มาเร็วก่อนเวลา 3 ชม. ย่อมดีกว่ามาสาย ถึงแม้จะสายแค่ 1 นาทีก็ตาม

Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
1 min readJan 12, 2024

“Better three hours too soon than a minute too late.” สุภาษิตภาษาอังกฤษนี้ ย้ำให้เราเห็นว่าการตรงต่อเวลานั้นสำคัญเพียงใด อาจจะดูเว่อร์ไปหน่อยที่บอกว่าให้มาก่อนเวลา 3 ชม. แต่ก็เน้นให้เห็นชัดๆ ว่าการมาสายนั้นมันสิ่งที่ไม่พึงประสงค์แค่ไหน

ผมมีโอกาสได้ไปเป็นวิทยากร ไปสอนหนังสือหลายที่ ก็ได้สังเกตุเห็นวัฒนธรรมการตรงเวลาของแต่ละที่ที่แตกต่างกัน รวมถึงบางครั้งมีการนัดประชุมกับหลายหน่วยงาน บางครั้งบางคราวแม้แต่บริษัทเดียวกัน ก็มีวัฒนธรรมการตรงเวลาที่แตกต่างกัน

บางที่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการตรงต่อเวลามาก สมาชิกทุกคนที่เข้ามาเรียนหนังสือ หรือเข้าประชุม จะมาก่อนเวลาเสมอ ใครที่มาสาย ด้วยเหตุใดก็แล้วแต่ จะมีความรู้สึกผิดไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และหากไม่สุดวิสัยจริงๆ การมาสายจะไม่เกิดขึ้น ใครที่รู้ตัวว่ามาสายก็จะมีการสื่อสารให้ผู้จัดทราบ หรือเพื่อนๆ คนอื่นๆ ทราบ

บางที่ก็มาสายกันเป็นประจำ เรียกว่าต้องบวก 15 นาที 20 นาที จนเป็นวัฒนธรรมไป เรียกว่าหากนัด 9:00 มาถึง 9:20 ยังถือว่าเป็นปรกติ คนที่มาหลัง 9:00 ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นการมาสายแต่อย่างใด ยังคงเดินเข้ามาประชุมแบบชิลๆ เพราะถือว่าใครก็ทำกัน

?? คุณชอบวัฒนธรรมแบบไหน ??

ส่วนตัว ผมถือเรื่องการตรงต่อเวลาเป็นพื้นฐานสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการทำงานร่วมกัน การที่เรามาช้ากว่าเวลานัดหมาย ถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติคนอื่นๆ ที่เข้าร่วมประชุม หรือร่วมเรียนกับเราเป็นอย่างมาก เหมือนกับเราไม่ให้ความสำคัญกับเวลาของเขา

สำหรับทีมงานผมเอง ปรกติผมก็ไม่ค่อยมีข้อบังคับ กฎเกณฑ์อะไรมากมาย แต่สำหรับเรื่องการตรงต่อเวลา ผมขอทำข้อตกลงร่วมกันไว้เลยว่า ให้มาตรงต่อเวลา ใครมาสายให้ปรับนาทีละ 1 บาท หากมาสายครั้งต่อไปจะปรับเพิ่มขึ้น 2 เท่า ครั้งต่อไปปรับขึ้นอีก 2 เท่าเป็น 4 เท่า ฯลฯ

ตัวผมเองให้เริ่มปรับนาทีละ 2 บาทได้เลย เพราะหากเป็นคนเสนอกฎนี้ แล้วดันมาสายซะเอง ก็ต้องรับผิดชอบมากกว่าคนอื่น

เงินที่ได้ พอสะสมได้จำนวนหนึ่งเราก็จะเอาไปกินกาแฟกัน

น่ายินดี ที่ตอนนี้เรายังได้เงินกันเท่าไหร่ ไม่พอจะไปกินกาแฟ เพราะทีมงานเริ่มปรับตัวกันได้ และมาสายกันน้อยมากๆ

เอาที่จริงๆ ผมไม่ได้อยากให้ใครต้องเสียเงิน หรืออยากให้มี punishment ให้ใคร ผมเพียงแค่ต้องการแสดงให้เห็นว่าเราจริงจัง ให้ความสำคัญกับเรื่องใด

สำหรับในคลาสที่ผมสอนเด็กๆ ปีหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ผมก็พบปัญหาเรื่องเด็กๆ เข้าคลาสสาย หรือบางครั้งก็ไม่เข้าเรียน เราเลยตั้งกติกาว่า หากมาสายเกินกว่า 15 นาที ถือว่าขาดเรียนคลาสนั้น และ attendance ของคลาสคิดเป็น 20% ของเกรด จากเดิมเคยคิดแค่ 10%

พอขยับเปอร์เซ็นต์เท่านั้นแหละ สังเกตเห็นได้ชัดเลยว่าขาดเรียนหรือมาสายลดลงอย่างมาก

การพูดเฉยๆ แล้วปล่อยผ่าน หรือพยายามทำตัวให้เป็น role model อย่างเดียว บางทีมันไม่สามารถทำให้วัฒนธรรมบางอย่างเกิดขึ้นได้ ยิ่งเราให้ความสำคัญกับเรื่องไหน เราต้องมีการตั้ง rewards และ negative reinforcement ให้ชัดเจน และต่อเนื่อง เรื่องบางเรื่องแค่เราหย่อนไปสักนิด มันก็จะกลับไปเหมือนเดิม

และที่สำคัญคนที่เป็นผู้นำ ไม่ว่าจะในองค์กรใดก็ตาม ก็ต้องปฏิบัติด้วย ไม่ใช่ว่าบอกให้คนอื่นทำ แต่ตัวเองกลับเรื่อยๆ เฉื่อยๆ หยวนๆ กันไป

เหนือสิ่งอื่นใด การอยู่ร่วมกันในองค์กรใดๆ ก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว เราต้องเคารพซึ่งกันและกัน ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เคารพผู้น้อย เพื่อนฝูงกันก็เคารพกันและกัน หากเราเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเคารพซึ่งกันและกัน ผมเชื่อว่าเราก็น่าจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข.

--

--

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.