Transformational Change from Within — Cultivating Leadership at All Levels โดย Peter Senge

Niran Banleurat
Knowledge Spiral
Published in
4 min readApr 4, 2020
Peter Senge at MIT R&D

เดิมผมเคย post เนื้อหาโดยสรุปจาก Session นี้ของ Peter Senge ที่มาพูดในงาน MIT R&D Conference ซึ่งเป็นงานใหญ่ของ MIT ตอนที่ post นั้นประมาณกลางเดือนพฤศจิกายน 2019 ถือว่าเป็น post ที่มีการแชร์กันออกไปพอสมควร เลยทำให้ผมเห็นว่ามีคนชอบในแนวคิดของ Peter Senge ค่อนข้างเยอะ ตอนนั้นตั้งใจจะขยายเนื้อหาเพิ่มเติม เพราะที่เขียนไว้ตอนนั้นเป็นเพียงแค่สรุปส่วนหนึ่งเร็วๆ แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียนซะที จนกระทั่งสี่เดือนผ่านไป มีเวลาอยู่บ้านเยอะขึ้นจาก COVID-19 เลยได้เวลาเอามาเขียนไว้ใน blog นี้ครับ

Peter Senge ผู้เขียนหนังสือ The Fifth Discipline

Introduction

มนุษย์เราทุกวันนี้อยู่ใน Trance State (หมายถึง สภาวะที่เราทำอะไรไปโดยไม่รู้ตัว หากแปลเป็นไทยง่ายๆ เหมือนประมาณว่าอยู่ในภวังค์​ อะไรประมาณนั้น) อยู่ในภาวะที่เราถูกสะกดจิตด้วยเทคโนโลยี เราล้วนแต่ที่จะวิ่งไล่ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เรากังวัลว่าเราจะไล่ตามมันทันมั๊ย เทคโนโลยีจะมาทดแทนงานที่เราหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วโลกนี้มีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นอีกมาก

โลกนี้มีปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นที่ต้องแก้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก หรือปัญหาความยากจน ปัญหาเหล่านี้สำคัญและมีผลกระทบทางลบกับคนในวงกว้างมากกว่าการไล่ตามเทคโนโลยีมากนัก

ที่ผ่านมานี้เราเห็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญมากๆ อยู่อย่างหนึ่งก็คือการที่เด็กๆ เยาวชน ลุกขึ้นมาทวงคืนโลกใบนี้จากผู้ใหญ่อย่างเรา Youth Climate Movement เป็นปรากฏการณ์ที่เยาวชนลุกขึ้นมา แล้วบอกผู้ใหญ่อย่างเราว่าพวกเราใช้โลกใบนี้อย่างที่ไม่คิดถึงพวกเขา ลืมไปว่าเขาต้องอาศัยโลกใบนี้ต่อไป ผู้ใหญ่อย่างเรากำลัง “discount the future” หรือทำให้โลกใบนี้มันอายุสั้นลง

ชีวิตของพวกเราให้ความสำคัญกับ gadgets มากเกินไป เรามองหาแต่ gadgets, gadgets, แล้วก็ gadgets มาทำให้ชีวิตเราสบายขึ้น เราทุกคนต่างก็วิ่งตามเทคโนโลยี พยายามจะไล่มันให้ทัน เหมือนกับที่ Tristan Harris อดีต Chief Ethicist ของ Google เคยตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “Technology is downgrading humanity”

Tristan Harris อดีต Chief Ethicist ของ Google

ลองคิดดูว่าในแต่ะละวันเราเช็คมือถือเรากี่ครั้ง ตัวเลขที่เคยสำรวจกันอยู่ที่ 200 – 400 ครั้งต่อวัน เคยถามตัวเองหรือไม่ว่าทำไมต้องเช็คบ่อยขนาดนั้น? ตอนนี้ gadgets ต่างๆ มันกลายเป็นยาเสพย์ติดสมัยใหม่ ในแต่ละวันมีแต่สิ่งที่เข้ามากระตุ้นเรา วันๆ นึงมีแต่ข่าวด่วน ข่าวด่วน ทุกเรื่องด่วนไปหมด และเราก็กลัวจะตกขบวนไปกับความด่วนเหล่านั้น

ไม่ว่าจะเป็นสื่อยุคดั้งเดิม หรือสื่อสมัยใหม่อย่าง Social Media ก็ล้วนแล้วแต่ต้องการจะ maximize attention หรือช่วงชิง eyesball และเวลาอันจำกัดของเราทั้งนั้น พวกเราแต่ละคนเป็นสมาชิก Social Media หลากหลายสำนัก และทุกสำนักเก็บข้อมูลของเราเพื่อเอามาทำนายว่าจะเสนอสิ่งที่เราชอบ ทำให้เราติดบ่วง ไม่อยากไปไหน “Human Attention” กลายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับโลกธุรกิจยุคใหม่ และเราเองก็สูญเสียความสามารถในการที่จะอยู่กับปัจจุบัน ความสามารถที่จะฟังอย่างตั้งใจ ความสามารถที่จะแสดงออกความเป็นตัวตนที่จริงของเราในการพูดคุยกับคนอื่น เพราะเราใช้เวลาไปกับโลกบนหน้า gadgets มากเกินไป และไม่สนใจคนที่อยู่ตรงหน้าเรา

แต่รู้หรือไม่ว่าคนรุ่นใหม่ กำลังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ คนที่ดูวิดีโอของ Tristan ใน YouTube สว่นใหญ่เป็นคนที่อายุต่ำกว่า 25 ปี เด็กรุ่นใหม่เริ่มรู้สึกแล้วว่าการใช้เวลากับ gadgets มากเกินไปกำลังจะเป็นปัญหาใหญ่ หากคุณมีโอกาสได้ไปทานข้าวเย็นกับใครวันนี้ ลองเอาเกมนี้ไปเล่น แข่งกันว่าใครจะเป็นคนหยิบมือถือออกมาดู ใครหยิบออกมาคนแรกให้จ่ายมื้อนั้นไป !!

Otto Scharmer (ผู้เขียนหนังสือ Theory U และ Presence) เคยเปรียบเทียบไว้ว่า มันใช้เวลานานมากสำหรับมนุษย์ที่จะรู้สึกถึงผลกระทบของการใช้ fossil fuel ว่ามันมีผลร้ายกับสิ่งแวดล้อมขนาดไหน สำหรับ เทคโนโลยีและ gadgets เหล่านี้ ก็จะส่งผลกระทบเหมือนกัน แต่ไม่ใช่กับสิ่งแวดล้อมแต่เป็นสภาพสังคมของมนุษย์ที่จะถูกทำลาย ใช่ว่าเทคโนโลยีไม่สำคัญ แต่ประเด็นก็คือ เทคโนโลยีมันทำให้เราคุยกับแบบมนุษย์ได้ยากขึ้นทุกวันๆ

Jay Forrester กับ System Dynamics

Peter Senge พูดถึงบุคคลที่มีอิทธิพลสำคัญในชีวิตของเขา นั่นคือ Jay Forrester ผู้ซึ่งเป็นอาจารย์ เป็นพี่เลี้ยง Jay เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มที่เรียกว่า the System Dynamics Group ที่ MIT Sloan School of Management

Jay Forrester ในวัยหนุ่ม

Jay เป็น technologists และเป็น technologist ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งของ MIT เขานำทีม MIT พัฒนาและผลิตเรดาร์ในช่วงยุค 1940 ตอนนั้นอายุแค่เพียง 23 ปี แต่หลังจากนั้นพออายุได้ 27 หรือ 28 เขาก็มีไอเดียใหม่ขึ้นมา นำทีม MIT อีกครั้ง แต่คราวนี้พยายามสร้าง digital computers หากมีใครพูดถึง father of the computer ชื่อของ Jay ย่อมเป็นหนึ่งในนั้นแน่นอน หากอยากไปดูผลงานของ Jay สามารถไปดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ Smithsonian History of Science and Technology ใน Washington

พออายุได้ 37 Jay ก็หันมาสนใจสิ่งอื่นที่นอกเหนือจากเทคโนโลยี เขาตั้งคำถามว่า มนุษย์เราจะจัดการกับความซับซ้อนของข้อมูลที่มีอยู่อย่างไร และพยายามเข้าใจถึงความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงของระบบต่างๆ ทุกอย่างในโลกนี้ล้วนแต่สัมพันธ์กัน และมีผลกระทบซึ่งกันและกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่มีอะไรอยู่นิ่งๆ ตลอดกาล การกระทำของเราจะส่งผลกับสรรพสิ่ง หรือคนรอบข้าง หลายๆ ครั้งเราอาจไม่รู้ตัว เราเสียบปลั๊กเพื่อชาร์จ gadget ของเราตอนกลางคืน อาจจะทำให้เกล็ดน้ำแข็งที่ Himalayas มีจำนวนลดลงก็ได้ ในอเมริกาเอง พลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่ 60–65% มาจากถ่านหิน และถ่านหินนี่แหละที่เป็นตัวการที่ทำให้คนทั่วโลกเจอกับผลกระทบที่ไม่ดีนัก

Jay อยากทำความใจถึงความสัมพันธ์และผลกระทบเหล่านี้ และอยากจะถ่ายทอดความคิดให้คนอื่นๆ เห็นด้วยว่า เราควรต้องมองสรรพสิ่งในภาพรวม มองให้เห็นถึงผลกระทบ ไม่มีอะไรที่อยู่อย่างเดี่ยวๆ ไม่มีอะไรที่ทำแล้วไม่เกิดผลกระทบ ทุกวันนี้ เราก็ยังทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ก็คือ มนุษย์เรายังทำเหมือนว่าเราอยู่ใน bubble เราไม่สนใจถึงความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ไม่สนใจถึงผลกระทบ นั่นเลยเป็นปัญหาหลักของโลกทุกวันนี้

ความหมายของ Leadership

ทุกวันนี้โลกเราเปลี่ยนแปลงไปรวดเร็วมาก ไม่ใช่แต่เพียงรวดเร็วอย่างเดียวแต่มันยังเปลี่ยนไปแบบ disruptive ด้วย (ขออภัยไม่รู้จะใช้คำไทยว่าอะไรจริงๆ ครับ) คำว่า disruptive นี่ก็เป็นคำยอดฮิต เราได้ยินกันบ่อยมาก Peter บอกจริงๆ เขาก็ไม่ได้ชอบคำนี้ขนาดนั้น แต่ขอยกมาเพราะคนน่าจะเข้าถึงกันได้ง่าย เขามองว่า disruptive เนี่ยมันทำให้คนรู้สึกกลัว รู้สึกกังวล สับสน ซึ่งนั่นแหละคือปัญหา ปัญหาที่ทำให้ leadership จริงๆ ไม่เกิด

คำว่า leadership ในความหมายของ Peter ไม่ใช่ลำดับขั้นที่เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ เพราะนั่นมันไม่ใช่ความหมายที่แท้จริงของคำว่า leadership เรามักจะใช้คำว่า leader หมายถึง คนที่มีอำนาจสั่งการในองค์กร แต่รากศัพท์ของมันจริงๆ นั้นมันเก่าแก่มาก มาจาก Indo-European คำว่า LEITH ซึ่งคำนี้มีความหมายว่า ก้าวไปข้างหน้า ก้าวข้ามผ่านข้อจำกัด

ความหมายแบบนี้ เราจะไม่ได้จำกัด leader ว่าคือคนที่มีตำแหน่ง มีอำนาจ หรือคนที่รำ่รวยมีเงินอย่างเดียว ในองค์กรอาจจะมี leaders ได้มากมาย ใน level ต่างๆ ไม่ใช่ว่าตำแหน่งอย่าง CEO ไม่สำคัญ แต่หากเราพูดว่า CEO คือ leader แต่เพียงคนเดียว ก็ถือว่าเรามองแคบไป

ในโลกของ tech คนที่เป็น technological leaders หลายๆ หน้างานล้วนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาซอฟท์แวร์ นักออกแบบ หรือนักพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือหากเราพูดถึงวัฒนธรรมองค์กร หัวหน้างานใน level ต่างๆ ก็มีส่วนที่ช่วยนำลูกน้องให้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่พึงประสงค์ คนที่มีอิทธิพลจริงๆ ก็คือคนที่อยู่หน้างานเหล่านั้นนั่นแหละ ที่จะช่วยกระจายแนวคิดจากผู้บริหาร ช่วยสร้าง network สร้างทีมเวิร์ค สรุปง่ายๆ ก็คือ leadership มีหลายแบบ และไม่ได้เกิดขึ้นที่ยอดบนสุดของปิรามิดในองค์กรแต่เพียงอย่างเดียว

ดังนั้น ความหมายของ leadership คือ “how people working together in an organization feel that they can shape their future?” หรือการที่คนในองค์กรทำงานร่วมกันและพวกเขารู้ว่าตัวเองมีส่วนสำคัญในการที่จะสร้างอนาคตให้กับองค์กรนั้นๆ ดังนั้น เราทุกคนมีส่วนที่จะสร้าง leadership ecologies ให้เกิดขึ้น ถามตัวเองว่าทุกวันนี้เรามัวแต่นั่งเฉยๆ แล้วรอให้หัวหน้ามาตัดสินใจในเรื่องที่เป็น big move หรือเราเองก็มีส่วนที่ช่วยผลักดัน big move?

ตัวอย่างชัดๆ คือใน US Army ที่มีลำดับขั้นตามตำแหน่งชัดเจน แต่ไม่ว่าคุณจะเป็น Corporal หรือ General คุณก็ต้องมี leadership ของคุณเอง ขอบเขตอาจจะไม่เท่ากัน แต่หลักการไม่ต่างกัน นี่แสดงให้เห็นว่า ใช่ว่าลำดับขั้น หรือ hierarchy ไม่สำคัญ แต่เราจะทำให้การบริหารแบบลำดับขั้นนี้มีประสิทธิภาพได้อย่างไรในโลกที่หมุนเร็วนี้

เราจะทำอย่างไรให้เราไม่กลายเป็นคน fatalistic (นึกคำไทยไม่ออกครับ ประมาณว่า คนที่คิดว่าทำอะไรก็เหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ทุกอย่างมันถูกกำหนดไว้แล้ว) ทำอย่างไรเราจะสร้างให้คนในองค์กรเกิดพลัง มีจิตวิญญาณ มีความเชื่อว่าเขามีส่วน และสามารถที่จะกำหนดอนาคตขององค์กรได้? นี่คือคำถามสำคัญที่เราต้องร่วมกันค้นหา

Mind is what the brain does and Human-centered Organization

ช่วงนี้เป็นช่วงสุดท้ายของ Peter แล้ว แต่ยอมรับว่า เป็นส่วนที่ค่อนข้าง abstract เพราะเขาเริ่มพูดถึงความหมายของการเป็นมนุษย์ และการสร้าง Human-centered organization หลักใหญ่ใจความคือ ทุกวันนี้ เรามองมนุษย์ไม่เป็นมนุษย์ ด้วยความที่ไอเดียแบบวัตถุนิยมของตะวันตก ทำให้หลงลืมส่วนที่เป็นจิตวิญญาณไป และเรามักมองมนุษย์แบบ individual ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว เราทุกคนต่างมีความเชื่อมโยง และมีความสัมพันธ์กันไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งนี้ Peter อ้างอิงประสบการณ์ของเขาจากการที่ได้คุยกับนักวิทยาศาสตร์​ นักวิชาการที่เกี่ยวกับกับเรื่องสมอง เรื่อง awareness เรื่อง spritiual เป็นเรื่องที่ผมไม่ถนัดจริงๆ แต่พยายามสกัดออกมาเป็น bullet point ตามที่สติปัญญาจะระลึกได้ครับ

  • Mind is what the brain does. คำว่า mind ในที่นี้มันลึกซึ้งเกินกว่าคำว่าความคิด หรือจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่มันกินความไปถึงหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสติปัญญา การรับรู้ awareness ฯลฯ​ โดย Peter บอกว่ามีกลุ่มคนที่ศึกษาเรื่องเหล่านี้อยู่ เรียกกันว่า neuroanatomy
  • The Mind and Life Institute เป็นสถาบันที่มีนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องสมอง จิตวิทยา จำนวนหนึ่ง ทำงานร่วมกับองค์ดาไลลามะ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับเรื่อง mind ที่ว่านี้ กลุ่มนี้แสวงหาคำตอบกับคำถามที่ว่าเราจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้อย่างไร? อะไรคือ awareness หรือการตื่นรู้?
  • Arthur Zajonc เป็น President ของ The Mind and Life Institute นี้ เขามีโอกาสได้สนทนากับองค์ดาไลลามะ ในเรื่องของความตาย องค์ดาไลลามะกล่าวไว้ว่า สำหรับชาวทิเบต ไม่มีคำว่า ความตาย เพราะการตายจริงๆ มันคือการเปลี่ยนสถานะของมนุษย์ การที่วิญญาณออกจากร่างกายไปแค่นั้น ในขณะเดียวกัน นิยามความตายของโลกตะวันตกก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ในขณะเดียวกันนิยามของตะวันตกหมายถึง การหยุดหายใจและการหยุดเต้นของหัวใจ เหมือนเครื่องจักรที่พอมีการถอดปลั๊กออกก็ถือว่าเครื่องดับไป
Arthur Zajonc กับองค์ดาไลลามะ
  • Interpersonal Neurobiology เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ Peter พูดถึง โดยศาสตร์นี้พยายามรวบรวมเอาหลายๆ ศาสตร์ในโลกไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ จิตวิทยา ชีววิทยา มนุษยศาสตร์ ภาษาศาสตร์​ ฯลฯ​ โดยตั้งคำถามเช่น “What is the human mind?” “How is the mind developed?” “What makes a strong mind?” ใครสนใจเรื่องนี้ให้ลอง search หา Dan Siegel
  • Dan Siegel พูดเอาไว้ว่าคำว่า me กับ we เป็นคำที่ไม่สมบูรณ์ทั้งคู่ ควรมีคำใหม่ คือว่า mwe คือผสมทั้ง me และ we เข้าด้วยกัน เขาพยายามจะอธิบายว่า การเข้าใจมนุษย์นั้น ไม่ควรมองเฉพาะแต่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูทั้งตัวบุคคลและมองถึงความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างคนกับคนด้วย

ผมเข้าใจว่าสิ่งที่ Peter กำลังจะสื่อคือ หลายๆ องค์กรอาจจะมองเรื่องการบริหารจัดการแบบตะวันตกมากเกินไป โดยหลงลืมว่าองค์กรนั้นดำเนินการด้วยคน และคนแต่ละคนก็มีความเชื่อมโยง มีความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เอาเป็นว่าใครสนใจเรื่องนี้ ลองไปค้นหาเพิ่มเติมจาก The Mind and Life Institute หรือ The Center of Interpersonal Neurobiology ดูนะครับ ผมเองก็ยังใหม่กับเรื่องนี้มาก หากได้ update ความรู้ที่เกี่ยวข้องอย่างไร จะนำมาเล่าต่อในภายหลังครับ

ขอบคุณที่อ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ครับ.

#KnowledgeSpiral #PeterSenge #Leadership #SystemDynamics

--

--

Niran Banleurat
Knowledge Spiral

Business model enthusiast. Business model and customers insights workshop facilitator. Corporate entrepreneur. Business writer. Gamer. etc.