รู้จัก Agile 2 แนวคิดใหม่ของการปรับใช้อไจล์ในการทำงาน

Everything I need to know about Agile 2

thip
thipwriteblog
3 min readNov 18, 2020

--

Photo by David Travis on Unsplash

เชื่อว่าหลายคนคงอุทานออกมา เมื่อได้เห็นคำว่า “Agile 2” เป็นครั้งแรก ซึ่ง thip ก็เป็นแบบนั้นค่ะ ได้เห็นคำนี้ครั้งแรกใน articles หนึ่งของเว็บฯ tech ที่ติดตามข่าวอยู่ หลังจากนั้นก็ตาลุกวาวพร้อมกับสบถในหัวทันทีว่า เห้ย! อะไรวะ??

แล้วก็พยายามอ่าน เพื่อทำความเข้าใจ และจับจุดให้ได้ว่ามันคืออะไรกันแน่ พยายามกวาดตาอ่านบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษอยู่สองรอบ แต่รู้สึกว่าตัวเองยังไม่เข้าใจเนื้อหามากพอที่จะสรุปความเข้าใจออกมาได้ เลยลองไปเสิชข้อมูลหาอ่านเพิ่มดู และพบว่า.. ใหม่จริง อะไรจริง เพราะ keyword ที่ค้นไป ผลลัพธ์ที่ได้แทบจะเป็นคนละเรื่อง แต่ในที่สุดก็เจอเว็บไซต์ต้นฉบับค่ะ

จากนั้นก็พยายามทำความเข้าใจ concept ให้ได้ และในขณะเดียวกันก็ตื่นเต้นกับความใหม่ จนอยากมาเขียนเล่าให้ทุกคนฟังตั้งแต่วันแรกที่ได้ยิน แต่ติดตรงที่.. ถ้าเรายังมองภาพไม่ออกและไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรและอย่างไรกันแน่ ก็จะไม่สามารถถ่ายทอดให้ทุกคนรู้ได้อย่างถูกต้อง แม้จะไม่ 100% ก็ตาม แต่อย่างน้อยก็ขอเล่าในมุมมองที่เราเข้าใจนะคะ

ซึ่งหลายคนคงทราบดีว่าแนวคิดในการทำงานแบบ Agile เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ง่าย และแน่นอนว่าการจะเข้าใจคอนเซ็ปต์ของ Agile 2 ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน

ดังนั้น บล็อกนี้เป็นเพียงการสรุปความเข้าใจ Agile 2 ของเราเอง ณ วันนี้ เท่านั้น

ย้อนทำความรู้จัก Agile กันก่อน

Photo by You X Ventures on Unsplash

Agile คือ แนวคิดในการทำงานที่คิดค้นโดยกลุ่มนักพัฒนาซอฟต์แวร์ 17 คน และสรุปเป็นอุดมการณ์ออกมา 4 ข้อ ซึ่งเรียกว่า Agile Manifesto แถลงการณ์ออกมาเมื่อปี 2001 โดยสรุปใจความสำคัญได้ว่า

  • เน้นการปฏิสัมพันธ์ของคน มากกว่าขั้นตอนและเครื่องมือ
  • เน้นผลลัพธ์เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้งานได้จริง มากกว่าเอกสารที่สมบูรณ์แบบ
  • เน้นความร่วมมือกับลูกค้า มากกว่าเรื่องการต่อรองทำสัญญา
  • เน้นตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง มากกว่าการทำตามแผนงาน

Agile ถูกนำมาใช้ในสายงาน Software Development เป็นกลุ่มแรก แต่ในปัจจุบันมีการนำ Agile มาปรับใช้ในองค์กรและธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ทั้งองค์กรขนาดเล็กและองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อลดระยะเวลาในการทำงาน สร้าง Product ออกมาให้ลูกค้าภายในเวลาอันสั้น และตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วของทุกอย่างในโลกปัจจุบัน

Agile 2 คืออะไร?

Photo by Kelly Sikkema on Unsplash

Agile 2 เป็นภาคต่อของ Agile ที่นิยามขึ้นมาโดยผู้ร่วมอุดมการณ์ 15 คน จากหลากหลายประเทศทั่วโลก (ซึ่งเป็นคนละชุดกับบุคคลที่นิยาม Agile) ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่ทำงานด้าน Agile Coach, Product Design, Software Engineer, DevOps, Data Science, People/HR, Software Startup เป็นต้น

Agile 2 เริ่มต้นขึ้นในช่วงปลายปี 2020 , ณ วันที่เขียนบล็อกนี้ เรียกได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่ Agile 2 พึ่งเริ่มนิยามและประกาศออกมาสู่สาธารณะเป็นวันแรก ๆ นั่นหมายความว่า.. อาจจะยังอยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้คนทั่วโลก และอาจจะยังไม่ได้มีการนำไปใช้งานจริง

Agile 2 มีที่มาอย่างไร?

Photo by Kelly Sikkema on Unsplash

กลุ่มผู้นิยาม Agile 2 ได้ให้เหตุผลและอธิบายมุมมองที่มีต่อ Agile ไว้ 3 ประเด็นหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้พวกเขามองว่า การนำ Agile มาใช้ยังเป็นเรื่องที่ล้มเหลวอยู่ (โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่)

  1. ในองค์กรใหญ่ที่มีจำนวนคนมากมายและหลากหลายทีม เดิมแต่ละทีมจะมี Leader หรือ Manager คอยจัดการ สั่งการ และควบคุมดูแล แต่เมื่อนำ Agile มาปรับใช้ ยุบรวมทีมใหญ่ มาสร้างทีมใหม่ในขนาดที่เล็กลง แต่รวมคนทุกสกิลให้เป็นทีมเดียวกัน รูปแบบการบริหารจะกลายเป็น Flat Organizational Structure ปัญหาที่ตามมาคือ Leader/Manager ไม่สามารถจัดการทีมของตนได้ ลักษณะจะเป็นการปล่อยให้ทีม Agile หรือที่เรียกว่า Squad จัดการกันเองสะมากกว่า ซึ่ง Agile 2 มองว่า เป็นการปล่อยให้ทีมโดดเดี่ยว และยกตัวอย่างเคสประกอบการอธิบายว่า อย่างเช่น การตัดสินใจว่าใครในทีมควรได้โบนัสหรือเลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น
  2. เป็นเรื่องของการจัดการกับข้อมูล ที่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ขององค์กร และสามารถส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจได้ ซึ่ง Agile 2 มองว่า แนวคิดใน Agile ยังขาดเรื่องการให้ความสำคัญกับข้อมูลอยู่
  3. ประเด็นสุดท้าย เป็นเรื่องของการมองข้ามบทบาทของบุคคลในทีม กล่าวคือ Agile ให้ความสำคัญกับ “ทีม” มากกว่าลงลึกไปที่ตัว “บุคคล” และดูเหมือนว่า Agile จะเน้นความสามารถแนว “Generalists” หรือ “Generalizing Specialists” มากกว่า Specialist ซึ่ง Agile 2 มองว่า มันเป็นทักษะที่สามารถทดแทนได้ จึงอยากให้เน้นและให้ความสำคัญกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านด้วยเช่นกัน

Agile 2 โฟกัสเรื่องอะไรบ้าง?

Photo by Kelly Sikkema on Unsplash

1. Leadership

การมีผู้นำยังคงเป็นสิ่งจำเป็นในทุกสถานการณ์

2. Data

ข้อมูลถือเป็นกลยุทธ์ และเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านผลิตภัณฑ์ที่สำคัญกับองค์กร

3. Collaboration

การทำงานร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ และควรใช้รูปแบบการสื่อสารที่หลากหลาย ไม่ใช่แค่อย่างใดอย่างหนึ่ง

4. Generalists

คนที่มีทักษะความสามารถที่หลากหลายเป็น team worker ที่สำคัญ แต่ในขณะเดียวกันก็ควรต้องมี Expert / Specialist ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านรวมอยู่ในทีมด้วย

5. Teams

ทีมมีความสำคัญ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ ‘ตัวบุคคล’ คนส่วนมากยังคงต้องการความก้าวหน้าในอาชีพการงาน ต้องการเติบโตอย่างมืออาชีพ ต้องการคำปรึกษาเพื่อที่จะพัฒนาความเป็นผู้นำในตัวเอง ต้องการโอกาสที่จะเรียนรู้และทดลองทำอะไรใหม่ ๆ พร้อมกับได้รับคำแนะนำจากผู้มีประสบกาณ์ และยังคงต้องการการยอมรับในตัวตนและความสามารถรายบุคคล

มาดูค่านิยมคร่าว ๆ ของ Agile 2 กันนิดนึง

Photo by Charlie Firth on Unsplash

ค่านิยม หรือ Value of Agile 2 มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการบาลานซ์สิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้ควบคู่กันไป

  1. Thoughtfulness and Prescription (วิจารณญาณและข้อกำหนด)
  2. Outcomes and Outputs (ผลลัพธ์และผลผลิต)
  3. Individuals and Teams (บุคคลและทีม)
  4. Business understanding and Technical understanding (ความเข้าใจในธุรกิจและความเข้าใจในเทคโนโลยี)
  5. Individual Empowerment and Good Leadership (การให้ความสำคัญให้อำนาจกับตัวบุคคลและผู้นำที่ดี)
  6. Adaptability and Planning (การปรับตัวและการทำตามแผน)

สำหรับ Agile 2 Principles หรือหลักปฏิบัติ ไม่ได้เรียบเรียงมาให้นะคะ เนื่องจากมีทั้งหมด 10 หัวข้อ 43 principles ผู้เขียนยังไม่ได้ลงรายละเอียดและทำความเข้าใจค่า

บทสรุปสั้น ๆ Agile 2 แตกต่างจาก Agile ยังไง?

Photo by Fletcher Pride on Unsplash

Agile 2 มองขอบเขตที่กว้างกว่า Agile เพื่อให้สามารถปรับใช้ได้ทุกสถานกาณ์และหลายรูปแบบองค์กร เพราะมองว่าเป็นพื้นฐานเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของผู้คน ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าต้องเป็น Tech Company เพียงอย่างเดียว

สรุปปิดท้าย

เคยได้ยินประโยคที่ว่า “Agile ล้มเหลว” ไหมคะ?

มีหลายองค์กรที่ทดลองนำ Agile ไปปรับใช้แล้วพบว่ามันไม่เวิค! อย่าลืมว่า Agile และ Agile 2 เป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะมีหลักปฏิบัติหรือ framework อย่างพวก Scrum ออกมาเป็นรูปธรรมก็ตาม แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า ใครหรือองค์กรไหนจะหยิบไปใช้ได้อย่าง Success เพราะมันมีหลายปัจจัย มันไม่ใช่แค่หลักการ แต่มันเป็นการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร เปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนรูปแบบและวิธีการปฏิบัติ

โดยส่วนตัวเราชอบความสมดุลใน Agile 2 ที่จับทุกอย่างมา Blend & Balance กัน มองแล้วมันน่าจะนำมาปรับใช้ในองค์กรขนาดใหญ่ได้ง่ายขึ้น

หวังว่าเนื้อหาในบล็อกนี้ จะพอทำให้ทุกคนรู้จัก Agile 2 ได้บ้างนะคะ เพราะเราก็พึ่งรู้จักเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง 😊😊😊

❤️ About me

thip ชอบเขียนบล็อก ชอบอ่านนู่น เจอนี่ สนใจเรื่องเทคโนโลยี ธุรกิจ สตาร์ทอัพ ฮาวทูพัฒนาตนเอง เวลาได้เรียนรู้อะไรมา จะตื่นเต้น อยากแชร์ให้คนอื่นรู้ด้วย อ้อ! อีกสองอย่างที่ชอบมากคือ Coffee & Cocktail 😜

ติดตามกันได้ทุกช่องทาง ถ้าค้นหา thip หรือ thip audio blog ที่ไหนไม่เจอ กลับมาบอกกันด้วยนะคะ จะตามไป Sign up 👋😉

หมายเหตุ

ความเข้าใจทั้งหมด สรุปมาจากเว็บไซต์ทางการของ Agile 2 สามารถเข้าไปอ่านทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้ที่ https://agile2.net และตอนนี้เขาเปิดให้ร่วมแสดงความคิดเห็นในกรุ๊ป Agile2 LinkedIn ด้วย ใครอยากแชร์ไอเดีย มุมมอง หรือประสบการณ์ที่มีต่อ Agile และ Agile 2 ก็ลองเข้าไป join ได้นะคะ

--

--