไปมาก และมาให้ความสำคัญกับ Intrinsic Motivation หรือแรงจูงใจภายในมากขึ้น เราเองอยากจะทำงานที่สนุก ที่มันส์ งานที่เราพร้อมจะเอาไปขบคิดต่อนอกเวลา ไม่จำกัดว่าต้องอยู่ใน working hours เท่านั้น ใช่ว่า Extrinsic Motivation ไม่สำคัญอีกต่อไป มันยังสำคัญอยู่ แต่เราอยากจะตอบสนอง Self-esteem ของเราเองมากขึ้น
  • หาสิ่งที่ชอบให้เจอ แล้วพยายามพาตัวเองไปอยู่ตรงนั้นให้ได้ พอถึงแล้ว อย่าสนใจเรื่อง extrinsic motivation ให้มากนัก (จริงๆ แล้วมันก็จะลืมๆ ไปเองโดยปริยาย) การพยายามพาตัวเองไป มีหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นหมั่นขวญขวายหาความรู้ การสร้าง connections การทำ branding ให้ตัวเอง การลงมือปฏิบัติ ฯลฯ แต่ที่สำคัญ คือ อย่าท้อถอยไปเสียก่อน หากมันไม่ได้อย่างที่หวังในช่วงแรกๆ
  • Autonomy, Purpose, Mastery | ผมยังเชื่อว่าคนเราจะมีความสุขจากงาน จะมีแรงขับให้เราทำอะไรได้ดีต้องมีองค์ประกอบสามข้อนี้ คือ ต้องมี Autonomy หรืออิสระ (ระดับหนึ่ง)​ ตอบ Purpose หรือเป้าหมายที่ใหญ่กว่าตัวเรา (เพื่อบริษัท เพื่อสังคม เพื่อประเทศ เพื่อโลก) และ Mastery คือเราต้องมีการเติบโตทางความคิดและสติปัญญาอยู่เสมอ
  • ทีมที่ดีจะทำให้บรรลุจุดหมายได้ไม่ว่าจะยากแค่ไหน การมีทีมที่ดี ที่ทุกคนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มองไปที่เป้าหมายเดียวกัน หากใครมีทีมแบบนี้ ถือว่าเป็นลาภอันประเสริฐยิ่ง จงรักษาไว้
  • มีวิวาทะกันในทีมได้ เห็นไม่ตรงกันได้ มีอารมณ์ได้บางครั้ง (แต่อย่าบ่อย เดี๋ยวเพื่อนงอน) เพราะเราทุกคนคือคน หากคุยกันด้วยเหตุด้วยผล มีอะไรคาใจก็ควรคุยกันให้จบในห้องประชุมเลย ไม่เอาไปบ่น ไปซุบซิบทีหลัง แบบนั้นถือว่าไม่ professional อย่างยิ่ง
  • การประชุมที่มีคนพูดอยู่คนเดียว โดยเฉพาะ HiPPo (highest-paid person) หรือแค่คนหยิบมือเดียวถกกันโดยคนอื่นนั่งเงียบ ถือว่าเป็นการประชุมที่ไม่มีประโยชน์ มันไม่เกิดการเรียนรู้อะไรเลย
  • การ balance ระหว่างฟังและพูดในที่ประชุม เป็นศิลปะขั้นสูงมาก เพราะหากเรานั่งนิ่ง ฟังอย่างเดียวก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มี contribution หรือหากพูดน้ำไหลไฟดับ ก็จะกลายเป็นคนที่ขาด listening skill ไป จะเล่นบทไหน แค่ไหน ต้องดูตามสถานการณ์ไป
  • การดื้ออย่างพอดีงาม เป็นศิลปะ หากเราเชื่อในบางเรื่อง ก็ควรจะคงความเชื่อนั้นไว้บ้าง ไม่ใช่พอมีคนมา comment มาคนมาติ ก็แกว่ง แต่ก็ใช่ว่าจะดื้อจนไม่ฟังใครเลย อย่างนั้นก็เรียกว่าหัวแข็ง ผมชอบ story ของ Jeff Bezos ตอนที่เขาจะทำ AWS ใหม่ๆ Wallstreet บอกว่า บ้าไปแล้ว นี่มัน diversified เกินไปแล้วนะ แต่ Jeff ไม่สน ดื้อทำต่อไป แล้วมันก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า AWS มันเจ๋งขนาดไหน เวลาทำอะไรใหม่ๆ ย่อมมีข้อกังขาจากคนรอบข้างเสมอ เราทำถูกใจทุกคนไม่ได้ รับ feedback ได้ แต่ต้องรักษาเป้าหมายไม่ให้เขว
  • หากเรา senior แล้ว เป็นเจ้านาย หรือเป็น managers ไม่จำเป็นต้องทำตัวเป็น Mr. Know-It-All รู้มันไปซะทุกเรื่อง โดยเฉพาะในยุคนี้ ความรู้ต่างๆ มันไปเร็วมาก คนรุ่นใหม่ๆ อาจจะรู้ดีกว่าเรามากมาย โดยเฉพาะหากเราฟอร์มว่าเรารู้ แล้วดัน bullshit ออกมา น้องๆ ไป Google แป๊บเดียวก็รู้แล้วว่าเรามั่ว รังแต่จะเสียความน่าเชื่อถือไปซะเปล่าๆ
  • ลักษณะเจ้านายที่ผมปลื้ม (ไม่ขอเอ่ยนาม เพราะจะดูเลียกันเกินไป) มีหลายคน คือ คนที่ไม่มา micromanage หรือมาคอยสั่ง แต่เป็นคนที่ให้ direction แล้วปล่อยให้เราวิ่งไป ในขณะที่เราวิ่ง พี่เขาจะคอยดูอยู่ข้างหลังเสมอ และเรารู้สึกได้ เมื่อเราเริ่มวิ่งเขว พี่เขาจะคอยมาสะกิดเตือน แล้วให้คำแนะนำ
  • การเคารพซึ่งกันและกันระหว่างคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ มันเป็นคุณค่าที่ดีมากๆ คนรุ่นใหม่ อาจจะมีความรู้ใหม่ๆ ที่คนรุ่นเก่าไม่รู้ แต่คนรุ่นเก่า ผ่านร้อนผ่านหนาว เจอคนมาหลากหลายสไตล์ เจอประสบการณ์มาโชกโชน และที่สำคัญอย่าลืมว่าที่คนรุ่นใหม่มาอยู่ในบริษัทได้ ก็เพราะงานที่คนรุ่นเก่าทำไว้ให้ก่อนหน้านี้
  • การตรงเวลาเป็นคุณสมบัติที่ควรจะคงไว้ไม่ว่าจะหนุ่มหรือจะแก่ การมาสายถือว่าเป็นการไม่เคารพคนอื่นๆ อย่างยิ่ง
  • อย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น เปรียบไปก็รังจะมีแต่ทุกข์ บางคนผมเห็นนั่งดูเพื่อนได้ปรับระดับ ไปไกล ไปเร็วกว่าเรา ก็บ่น ลองดูให้ดีก็อาจจะมีคนตามหลังคุณอยู่อีกเป็นขบวน เรื่องระดับมันเป็นเรื่องสมมติมากๆ เราควบคุมมันไม่ได้ เพราะเราไม่ได้เป็นคนประเมินตัวเราเอง สำคัญที่สุดคือ งานที่เราทำ เราสนุก เรามันส์กับมันหรือเปล่า ทำให้เต็มที่ ผมว่าพอแล้ว
  • คนโบราณบอกว่า อย่าทำตัวเด่น จะเป็นภัย ก็อาจจะจริง แต่ยุคสมัยนี้หากมัวแต่กระมิดกระเมี้ยน ไม่งัดของดีออกมาโชว์​ เก็บไว้คนเดียว แล้วบริษัทจะรู้ได้อย่างไรว่าพนักงานคนไหนมีของอะไร ผม encourage ให้คนเก่งๆ โดยเฉพาะ skills แปลกๆ ที่บริษัทไม่มี งัดของดีออกมาโชว์กัน
  • เมื่อก่อนมีการ survey ว่าปัจจัยที่ทำให้คนลาออกอันดับหนึ่งคือ เจ้านาย แต่ตอนนี้อาจไม่ใช่เสมอไป ผมเริ่มเห็นว่าคนลาออกเพราะงานที่ทำมันไม่สนุก มันไม่ท้าทายมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ
  • เวลาเราเริ่มจะคิดลบกับใคร หรือเหม็นขี้หน้าใคร ให้ทำใจร่มๆ แล้วลองพูดคุยกับเขาดูก่อน จากเหม็นขี้หน้าอาจจะกลายเป็นคนที่เราคุยด้วยแล้วสบายใจก็ได้ หลายๆ ครั้งคนที่เราเหม็นขี้หน้าคนนั้นอาจจะกลายเป็นเพื่อนสนิท หรือคนที่เราไว้ใจที่สุดก็เป็นได้
  • อาจจะมีพฤติกรรมบางอย่างของเจ้านาย ของเพื่อนร่วมงาน หรือคนรอบข้างอื่นๆ ที่เราเห็นแล้วรู้สึกไม่ชอบ ไม่สบายใจ ให้ลองนึกทบทวนว่า แล้วเราเองเคยทำพฤติกรรมแบบนั้นกับใครหรือไม่ อาจจะเป็นไปได้ ว่าเราก็เผลอทำไปแล้ว โดยเราไม่รู้ตัว ตัวผมเองเคยเจอเจ้านายอารมณ์ร้อนสุดขีด เขวี้ยงแปรงลบกระดาน ตะคอกลูกน้อง ผมไม่เคยทำกับใคร และผมสัญญาว่า จะไม่ทำแบบนั้นเป็นอันขาด
  • โกรธได้ เพราะเราคือมนุษย์​ แต่อย่าบ่อยและนาน ให้นึกซะว่า พอลาออก พอเกษียณ พอถอดหมวกใบนี้ออก ละความเป็นตัวกูของกูไปแล้ว มันก็เท่านั้นเอง อาจจะนึกขันไปว่ากรูไปโกรธมันทำไมวะ หรือบางทีอาจจะเป็นแค่ความเข้าใจผิดของเราเองก็เป็นได้
  • กาลเวลาทำให้คนเปลี่ยนได้ บางคนอาจจะเคยดุดัน ก้าวร้าวในอดีต วันนี้ก็อาจจะดูเบาลงไป บางคนที่เราเคยมีนิสัยที่เราไม่ชอบ เขาอาจจะเลิกนิสัยนั้นแล้วก็ได้ เราต้องให้โอกาสคน อย่าโกรธอย่าเกลียดใครไปจนวันตาย ความเกลียด ความโกรธ มันเป็นไฟที่รังแต่คอยจะเผาเราเอง
  • ชีวิตเราถูกตีกรอบ ถูกคนกำหนดมาให้ทำโน่นทำนี่ เรียนโน่นเรียนนี่มาตั้งแต่เราเด็กๆ ลองหาโอกาสไปทำจิตให้สงบๆ แล้วลองนึกดูว่าอะไรคือสิ่งที่เราชอบกันแน่ ช่วงทำงานแรกๆ หลายคนอาจจะบอกเลือกไม่ได้ เพราะต้องทำงานเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง แต่พอเริ่มมีรายได้มั่นคงระดับหนึ่ง เติบโตในบริษัทระดับหนึ่ง เราควรค่อยๆ หาความกล้าที่จะไปลองสิ่งอื่นดูบ้าง (แต่จริงๆ เด็กสมัยนี้ ความอดทนต่ำกว่าคนรุ่นผมมาก พร้อมจะ job hopping ทุกเมื่อ)
  • Work-Life Balance ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนให้น้ำหนัก Work มากกว่า Life บางคนให้น้ำหนัก Life มากกว่า Work สุดแล้วแต่เราตั้งเป้าหมายชีวิตเราไว้อย่างไร ลองคิดให้ดูว่าหากเราแก่ไปแล้ว เราอยากมีชีวิตแบบไหน แล้วพยายาม shape ชีวิตของเราให้เป็นไปแบบนั้น ผมเชื่อในพลังของความพยายาม และ positive thinking ที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายได้

ที่เขียนมานี่มันเป็นความเห็น ผมอาจจะอ้างอิงแนวคิดวิชาการ หรือ frameworks อะไรบ้าง แต่สุดท้ายผมก็เลือกมันมาเพราะเป็นส่ิงที่ตรงจริตผมอยู่ดี ดังนั้น มันอาจจะไม่ตรงจริตทุกท่าน ทุกประเด็น มีความเห็นต่าง เห็นเสริมเพิ่มเติมอย่างไร เชิญแลกเปลี่ยนกันได้ครับ

ท้ายนี้ ขอให้มีความสุขในปีใหม่ 2020 นี้และตลอดไปครับ

#KnowledgeSpiral #2020 #LifeLessons

--

--

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.