เราจะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร ..

Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
2 min readDec 6, 2020

ข่าวการเสียชีวิตของมาราโดน่า ตำนานลูกหนังชาวอาร์เจนตินา ที่เสียชีวิตในวัยเพียง 60 ปี ทำให้ผมกระตุกคิดถึงเรื่องความตายอีกครั้ง

และคิดถึงประโยคที่ได้ยินมาตั้งแต่วัยรุ่นที่ว่า “จงระลึกถึงความตายไว้อยู่เสมอ จิตใจจะเยือกเย็นและเป็นสุข”

จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าได้ยินมาจาก คุณมาโนช พุฒตาล

จำไม่ได้ว่าแกเล่าเรื่องอะไร แต่ประโยคนี้มันสะกิดใจผมมาก และมาทราบภายหลังว่า ของศาสนาพุทธก็มีสิ่งที่เรียกว่ามรณานุสติ ผมไม่ได้แตกฉานเรื่องศาสนาพุทธแต่อย่างใด เข้าใจแบบตื้นเขินเองว่า เป็นเรื่องของการระลึกถึงความตายเช่นเดียวกัน

:::::

อีกความคิดหนึ่งที่ติดอยู่ในหัวมาตลอดระยะเวลายี่สิบกว่าปีนี้ แล้วภาพมันค่อยๆ กระจ่างชัด จนเป็นตัวช่วยกำหนดทางเดินชีวิตต่อจากนี้ก็คือ ทฤษฎีเรื่องแรงจูงใจสามประการ ของ David C. McClelland ที่ได้เรียนตอนสมัยปริญญาตรี

มันเกี่ยวกับเรื่องความตายอย่างไร จะขอเล่าใหัฟังตามนี้ครับ

:::::

จริงๆ แล้วทฤษฎีของ David McClelland เอาไว้อธิบายความสำเร็จของพนักงานในบริษัท ในองค์กรต่างๆ

ทฤษฎีนี้ถูกสอนในวิชาจิตวิทยาองค์กร โดยอธิบายว่า คนโดยทั่วไปแล้วมีแรงจูงใจเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะ drive performance ในองค์กร โดยแรงจูงใจที่ว่ามีสามอย่างด้วยกัน คือ

1. Need for Power หรือความต้องการได้มาซึ่งอำนาจ ความต้องการจะมีอิทธิพลเหนือผู้อื่น หรือต้องการที่จะควบคุม บริหารจัดการผู้อื่น โดย McClelland เชื่อว่า Need ตัวนี้เป็นตัวบ่งบอกว่าใครจะเป็น manager ที่ประสบความสำเร็จ ตราบใดที่คิดว่า power นี้มีไว้เพื่อองค์กร ไม่ได้มีไว้เพื่อตัวเอง ต้องการอำนาจ ไม่ได้แปลว่าบ้าอำนาจนะครับ McClelland เชื่อว่าคนที่มี need for power สูงเกินไป มักจะห่วยในเรื่องของการทำงานเป็นทีม

2. Need for Achievement หรือ ความพยายามที่จะทำให้งานสำเร็จ พยายาม ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ได้ McClelland เชื่อว่า need ตัวนี้สำคัญมากในการที่จะทำให้คนทำงานให้ประสบความสำเร็จ สำคัญมากเสียยิ่งกว่าความฉลาดซะอีก

3. Need for Affiliation หรือความต้องการที่จะเป็นที่รัก ความต้องการที่จะมีสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น แน่นอนว่าคนที่มี need นี้ จะเป็นคนที่ทำงานเป็นทีมได้ดี แต่ McClelland ก็เชื่อว่า คนที่มี need นี้เยอะๆ จะกลายเป็น manager ที่สำเร็จได้ยากกว่าคนที่มี need for power หรือ need for achievement

ในมนุษย์ทุกคนล้วนแต่มี need ทั้งสามตัวนี้อยู่ด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่ว่า แต่ละคน อาจจะมี need ที่เด่นออกมาไม่เท่ากัน บางคนอาจจะมี need for power สูงกว่าตัวอื่น หรือบางคนก็อาจจะมี need for affiliation เหนือกว่าตัวอื่น

:::::

คำถามก็คือ เรารู้ตัวหรือไม่ ว่าเรามี need ตัวไหนนำ?

เอาเข้าจริงมันเป็นคำถามที่ตอบยาก หากใครมีประสบการณ์ในการทำงานไม่มากพอ หรือไม่ได้ทำงานอยู่ในองค์กรที่ต้องพบปะกับผู้คนเยอะๆ ก็อาจจะแงะไม่ค่อยออกว่าจริงๆ แล้วเราเป็นพวกต้องการอำนาจ ต้องการความสำเร็จ หรือต้องการให้คนรักกันแน่?

สำหรับคนที่อ่านมาถึงบรรทัดนี้ แล้วพอตอบตัวเองได้ ก็ถือว่าโชคดีไป

ตัวผมเองเชื่อมาโดยตลอดว่า ผมเป็นคนที่มี need for achievement หรือความต้องการความสำเร็จเป็นตัวนำ เรื่อง need for power นั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะไม่ค่อยคิดอยากจะไปควบคุมหรือไปมีอำนาจเหนือใครใดๆ

แต่พักหลังมานี้เริ่มสังเกตตัวเองและเห็นว่า จริงๆ แล้วเราเป็นคนที่มี need for affiliation เป็นตัวนำต่างหาก เรามีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นคนในทีมทำงานด้วยกันอย่างราบรื่น เรามีความสุขที่ได้เห็นน้องๆ รุ่นใหม่ๆ เติบโต มีความปรารถนาอยากให้ที่ทำงานเป็นสังคมที่หล่อหลอมความสุข … ควบคู่ไปกับความสำเร็จ

ความสำเร็จก็ใช่ว่าจะไม่อยากได้ แน่นอนว่าเราทำงาน เราก็ต้องอยากเห็นผลสำเร็จ ไม่ว่าจะผลสำเร็จแด่ประเทศชาติ แด่องค์กร แด่ทีม หรือแม้แต่แด่ตัวเราเอง

เพียงแต่ว่า .. ความสำเร็จนั้น มันจะสำคัญอะไร หากว่าคนที่อยู่รอบๆ ข้างเราไม่มีความสุข .. หรือพอเกษียณไปแล้ว เรายืนหนึ่ง เหนือคนอื่นทั้งหมด .. แต่ไม่มีใครคิดถึงเราสักคน ..

ก็ต้องบอกอีกครั้งว่า need ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้น หลายคนอาจจะไม่คิดแบบนี้ แต่ผมเชื่อของผมแบบนี้ แบบของคนที่มี need for affiliation เป็นตัวนำในชีวิต

:::::

พอภาพในหัวของผมชัดเจน ความรู้สึกและการกระทำของผมก็ชัดเจนไปด้วย ผมตั้งธงไว้ว่า ต่อไปนี้ผมจะใช้ชีวิตในการทำงานโดยการใช้ความรักเป็นตัวนำ

บางคนอ่านแล้วอาจจะรู้สึกเลี่ยนๆ หรือก็งงๆ ว่าอะไรฟะ คือ การใช้ความรักเป็นตัวนำ

ความรักของผม ก็คือ ความปรารถนาดี

ในทุกๆ เรื่อง โครงการ หรือธุรกิจที่เรากำลังทำอยู่ ก็จะต้องถูกขับเคลื่อนด้วยความปรารถนาดีที่จะให้ลูกค้า ให้สังคมได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ เรื่องของผลประโยชน์ทางธุรกิจ หากลูกค้าเขาเห็นประโยชน์ เดี๋ยวเขาก็จะบอกต่อ หรือใช้สินค้าบริการอย่างต่อเนื่องเอง (แน่นอนล่ะนะครับ ว่าการตลาดก็ต้องมา product development และ business model ก็ต้องมา ไม่ใช่ฝันหวานอย่างเดียว)

เพื่อนร่วมงาน หรือทีมงาน ผมก็ตั้งใจว่าจะมอบแต่ความปรารถนาดีให้ทุกคน หลายครั้งเรา ‘ระงับ’ ความปรารถนาดีของเราไว้ เพียงแค่ว่าเราคิดว่าคนๆ นั้นเขาจะไม่ชอบเรา หรือเราเองก็แอบเหม็นขี้หน้าเขาเล็กๆ ซึ่งหลายครั้งนั้น ความคิดเชิงอคติมันเป็นพิษกับตัวเราเอง และพอมันสั่งสมมาเรื่อยๆ มันก็จะเป็นพิษกับคนรอบข้างและองค์กรของเราในที่สุด

สุดท้ายและสำคัญที่สุด ก็คือ คนที่อยู่กับเราในวันที่เราล้ม ในวันที่เราท้อแท้ วันที่เราอ่อนแอ คนเหล่านั้นก็คือ เพื่อนฝูงและครอบครัว ผมเฝ้าถามตัวเองอยู่เรื่อยๆ พักนี้ว่า เราให้เวลา ให้ความสำคัญกับเพื่อนฝูงและครอบครัวมากเพียงพอหรือไม่ เวลาเพื่อนชวนไปกินข้าว ชวนไปเฮฮา เราปฏิเสธเพียงเพราะขี้เกียจ อยากนอนอยู่บ้าน บางครั้งคนในครอบครัวขอให้เราเพียงแค่สนใจเขา แต่เรากลับเอาความสนใจเราไปไว้ที่อื่นหรือไม่?

::::

การเสียชีวิตของมาราโดน่าเป็นเรื่องน่าเศร้า

แต่มันก็ช่วยย้ำช่วยเตือนว่า ชีวิตนี้มันสั้นนักจริงๆ และเราไม่มีเวลามานั่งไขว้เขว สับสน ให้ความสำคัญไปกับสิ่งที่ไม่สำคัญอีกแล้ว

เราจะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร .. ไม่ได้เป็นคำถามลอยๆ หรือเป็นคำถามของคนที่สิ้นหวัง แต่เป็นคำถามที่ผมใช้ถามตัวเอง

ตอนนี้คำตอบของผมเอง คือ จะใช้ชีวิตอยู่ต่อไป ด้วยความรัก ความปรารถนาดี แสวงหามิตรภาพ แสวงหาเพื่อนร่วมทาง

มากกว่าการแสวงหาความสำเร็จ .. แล้วต้องไปยืนโดดเดี่ยวอยู่บนยอดเขาอันหนาวเหน็บนั้น ..

.. ผมเป็นคนขี้หนาว คงทนได้ไม่นาน ..

:::::

คุณล่ะครับ คุณจะใช้ชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร?

#KnowledgeSpiral #Motivation #DavidMcClelland #Maradona

--

--

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.