Collecting Data vs. Processing Data

เก็บข้อมูล VS. ใช้ประโยชน์จากข้อมูล

Piyorot
The Way It Should Be
1 min readApr 15, 2015

--

The Way It Is

“สวัสดีครับทุกท่าน ผมไปตามล่าข้อมูลที่พวกท่านอยากได้มาครบแล้วครับ” ยิ้มกว้างแทบฉีกถึงหู … งานตามล่าข้อมูลจาก Development Team ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มิสเตอร์เดด้าถึงภูมิใจเสียเหลือเกิน

“เรามีจำนวน User Story ที่ทำได้ในแต่ละสปริ้นท์, จำนวน Story Point ทั้งหมดของแต่ละทีม, ตัวเลข Velocity, จำนวนชั่วโมงที่ใช้, จำนวนเทสเคส, จำนวนบั๊ก, จำนวนปัญหาที่ลูกค้าร้องเรียนมา, จำนวนครั้งในการส่งมอบของขึ้น Production, จำนวนครั้งที่ระบบล่ม, ระยะเวลาที่ใช้ในการแก้ปัญหาระบบล่ม, จำนวนโปรเจกต์ที่แอคทีฟอยู่, จำนวนโปรเจกต์ที่ดีเลย์, จำนวนโปรเจกต์ที่อยู่ในคิว, จำนวนคนที่ทำงานในแต่ละทีม, จำนวนและรายละเอียดแนวทางปรับปรุงการทำงานจาก Retrospective Meeting … ครบฮะ” ยิ้มกว้างอีกรอบ

พอดี๊ … มีผู้จัดการรุ่นใหม่ไฟแรงเพิ่งเข้าร่วมประชุมนี้เป็นครั้งแรก ด้วยความไร้เดียงสาและขี้สงสัย … เค้าเอ่ยปากถามมิสเตอร์เดต้าไปว่า

“ได้ข้อมูลมาเพียบเลย — แล้วไงต่อฮะ?

มิสเตอร์เดต้าทำหน้าตาเลิ่กลั่ก กรอกตาไปทางซ้ายที ขวาที มองหน้าท่านทั้งหลายที่นั่งอยู่หวังว่าจะมีใครสักคนช่วยตอบคำถามง่ายๆแต่แทงใจดำแบบนี้ … แต่ไม่มี นั่งอึ้งแ-กกันทุกคน

The Way It Should Be

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้การเก็บข้อมูลเป็นเรื่องยากเพราะคนในองค์กรไม่ให้ความร่วมมือ … รู้มั้ยทำไม? เพราะพวกเค้าไม่เคยเข้าใจว่าจะเก็บข้อมูลพวกนี้ไปทำอะไรไงหละ ตราบใดที่เหตุผลของการไล่จี้ไล่บี้เอาข้อมูลจากคนทำงานคือ “มันครบกำหนดต้องส่งข้อมูลแล้ว … หัวหน้าสั่งมา … เป็นเรื่องของ KPI … ต้องส่งรีพอร์ตให้ผู้บริหาร” ตราบนั้นการต่อต้านเรื่องพวกนี้จะมีต่อไป ความไม่ใส่ใจในการให้ข้อมูลจะมีต่อไป

“Stop Collecting, Start Processing”

ปัญหาขององค์กรส่วนใหญ่ไม่ใช่ไม่มีข้อมูล แต่ไม่มีปัญญาจะเอาข้อมูลนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์มากกว่า — หยุดเก็บข้อมูลแล้วเริ่มต้นประมวลผลมันซะตั้งแต่วันนี้ ทำให้คนในองค์กรเห็นว่าข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ในการวิเคราะห์ วางแผน ปรับปรุงการทำงานและช่วยให้ชีวิตพวกเค้าดีขึ้นได้ยังไง

  • เราจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อหาทางลดจำนวนบั๊กลง
  • เราจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อหาทางทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ในสปริ้นท์
  • เราจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อหาทางเลือกงานที่เหมาะสมเข้าสปริ้นท์
  • เราจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อหาทางลดความผิดพลาดในการส่งมอบงาน
  • เราจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อหาทางป้องกันความเสี่ยงในโปรเจกต์ให้ดีขึ้น
  • เราจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ลูกค้าเจอให้เร็วขึ้น
  • เราจะวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้เพื่อหาทางลดการทำงานเกินเวลาลง

ใครบ้างไม่อยากให้บั๊กน้อยลง งานเสร็จมากขึ้น ทำงานที่มีคุณค่าสูงสุด การส่งมอบงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น โปรเจกต์สำเร็จ ลูกค้ามีความสุขที่ได้ใช้โปรดักส์ของเรา และเลิกงาน 6 โมงเย็น — ผมว่าคนสติดีทุกคนอยากได้แบบนี้หมดแหละครับ … อยากได้ความร่วมมือ จงทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องของพวกเค้าไม่ใช่แค่เรื่องของพวกคุณ ไม่ใช่เพราะหัวหน้าสั่งหรือ KPI ไร้สาระเป็นตัวกำหนด

ผมเขียนบทความนี้เพราะอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต ซอฟท์แวร์ให้ดีขึ้นตามความเชื่อและประสบการณ์ของผม ถ้าเพื่อนๆเชื่อในแนวทางเดียวกัน เรามาช่วยกันคนละไม้คนละมือทำให้สังคมของเราดีขึ้นครับ จะแชร์บทความนี้ผ่าน Social Network หรือจะแบ่งปันเรื่องราวนี้ให้คนที่นั่งข้างๆฟังบ้างก็ได้

The Future Has Arrived — It’s Just Not Evenly Distributed Yet, William Gibson

อนาคตอยู่ตรงนี้แล้ว เรามีหน้าที่ต้องถ่ายทอดมันออกไปให้คนอื่นได้สัมผัสสิ่งดีๆร่วมกันครับ

--

--

Piyorot
The Way It Should Be

A member of Mutrack and Inthentic. I lead, learn, and build with vision, love and care. https://piyorot.com