ความธรรมดา|ที่ไม่ธรรมดา..ในชีวิต

thip
thipwriteblog
Published in
1 min readFeb 28, 2018

วันนี้ได้อ่านโพสต์จากการแชร์ของหมอแล็บแพนด้า เป็นโพสต์ของคุณหมอท่านหนึ่งที่กำลังป่วยเป็นมะเร็งไทรอยด์ ลองอ่านกันดูนะคะ

คือ พออ่านจบก็ไปสะดุดความคิดอยู่ที่ช่วงย่อหน้าสุดท้าย จากนั้นจึงลองกดเข้าไปอ่านโพสต์เก่าๆของคุณหมอท่านนี้

ทำให้ทราบว่า..

  • คุณหมออายุเพียง 24 ปี
  • ไม่มีโรคประจำตัว
  • ไม่ดื่มเหล้า
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตลอด

ทุกข้อที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ทุกคนควรปฏิบัติเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยจากโรค และคุณหมอเป็นคุณหมอ ผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับสุขภาพร่างกายของคนดีที่สุด เราจึงเชื่อว่า คุณหมอทราบว่าสิ่งใดควร/ไม่ควรปฏิบัติ และที่แน่ๆคุณหมอรู้เยอะกว่าคนที่ไม่ได้เรียนหมออย่างเรา

จริงอยู่.. ว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรงดี กินดี อยู่ดี ปฏิบัติตัวเองดี แต่ป่วยเป็นโรคนู่นนี่มีให้เห็นก็เยอะ การดูแลตัวเองมันไม่ได้การันตีว่าเราจะมีชีวิตอยู่ยืนยาว แต่การไม่ดูแลตัวเองนอกจากจะไม่การันตีในความยืนยาวของชีวิตแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรค และลดเวลาชีวิตของตัวเราเองอีกด้วย

ร่างกายคนเราเกิดมา จะมีต้นทุนทางสุขภาพไม่เหมือนกัน ซึ่งต้นทุนนี้เราแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด และมีอีกปัจจัยที่เราควบคุมไม่ได้ คือ การเสื่อมสภาพของร่างกายไปตามระยะเวลา เราใช้ร่างกาย 24 คูณ 7 (24 ชั่วโมง 7 วัน) ร่างกายเราเหมือนเป็นโรงงานที่ทำงานอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการหยุดพัก แม้ในขณะที่เรานอนหลับ การทำงานภายในร่างกายของเราก็ไม่ได้หยุด จะหยุดก็ต่อเมื่อเราหมดลมหายใจไปแล้ว

ดังนั้น เรามี 2 สิ่งที่เราควบคุมและหยุดมันไม่ได้ คือ ต้นทุนสุขภาพ และการเสื่อมตามกาลเวลา
แต่เรามีเพียง 1 สิ่งที่เราสามารถทำได้
คือการดูแลรักษาสุขภาพร่างกายของตัวเราเอง
เพื่อที่จะคงสภาพความแข็งแรงของสุขภาพร่างกายของเราไว้ให้ยาวนานมากที่สุดเท่าที่จะนานได้
อันนี้เป็นสิ่งที่เรา “ทำได้” และ “ทำเอง” ทันทีทุกที่ทุกเวลา
*ทำเองในที่นี้หมายความว่า
1.หากเราดูแลตัวเราดี เราก็ ‘อาจจะ’ มีโอกาสมีเวลาชีวิตที่ยาวนานมากขึ้น
แต่! ถ้าเราไม่ดูแลตัวเราเอง ปล่อยปละละเลย เราก็จะมีเวลาชีวิตอยู่นานที่สุด แค่เท่าที่ต้นทุนเรามีติดตัวมา
2.ที่แย่กว่าการไม่ดูแลใส่ใจในสุขภาพของตัวเอง คือ การทำร้ายตัวเอง ด้วยพฤติกรรมที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพต่างๆ
เพราะมันคือ ‘การเร่ง’ ‘การลด’ เวลาชีวิตของตัวเองให้สั้นให้น้อยลงไปอีก อันนี้เลวร้ายที่สุด

ดูแลตัวเองไปทำไม?

มักเป็นคำถามที่ไม่มีใครรู้คำตอบที่แท้จริง จนกว่าจะถึงวันที่ร่างกายมีอาการหรือมีสัญญาณเตือนความไม่ปกติของร่างกายเราแล้ว ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นนั่นหมายความว่า

“เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้อีกต่อไปแล้ว”

เราต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเอง เพื่อที่จะได้มีชีวิตอยู่ทำสิ่งที่เราอยากทำ อยากมี อยากได้ อยากเป็น ได้ทำอะไรที่เป็นความฝัน เป็นเป้าหมาย มันไม่ใช่แค่การทำเพื่อตัวเองนะ แต่มันยังเป็นการทำเพื่อคนที่เรารัก เพื่อคนที่รักเรา เพื่ออะไรๆอีกมากมายที่มันมีความหมายมีคุณค่าในชีวิตเรา

ในบรรดาสัจธรรมของความธรรมดาที่ว่า.. เราทุกคนต้อง เกิด แก่ เจ็บ ตาย
ส่วนตัวคิดว่า จังหวะเจ็บ นี่แม่งยากสุดละ
เหมือนเป็นจุดที่นอกจากจะเจ็บปวดทรมานที่ร่างกาย (ที่สุดท้ายก็ต้องสลายไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง)
ยังต้องเจ็บปวดที่จิตใจตัวเองอีก อันนี้คือแบบ เป็นทุกข์ชนิดที่ใครๆหรือผู้วิเศษที่ไหน ก็ช่วยตัวเราไม่ได้ มันเป็นจังหวะที่มีแค่ตัวเราเองคนเดียว ที่ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยตัวเองได้ไหม ช่วยได้มากน้อยแค่ไหน เวลาใจทุกข์ กายมันก็จะยิ่งทุกข์ ทรมานกันไปหมดทั้งร่างกายและจิตใจ : (

คือจังหวะเจ็บเนี่ย
มันเป็นจุดที่จะมีความอบอวลของความคิด ความรู้สึกในด้านลบ วนเวียนๆโผล่มาทำให้เรา เสียใจ เสียดาย ที่ผ่านมาทำอะไรอยู่ ที่ผ่านมาทำไมไม่อย่างงั้นทำไมไม่อย่างงี้
จะถอยย้อนเวลากลับไปแก้ไขอะไรก็ทำไม่ได้
จะเดินหน้าต่อไปได้ไหมก็ยังไม่รู้
< — อันนี้คือจุดที่จะเจอทางแยกของความคิด ระหว่าง ทางที่มีความหวัง กับ ทางที่หมดหวัง ซึ่งขณะนี้เราจะเลือกคิดทางไหนก็ได้ แต่เราจะไม่รู้เลยแม้แต่นิดเดียว ว่าความเป็นไปได้มันจะเป็นไปในทางไหน คือเราทำได้แค่คิด จังหวะนี้เราจะรู้แค่ตอนนี้เราเจ็บ ตอนนี้เราทรมาน
และรับรู้ได้แค่เพียงว่า..ตอนนี้เราทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

แต่ก็ยังเป็นโชคดีอยู่นะ ที่คนเรามีศรัทธาและความเชื่อ มีหลักคำสอนและหลักปฏิบัติตามศาสนาที่เรานับถือ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถช่วยจรรโลงและขัดเกลาจิตใจเราให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาทุกข์ทรมานนี้ไปได้ แต่มีข้อแม้ว่า.. ช่วยได้ ถ้าเราเคยฝึกคิดตามหลักคำสอน และฝึกปฏิบัติตามหลักปฏิบัติมาก่อน หากจะฝึกหรือหยิบมาใช้ตอนที่กำลังอยู่ในจังหวะเจ็บปวด มันก็ยากที่จะทำได้และยากที่จะได้ผลอย่างเต็มที่

เรื่องเหล่านี้มันเป็นเรื่องที่มีใครต่อใครพูดไว้เยอะแยะมากมาย พูดแล้วพูดอีก และมักเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว เข้าใจอยู่แล้ว แต่ไม่เคยเข้าถึงมันจริงๆเลย ก็พูดยากนะ.. จะเข้าถึงจริงๆก็ตอนที่ได้เจอกับตัวนั่นแหล่ะ ซึ่งถ้ามันยังมีโอกาสได้กลับมาแก้ไขบ้างก็นับว่ายังโชคดี แต่ก็มีมากมายนักที่ไม่มีโอกาสได้กลับมาแก้ไขอะไรเลยแม้แต่ครั้งเดียว ไม่อยากให้ใครใดๆต้องพบเจอกับจุดเจ็บแบบนี้

จะคิด จะทำ ก็จงมีสติ ระมัดระวัง รอบคอบ กับชีวิตให้มากขึ้น
ไม่ประมาท ไม่เดี๋ยว ไม่คิดว่าไม่เป็นไร
เพราะหากเป็นอะไรขึ้นมา จงรู้ไว้ว่า “มันสายไปเสียแล้ว”

สุดท้าย ขอบคุณเรื่องราวของคุณหมอป่อง ที่สะท้อนย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของร่างกายกับเวลาของชีวิต

และขอบคุณ “พ่อ” ที่ให้บทเรียนที่มีคุณค่ามากที่สุดในชีวิตของลูก

--

--