อุปสรรคที่ทำให้องค์กร “ไม่เรียนรู้” และ “ปรับตัว” จากมุมมองของ Peter Senge ในหนังสือ the Fifth Discipline

Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
2 min readJan 12, 2024

(Knowledge Spiral — Classic Series)

หนังสือเรื่อง the Firth Discipline ของ Peter Senge เป็นหนังสือที่โด่งดังมากในยุค 90s คนส่วนใหญ่น่าจะยังพอจำกันได้ว่ามีทั้งหมด 5 disciplines คือ Mental Models, Shared Vision, Personal Mastery, Team Learning และ Systems Thinking โดยทาง Peter Serge แนะว่า discipline ที่ 5 หรือ Systems Thinking สำคัญที่สุด คือ การมองเห็นภาพใหญ่ เห็นภาพรวม เห็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากสิ่งที่เราทำ

นั่นคือภาพใหญ่ของหนังสือ แต่ส่วนที่ผมหยิบมาเล่าวันนี้เป็นส่วนที่มีคนพูดถึงน้อย แต่ผมคิดว่าสำคัญไม่แพ้กัน คือ การเข้าใจว่าอะไรเป็นอุปสรรคสำคัญที่ไม่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “องค์กรแห่งการเรียนรู้” หรือ Learning Disabilities in Organizations

องค์กรจำเป็นต้อง “เรียนรู้” และ “ปรับตัว” อยู่ตลอดเวลา เพราะสภาพแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนแปลงตลอด ไม่มีอะไรคงที่ เหมือนเดิมตลอดไป หากองค์กรขาดความสามารถในการเรียนรู้แล้ว ก็ย่อมทำให้ไม่สามารถปรับตัวได้ และอาจจะตายไปในที่สุด

======

และนี่คือ 7 ข้อ Learning Disabilities in Organizations

  1. I am my position.
  2. คือการที่พนักงานบทบาทหน้าที่ของตัวเองอยู่ที่ตำแหน่ง หรือความรับผิดชอบที่ตัวเองได้รับมอบหมายเท่านั้น และมองไม่เห็นว่าบทบาทของตัวเอง หรือการกระทำใดๆ ของตัวเอง มีผลต่อภาพรวมของบริษัทอย่างไร
  3. เช่น พนักงาน call center ที่คอยตอบคำถามลูกค้าเป็นเคสๆ ไป แต่ไม่ได้นึก หรือนึกไม่ถึงว่า น้ำเสียง คำพูด หรือความใส่ใจในการตอบคำถามของลูกค้าก็มีส่วนสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์ หรือความประทับใจให้ลูกค้ากลับมาซื้อสินค้าหรือบริการอีก

2. The enemy is out there.

โทษทุกสิ่งอัน โทษคนอื่น โทษแผนกอื่น โทษเจ้านาย โทษลูกน้อง โทษไปหมด แต่ไม่เคยโทษตัวเอง

เช่น แผนกขายอาจจะโทษแผนกการตลาดที่ทำให้ยอดขายต่ำ แต่ไม่เคยดูเลยว่าเทคนิคการขายของตัวเองอาจจะเอาท์ไปแล้ว ลูกค้าเลยไม่สนใจ

3. The illusion of taking charge.

ฟังดูเหมือนดีข้อนี้ กล่าวคือ พอมีปัญหา ก็จะรีบเข้าไปแก้ไขในทันที ทาง Peter Senge เลยใช้คำว่า เป็นภาพลวงตาของการรับผิดชอบ ปัญหาคือ ในบางครั้ง บางคนเร่งแก้ปัญหาเกินไป โดยแก้ไปที่พื้นผิว แต่ไม่ได้เข้าใจถึงสิ่งที่มันหยั่งรากลึก สิ่งที่อยู่ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ปัญหานั้น ก็จะถูกแก้ไปชั่วคราว แต่สักพัก ก็จะกลับมาใหม่อีก

เช่น พนักงานบางคนมาสาย หัวหน้าอาจจะโทษว่าลูกน้องไม่มีวินัย แต่หากลองขุดไปลึกๆ อาจจะเจอว่า ที่เขามาสาย ก็เพราะว่าเขา burnout มากๆ หรือเบื่องานสุดๆ จนไม่อยากลุกขึ้นมาทำงาน

4. The fixation of events.

มองไปที่ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มองเป็นจุดๆ แต่ลืมคิดถึงภาพใหญ่ หรือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

เช่น บริษัทตัดงบประมาณพัฒนาพนักงาน เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ดี แต่อาจจะตัดมากเกินไป จนลืมไปว่า หากเศรษฐกิจกลับมาดีเหมือนเดิม อาจจะเติมความรู้หรือทักษะให้พนักงานไม่ทัน จนกระทั่งแพ้คู่แข่ง

5. The Parable of the Boiling Frog

หลายคนคงได้ยินเรื่องกบต้ม กล่าวคือ หากกบมันอยู่ในน้ำอุณหภูมิปรกติ มันก็จะชิลๆ หากเราค่อยๆ ปรับอุณหภูมิขึ้นเรื่อยยๆ ทีละนิด มันก็จะยังจะชิลอยู่ จนกระทั่งร้อนจัดจนต้มกบตัวนั้นจนตาย มันก็ยังไม่รู้ตัว เพราะว่ามันชินกับอุณหภูมิที่ขึ้นไม่เยอะ หากองค์กรไม่สามารถมองเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทีละน้อยๆ จะมีผลกระทบกับตัวเองในระยะยาวอย่างไร ปล่อยให้มันเป็นไป จนกระทั่งสายเกินไป หายนะก็จะตามมา

เช่น Kodak ที่ยึดติดกับ legacy ของตัวเองมากเกิน และไม่กล้าที่จะปรับตามโลกดิจิตอลที่ค่อยๆ คืบคลานมา จนในที่สุดก็ต้องล่มสลาย

6. The delusion of learning from experience.

คือการหลอกตัวเองว่า ตัวเองมีประสบการณ์ ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์นั้นๆ ในอดิต เก็บมาเป็นบทเรียนให้คนรุ่นหลังทำตาม ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วตอนนั้นไม่ได้เรียนรู้อะไร แต่เป็นเพียงแค่ตอบสนองกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปอย่างนั้นเอง บางครั้งประสบการณ์ในอดีตอย่างเดียว ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้อนาคตสำเร็จได้

เช่น ทีมอาจจะเคยประสบความสำเร็จในการทำโครงการหนึ่งในอดีต และคิดว่าวิธีการเดิมจะใช้ได้อีกกับโครงการใหม่ เลยทำแบบเดิม โดยไม่เปลี่ยนวิธีการอะไรเลย ไม่วิเคราะห์ว่ามีปัจจัยภายนอกอะไร ที่อาจจะทำให้โครงการนี้ไม่สำเร็จเหมือนในอดีตบ้าง

7. The myth of management team. เชื่อหรือทึกทักเอาเองว่า ทีมนั้น align กัน มองเห็นภาพ เห็นเป้าหมายเดียวกัน มี north start เดียวกัน ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว แต่ละคนมองกันไปคนละทิศละทาง และการสื่อสารก็ไม่เกิดขึ้นระหว่างทีมอย่างมากพอ สุดท้ายก็เละเทะ เพราะทำกันคนละเรื่อง เล่นกันคนละเพลง

เช่น ในระหว่างประชุมทีมกัน สมาชิกแต่ละคนอาจจะพนักงานเหมือนจะเข้าใจ เหมือนจะเห็นด้วย แต่พอประชุมแต่ะละคนก็ออกไปทำคนละเรื่อง ไม่เหมือนกับที่ตกลงกันในที่ประชุม

=====

ลองสำรวจดูว่าในองค์กร ในทีมของเรา มีอาการ Learning Disabilities เหล่านี้หรือไม่ เป็นจุดแรกที่จะพาเราไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ ที่พร้อมจะ “เรียนรู้” และ “ปรับตัว” ไปกับโลกที่มันผันผวนทุกวันนี้

Infographic Credit : qaspire.com

#KnowledgeSpiral #LearningOrganization #KnowledgeSpiralClassic #PeterSenge

--

--

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.